วัดทองธรรมชาติวรวิหาร
วัดทองธรรมชาติวรวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดทองธรรมชาติ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 141 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธชินชาติ มาศธรรมคุณ |
เจ้าอาวาส | พระราชธรรมมุนี (ทองสุข สุขธมฺโม ป.ธ.๕ ,ดร.) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดทองธรรมชาติวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 16.5 ตารางวา เดิมเรียกชื่อ วัดทองบน เนื่องจากบริเวณนั้นมีวัดทองตั้งอยู่ใกล้กัน 2 แห่ง อีกแห่งคือวัดทองล่างหรือวัดทองนพคุณ[1]
ประวัติ
[แก้]วัดทองธรรมชาติวรวิหารเดิมตั้งขึ้นเป็นวัดราษฎร์ ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่า อาจสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประมาณ พ.ศ. 2330 พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ทรงมีพระศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างอุโบสถ วิหาร และเสนาสนะวัดทองบนขึ้นใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักลง จนมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เป็นแม่กองสานต่อการปฏิสังขรณ์วัดจนเสร็จสมบูรณ์ และได้พระราชทานชื่อวัดว่า "วัดทองธรรมชาติ"
วัดทองธรรมชาติวรวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2520[2]
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
[แก้]พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามว่า พระพุทธชินชาติ มาศธรรมคุณ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพไตรภูมิ และในส่วนฝาผนังตรงข้ามพระประธานเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ ส่วนด้านข้างของพระอุโบสถก็เป็นภาพเทพชุมนุมและภาพพุทธประวัติ[3]
ในพระวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยจำนวน 10 องค์ ประดิษฐานบนแท่นชุกชี ในพระวิหาร มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์ และมีองค์เล็กกว่าตั้งลดหลั่นลงมาอีก 3 แถว มีลักษณะอย่างเดียวกันทุกองค์
กุฏิสงฆ์ของวัดสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอระฆัง 3 ชั้น รูปร่างคล้ายป้อมฝรั่ง และมีศาลาโถงสร้างไว้ตรงมุมกำแพงแก้วทั้ง 4 มุม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดทองธรรมชาติ". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
- ↑ "การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติวรวิหาร".
- ↑ "เที่ยว-กินริมน้ำ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง 2 วัดทอง ที่ "คลองสาน"". ผู้จัดการออนไลน์. 16 พฤษภาคม 2557.