ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณ

ท้าววรจันทร์ (วาด)

เกิดแมว งามสมบัติ
11 มกราคม พ.ศ. 2384
เสียชีวิต25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (98 ปี)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
บิดามารดาสมบุญ งามสมบัติ
ท้าวปฏิบัติบิณฑทาน (ถ้วย งามสมบัติ)

ท้าววรจันทร บรมธรรมิกภักดี นารีวรคณานุรักษา หรือ เจ้าจอมมารดาวาด มีนามเดิมว่า แมว (11 มกราคม พ.ศ. 2384 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482) มีสมญาการแสดงว่า แมวอิเหนา เป็นนางละครและพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุลโสณกุล ณ อยุธยา

ประวัติ[แก้]

ท้าววรจันทรมีนามเดิมว่าแมว เป็นบุตรของสมบุญ งามสมบัติ (มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3) กับถ้วย งามสมบัติ (ท้าวปฏิบัติบิณฑทาน)[1] ญาติได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่วัยเด็ก โดยได้รับการเลี้ยงดูและฝึกละครจากเจ้าจอมนาค ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นป้า[2] ต่อมาเจ้าจอมนาคได้ถวายตัวท้าววรจันทรเข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในยามว่างก็ทรงให้ฝึกหัดละครและเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้ม[3] เคยรับบทเป็นอิเหนา พระเอกเรื่อง อิเหนา[4] เล่นได้ดีเยี่ยมจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า "แมวอิเหนา" ต่อมาจึงได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วาด

เมื่อรับราชการฝ่ายใน ท้าววรจันทร์ หรือเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุลโสณกุล ณ อยุธยา ท่านได้เรียนภาษาอังกฤษกับแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย และยังปรากฏเรื่องราวของท้าววรจันทร์ในนิพนธ์ น้ำแข็ง ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ความว่า กงสุลไทยในสิงคโปร์นำน้ำแข็งทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น ก็ตรัสเรียกพระราชโอรส-ธิดาว่า "ลูกจ๋า ๆ ๆ" ทรงหยิบน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ จากขันทองใส่พระโอษฐ์เจ้านายเล็ก ๆ พระองค์ละก้อนแล้วตรัสว่า "กินน้ำแข็งเสีย" ก่อนจะตรัสสั่งให้โขลนตามเจ้าจอมมารดาวาดมาดูน้ำแข็ง โขลนจึงไปเรียนคุณจอมว่า "มีรับสั่งให้ท่านขึ้นไปดูน้ำแข็งเจ้าค่ะ" เจ้าจอมมารดาวาดจึงถาม "เอ็งว่าอะไรนะ" โขลนตอบ "น้ำแข็งเจ้าค่ะ" เจ้าจอมมารดาวาดจึงร้องว่า "เอ็งนี้ปั้นน้ำเป็นตัว" คำนี้จึงกลายเป็นภาษิตมาแต่นั้น[5] ในขณะที่ ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า "อย่าปั้นน้ำเป็นตัว" เป็นสุภาษิตพระร่วง มีความหมายว่า "ห้ามทำอะไรฝืนธรรมชาติ" หรืออีกนัยหนึ่งว่า "แกล้งปลูกเท็จให้เป็นจริง" เป็นสุภาษิตมาแต่โบราณมิใช่เพิ่งเกิด[6]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้กล่าวถึงท่านว่า[4]

"...กิตติศัพท์เขาเล่าลือว่าท่านดุมาก เด็กได้ยินก็คร้ามท่านมาก เขาว่าท่านจับคนใส่ตรวนได้ เด็กเลยกลัวตัวสั่น ท่านขึ้นเฝ้าได้บางเวลาเหมือนกัน ต้องยอมรับกันในพวกเด็กว่าท่านน่าเกรงขามจริง ท่าเดินของท่านแม้แก่แล้วก็ดูออกว่าถ้าท่านเป็นสาวคงจะสวย ถ้าวันไหนเด็กเห็นท่านผ่านห้องหม่อมเจ้า เด็กจะบอกกันว่าคุณท้าววรจันทร์มาแล้ว ห้องหม่อมเจ้าจะเงียบกริบหยุดเสียงจ้อกแจ้กทันที..."

กล่าวกันว่าท้าววรจันทรมีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเลิศ โดยครั้งหนึ่งท้าววรจันทรได้ถวายสำรับอาหารเป็นน้ำยาไก่และหมูหวานแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยในฝีมือของท้าววรจันทรมากโดยเฉพาะหมูหวาน ทรงตรัสยกย่องว่ามีรสชาติราวกับหมูหวานที่เคยเสวยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าพระราชทานธูปและเทียนบูชาฝีมือท้าววรจันทร และทรงประกาศว่าหากใครผัดหมูหวานได้รสเช่นนี้ได้อีก ก็จะพระราชทานน้ำตาลจำนวนสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล[7]

นอกจากนี้ท้าววรจันทรยังมีความกตัญญูต่ออาจารย์ ด้วยอุปถัมภ์เจ้าจอมมารดาแย้มซึ่งเป็นครูละครให้ไปอยู่ด้วยกันที่วังปากคลองตลาดเพื่อดูแลอาจารย์ในปัจฉิมวัย หลังเจ้าจอมมารดาแย้มถึงแก่กรรม ท้าววรจันทรก็เป็นธุระจัดแจงพิธีปลงศพให้ และจัดการมอบมรดกมอบให้หลานของเจ้าจอมมารดาแย้มด้วย[8][9]

ท้าววรจันทรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 สิริอายุ 98 ปี

คดีความ[แก้]

พ.ศ. 2449 ท้าววรจันทร์ลงโทษอำแดงเนย เพราะหลบหนีงาน โดยให้บ่าวในกำกับของตนจำนวนสามคน ได้แก่ อำแดงนก อำแดงพลอย และอำแดงผ่อง เฆี่ยนตีอำแดงเนยซึ่งกำลังตั้งครรภ์อาการสาหัสและตายทั้งกลมในเวลาต่อมา กรรมการศาลกระทรวงวังพิพากษา ให้จำคุกท้าววรจันทร์ อำแดงนก อำแดงพลอย และอำแดงผ่อง เป็นเวลาสองปี แต่ท้าววรจันทร์เป็นข้าราชการและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงให้งดโทษท้าววรจันทร์ แต่เปลี่ยนเป็นปรับละเมิดจตุรคูณตามบรรดาศักดิ์ท้าววรจันทร์ ศักดินา 3,000 ไร่ คิดเป็นเงิน 425 บาท 3 สลึง 500 เบี้ย ต่อมาท้าววรจันทร์ทำหนังสือถึงกระทรวงวัง ปฏิเสธความผิดทั้งหมดแต่ไม่ต้องการอุทธรณ์ เพียงแต่ต้องการให้ปล่อยตัวบ่าวสามคนในฐานะที่ทำตามคำสั่งของท่าน[10] ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2443 หม่อมเจ้าประวาศสวัสดี โสณกุล หลานสาวของท้าวรจันทร์ ถูกอำแดงวง ซึ่งเป็นลูกจ้าง ยื่นฟ้องฐานหม่อมเจ้าประวาศสวัสดีเอาหนังแรดเฆี่ยนตี มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าเป็นแต่ลูกจ้าง ซึ่งจะกดขี่เฆี่ยนตีเช่นนี้ไม่ถูก หม่อมเจ้าหญิงประวาศก็หาฟังไม่…ข้าพเจ้ายื่นฟ้องต่อศาลให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 300 บาท 56 อัฐ ถานเฆี่ยนตีข้าพเจ้าโดยผิดกฎหมาย คือ ข้าพเจ้ามิได้เป็นทาษลูกหนี้ของจำเลย" สุดท้ายคดีถูกยกฟ้องตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ให้แล้วกันไป[11]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 73
  2. "เจ้าจอมมารดาวาด สนมใน ร.4 ลือกันว่าคือหัวโจกในวัง ฤๅเป็นผู้ "ให้ยกพวกตีบริวารเจ้าจอมอื่น"?". ศิลปวัฒนธรรม. 29 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ประวัติศาสตร์ควรบันทึกไว้ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี องค์บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสัมพันธวงศ์". วัดสัมพันธวงศ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-09. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. นนทบุรี : สารคดี, 2562, หน้า 137
  5. เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม ภาค 1. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2559, หน้า 453-454
  6. เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม ภาค 1. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2559, หน้า 450
  7. "ร.5 พอพระราชหฤทัย "หมูหวาน" โปรดเกล้าพระราชทาน ธูป เทียน บูชาฝีมือคนทำ". ศิลปวัฒนธรรม. 19 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 268
  9. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 147-8
  10. ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 80-81
  11. กษิดิศ อนันทนาธร (5 กันยายน 2565). "เมียรักของ 'ธานี' : หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา". The 101. World. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ฝ่ายน่า แลฝ่ายใน, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๕, ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๕๐๐
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๗๐
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ ง, ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๘๐
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๑๑๔