ถนนเชียงใหม่

พิกัด: 13°43′53.9″N 100°30′20.2″E / 13.731639°N 100.505611°E / 13.731639; 100.505611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

13°43′53.9″N 100°30′20.2″E / 13.731639°N 100.505611°E / 13.731639; 100.505611

ถนนเชียงใหม่
Chiang_Mai_road_entrance_with_sign.jpg
ถนนเชียงใหม่ช่วงทางเข้าและป้ายอธิบาย
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว0.4 กิโลเมตร (0.25 ไมล์; 1,300 ฟุต)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2474–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

ถนนเชียงใหม่ (อักษรโรมัน: Thanon Chiang Mai) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องทางจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 16 เมตร ระยะทางยาว 400 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากถนนสมเด็จเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือวัดทองธรรมชาติ

ถนนเชียงใหม่เป็น "ถนนสายที่ 10" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473[2] ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 10 ไว้ตั้งแต่ถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนสมเด็จเจ้าพระยา) ไปจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณระหว่างวัดทองธรรมชาติกับวัดทองนพคุณ ซึ่งในขณะนั้นเป็นย่านที่จอดเรือขนถ่ายสินค้าและโรงเก็บสินค้าของชาวจีน เรียกกันว่า "ฮวยจุ้นล้ง" แปลว่า "ท่าเรือไฟ"[3]

ถนนเชียงใหม่ช่วงทางเข้า

ทางการเริ่มก่อสร้างถนนสายที่ 10 ในปี พ.ศ. 2474[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนสายต่าง ๆ ในโครงการดังกล่าวถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยใช้เกณฑ์ "มหาชัย" ที่ไทยรบชนะพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับถนนสายที่ 10 ทรงตั้งชื่อว่า ถนนเชียงใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ตีเมืองเชียงใหม่ได้จากพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2317[4] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายนี้ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอ

อ้างอิง[แก้]

  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร, 10 ตุลาคม 2473 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2019-03-05.
  3. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์." วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555, หน้า 93.
  4. 4.0 4.1 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 87.