พระลักษมณ์พระราม
พระลักษมณ์พระราม (ลาว: ພະລັກພະລາມ, อักขรวิธีเดิม: ພຣະລັກພຣະຣາມ), พระรามชาดก (ພຣະຣາມຊາດົກ) หรือ รามเกียรติ์ (ລາມມະກຽນ, อักขรวิธีเดิม: ຣາມມະກຽນ) เป็นมหากาพย์ลาวที่ดัดแปลงมาจาก รามายณะ ของวาลมีกิ มีความใกล้เคียงกับ ฮิกายัตเซอรีรามา (มลายู: Hikayat Seri Rama) อันเป็นรามายณะฉบับมลายู มหากาพย์นี้เคยสูญหายไปพร้อมกับศาสนาฮินดู แต่ภายหลังได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบชาดกของพระพุทธศาสนา ซึ่งเคยแพร่หลายและเป็นที่นิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง
ศัพทมูล
[แก้]ชื่อ "พระลักษมณ์พระราม" (ພຣະລັກພຣະຣາມ) มาจากชื่อตัวละครเอกสองตัวซึ่งเป็นพี่น้องกันคือ พระลักษมณ์ (ພຣະລັກ พระลัก) และพระราม (ພຣະຣາມ พระราม) เพราะพระรามเป็นตัวละครเอกจึงตั้งชื่อนี้เพื่อความคล้องจอง ส่วนที่นำชื่อพระลักษมณ์ขึ้นก่อนพระราม ก็เพราะว่าพระลักษมณ์เป็นผู้ประเสริฐคอยช่วยเหลือพระรามผู้เป็นพี่ชายโดยสมัครใจ[1] เนื่องจากพระลักษมณ์พระรามเป็นชาดกเรื่องหนึ่งจึงถูกเรียกว่า "พระรามชาดก" (ພຣະຣາມຊາດົກ) บ้างก็เรียกว่า "รามเกียรติ์" (ຣາມມະກຽນ)
ประวัติ
[แก้]ประวัติการแต่ง "พระลักษมณ์พระราม" ในตำนานลาวมักมุ่งไปในช่วงรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม ปฐมกษัตริย์ล้านช้างเป็นสำคัญ ที่เสด็จมาพร้อมกับทหาร กวี และศิลปินจากพระนครที่คุ้นเคยกับเรียมเกร์ (เขมร: រាមកេរ្តិ៍) หรือรามายณะฉบับเขมรมาก่อน ทว่าวัฒนธรรมอินเดียนั้นแพร่หลายบริเวณมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งในอดีตเรียกว่า "คันธาระ" (Gandhara) ตั้งแต่ 2 ปีก่อนคริสต์ศักราช[2] วัฒนธรรมอินเดียแพร่หลายโดยจักรวรรดิสาตวาหนะ (230 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 200) แม้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการอพยพของชนชาติไทเกิดขึ้นเมื่อใด แต่การรับและส่งต่อวัฒนธรรมน่าจะเกิดขึ้นเมื่อชาวไทลงหลักปักฐานในดินแดนแห่งใหม่ก็รับอิทธิพลอินเดียผ่านวัฒนธรรมมอญและเขมร ซึ่งในดินแดนลาวก็มีโบราณสถานคือวัดภูในจำปาศักดิ์ ที่ตกแต่งลวดลายด้วยภาพจากเรื่องรามายณะและมหาภารตะ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าลาวรับวรรณกรรมฮินดูแล้ว
แม้ชาวไทในลุ่มน้ำโขงจะรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7–8 และกลายเป็นศาสนาหลักแทนศาสนาฮินดูและนิกายมหายานในศตวรรษที่ 15[3][4] หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการดัดแปลงรามายณะเป็นภาษาท้องถิ่นในศตวรรษที่ 18 โดยนำทสรถชาดกเข้ามาในเรื่อง[5] และดัดแปลงเข้ากับวัฒนธรรมลาวและนิกายเถรวาทอย่างสมบูรณ์[6]
นัยทางศาสนา
[แก้]แม้ศาสนาฮินดูจะสูญไปจากลาว แต่ยังหลงเหลือความเชื่อเทพเจ้าฮินดูปรากฏอยู่ในพระรามชาดก ทั้งได้รับอิทธิพลนาฏกรรมจากเขมร ไทย และชวาผสมกับการร่ายรำพื้นเมืองเล็กน้อย โดยเฉพาะโขนและละครมีลักษณะ การแต่งกาย และโครงเรื่องใกล้เคียงกับฉบับเขมร ไทย และชวา
พระลักษมณ์พระรามบางฉบับมีโครงเรื่องอย่างชาดก เพราะพระรามเป็นผู้เสียสละ มีจริยธรรม และประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดี เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ต่างจากราพณาสูร (ຮາບມະນາສວນ ฮาบมะนาสวน) ที่ประพฤติตนชั่วร้าย เปรียบดั่งพระเทวทัต พระญาติของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้พระลักษณ์พระรามจึงมีการสอดแทรกความรู้ทางศาสนาและแสดงให้เห็นว่าความดีย่อมดีกว่าความชั่ว[7] ราพณาสูรเป็นมารผู้ล่อใจให้พระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญเพียร ระบบจักรวาลวิทยาของฮินดูก็อยู่ในพระไตรปิฎกและเทพเจ้าผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องคือ พระอินทร์ และพระอิศวร[8] และยังปรากฏในชาดกช่วงอื่น ๆ[9]
ส่วนร่องรอยการนับถือผีในพระลักษมณ์พระรามนี้มีแม่น้ำโขงเป็นองค์ประกอบแทนแม่น้ำคงคา รวมทั้งมีพญานาคมาบอกบิดาของพระรามว่าให้ย้ายราชธานีจากเมืองมหาธานีศรีพันพร้าว (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ไปยังเมืองจันทบุรีศรีสัตตนาค (ปัจจุบันคือนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแทน ซึ่งพญานาคยังได้รับการบูชาโดยชาวลาวและชาวอีสานมาจนถึงปัจจุบัน พระลักษมณ์พระรามยังเพิ่มเติมในเรื่อง "ควายทรพี" ซึ่งมุ่งไปที่การต่อสู้ของพาลี (ພະລີຈັນ พะลีจัน) สุครีพ (ສັງຄີບ สังคีบ) กับควายทรพี ซึ่งสื่อให้เห็นถึงศาสนาพุทธที่เข้ามาแทนที่การบูชาควายของชาวลาวในอดีต[10]
ตัวละคร
[แก้]
|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jähnichen, G. (2009). Re-designing the role of phalak and pharam in modern Lao Ramayana. Wacana Seni Journal of Art Discourse, 8, p 3-4.
- ↑ Iyengar, K. R. S. (2006). Asian variations in ramayana. New Delhi: Sahitya Akademi. p. 247.
- ↑ Saveda, A. (1994). Laos: a country study. [Replaces 1971 version.]. Washington, D.C.: U.S. Library of Congress. Retrieved from http://countrystudies.us/laos/
- ↑ Charles, I. (2007). Buddhism, power and political order. New York: Routledge.
- ↑ Richman, P. (1991). p. 54.
- ↑ p. 18.
- ↑ Richman, P. (1991). Many rāmāyaṇas: the diversity of a narrative tradition in south asia. Berkeley, CA: University of California Press.
- ↑ Richman, P. (1991). pp. 62-73
- ↑ Holt, J. (2009). Spirits of the place: Buddhism and Lao religious culture. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 267.
- ↑ Iyengar, K. R. S. (2006) pp. 237-8.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- (อังกฤษ) (ฝรั่งเศส) Royal theatre of Luang Prabang
- Phra Lak Phra Lam - A Previous Life of the Buddha เก็บถาวร 2021-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Characters of the Phra Lak Phra Lam เก็บถาวร 2021-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน