สงครามสามสิบปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามสามสิบปี

แผนที่ยุโรปในปี ค.ศ. 1648 หลังจากสัญญาสงบศึกเวสต์เฟเลีย แสดงรัฐเยอรมันเล็ก ๆ ภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสีเทา
วันที่ค.ศ. 1618 –1648
สถานที่
ทวีปยุโรป (ส่วนใหญ่ในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน)
ผล

สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย

คู่สงคราม

รัฐโปรเตสแตนท์และพันธมิตร สวีเดน สวีเดน (ตั้งแต่ 1630)
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส (ตั้งแต่ 1635)
เดนมาร์ก เดนมาร์ก-นอร์เวย์ (1625–1629)
โบฮีเมีย โบฮีเมีย (1618–1620)
 สาธารณรัฐดัตช์
รัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน
รัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนต (จน 1623)
บรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย
บรุนสวิก-ลือเนบูร์ก
อังกฤษ ราชอาณาจักรอังกฤษ (1625–30)[1]
ทรานซิลเวเนีย
กบฏต่อต้านราชวงศ์ฮับส์บูร์กชาวฮังการี[2]

สนับสนุนโดย
จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิออตโตมัน

อาณาจักรซาร์รัสเซีย[3]

รัฐโรมันคาทอลิกและพันธมิตร  จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

สเปน จักรวรรดิสเปน
ฮังการี[4]
ราชอาณาจักรโครเอเชีย [5]
เดนมาร์ก เดนมาร์ก-นอร์เวย์ (1643–1645)[6]

สนับสนุนโดย

โปแลนด์-ลิทัวเนีย
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

สวีเดน เอิร์ลแห่งเลเวน
สวีเดน กุสตาฟที่ 2 อดอล์ฟ 
สวีเดน โยฮัน บาเนอร์
โบฮีเมีย เฟรเดอริคที่ 5
เดนมาร์ก คริสเตียนที่ 4
เนเธอร์แลนด์ มอริสแห่งนาซอ
เนเธอร์แลนด์ Piet Pieterszoon Hein
พระคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ
หลุยส์ที่ 2 แห่งบูร์บอง
วิคองเตเดอตูรีน
เบิร์นฮาร์ดแห่งแซ็กซ-ไวมาร์
จอห์น จอร์จที่ 1

กาเบรียล เบ็ธเลน

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ Johann Tserclaes, Count of Tilly 
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อัลเบร็คท์ ฟอน วอลเล็นชไตน์
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แฟร์ดีนันด์ที่ 2
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แฟร์ดีนันด์ที่ 3
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฟรันซ์ ฟอน เมอร์ซีย์ 
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โยฮันน์ ฟอน เวิร์ต
แม็กซิมิเลียนที่ 1
สเปน Count-Duke Olivares
สเปน อัมโบรจิโอ สปิโนลา

สเปน คาร์ดินัล-อิฟันเตเฟอร์ดินานด์
กำลัง
~495,000,
ทหาร 150,000 สวีเดน,
20,000 เดนมาร์ก,
75,000 ดัตช์,
~100,000 เยอรมัน,
150,000 ฝรั่งเศส,
6,000 ทรานซิลเวเนียและ 20-30,000 ฮังการี[7]
~450,000,
300,000 สเปน,
~100-200,000 เยอรมัน,
ราว 20,000 ฮังการีและทหารม้าโครเอเชีย[8]

สงครามสามสิบปี (อังกฤษ: Thirty Years' War) (ค.ศ. 1618 - ค.ศ. 1648) เป็นการสู้รบโดยส่วนใหญ่ในเยอรมนีและยุโรปกลางยุคปัจจุบัน ถือว่าเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่มีการทำลายล้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป มีการคิดประมาณโดยรวมของการเสียชีวิตของทหารและพลเรือน จำนวนระหว่าง 4.5 ถึง 8 ล้านคน ในขณะที่ได้มีการเสนอว่า มีจำนวนประชากรที่เสียชีวิตลงถึง 60% ในบางพื้นที่ของเยอรมนี ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วยสงครามแปดสิบปี สงครามการสืบราชบังลังก์แมนเทียน (War of the Mantuan Succession) สงครามฝรั่งเศส-สเปน และสงครามฟื้นฟูโปรตุเกส

จนถึงศตวรรษที่ 20 สงครามได้ถูกมองว่าเป็นความต่อเนื่องของความขัดแย้งทางศาสนาของเยอรมันที่ถูกจุดฉนวนโดยการปฏิรูปทางศาสนา ในปี ค.ศ. 1938 นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ C. V. Wedgwood ได้โต้แย้งว่า ตัวขับเคลื่อนหลักคือการแข่งขันที่มีมายาวนานจากการครอบงำยุโรป ระหว่างราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในออสเตรียและสเปน และราชวงศ์บูร์บงแห่งฝรั่งเศส มุมมองของเธอได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในปัจจุบัน ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง[9]

การสู้รบสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ช่วงแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1618 ถึง ค.ศ. 1635 ส่วนใหญ่เป็นการสู้รบระหว่างจักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 2 และเยอรมันที่เป็นศัตรูของพระองค์ โดยมีอำนาจจากภายนอกที่มีบทบาทในการสนับสนุน ช่วงหลังปี ค.ศ. 1635 การสู้รบในเยอรมนีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสู้รบในยุโรปที่กว้างขว้างออกไป โดยมีสวีเดนและฝรั่งเศสอยู่ฝ่ายหนึ่ง ส่วนจักรพรรดิและพันธมิตรของพระองค์ก็อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งได้สิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน ปี ค.ศ. 1648[10]

เมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1555 สนธิสัญญาสันติภาพเอาคส์บวร์คได้แบ่งแยกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ออกมาเป็นรัฐที่นับถือนิกายลูเทอแรนและรัฐที่นับถือนิกายคาทอลิก การย้ายถิ่นฐานครั้งนี้ได้ค่อย ๆ ถูกทำลายโดยการขยายตัวของพวกนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ที่เกินขอบเขตตามที่ตกลงกันไว้ และการเติบโตของลัทธิคาลวิน คำสอนนิกายโปรเตสแตนต์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับโดยเอาคส์บวร์ค ผลลัพธ์ที่ตามมาคือข้อพิพาทต่าง ๆ สำหรับการควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1618 เมื่อขุนนางโบฮีเมียที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์เป็นส่วนใหญ่ได้ทำการปลดแฟร์ดีนันท์ที่ 2 ที่นับถือนิกายคาทอลิก ในฐานะกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย พวกเขาได้เสนอมอบมงกุฎให้กับฟรีดริชที่ 5 ผู้คัดเลือกแห่งพาลาทิเนตที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ และการยอมรับของพระองค์ได้นำไปสู่การลุกฮือในโบฮีเมีย ปี ค.ศ. 1618

ในปี ค.ศ. 1620 แฟร์ดีนันท์ได้เข้ายึดครองโบฮีเมียกลับคืนมา แต่เมื่อฟรีดริชได้ปฏิเสธที่จะสละมงกุฎ การสู้รบก็ได้ขยายไปสู่ดินแดนบรรพบุรุษของพระองค์ที่พาลาทิเนต ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสงครามแปดสิบปีในสาธารณรัฐดัตช์และสเปน ในปี ค.ศ. 1623 กองทัพจักรวรรดิสเปนได้เอาชนะต่อฟรีดริช ซึ่งทรัพย์สินของพระองค์ถูกปล้นและถูกขับไล่เนรเทศ การปลดเจ้าชายที่มีสายเลือดบรรพบุรุษของแฟร์ดีนันท์และความมุ่งมั่นที่จะอ้างสิทธ์อำนาจของจักรวรรดิขึ้นมาอีกครั้ง ที่จะคุกคามต่อการปกครองตนเองของรัฐอื่น ๆ และผู้ปกครองภายในจักรวรรดิ พวกเขารวมถึงคริสเตียนที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นดยุกแห่งโฮลสไตน์ และในปี ค.ศ. 1625 พระองค์ได้เข้าแทรกแซงในเยอรมนีตอนเหนือจนถูกบังคับให้ถอนตัวในปี ค.ศ. 1629

ในตอนนี้ แฟร์ดีนันท์ได้ออกคำสั่งของการชดใช้(Edict of Restitution) ซึ่งได้กำหนดให้ส่งคืนทรัพย์สินทั้งหมดที่นำออกมาจากศาสนจักรคาทอลิก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1555 การนำไปปฏิบัติจะเป็นการบ่อนทำลายต่อผู้ปกครองที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ทั่วเยอรมนีทางตอนเหนือและตอนกลาง รวมถึงกุสตาวัส อโดฟัส แห่งสวีเดน ที่คอยรุกรานจักรวรรดิในปี ค.ศ. 1630 โดยได้รับการหนุนหลังจากฝรั่งเศส ในช่วงสี่ปีต่อมา สวีเดนและเยอรมันที่เป็นพันธมิตรของพวกเขาได้มีชัยชนะเหนือกองทัพจักรวรรดิหลายครั้ง แม้ว่ากุสตาวัสจะเสียชีวิตลงที่ Lützen ในปี ค.ศ.1632 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่เนิร์ดลิงเงินในปี ค.ศ. 1634 เยอรมัน พันธมิตรของสวีเดนได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปราก ปี ค.ศ. 1635 กับแฟร์ดีนันท์ พระองค์ได้ถอดถอนคำสั่งและให้การรับรองว่าผู้ปกครองเยอรมันจะมีอำนาจปกครองตนเองทางการเมืองและศาสนา ในทางกลับกัน พวกเขาจะต้องละทิ้งการเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจภายนอก เช่น สวีเดน และตกลงที่จะรวบรวมกองกำลังของพวกเขาให้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพจักรวรรดิ

สวีเดนได้เริ่มทำการเจรจาสันติภาพกับจักรพรรดิ จนกระทั่งความเกรงกลัวว่าอำนาจของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงโดยตรงในความขัดแย้ง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1635 พวกเขาได้ตกลงเป็นพันธมิตรเชิงป้องกันกับสวีเดนในการต่อต้านแฟร์ดีนันท์ จากนั้นจึงประกาศสงครามกับสเปนในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าสงครามฝรั่งเศส-สเปนจะยังดำเนินต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 1659 การสู้รบในเยอรมนีสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ ปี ค.ศ. 1648 ซึ่งบทบัญญัติหลัก ได้แก่ การให้สัตยาบันของเงื่อนไขปรากโดยแฟร์ดีนันท์และให้การยอมรับความเป็นเอกราชของดัตช์โดยสเปน ด้วยการทำให้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คอ่อนแอลง เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสและพันธมิตร ความขัดแย้งได้เปลี่ยนดุลอำนาจของยุโรปและเป็นเวทีสำหรับสงครามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

สาเหตุ[แก้]

สนธิสัญญาออกสเบิร์ก (ค.ศ. 1555) ซึ่งถูกลงพระนามโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ยืนยันในผลของสภาไดเอตแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1526 ที่ยุติสงครามของชาวคริสต์เยอรมันระหว่างนิกายลูเทอรันและนิกายคาทอลิก ก่อให้เกิดผลดังนี้[11]

  • ผู้ปกครองแห่งรัฐเยอรมันทั้ง 224 รัฐ สามารถเลือกศาสนาประจำรัฐนิกายใดก็ได้ (ระหว่างลูเทอรันกับคาทอลิก) ตามแต่มโนธรรมของตน และบังคับใช้กับบุคคลใต้ปกครองให้ปฏิบัติตามความเชื่อนั้น ตามหลักการที่เรียกว่า คูยูสเรจิโอ เอยูสเรลิจิโอ (CUIUS REGIO, EIUS RELIGIO; ประชาชนจากรัฐใด นับถือศาสนาประจำรัฐนั้น)
  • ชาวลูเทอรันผู้อาศัยอยู่ในรัฐเจ้าชายมุขนายก (รัฐที่ปกครองโดยนักบวชคาทอลิก) ยังคงสามารถนับถือนิกายลูเทอรันได้ต่อไป
  • ชาวลูเทอรันสามารถครอบครองดินแดนที่ยึดมาได้จากฝ่ายคาทอลิกตั้งแต่การทำสนธิสัญญาพาสเซาในปี ค.ศ. 1552
  • บรรดาเจ้าชายมุขนายกผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือนิกายลูเทอรัน จำเป็นจะต้องสละแดนดินในปกครองของตน ตามหลักการที่เรียกว่า เรเซร์วาตุม เอกเลซีอัสติกุม (RESERVATUM ECCLESIASTICUM)

แม้ว่าสนธิสัญญาออกสเบิร์กจะยุติความบาดหมางได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวแก้ไขรากเหง้าความขัดแย้งทางศาสนาครั้งนี้ มิหนำซ้ำยังกลับทำให้ปัญหามีความซับซ้อนขึ้นจากการแพร่ขยายของลัทธิคาลวินไปทั่วเยอรมนีในปีถัดมา ซึ่งเป็นการเพิ่มนิกายหลักที่สามในคริสต์ศาสนาเข้าไปอีก อย่างไรก็ตามนิกายที่สามนี้กลับไม่ได้ถูกรับรองจากสนธิสัญญาออกสเบิร์กแต่ประการใด มีเพียงนิกายคาทอลิกและนิกายลูเทอรันเท่านั้นที่ได้รับการรับรองให้เป็นสองนิกายหลัก[12][13]

นอกจากนี้ผู้ปกครองรัฐใกล้เคียงกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยังมีส่วนร่วมในการปะทุขึ้นของสงครามสามสิบปีดังนี้

  • สเปนสนใจในการยึดครองบรรดารัฐเยอรมันเพราะสเปนปกครองดินแดนเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และบรรดารัฐเยอรมัน ในการที่จะติดต่อกับดินแดนใต้อาณัติ สเปนต้องใช้เส้นทางบนบกที่เรียกว่า "ถนนสเปน" ซึ่งตัดผ่านบรรดารัฐอิตาลีและบรรดารัฐเยอรมันในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การลุกฮือของชาวดัตช์ต่อต้านการปกครองของสเปนในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1560 นำไปสู่สงครามอิสรภาพของดัตช์ซึ่งมีการพักรบช่วงสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1609
  • ฝรั่งเศสเกือบตกเป็นรัฐที่ถูกรายล้อมไปด้วยอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (เนื่องจากพรมแดนส่วนมากติดกับสเปนและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกครองโดยฮับส์บูร์ก) และฝรั่งเศสพยายามที่จะแสดงอำนาจของตนกับรัฐเยอรมันที่อ่อนแอกว่าบางรัฐ ราชวงศ์ฝรั่งเศสผู้เป็นคาทอลิกมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางศาสนาจากฮับส์บูร์กผู้เป็นคาทอลิกเช่นเดียวกันกับตน จึงเป็นสาเหตุที่นำพาฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามในฝ่ายโปรเตสแตนต์แทนฝ่ายคาทอลิก
  • สวีเดนและเดนมาร์กมีความสนใจในการเข้ายึดครองรัฐเยอรมันทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นด้านที่ติดกับทะเลบอลติก

ตามความเป็นจริงแล้ว อาจกล่าวได้ว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงกลุ่มของประเทศที่มีอิสรภาพของตนค่อนข้างมากซึ่งรวมตัวกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นตำแหน่งแต่เพียงในนามไม่มีอำนาจที่แท้จริง เว้นแต่จักรพรรดิที่มาจากราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ปกครองดินแดนส่วนมากของจักรวรรดิ (อาร์ชดัชชีออสเตรียและราชอาณาจักรโบฮีเมีย) เช่นเดียวกับที่ปกครองราชอาณาจักรฮังการี ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กหลายเป็นมหาอำนาจหลักของยุโรป มีประชาชนใต้ปกครองมากกว่าแปดล้านคน นอกจากนี้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กยังปกครองราชอาณาจักรสเปน ซึ่งรวมเอาเนเธอร์แลนด์, อิตาลีตอนใต้, หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และดินแดนส่วนมากของทวีปอเมริกาไว้ด้วย จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยังมีอิทธิพลระดับภูมิภาคในรัฐต่าง ๆ เช่น ดัชชีบาวาเรีย, รัฐผู้คัดเลือกแซกโซนี, รัฐมาร์เกรฟบรันเดินบวร์ค, รัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนต, รัฐแลนด์เกรเวียตแห่งเฮสส์, รัฐผู้คัดเลือกเทรียร์ และเสรีนครของจักรพรรดิแห่งนูเรมเบิร์ก (มีประชากรอยู่อาศัยรวมกันราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน) และยังปกครองรัฐอิสระขนาดเล็กเช่น ดัชชี, เสรีนคร, แอบบีย์, ราชรัฐมุขนายก และอนุมณฑลของขุนนาง (บางครั้งอำนาจของขุนนางแบบนี้ก็มีเพียงอำนาจปกครองหมู่บ้านเพียงหนึ่งแห่ง) อีกนับไม่ถ้วนทั่วจักรวรรดิ ซึ่งเขตปกครองขนาดเล็กรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีอำนาจมากพอที่จะมีบทบาททางการเมืองของจักรวรรดิ ผิดกับออสเตรียและบาวาเรียซึ่งมีบทบาทสำคัญ ด้านการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐต่าง ๆ ผ่านทางเครือญาติก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา และบ่อยครั้งที่มีการแบ่งมรดกของขุนนางให้แก่โอรสหลากหลายพระองค์ไปตามรัฐต่าง ๆ

ความตึงเครียดทางศาสนายังคงมีอยู่มากในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผลผูกพันจากสนธิสัญญาออกสเบิร์กเริ่มใช้ไม่ได้ผล เมื่อเจ้าชายมุขนายกที่เปลี่ยนไปเข้ารีตลูเทอรันบางองค์ปฏิเสธที่จะสละมุขมณฑลของตนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา ในขณะเดียวกันกับที่เชื้อพระวงศ์ฮับส์บูร์กบางพระองค์และผู้ปกครองชาวคาทอลิกอื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และสเปน ทรงพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจของโบสถ์คาทอลิกในภูมิภาค ซึ่งเป็นที่เด่นชัดในสงครามโคโลญ (ค.ศ. 1583 – 1588) ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าชายมุขนายกแห่งโคโลญนามว่า เกบฮาร์ด ตรุชเซสส์ ฟอน วาล์ดบูร์ก (Gebhard Truchsess von Waldburg) ทรงเปลี่ยนไปเข้ารีตลัทธิคาลวิน ซึ่งการที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในคณะผู้คัดเลือกแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยนั้น อาจทำให้นิกายโปรเตสแตนต์มีอิทธิพลมากขึ้นต่อการเลือกจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่แต่เดิมผู้คัดเลือกจะทรงเป็นคาทอลิกทั้งหมด

ในสงครามโคโลญ กองทหารของสเปนขับไล่เจ้าชายมุขนายกออกจากตำแหน่งและแทนที่ด้วยเอิร์นส์แห่งบาวาเรีย (Ernst of Bavaria) ซึ่งเป็นโรมันคาทอลิก จากความสำเร็จนี้ทำให้ฝ่ายคาทอลิกมีเสถียรภาพมากขึ้นและหลักการ คูยูสเรจิโอ, เอยูสเรลิจิโอ ก็ถูกบังคับใช้ให้เข้มงวดขึ้นในบาวาเรีย, เวือร์ซบูร์ก และรัฐอื่น ๆ จึงเป็นการบีบบังคับให้ชาวลูเทอรันเลือกระหว่างเปลี่ยนนิกายหรือถูกเนรเทศ ชาวลูเทอรันยังเผชิญกับการละทิ้งนิกายโดยเจ้าผู้ปกครองของพวกตน เช่นใน พาลาทิเนต (ค.ศ. 1560), นัสเซา (ค.ศ. 1578), เฮสส์-คาสเซิล (ค.ศ. 1603) และบรันเดินบวร์ค (ค.ศ. 1613) ที่หันไปนับถือลัทธิคาลวินแทน ด้วยเหตุนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนลุ่มแม่น้ำไรน์และดินแดนตอนล่างของแม่น้ำดานูบจึงตกเป็นของฝ่ายคาทอลิก ขณะที่ดินแดนทางตอนเหนือตกเป็นของฝ่ายลูเทอรัน และในบางพื้นที่เช่น เยอรมนีตอนกลาง-ตะวันตก, สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ เป็นของฝ่ายคาลวิน อย่างไรก็ตามยังคงมีชนกลุ่มน้อยของแต่ละนิกายอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วทุกดินแดน ในบางนครรัฐก็มีจำนวนผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก, ลูเทอรัน และคาลวิน ในจำนวนที่เกือบจะเท่ากันพอดี

จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 1 แห่งจักวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมีย ทรงเร่งเร้าให้สังคายนาแห่งเทรนต์รับรองพิธีศีลมหาสนิทแห่งทั้งสองสำหรับชาวคาทอลิกเยอรมันและชาวคาทอลิกโบฮีเมีย

พระจักรพรรดิทรงตกตะลึงพระทัยต่อการกระทำของพระญาติชาวสเปน เนื่องจากพระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายตามแบบของพระจักรพรรดิฮับส์บูร์กพระองค์ก่อนหน้าอย่าง จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 (รวมถึงจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 1, จักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 2, จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 และจักรพรรดิมัททีอัส) ที่อำนวยให้เจ้าชายมุขนายกทุกองค์สามารถเลือกใช้นโยบายทางศาสนาของตนได้อย่างอิสระ ซึ่งพระจักรพรรดิทุกพระองค์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนทรงพยายามหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามศาสนาถายในจักรวรรดิ ด้วยการอนุญาตให้นิกายในคริสต์ศาสนาทุกนิกายสามารถเผยแพร่หลักธรรมของตนได้โดยปราศจากการบังคับขู่เข็ญ ซึ่งพระราโชบายนี้สร้างความโกรธเคืองแก่ผู้ที่ต้องการเห็นความเป็นหนึ่งเดียวทางศาสนาในจักรวรรดิ[14] ในขณะเดียวกันกับที่สวีเดนและเดนมาร์กซึ่งต่างก็เป็นอาณาจักรนิกายลูเทอรันด้วยกันทั้งคู่ พยายามช่วยเหลือฝ่ายโปรแตสแตนต์ภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และต้องการที่จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในจักรวรรดิเพิ่มมากขึ้น

จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมีย

ความตึงเครียดทางศาสนาบานปลายไปเป็นความรุนแรงในเสรีนครแห่งโดเนาเวิร์ท (Donauwörth) ในเยอรมนี ค.ศ. 1606 เมื่อชาวลูเทอรันซึ่งเป็นชนกลุ่มมากในนครสกัดกั้นขบวนแห่มาร์กุสประจำปีของชาวคาทอลิกจากเมืองแถบสวาเบีย จุกชนวนให้เกิดการจลาจลขึ้น การแทรกแซงจากต่างชาติจึงเกิดขึ้นเมื่อดยุกแม็กซิมิเลียนแห่งบาวาเรียเข้าระงับเหตุเพื่อช่วยเหลือชาวคาทอลิก ซึ่งภายหลังความรุนแรงสิ้นสุดลง ชาวคริสต์นิกายคาลวินในเยอรมนี (ซึ่งยังคงเป็นชนกลุ่มน้อย) รู้สึกถูกคุกคามมากที่สุด จึงได้ทำการรวมกลุ่มและก่อตั้งสันนิบาตแห่งสหภาพศาสนา (League of Evangelical Union; สหภาพโปรเตสแตนต์) ในปี ค.ศ. 1608 ภายใต้การนำของเฟรเดอริกที่ 4 เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งพาลาทิเนต (ค.ศ. 1583 – 1610), (ผู้ซึ่งมีพระโอรสนามว่า ฟรีดริชที่ 5 เสกสมรสกับเอลิซาเบธ สจวต พระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ)[15] การก่อตั้งสันนิบาตของชาวโปรเตสแตนต์นี้กระตุ้นให้ชาวคาทอลิกรวมตัวกันและก่อตั้งสหภาพคาทอลิกในปี ค.ศ. 1609 ภายใต้การนำของดยุกแม็กซิมิเลียน

ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1609 ด้วยสงครามสืบราชสมบัติยือลิช (War of the Jülich succession) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อดยุกจอห์น วิลเลียมแห่งยือลิช-เคลเวอส์-แบร์ก ผู้ปกครองแห่งสหดัชชียือลิช-เคลเวอ-แบร์กที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมาก สิ้นพระชนม์โดยไม่มีทายาท[16] มีการอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์ยือลิชสองฝ่าย ฝ่ายแรกจากดัชเชสอันนาแห่งปรัสเซีย พระธิดาในพระเชษฐภคินีองค์โตของดยุกจอห์น วิลเลียมนามว่า มารี อเลโอนอร์แห่งเคลเวอส์ อันนาเสกสมรสกับจอห์น ซีกิสมุนด์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์ค ฝ่ายที่สองจากโวล์ฟกัง วิลเลียม เคาท์พาลาไทน์แห่งนอยบวร์ก พระโอรสในพระเชษฐภคินีองค์ที่สองของดยุกจอห์น วิลเลียมนามว่า อันนาแห่งเคลเวอส์ ดัชเชสอันนาแห่งปรัสเซียทรงอ้างราชสิทธิ์เหนือยือลิช-เคลเวอส์-แบร์กในฐานะสายสืบสิทธิ์ตามอาวุโส ในขณะที่เคาท์โวล์ฟกัง วิลเลียมทรงอ้างราชสิทธิ์ในฐานะสายสืบสิทธิ์ตามบุรุษนิยม ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นโปรเตสแตนต์ด้วยกันทั้งคู่ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงสงครามที่จะเกิดขึ้นระหว่างผู้อ้างสิทธิ์ทั้งสอง กองกำลังของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 จึงเข้ายึดยือลิช-เคลเวอส์-แบร์กจนกว่าความขัดแย้งจะยุติโดยการตัดสินจากคณะเอาลิค (Aulic Council) อย่างไรก็ตาม เจ้าชายมุขนายกโปรเตสแตนต์หลายองค์กลัวว่าพระจักรพรรดิผู้เป็นคาทอลิกจะทรงยึดครองยือลิช-เคลเวอส์-แบร์กไว้กับพระองค์เอง ซึ่งจะทำให้สหดัชชียือลิช-เคลเวอส์-แบร์กตกเป็นของฝ่ายคาทอลิก[16] คณะผู้แทนจากพระเจ้าอองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศสและจากสาธารณรัฐดัตช์รวมกลุ่มกันเพื่อเข้ารุกรานยือลิช-เคลเวอส์-แบร์ก แต่แผนการนี้ก็เป็นอันต้องล้มเลิกเมื่อเกิดการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอองรีที่ 4 ขึ้น ต่อมาเคาท์โวล์ฟกัง วิลเลียมพยายามช่วงชิงความได้เปรียบจากความขัดแย้ง จึงได้ทำการเปลี่ยนไปเข้ารีตคาทอลิก ขณะที่จอห์น ซีกิสมุนด์เองก็ทรงเปลี่ยนไปเข้ารีตคาลวิน (แม้ดัชเชสอันนาแห่งปรัสเซียจะยังทรงเป็นลูเทอรันอยู่ก็ตาม)[16] ความขัดแย้งดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1614 ด้วยสนธิสัญญาซันเตินซึ่งมีใจความให้แยกสหดัชชีออกเป็นส่วน ๆ คือ ดัชชียือลิชและรัฐแบร์ก ตกเป็นของเคาท์โวล์ฟกัง วิลเลียม ส่วนดัชชีเคลเวอ, เคาน์ตีมาร์ค และเคาน์ตีราเวินสแบร์ก ตกเป็นของจอห์น ซีกิสมุนด์[16]

ความวิโรธของสเปนในมาสทริชท์ ค.ศ. 1579

การลุกฮือของชาวดัตช์ต่อสเปนเป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามสามสิบปี เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการพักรบสิบสองปีระหว่างกบฏชาวดัตช์กับสเปนผู้ปกครองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1621 และทั่วทั้งยุโรปในเวลานั้นต่างก็ตระหนักดีว่าสเปนกำลังพยายามพิชิตสาธารณรัฐดัตช์กลับมาเป็นของตนให้ได้ กองกำลังของสเปนในการพิชิตดินแดนคืนในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การนำของ อัมโบรโญ สปีโนลา มาร์กีสที่ 1 แห่งบัลบาเซส ซึ่งเป็นชาวเจนัว มาร์กีสแห่งบัลบาเซสมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทัพไปยังสาธารณรัฐดัตช์ผ่านรัฐพันธมิตรต่าง ๆ มีเพียงรัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนตเท่านั้นที่ขัดขวางการเดินทัพของสเปนผ่านดินแดนของตน [17] (เส้นทางที่สปีโนลาโปรดปราน ถนนสเปน มีเส้นทางดังนี้: ผ่านสาธารณรัฐเจนัวและดัชชีมิลานไปยังหุบเขาวาลเทลลินา จากนั้นเดินอ้อมสวิตเซอร์แลนด์ผู้เป็นศัตรูผ่านทางชายฝั่งด้านเหนือของทะเลสาบคอนสแตนซ์ เดินผ่านเข้าไปยังแคว้นอาลซัสและมุขมณฑลแห่งสตราส์บูร์ก ผ่านไปยังรัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนต ก่อนที่ท้ายสุดจะผ่านอัครมุขมณฑลแห่งเทรียร์, ดัชชียือลิช และรัฐแบร์กจนถึงสาธารณัฐดัตช์ในที่สุด[17] และเนื่องจากรัฐพาลาทิเนตตั้งอยู่บนสมรภูมิที่มีความสำคัญทางการเมืองยุโรปอย่างมาก พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์โปรเตสแตนต์ จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการเสกสมรสระหว่างพระราชธิดา เอลิซาเบธ สจวต กับ ฟรีดริชที่ 5 ผู้คัดเลือกแห่งพาลาทิเนต ในปี ค.ศ. 1612 ทั้งที่มีขนบธรรมเนียมอังกฤษที่ว่าพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์จะต้องเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ที่เป็นกษัตริย์จากราชวงศ์อื่นเท่านั้น

เมื่อย่างเข้าสู่ปี ค.ศ. 1617 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจักรพรรดิมัททีอัสแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะเสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท ราชบัลลังก์จึงตกไปเป็นของพระญาติบุรุษที่สืบสายพระโลหิตใกล้พระองค์มากที่สุดก็คือ อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันด์ที่ 2 แห่งออสเตรีย, มกุฎราชกุมารแห่งโบฮีเมีย และด้วยสนธิสัญญาลับโอญาเต พระเจ้าเฟลีเปที่ 3 แห่งสเปนจึงทรงเห็นชอบกับการสืบราชบัลลังก์ในครั้งนี้

จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 2 ทรงได้รับการศึกษาจากคณะแห่งพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นคาทอลิกผู้เรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวทางศาสนาในจักรวรรดิ ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่นิยมของชาวโปรเตสแตนต์ในโบฮีเมีย เหตุการณ์เริ่มบานปลายเมื่อขุนนางชาวโบฮีเมียปฏิเสธความชอบธรรมของจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ ซึ่งครั้งหนึ่งคณะขุนนางกลุ่มนี้เคยเลือกพระองค์ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารในปี ค.ศ. 1617 การกระทำนี้เป็นกระตุ้นให้เกิดสงครามสามสิบปีอย่างมาก และตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ผู้แทนพระองค์ของจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ถูกจับโยนออกมาจากนอกหน้าต่างซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ บัญชรฆาตแห่งปราก (Defenestration of Prague) อันเป็นการจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือในโบฮีเมีย ซึ่งมีพันธมิตรมากมายที่เป็นชาวต่างชาติผู้มีอำนาจ จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ทรงเสียพระทัยจากการจงใจหมิ่นพระเกียรติในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามพระราโชบายขันติธรรมในจักรวรรดิของพระองค์จะยิ่งส่งผลให้ทรงอยู่ในพระราชสถานะที่อ่อนแอ ไม่กี่ปีถัดมาเหตุการณ์ดูราวกับว่าราชวงศ์ฮับส์บูร์กจะอยู่ในสถานะอันเลวร้ายที่ไม่อาจกู้คืนกลับมาได้ ขณะที่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ดูราวกับว่ากำลังจะประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์ภายในระยะเวลาอันสั้น

สงครามสามารถแบ่งออกเป็นสี่ช่วงสำคัญ ได้แก่ การลุกฮือในโบฮีเมีย การแทรกแซงจากเดนมาร์ก การแทรกแซงจากสวีเดน และการแทรกแซงจากฝรั่งเศส

การลุกฮือในโบฮีเมีย[แก้]

ค.ศ. 1618–1621[แก้]

ภาพไม้แกะสลักร่วมสมัยของเหตุการณ์บัญชรฆาตแห่งปรากครั้งที่สอง (ค.ศ. 1618) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกฮือในโบฮีเมียและฉากแรกของสงครามสามสิบปี

จากการที่ทรงไร้ราชโอรสหรือราชธิดาของพระองค์เอง จักรพรรดิมัททีอัสทรงพยายามทำให้การสืบทอดราชสมบัติเป็นไปอย่างสงบและเรียบร้อย ด้วยการให้รัชทายาทแห่งราชวงศ์ (Dynastic heir) คือ แฟร์ดีนันด์แห่งสติเรีย ผู้ศรัทธาในนิกายคาทอลิกอย่างแรงกล้า (ต่อมาเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 2) ทรงได้รับเลือกให้ขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งสองอาณาจักรที่แยกออกจากกันระหว่างโบฮีเมียและฮังการี[18] ผู้นำนิกายโปรเตสแตนต์ในโบฮีเมียบางส่วนจึงเกรงกลัวว่าตนจะสูญเสียสิทธิ์ทางศาสนาซึ่งได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 ในสาส์นแห่งเดชานุภาพ ค.ศ. 1609 (Letter of Majesty) โดยกลุ่มผู้นำเหล่านั้นโปรดปรานเชื้อพระวงศ์โปรเตสแตนต์อย่าง ฟรีดริชที่ 5 แห่งพาลาทิเนต (รัชทายาทในฟรีดริชที่ 4 ผู้ก่อตั้งสหภาพโปรเตสแตนต์) มากกว่า[19] อย่างไรก็ตาม โปรเตสแตนต์คนอื่น ๆ ยังคงสนุนสนุนการสืบทอดราชสมบัติโดยฝ่ายคาทอลิกนี้ต่อไป[20] และในปี ค.ศ. 1617 แฟร์ดีนันด์ทรงได้รับเลือกจากสภาฐานันดรแห่งโบฮีเมียให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอย่างประจวบเหมาะพอดี ที่ซึ่งเมื่อจักรพรรดิมัททีอัสเสด็จสวรรคต จะทรงขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมียโดยทันที


รัฐที่เกี่ยวข้อง[แก้]

ต่อต้านพระจักรพรรดิโดยตรง
ต่อต้านพระจักรพรรดิในทางลับ
สนับสนุนพระจักรพรรดิโดยตรง
สนับสนุนพระจักรพรรดิในทางลับ

อ้างอิง[แก้]

  1. ทำสงครามกับสเปน 1625–30 (และฝรั่งเศส 1627–29)
  2. "into line with army of Gabriel Bethlen in 1620." Ágnes Várkonyi: Age of the Reforms, Magyar Könyvklub publisher, 1999. ISBN 963-547-070-3
  3. รัสเซียสนับสนุนสวีเดนในสงครามสโมเลนสค์ต่อสู้กับเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย
  4. Ervin Liptai: Military history of Hungary, Zrínyi Military Publisher, 1985. ISBN 9633263379
  5. Hussar (Huszár) hu.wikipedia
  6. เดนมาร์กทำสงครามกับสวีเดนและสาธารณรัฐดัชต์ใน สงครามทรอยสเตนสัน
  7. Gabriel Bethlen's army numbered 5,000 hungarian pikeman and 1,000 german mercenary, with the anti-Habsburg hungarian rebels numbered together aprox. 35,000 men. László Markó: The Great Honors of the Hungarian State (A Magyar Állam Főméltóságai), Magyar Könyvklub 2000. ISBN 963-547-085-1
  8. László Markó: The Great Honors of the Hungarian State (A Magyar Állam Főméltóságai), Magyar Könyvklub 2000. ISBN 963-547-085-1
  9. Sutherland 1992, pp. 589–590.
  10. Gutmann 1988, pp. 752–753.
  11. "Diets of Speyer (German history) – Britannica Online Encyclopedia". britannica.com. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008.
  12. "::The Peace of Prague::". historylearningsite.co.uk. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008.
  13. "Peace of Prague (1635)". germannotes.com. 20 October 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-20. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008. Historic Event  — German Archive: The Peace of Prague of 30 May 1635 was a treaty between the Holy Roman Emperor, Ferdinand II, and most of the Protestant states of the Empire. It effectively brought to an end the civil war aspect of the Thirty Years' War (1618–1648); however, the war still carried on due to the continued intervention on German soil of Spain, Sweden, and, from mid-1635, France.
  14. "The Thirty Years War". Pipeline. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008.
  15. "Frederick the Winter King. The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001–07". bartleby.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 C. V. Wedgwood, The Thirty Years War (Penguin, 1957, 1961), p. 48.
  17. 17.0 17.1 C. V. Wedgwood, The Thirty Years War (Penguin, 1957, 1961), p. 50.
  18. "The Defenestration of Prague « Criticality". steveedney.wordpress.com. สืบค้นเมื่อ 25 May 2008.
  19. "Bohemian Revolt-30 Years War". Thirty Years War. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-06. สืบค้นเมื่อ 25 May 2008.
  20. "Wars of the Western Civilization". visualstatistics.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 24 May 2008.