คลองประตูข้าวเปลือก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตอม่อสะพานป่าถ่าน เมื่อปี 2560
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยาที่เชิงสะพานป่าถ่าน

คลองประตูข้าวเปลือก (ตอนบน) และ คลองประตูจีน (ตอนล่าง) เป็นชื่อคลองโบราณบนเกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมระหว่างเกาะเมืองไปสู่นอกเกาะเมือง รวมทั้งการค้าขาย คลองแบ่งเป็นสองตอน ตอนบนที่เชื่อมกับแม่น้ำลพบุรีจะเรียกว่าคลองประตูข้าวเปลือก ส่วนคลองตอนใต้ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาจะเรียกว่าคลองประตูจีน ถือเป็นคลองที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันคลองสายนี้แทบไม่หลงเหลือคันคูแล้ว

ประวัติ[แก้]

คลองประตูข้าวเปลือกและคลองประตูจีนเป็นคลองที่วางตัวในแนวเหนือใต้ ทิศเหนือเชื่อมกับแม่น้ำลพบุรี เรียกคลองตอนบนว่าคลองประตูข้าวเปลือก ส่วนทิศใต้เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่าคลองประตูจีน[1] จากเอกสารของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ระบุว่าปากคลองประตูข้าวเปลือกนั้น "...มีป้อมก่อรูปพัดสมุดอยู่สองฟากคลอง แปลกกว่าปากคลองอื่น ๆ"[2] ซึ่งป้อมประตูข้าวเปลือกแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่สู้รบระหว่างวังหลวงและวังหน้าหลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[3] ในอดีตคลองประตูข้าวเปลือกและคลองประตูจีนมีคลองที่เชื่อมกับคลองในไก่สองสายทางทิศตะวันออก และมีคลองเชื่อมกับบึงพระราม และคลองประตูเทพหมีทางทิศตะวันตก[4] ปัจจุบันบริเวณคลองใกล้วัดราชประดิษฐานยังเหลือซากกำแพงเมืองส่วนหนึ่ง[1] แต่ตัวคลองนั้นถูกถมเป็นพื้นที่วัดราชประดิษฐานเพื่อรวมเข้ากับวัดท่าทรายที่เคยอยู่ตรงข้ามคลองดังกล่าว[5]

คลองประตูข้าวเปลือกและคลองประตูจีนถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่งในอดีต เพราะคลองดังกล่าวตัดผ่านวัดวาอารามที่สำคัญ เช่นวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐาน และวัดราชบูรณะ[2] ทั้งมีสะพานข้ามคลองทอดผ่านถึงสี่แห่ง[1] อาทิ

  • สะพานช้าง ปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่า ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ด้านตะวันตกของเชิงสะพานมีตลาดสดเช้าเย็น พระยาโบราณราชธานินทร์สันนิษฐานว่าสะพานนี้น่าจะตั้งอยู่หน้าวัดพลับพลาไชยกับถนนป่ามะพร้าว[1]
  • สะพานชีกุน ที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ในอดีตเป็นย่านตลาดเรียกว่า ตลาดเสาชิงช้าชีกุน[6]
  • สะพานป่าถ่าน มีตลาดสดขายสินค้าสารพัดตั้งแต่เช้าจรดเย็น[2] ทั้งเป็นสถานที่สู้รบกันระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาเพื่อแย่งราชสมบัติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ภายหลังสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระอนุชา จึงได้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์[7] และสร้างวัดราชบูรณะในบริเวณที่พระองค์จู่โจมและล้อมกองกำลังของพระเชษฐาทั้งสองที่กำลังแย่งราชสมบัติกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน[8][9]

ปัจจุบันคลองประตูข้าวเปลือกและคลองประตูจีนแทบไม่เหลือแนวคันคลองแล้วเนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง[10] เหลือเพียงร่องรอยของคลองบริเวณหลังป้อมประตูข้าวเปลือกบริเวณวัดราชประดิษฐานซึ่งเป็นต้นคลอง โดยมีลักษณะเป็นสระน้ำหลังป้อม ส่วนแนวคลองที่เหลือก็ถูกถมหรือจับจองไปแล้ว[11] และยังไม่มีแนวคิดที่จะบูรณะคลองสายนี้ขึ้นใหม่[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 28
  2. 2.0 2.1 2.2 เรือนอินทร์ หน้าพระลาน (5 พฤศจิกายน 2553). "การค้าและประวัติศาสตร์บนย่าน "สะพานป่าถ่าน" อยุธยา". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา". กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2558). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ภาษิต จิตรภาษา. "อันพระที่ชื่อว่า "มหานาค"". ศิลปวัฒนธรรม. 31 : 5 มีนาคม 2553, หน้า 38-43
  6. "สะพานชีกุน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 7 ตุลาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา". ฐานข้อมูลแห่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 117-120
  9. กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 212
  10. น้าชาติ ประชาชื่น (14 พฤศจิกายน 2559). "คลองอยุธยา". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  11. ปวัตร์ นวะมะรัตน (2 มกราคม 2566). "ตามรอย "สะพานช้าง-คลองประตูข้าวเปลือก" ฉากหลังครั้งสงครามกลางเมืองอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)