สงครามเย็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cold War)
สงครามเย็น
ส่วนหนึ่งของ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

  รัฐฝั่งเนโท และ   รัฐฝั่งกติกาสัญญาวอร์ซอ ระหว่างช่วงสงครามเย็น
วันที่12 มีนาคม ค.ศ. 1947 (1947-03-12)26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 (1991-12-26)
สถานที่
ทั่วทั้งโลก
คู่สงคราม
 สหภาพโซเวียต  สหรัฐ
ภาพถ่ายกำแพงเบอร์ลินจากฝั่งตะวันตก (ฝั่งของประเทศเยอรมนีตะวันตก) กำแพงถูกสร้างใน ค.ศ. 1961 เพื่อป้องกันมิให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีและหยุดการหลั่งไหลของแรงงานซึ่งเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นและการทลายกำแพงใน ค.ศ. 1989 เป็นสัญลักษณ์ว่าสงครามเย็นใกล้ยุติ

สงครามเย็น (อังกฤษ: Cold War) เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรจากทั้งกลุ่มตะวันออกและกลุ่มตะวันตก ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง นักประวัติศาสตร์ยังไม่ตกลงกันทั้งหมดว่าสงครามเย็นคือช่วงใดกันแน่ แต่ช่วงเวลาโดยทั่วไปดังกล่าวจะนับตั้งแต่การประกาศลัทธิทรูแมน ปี ค.ศ. 1947 (การประชุมที่มิลาน เริ่มตั้งแต่ปี 1945) จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ด้วยลัทธิอำนาจทำลายล้างซึ่งกันและกัน (mutually assured destruction, MAD) ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการโจมตีล่วงหน้าโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกเหนือจากการพัฒนาคลังเก็บอาวุธนิวเคลียร์และการใช้งานทางทหารตามแบบแผน การต่อสู้เพื่อครอบงำได้ถูกแสดงออกโดยวิธีทางอ้อม เช่น สงครามทางจิตวิทยา การทัพโฆษณาชวนเชื่อ การจารกรรม การคว่ำบาตรระยะไกล การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันในงานกีฬาและการแข่งขันทางเทคโนโลยี เช่น การแข่งขันอวกาศ

คำว่า "เย็น" ได้ถูกนำมาใช้ เนื่องจากไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่โดยตรงระหว่างสองมหาอำนาจ แต่พวกเขาแต่ละฝ่ายต่างให้การสนับสนุนความขัดแย้งในภูมิภาคที่สำคัญที่เรียกว่า สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งนี้มีพื้นฐานมาจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และภูมิศาสตร์เพื่ออิทธิพลทั่วโลกโดยสองมหาอำนาจ ภายหลังจากพวกเขาได้ตกลงเป็นพันธมิตรชั่วคราวและมีชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีในปี ค.ศ. 1945 สงครามเย็นได้แบ่งแยกพันธมิตรในช่วงสงคราม เหลือเพียงสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นสองมหาอำนาจที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างลึกซึ้ง:  แต่เดิมเป็นรัฐนิยมลัทธิมากซ์–เลนินแบบพรรคการเมืองเดียวที่ดำเนินตามแผนเศรษฐกิจและการควบคุมสื่อ และเป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการจัดตั้งและปกครองดูแลชุมชน และถัดมาเป็นรัฐทุนนิยมที่มีการเลือกตั้งเสรีโดยทั่วไปและสื่อโดยเสรี ซึ่งยังให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสมาคมแก่พลเมืองของตน กลุ่มที่เป็นกลางที่ประกาศด้วยตัวเองได้เกิดขึ้นพร้อมกับขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งถูกก่อตั้งโดยอียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย และยูโกสลาเวีย กลุ่มฝ่ายนี้ได้ปฏิเสธความสัมพันธ์กับทั้งตะวันตกที่นำโดยสหรัฐหรือตะวันออกที่นำโดยโซเวียต ในขณะที่รัฐอานานิคมเกือบทั้งหมดต่างได้รับเอกราชในช่วงเวลาปี ค.ศ. 1945-1960 พวกเขาได้กลายเป็นสมรภูมิของโลกที่สามในสงครามเย็น

ในช่วงระยะแรกของสงครามเย็นได้เริ่มต้นขึ้นในสองปีแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตได้รวบรวมอำนาจการควบคุมเหนือรัฐของกลุ่มตะวันออก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มใช้กลยุทธ์การจำกัดในการขยายตัวทั่วโลกเพื่อท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียต การแผ่ขยายความช่วยเหลือทางทหารและการเงินไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตก (ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองกรีซ) และก่อตั้งพันธมิตรนาโต้ การปิดกั้นเบอร์ลิน (ค.ศ. 1948–49) เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งแรกของสงครามเย็น กับชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนและการปะทุของสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-53) ความขัดแย้งได้แผ่ขยายออกไป สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาต่างแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลในละตินอเมริกาและรัฐอาณานิคมที่ได้รับเอกราชจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน การปฏิวัติฮังการี ปี ค.ศ. 1956 ได้ถูกยับยั้งโดยโซเวียต การขยายตัวและเพิ่มพูนมากขึ้นทำให้เกิดวิกฤตการณ์มากมาย เช่น วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (ค.ศ. 1956) วิกฤตการณ์เบอร์ลิน ปี ค.ศ. 1961 และวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ปี ค.ศ. 1962 ภายหลังจากวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ระยะใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นซึ่งเห็นได้จากความแตกแยกระหว่างจีน-โซเวียตที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนในวงการคอมมิวนิสต์ ในขณะที่พันมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ได้แสดงให้เห็นถึงการมีอิสระในปฏิบัติการมากขึ้น สหภาพโซเวียตได้เข้ารุกรานเชโกสโลวาเกียและบดขยี้ ปรากสปริง โครงการของการได้รับเอกราช ปี ค.ศ. 1968 ในขณะที่สงครามเวียดนาม (ค.ศ. 1955-75) ได้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสาธารณรัฐเวียดนามใต้ที่มีสหรัฐคอยหนุนหลัง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนแผนการมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ สหรัฐยังประสบกับความวุ่นวายภายในจากขบวนการเพื่อสิทธิพลเมืองและฝ่ายต่อต้านสงครามเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1960-70 ขบวนการเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นในท่ามกลางประชาชนทั่วโลก ขบวนการต่อต้านการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้เกิดขึ้น พร้อมกับการประท้วงต่อต้านสงครามขนาดใหญ่

ในปี ค.ศ. 1970 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเอาใจใส่ในความพยายามประนีประนอมเพื่อสร้างระบบระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น การเปิดฉากการผ่อนคลายความตึงเครียดซึ่งเห็นได้จากการเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์และสหรัฐได้เปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะที่เป็นตัวถ่วงดุลอำนาจทางยุทธศาสตร์ต่อสหภาพโซเวียต การผ่อนคลายความตึงเครียดได้ยุติลงในช่วงปลายทศวรรษด้วยสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถานได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1979 ช่วงต้นปี ค.ศ. 1980 เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ด้วยเครื่องบินโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 007 ถูกโซเวียตยิงตก (ค.ศ. 1983) และการซ้อมรบทางทหารของนาโต้ "เอเบิล อาชเชอร์"(ค.ศ. 1983) สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มแรงกดดันทางการทูต ทางทหารและทางเศรษฐกิจต่อสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลาที่รัฐคอมมิวนิสต์กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1980 ผู้นำโซเวียตคนใหม่อย่างมีฮาอิล กอร์บาชอฟได้แนะนำการปฏิรูปแบบเสรีของเปเรสตรอยคา("การปรับโครงสร้าง", ค.ศ. 1987)และกลัสนอสต์("โปร่งใส", ค.ศ. 1987) และยุติการมีส่วนร่วมของโซเวียตในอัฟกานิสถาน แรงกดดันเพื่อเอกราชของชาติได้เพิ่มมากขึ้นในยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ โปแลนด์ กอร์บาชอฟปฏิเสธที่จะใช้กองกำลังทหารโซเวียตเพื่อค้ำจุดระบอบสนธิสัญญาวอร์ซอที่ไม่มั่นคงดังที่เคยเป็นในอดีต ผลลัพธ์ในปี ค.ศ. 1989 คือ คลื่นแห่งการปฏิวัติด้วยสันติวิธี(ยกเว้นเพียงการปฏิวัติโรมาเนีย) ได้ล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในยุโรปกลางและตะวันออก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตได้สูญเสียการควบคุมและถูกสั่งห้าม ภายหลังจากมีการพยายามก่อรัฐประหารซึ่งประสบผลไม่สำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 สิ่งนี้ได้นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 และการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ เช่น มองโกเลีย กัมพูชา และเยเมนใต้ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกมาจนถึงทุกวันนี้

สงครามเย็นและเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทิ้งมรดกที่สำคัญเอาไว้ มักจะถูกอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยประเด็นเรื่องของการจารกรรมและภัยคุกคามของการสงครามนิวเคลียร์ ในขณะดียวกัน สถานะความตึงเครียดที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งระหว่างหนึ่งในรัฐที่สืบทอดมาจากสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 (รวมทั้งพันธมิตรตะวันตก) เช่นเดียวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า สงครามเย็นครั้งที่สอง

การใช้คำ[แก้]

สงครามเย็นเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายต่างแข่งขันกัน โดยพยายามสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนไว้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม โดยประเทศมหาอำนาจจะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามแทน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสงครามตัวแทน (proxy war) เหตุที่เรียก สงครามเย็น เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจ โดยใช้จิตวิทยา[ต้องการอ้างอิง]

การกำเนิดค่ายตะวันออก[แก้]

การเปลี่ยนแปลงของดินแดนหลังสงครามในยุโรปและการก่อตัวของทางทิศตะวันออกที่เรียกว่าม่านเหล็ก.

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ก่อตั้งค่ายตะวันออก (Eastern Bloc) โดยการรวมรัฐที่ได้ยึดมาจากฝ่ายนาซี เช่น โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ เอสโตเนีย โรมาเนีย แล้วจึงเปลี่ยนสถานะให้เป็นรัฐสังคมนิยมซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าว คำนึงถึงสงครามเย็นเป็นหลัก นับจากปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) สมัยเริ่มต้นสงครามเย็น น่าจะอยู่ในสมัยวิกฤตการณ์ทางการทูตในตอนกลางและปลาย ค.ศ. 1947 เมื่อสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเกิดขัดแย้งเรื่องการจัดตั้งองค์การสันติภาพในตุรกี ยุโรปตะวันออกและเยอรมนี

ความตึงเครียดเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างอภิมหาอำนาจ แต่ยังไม่มีการประกาศสงครามหรือใช้กำลัง เป็นสมัยลัทธิทรูแมน วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 กับประกาศแผนการมาร์แชลล์ เพื่อฟื้นฟูบูรณะยุโรปตะวันตก ซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปตะวันออก และการแบ่งแยกเยอรมนี

การวิจัยและพัฒนาโครงการทางการทหารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก เกิดขึ้นในในช่วงเวลานี้ รวมถึงการแข่งขันกันสำรวจอวกาศ และการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อแสดงแสนยานุภาพของฝ่ายตน

เริ่มต้นของสงครามเย็น (ค.ศ. 1945-1950)[แก้]

นักบินกำลังลำเลียงนมขึ้นเครื่องบินที่ส่งไปช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตกในช่วงปิดล้อมเบอร์ลิน

ระยะแรกของสงครามเย็นเริ่มในสองปีให้หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติใน ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตรวบการควบคุมเหนือรัฐในกลุ่มตะวันออก โดยสหภาพโซเวียตได้นำกองทัพเข้ารัฐประหารประเทศต่าง ๆ กลุ่มตะวันออกและพยายามเข้าแทรกแซงทางการเมืองในกรีซและตรุกี ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มได้เริ่มลัทธิทรูแมนคือการจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนาทั่วโลกเพื่อท้าทายโซเวียต โดยแผนมาร์แชลล์ขยายความช่วยเหลือทางทหารและการเงินแก่ประเทศยุโรปตะวันตก (ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองกรีซ) การตั้งพันธมิตรเนโท

จากนั้นสหภาพโซเวียตได้ปิดล้อมเบอร์ลิน ไม่ให้กลุ่มตะวันตกเข้าช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก โดยหวังว่าจะให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกจะมาร่วมกับเบอร์ลินตะวันออก แต่กลุ่มตะวันตกได้ส่งของทางอากาศช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก โซเวียตเห็นว่าไม่ได้ผลจึงยกเลิกการปิดกั้นให้กลุ่มตะวันตกเข้ามา[ต้องการอ้างอิง]

วิกฤตการณ์ (ค.ศ. 1950-1975)[แก้]

ภายถ่ายจากการบินสอดแนมของยู-2 แสดงให้เห็นขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบา ในภาพจะมีรถขนส่งและเต็นท์เชื้อเพลิง

ด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนและการอุบัติของสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950–1953) ความขัดแย้งขยายตัว สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาแข่งขันชิงอิทธิพลในละตินอเมริกาและรัฐแอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับปลดปล่อยอาณานิคม ขณะเดียวกัน การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 ถูกโซเวียตหยุดยั้ง การขยายและบานปลายจุดประกายวิกฤตการณ์เพิ่มอีก เช่น วิกฤตการณ์สุเอซ (ค.ศ. 1956) วิกฤตการณ์เบอร์ลิน ค.ศ. 1965 และวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ค.ศ. 1962

หลังความขัดแย้งสุดท้ายนี้ก็เริ่มระยะใหม่ซึ่งมีความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียตทำให้ความสัมพันธ์ภายในเขตคอมมิวนิสต์ซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศฝรั่งเศส แสดงอิสระในการปฏิบัติมากขึ้น สหภาพโซเวียตปราบปรามโครงการเปิดเสรีปรากสปริง ค.ศ. 1968 ในเชโกสโลวาเกีย และสงครามเวียดนาม (ค.ศ. 1955–1975) ยุติลงด้วยความปราชัยของสาธารณรัฐเวียดนามใต้ที่สหรัฐหนุนหลัง ทำให้มีการปรับแก้เพิ่มขึ้น

การผ่อนคลายครั้งแรก (ค.ศ. 1974-1979)[แก้]

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ทั้งสองฝ่ายต่างสนใจในการผ่อนปรนเพื่อสถาปนาระบบระหว่างประเทศที่เสถียรมั่นคงและทำนายได้มากขึ้น อันเริ่มระยะการผ่อนคลายความตึงเครียดซึ่งมีการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์และสหรัฐเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นการถ่วงดุลยุทธศาสตร์กับสหภาพโซเวียต และเจรญาสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ SALT I (ค.ศ. 1974) และ SALT II (ค.ศ.1979)

วิกฤตการณ์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1979-1989)[แก้]

การผ่อนคลายความตึงเครียดทลายลงเมื่อสิ้นทศวรรษโดยสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถานเริ่มใน ค.ศ. 1979 เป็นการพยายามให้อัฟกานิสถานยังเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยการที่โซเวียตยิงโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 007 ตก (ค.ศ. 1983) และการซ้อมรบ "เอเบิลอาร์เชอร์" ของเนโท (ค.ศ. 1983) สหรัฐเพิ่มการกดดันทางการทูต ทหารและเศรษฐกิจต่อสหภาพโซเวียต

การผ่อนคลายครั้งสองและสิ้นสุดสงครามเย็น (ค.ศ. 1985-1991)[แก้]

ประธานาธิบดีเรแกนและรองประธานาธิบดีบุชและประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ, นิวยอร์กซิตี้, 7 ธันวาคม 1987

เป็นช่วงปลายสงครามเย็น สหภาพโซเวียตกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้ว ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ผู้นำโซเวียตคนใหม่ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ริเริ่มการปฏิรูปเปิดเสรีเปเรสตรอยคา (ค.ศ. 1987) และกลัสนอสต์ (ประมาณ ค.ศ. 1985) ยุติการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน และการสนธิสัญญาควบคุมขีปนาวุธ INF

การกดดันเรียกร้องเอกราชของชาติยิ่งเติบโตขึ้นในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศโปแลนด์ ฝ่ายกอร์บาชอฟไม่ยอมใช้ทหารโซเวียตเพื่อค้ำจุดระบอบสนธิสัญญาวอร์ซอที่ไม่มั่นคงดังที่เคยเป็นในอดีต ผลลงเอยด้วยใน ค.ศ. 1989 เกิดคลื่นปฏิวัติซึ่งโค่นระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

พรรคคอมมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเองเสียการควบคุมและถูกห้ามหลังความพยายามรัฐประหารอันไร้ผลในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 แล้วนำไปสู่การยุบสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 และการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นอย่างประเทศมองโกเลีย กัมพูชาและเยเมนใต้ สหรัฐเหลือเป็นประเทศอภิมหาอำนาจของโลกแต่ผู้เดียว

คู่สงคราม[แก้]

เริ่มต้นของสงครามเย็น ค.ศ. 1947-1953 มีประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาหลัก ๆ คือ สมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ มีประเทศพันธมิตรของโซเวียตหลัก ๆ คือสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอและสาธารณรัฐประชาชนจีน

แผนที่แสดงฝ่ายของสงครามเย็น ในค.ศ.1959
  ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
  ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา
  ประเทศอาณานิคม
  ประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอ
  ประเทศพันธมิตรของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
  ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง

ค.ศ. 1950 ได้เกิดสงครามเกาหลี สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือเกาหลีใต้ ส่วนโซเวียตได้ช่วยเหลือเกาหลีเหนือ จนกระทั่งสงบศึกหลังจากเวียดมินห์ได้รับชัยชนะ ฝรั่งเศสยอมรับความปราชัยและต้องสงบศึก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการลงนามใน "อนุสัญญาเจนีวา" (พ.ศ. 2497) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผลให้เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยมีเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือ โดยเวียดนามเหนือยึดถือการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ส่วนเวียดนามใต้ยึดถือการปกครองแบบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของโง ดินห์ เสี่ยม ทำให้สหภาพโซเวียตเข้าควบคุมเวียดนามเหนือ สหรํฐอเมริกาเข้าควบคุมเวียดนามใต้ ในตะวันออกกลาง อเมริกาได้สนับสนุนอิสราเอลในเรื่องอาวุธที่ไว้ใช้ป้องกันตัวเอง ทำให้โซเวียตตอบโต้โดยสนับสนุนสันนิบาตอาหรับในต่อต้านอิสราเอล

ในปีค.ศ. 1959 ได้มีการปฏิวัติคิวบาและได้เข้าเป็นพันธมิตรของโซเวียต ในปี ค.ศ.1960 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีความคิดคัดแย้งกัน ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มเขมรแดง และโซมาเลีย แยกออกมาจากพันธมิตรของโซเวียต หลังจากสงครามยมคิปปูร์ เวียดนามได้เข้าเป็นพันธมิตรของโซเวียต ส่วนสันนิบาตอาหรับตัดความสัมพันธ์จากโซเวียตไปเป็นพันธมิตรของอเมริกา

แผนที่แสดงฝ่ายของพันธมิตรของโซเวียต(สีแดง) ฝ่ายของพันธมิตรของจีน(สีเหลือง) เป็นคอมมิวนิสต์แต่ไม่มีพันธมิตร(สีดำ)

ในปี ค.ศ.1979 เกิดสงครามอัฟกานิสถานที่เป็นพันธมิตรของโซเวียตได้ต่อสู้กับมุจญาฮิดีนซุนนีย์ที่อเมริกาสนับสนุน ในที่สุดมุจญาฮิดีนซุนนีย์ได้รับชัยชนะ ทำให้โซเวียตเสียพันธมิตรไป ใน ค.ศ.1989 ได้มีการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ทำให้โซเวียตเสียพันธมิตรในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ทำให้รัฐในโซเวียตเรียกร้องอิสรภาพ ส่งผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลายในเวลาต่อมา

แผนที่ในปีค.ศ.1980 แสดงฝ่ายพันธมิตรของโซเวียต (สีแดง) ฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา (สีน้ำเงิน)

สงครามตัวแทน[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]