ข้ามไปเนื้อหา

ฆราวาสธรรม 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฆราวาสธรรม)

ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ

ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ

  1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
  2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
  3. ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่เราเพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส
  4. จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ

ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่

การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

อานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม

[แก้]

อานิสงส์ของการมีสัจจะ - ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนหนักแน่นมั่นคง - มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน - ได้รับการเคารพยกย่อง - มีคนเชื่อถือ และยำเกรง - ครอบครัวมีความมั่นคง - ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง

อานิสงส์ของการมีทมะ - ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว - ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน - ไม่มีเวรกับใคร - ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ - สามารถตั้งตัวได้ - มีปัญญาเป็นเลิศ

อานิสงส์ของการมีขันติ - ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ - ทำงานได้ผลดี - สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้ - สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้ - ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น - ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้ - ทำให้ได้ทรัพย์มา

อานิสงส์ของการมีจาคะ - ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง - เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป - ครอบครัวและสังคมเป็นสุข - มีกัลยาณมิตรรอบตัว สรุปแล้วคุณของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม

โทษของการไม่สร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม

[แก้]

โทษของการขาดสัจจะ- ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนเหลาะแหละ - พบแต่ความตกต่ำ - มีแต่คนดูถูก - ไม่มีคนเชื่อถือ - ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆ ได้ - ไร้เกียรติยศชื่อเสียง

โทษของการขาดทมะ - ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง - ทำให้ขาดความสามารถในการทำงาน - สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - จะเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย - จะจมอยู่กับอบายมุข - ครอบครัวเดือดร้อน - ไม่สามารถตั้งตัวได้ - เป็นคนโง่เขลา

โทษของการขาดขันติ - ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ - เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง - ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้ - หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น - เต็มไปด้วยศัตรู - ขาดความเจริญก้าวหน้า - ทำให้เสื่อมจากทรัพย์

โทษของการขาดจาคะ - ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ - ได้รับคำครหาติเตียน - เป็นทุกข์ใจ - ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง เมื่อขาดทมะย่อมเกิดปัญหาความโง่เขลา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในสังคม