ถนนวัชรพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนวัชรพลตัดถนนรามอินทรา

ถนนวัชรพล หรือ ซอยรามอินทรา 55 เป็นถนนด้านทิศตะวันออกของเขตบางเขนและทางทิศใต้ของเขตสายไหม เชื่อมต่อถนนรามอินทรากับถนนเพิ่มสิน จากการประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรอบบัญชี พ.ศ. 2559–2562 ราคาที่ดินประเมินบริเวณถนนวัชรพล (คลองจรเข้บัวถึงถนนเพิ่มสิน) มีราคา 50,000-72,000 บาทต่อตารางวา[1]

ถนนวัชรพลอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วงถนน ได้แก่ ถนนวัชรพลช่วงต้น (ถนนเดิม) และถนนวัชรพลช่วงปลาย (ถนนตัดใหม่) ในอดีตถนนวัชรพลช่วงต้นมีสภาพเป็นถนนคันดินตัดไปตามทุ่งนา ใช้สัญจรเฉพาะชุมชนพักอาศัยเกษตรกรรมที่ตั้งกระจัดกระจายไปตามท้องที่ สองฝั่งถนนยังไม่มีอาคารหรือบ้านเรือนใด ๆ มีแต่เพียงโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน ในช่วงแรกถนนวัชรพลอยู่ภายใต้การดูแลของเขตบางกะปิโดยเริ่มตั้งแต่ถนนรามอินทราถึงคลองจรเข้บัว ต่อมา พ.ศ. 2529 เขตบางกะปิได้ปรับปรุงถนนจากถนนคันดินมาเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ให้รถยนต์สามารถสัญจรได้ โดยปรับปรุงตั้งแต่ถนนรามอินทราถึงคลองจรเข้บัวและซอยรามอินทรา 65 (ถนอมมิตร) มีขนาด 4 ช่องจราจร คันทางกว้าง 11 เมตร และเขตทางกว้าง 14 เมตร ไม่มีเกาะกลางถนนและทางเท้า และเขตบางเขนได้ตัดถนนวัชรพลเพิ่มขึ้นไปทางทิศเหนือจรดถนนเพิ่มสิน เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร คันทางกว้าง 4 เมตร

พ.ศ. 2537 มีการปรับปรุงถนนวัชรพลทั้งสองช่วง โดยปรับถนนให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเหมือนกันและมีขนาดเท่ากัน คือ ขนาด 2 ช่องจราจร คันทางกว้าง 6 เมตร รวมถึงปรับปรุงถนนสายย่อยที่เชื่อมต่อกับถนนวัชรพล[2]

บริเวณถนนวัชรพลเป็นย่านที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวและศูนย์การค้า เช่น เวนิสช๊อปปิ้งพลาซ่า เวนิสดิไอริส เพลินนารี่มอลล์ เป็นต้น[3] และบริเวณช่วงซอยรามอินทรา 57/1 และซอยรามอินทรา 59 (สวัสดิการ 2) ยังเป็นที่ตั้งของสถานีวัชรพลในรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู

อ้างอิง[แก้]

  1. "สรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี ปีพ.ศ.2559-2562". กรมธนารักษ์.
  2. นิภาภรณ์ ภูจำนงค์. "ผลกระทบจากการปรับปรุงถนนวัชรพลและถนนสายไหม ต่อการพัฒนาทางกายภาพในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. ""วัชรพล" ทำเลฮิตข้ามปี".