การล่มสลายของยูโกสลาเวีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การล่มสลายของยูโกสลาเวีย
แผนที่แบบเคลื่อนไหวแสดงการล่มสลายของยูโกสลาเวียระหว่าง ค.ศ. 1991–1992 สีแทนดินแดนต่าง ๆ
  สาธารณรัฐเซิร์บครายีนา (1991–1995), ปฏิบัติการสตอร์ม (1995) และการบริหารระยะเปลี่ยนผ่านสลาโวเนีย บอรอญอ และซีร์เมียตะวันตกโดยสหประชาชาติ (1996–1998), ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชีย
  สาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (1992–1995), ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (1992–)
  เขตปกครองตนเองบอสเนียตะวันตก (1993–1995), ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (1992–)
  สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (1992–2003), เซอร์เบียและมอนเตเนโกร (2003–2006), มอนเตเนโกร (3 มิถุนายน 2006–), เซอร์เบีย (5 มิถุนายน 2006–) และคอซอวอ (17 กุมภาพันธ์ 2008–)
  สาธารณรัฐเซิร์ปสกา (1992–1995), ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (1992–)

วันที่25 มิถุนายน ค.ศ. 1991 – 27 เมษายน ค.ศ. 1992
(10 เดือน 2 วัน)
ที่ตั้งยูโกสลาเวีย
ผลสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียแตกออกเป็นสาธารณรัฐต่าง ๆ

การล่มสลายของยูโกสลาเวีย เป็นชุดความผันผวนและความขัดแย้งทางการเมืองในยูโกสลาเวียช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 การล่มสลายนี้เป็นผลมาจากวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทำให้ยูโกสลาเวียแตกออกเป็นสาธารณรัฐต่าง ๆ และนำไปสู่สงครามยูโกสลาเวีย อันเป็นสงครามยืดเยื้อที่นองเลือดที่สุดในทวีปยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง[1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ราชอาณาจักรยูโกสลาเวียถูกฝ่ายอักษะบุกครอง จึงเกิดกองกำลังหลายฝ่ายที่สู้รบกับฝ่ายอักษะและสู้รบกันเอง ต่อมาพลพรรคยูโกสลาเวียซึ่งเป็นกองกำลังนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเอาชนะฝ่ายอักษะ ล้มล้างระบอบกษัตริย์ และจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียที่ประกอบด้วยบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบีย และสโลวีเนีย[2] โดยแต่ละสาธารณรัฐปกครองโดยสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย ยูโกสลาเวียภายใต้การปกครองของยอซีป บรอซ ตีโตมีเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจ[3] แต่เมื่อตีโตถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1980 รัฐบาลกลางยูโกสลาเวียไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสังคมเศรษฐกิจได้ ในปี ค.ศ. 1981 เกิดการประท้วงเรียกร้องการปกครองตนเองในคอซอวอ ตามด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเซอร์เบียของสลอบอดัน มีลอเชวิชที่มีแนวคิดรวมศูนย์อำนาจ ระหว่างปี ค.ศ. 1988–1989 มีลอเชวิชก่อการปฏิวัติต้านระบบข้าราชการประจำ (Anti-bureaucratic revolution) เพื่อล้มล้างรัฐบาลปกครองตนเองของคอซอวอและวอยวอดีนา แต่การปฏิวัตินี้ได้รับการต่อต้านจากโครเอเชียและสโลวีเนีย ความแตกแยกนี้นำไปสู่การยุบเลิกสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียในปี ค.ศ. 1990[4]

ปีค.ศ. 1991 โครเอเชียและสโลวีเนียประกาศเอกราชหลังสงครามยูโกสลาเวียอุบัติในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน โดยโครเอเชียรบกับสาธารณรัฐเซิร์บครายีนาที่สนับสนุนโดยยูโกสลาเวียในสงครามประกาศเอกราชโครเอเชีย[5] ขณะที่สโลวีเนียรบกับยูโกสลาเวียในสงครามสิบวัน[6] ต่อมาปีค.ศ. 1992 สงครามยูโกสลาเวียยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นเมื่อเกิดสงครามบอสเนียขึ้นระหว่างชาวบอสนีแอก ชาวโครแอต และชาวเซิร์บ สงครามนี้มีการกวาดล้างทางเชื้อชาติ การสังหารหมู่ และการข่มขืนจนมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 100,000 คน[7] ก่อนที่จะยุติลงเมื่อมีการลงนามในความตกลงเดย์ตันในปี ค.ศ. 1995[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lockie, Alex; Rosen, Armin (July 11, 2019). "Here's the awful story of the worst European massacre since World War II". Business Insider. สืบค้นเมื่อ October 2, 2020.
  2. "1946 Yugoslav Constitution". worldstatesmen.org. สืบค้นเมื่อ October 2, 2020.
  3. Robertson, James (July 17, 2017). "The Life and Death of Yugoslav Socialism". Jacobin. สืบค้นเมื่อ October 2, 2020.
  4. "Slobodan Milosevic". Britannica. สืบค้นเมื่อ October 2, 2020.
  5. Darko Zubrinic. "Croatia within ex-Yugoslavia". Croatianhistory.net. สืบค้นเมื่อ February 7, 2010.
  6. Fraudet, Xavier (2006). France's Security Independence: Originality and Constraints in Europe, 1981-1995. Peter Lang. p. 129. ISBN 978-3-03911-141-1.
  7. "Bosnia war dead figure announced". BBC. 21 June 2007. สืบค้นเมื่อ 16 February 2013.
  8. "Dayton Accords". Britannica. สืบค้นเมื่อ October 2, 2020.