เสรีภาพในการพูด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เสรีภาพ
แนวความคิดสำคัญ

อิสรภาพ (เชิงบวก · เชิงลบ)
สิทธิ และ สิทธิมนุษยชน
เจตจำนงเสรี · ความรับผิดชอบทางศีลธรรม

จำแนกตามประเภท

พลเมือง · วิชาการ
การเมือง · เศรษฐกิจ
ความคิด · ศาสนา

จำแนกตามรูปแบบ

แสดงออก · ชุมนุม
สมาคม · เคลื่อนไหว · สื่อ

ประเด็นทางสังคม

การปิดกั้นเสรีภาพ (ในไทย)
การเซ็นเซอร์ · การบีบบังคับ · ความโปร่งใสของสื่อ

เสรีภาพในการพูด (อังกฤษ: freedom of speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออก (อังกฤษ: freedom of expression) เป็นสิทธิการเมืองในการสื่อสารความคิดของบุคคลผ่านการพูด คำว่า เสรีภาพในการแสดงออก บางครั้งใช้เป็นคำไวพจน์ แต่ยังรวมไปถึงพฤติการณ์ใด ๆ ในการแสวงหา ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพกราฟิกหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่และนำข้อสนเทศหรือความคิดโดยไม่คำนึงถึงสื่อที่ใช้ ในทางปฏิบัติ สิทธิในเสรีภาพการพูดมิได้มีสมบูรณ์ในทุกประเทศ และสิทธินี้โดยทั่วไปมักถูกจำกัด เช่นเดียวกับการหมิ่นประมาท การดูหมิ่นซึ่งหน้า ความลามก และการยุยงให้ก่ออาชญากรรม แต่เนื่องจากหลายคนมักเข้าใจความหมายของเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกในทางที่เข้าข้างความคิดหรือความต้องการสื่อสารของตนเองหรือกลุ่มเพียงอย่างเดียว โดยขาดความเข้าใจเจตนารมย์ที่แท้จริงของความหมายของคำว่าเสรีภาพในการพูด จึงมักปรากฏอยู่เนืองๆว่าหลายคนมักนำเสรีภาพในการพูดไปใช้อ้าง เพื่อตนเองจะได้สามารถพูดอะไรก็ได้ตามที่ตนปรารถนา ทั้งๆที่หลายเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว(privacy)ของบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่เรื่องสาธารณะ(public issue)ที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบถึงผู้ใด

สิทธิในเสรีภาพการพูดได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้รับการยอมรับในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 แห่งกติกาฯ บัญญัติว่า "ทุกคนจักมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง" และ "ทุกคนจักมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้จักรวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและส่งต่อข้อสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของเขา" หากข้อ 19 ยังบัญญัติต่อไปว่าการใช้สิทธิเหล่านี้มี "หน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษ" และอาจ "ดังนั้น ต้องถูกจำกัดบ้าง" เมื่อจำเป็น "เพื่อความเคารพถึงสิทธิหรือชื่อเสียงของคนอื่น" หรือ "เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรม"[1][2]

สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกถูกตีความรวมถึงสิทธิในการถ่ายรูปและเผยแพร่ภาพถ่ายบุคคลแปลกหน้าในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการรับรู้จากพวกเขา อย่างไรก็ตามในคดีตามกฎหมายในประเทศเนเธอร์แลนด์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่รวมถึงสิทธิในการใช้รูปถ่ายในลักษณะเหยียดสีผิวเพื่อปลุกระดมความเกลียดชังทางเชื้อชาติหรือการเลือกปฏิบัติชาติพันธุ์

วิวัฒนาการและเหตุการณ์สำคัญ[3][แก้]

399 ปีก่อนคริสต์ศักราช โสกราตีส นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวแก่ตุลาการผู้ไต่สวนคดีของตนว่า "หากท่านเสนอว่าจะนิรโทษกรรมให้แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้านั้นจะไม่กล่าวความในใจใด ๆ อีก...กระนั้น ข้าพเจ้านั้นควรกล่าวแก่ท่านว่า 'บุรุษแห่งเอเธนส์เอ๋ย ข้าพเจ้าจักปฏิบัติตามพระวจนะแห่งพระเจ้ามากกว่าคำของท่าน'" [ต้นฉบับ: If you offered to let me off this time on condition I am not any longer to speak my mind... I should say to you, "Men of Athens, I shall obey the Gods rather than you.]

พ.ศ. 1758 พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษลงพระนามาภิไธยในมหากฎบัตร กฎหมายซึ่งต่อมาได้รับการขนานชื่อว่าเป็นแม่บทแห่งเสรีภาพในประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2059 เดซิเดริอุส เอราสมุส แห่งนครรอตเตอร์ดัม (ละติน: Desiderius Erasmus Roterodamus) นักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ ถวายการศึกษาแก่พระกุมารในราชสำนักว่า "ในดินแดนอันเสรี บุคคลควรมีเสรีในการพูดด้วย" [ต้นฉบับ: In a free state, tongues too should be free.]

พ.ศ. 2176 กาลิเลโอ กาลิเลอี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ถูกนำตัวเข้ารับการไต่สวนในกรณีที่ได้แถลงว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และดวงอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลก

พ.ศ. 2187 จอห์น มิลตัน (John Milton) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ทอดบัตรสนเท่ห์เป็นเพลงยาวชื่อ "อาเรโอพากิทิกา" (ละติน: Areopagitica) หรือ "คำกล่าวของคุณจอห์น มิลตัน ถึงรัฐสภาแห่งอังกฤษ ว่าด้วยเสรีภาพในการเผยแพร่สิ่งพิมพ์โดยมิได้รับอนุญาต" (A speech of Mr John Milton for the liberty of unlicensed printing to the Parliament of England) ซึ่งความตอนหนึ่งในเพลงยาวว่า "ผู้ใดไซร้ประหัตหนังสือทรงคุณเสีย ผู้นั้นเสียเหตุผลในตนไซร้" [ต้นฉบับ: He who destroys a good book, kills reason itself.]

พ.ศ. 2232 ประเทศอังกฤษประกาศใช้พระราชบัญญัติสิทธิ พ.ศ. 2232 กฎหมายแม่บทฉบับหนึ่งซึ่งพัฒนาไปเป็นกฎหมายสำคัญหลายฉบับของโลกในกาลข้างหน้า

พ.ศ. 2313 ฟรองซัวส์-มารี อารูเอต์ (ฝรั่งเศส: François-Marie Arouet) หรือวอลแตร์ นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ความตอนหนึ่งว่า "คุณลาบเบ กระผมรู้สึกเดียดฉันท์ข้อความที่คุณเขียนอย่างยิ่ง กระนั้น กระผมจักอุทิศชีวิตของกระผมเพื่อทำให้คุณเขียนต่อไปเรื่อย ๆ" [ต้นฉบับ: Monsieur l'abbé, I detest what you write, but I would give my life to make it possible for you to continue to write.]

พ.ศ. 2332 คณะปฏิวัติในการปฏิวัติฝรั่งเศสออกประกาศว่าด้วยสิทธิของบุคคล (The Declaration of the Rights of Man) ซึ่งความตอนหนึ่งเป็นการรับรองสิทธิในการแสดงออก

พ.ศ. 2334 รัฐสภาสหรัฐอเมริกาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิแห่งสหรัฐอเมริกา (US Bill of Rights) เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพสี่ประการ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพในทางศาสนา สิทธิและเสรีภาพในการพูด สิทธิและเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิและเสรีภาพของสื่อ

กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก[แก้]

แนวคิดเสรีภาพในการพูดสามารถพบได้ในเอกสารสิทธิมนุษยชนตอนต้นของอังกฤษในปี ค.ศ.1689 ได้มีการจัดตั้งรัฐธรรมนูญเพื่อสิทธิเสรีภาพในการพูดในรัฐสภา ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ในรัฐสภาซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมืองที่ได้รับการยอมรับในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 โดยเฉพาะเป็นการยืนยันเสรีภาพในการพูดในฐานะที่เป็นสิทธิเหนือกว่า ปฏิญญานี้ให้เสรีภาพในการแสดงออกในข้อ 11 ซึ่งระบุว่า:

การสื่อสารเสรีของความคิดและความคิดเห็นเป็นหนึ่งในสิทธิของมนุษย์ที่มีค่าที่สุด พลเมืองทุกคนอาจพูด เขียนและพิมพ์โดยอิสระ แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งใช้ในปีพ.ศ. 2491 ระบุว่า:

ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและแสวงหา รับ และแจกจ่ายข้อมูล และความคิดผ่านสื่อใดๆ โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

วันนี้เสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการยอมรับในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและภูมิภาค เป็นที่ประดิษฐานไว้ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ข้อ 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป , มาตรา 13 ของอนุสัญญาอเมริกันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และมาตรา 9 ของกฎบัตรแอฟริกันด้านสิทธิมนุษยชนของประชาชน และอ้างอิงจากการถกเถียงของ John Milton เสรีภาพเสรีภาพในการพูดจะถูกเข้าใจว่าเป็นสิทธิหลายเหลี่ยมหลายมุมมองซึ่งรวมถึงไม่เพียงแต่สิทธิที่จะแสดงหรือเผยแพร่ข้อมูลและความคิด แต่ยังมีข้อแตกต่างอีก 3 ประการ:

  • สิทธิในการแสวงหาข้อมูลและความคิด
  • สิทธิในการได้รับข้อมูลและแนวคิด
  • สิทธิในการให้ข้อมูลและความคิด

ระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและระดับมาตรฐานแห่งชาติยังตระหนักเสรีภาพในการพูดว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกรวมถึงสื่อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร ในการพิมพ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือผ่านรูปแบบศิลปะ ซึ่งหมายความว่าการปกป้องเสรีภาพในการพูดเป็นสิทธิไม่เพียงแต่รวมถึงเนื้อหาเท่านั้นแต่ยังหมายถึงการแสดงออกด้วย

เสรีภาพในการแสดงออกผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์[แก้]

บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกสังกัดกลุ่มผ่านทางเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ตามความชอบ ความสนใจ ฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ความมุ่งหวังทางการเมือง โดยไม่ต้องหวาดกลัวผลกระทบในเชิงลบที่จะได้รับจากสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ หรือการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจากอคติของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง การแสดงออกสามารถสื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ทั้งจากตัวอักษร รูปภาพ การ์ตูน ภาพถ่าย บทความ สามารถใช้ได้ทั้งในทางสร้างสรรค์ ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลที่มุ่งหวัง ดังนั้นผู้เสพสื่อเหล่านี้จึงควรมีวิจารณญานอย่างยิ่งถึงแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มหรือเครือข่ายเดียวกันก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการเมืองซึ่งมีผลประโยชน์แอบแฝงมหาศาล

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิงและเชิงอรรถ[แก้]

  1. Article 19 of the International Covenant on Civil and Political Rights เก็บถาวร 2012-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights.
  2. "Using Courts to Enforce the Free Speech Provisions of the International Covenant on Civil and Political Rights - Australia & Oceania - Australia & New Zealand from All Business..." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-19. สืบค้นเมื่อ 2012-03-07.
  3. David Smith, and Luc Torres. (2006, 5 February). Timeline: a history of free speech. [Online]. Available: http://www.guardian.co.uk/media/2006/feb/05/religion.news. (Accessed: 21 June 2006).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]