ข้ามไปเนื้อหา

พระวรสารนักบุญลูกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระวรสารนักบุญลูกา (ศัพท์คาทอลิก) หรือ พระกิตติคุณลูกา (ศัพท์โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: Gospel of Luke) เป็นพระวรสารในสารบบคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ และเป็นพระวรสารหนึ่งใน “พระวรสารสหทรรศน์” สามฉบับ

แม้ว่าจะไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนพระวรสารเล่มนี้ แต่จากหลักฐานที่เชื่อถือได้เป็นจำนวนมากระบุตรงกันว่าเขียนโดยลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นชาวยิว แต่น่าจะเป็นชาวกรีก เพราะมีความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมของชาวกรีกเป็นอย่างดี เคยเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปประกาศกับเปาโลอัครทูตหลายครั้ง นอกจากนี้ลูกายังมีอาชีพเป็นนายแพทย์ในสมัยนั้นด้วย พระวรสารเล่มนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นระหว่างปีค.ศ. 59 - 63 จากลักษณะของโครงสร้างและภาษาที่ใช้ในพระวรสารเล่มนี้ เหมือนกันกับในหนังสือกิจการของอัครทูต ดังนั้นเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ลูกาเป็นผู้เขียนหนังสือกิจการของอัครทูตด้วย

จากพระวรสารในสารบบทั้งหมด 4 เล่ม พระวรสารนักบุญลูกาเป็นพระวรสารเล่มที่ยาวที่สุด และจัดว่าเป็นพระวรสารที่มีเนื้อหาที่สวยงามที่สุด เขียนเล่าเรื่องราวของพระเยซูได้ครบถ้วนและตามลำดับเหตุการณ์มากที่สุด สาระสำคัญของพระวรสารเล่มนี้คือ ความรู้สึกปิติยินดีที่พระเยซูนำความหวังและการไถ่บาปมาสู่โลกมนุษย์ ความรักที่พระเยซูมีต่อมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและผู้ถูกกดขี่ข่มเหง สังเกตได้จากคำอุปมาที่พระเยซูตรัสสั่งสอน ซึ่งผู้อ่านจะรู้สึกได้ตลอดทั้งเล่ม

แรกเริ่มลูกาเขียนพระวรสารเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่โรมันคนหนึ่งชื่อ เธโอฟิลัส ได้อ่าน[1] โดยเขียนขึ้นจากมุมมองของชาวกรีก จากลักษณะการเขียนที่มีการอ้างอิงเหตุการณ์ต่าง ๆ กับเวลาที่เกิดขึ้น แสดงว่าผู้เขียนต้องเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง เพราะข้อมูลที่เขียนผ่านการค้นคว้ามาอย่างละเอียด ตัวอย่างเช่น "เมื่อปีที่สิบห้า ในรัชกาลทิเบริอัสซีซาร์ ปอนทิอัส ปีลาตเป็นเจ้าเมืองยูเดีย เฮโรดเป็นเจ้าเมืองกาลิลี ฟีลิปน้องชายของเฮโรดเป็นเจ้าเมืองอิทูเรียกับเมืองตราโคนิติส ลีซาเนียสเป็นเจ้าเมืองอาบีเลน และอันนาสกับคายาฟาสเป็นมหาปุโรหิต คราวนั้นพระวจนะของพระเจ้ามาถึงยอห์นบุตรเศคาริยาห์ในถิ่นทุรกันดาร"[2] ซึ่งก็ตรงกับคุณสมบัติของผู้ที่มีอาชีพนายแพทย์เป็นอย่างดี ลูกาเขียนพระวรสารเล่มนี้ขึ้นจากการศึกษาและวิจัย[3] โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งกับคนที่อยู่แวดล้อมพระเยซูมาตั้งแต่ต้น และประกอบกับเอกสารต่าง ๆ มากมาย

ลูกามีวัตถุประสงค์ในการเขียนพระวรสารเล่มนี้อยู่ 5 ประการ หนึ่งคือ ต้องการให้ประจักษ์ว่าพระเยซูเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ลูกาได้ลำดับพงศ์ของพระเยซูย้อนไปจนถึงสมัยอาดัม[4] นั่นคือตั้งแต่พระเจ้าเริ่มสร้างโลก แม้ว่าข้อมูลนี้จะมีความหมายไม่มากนักสำหรับชาวกรีก แต่ข้อมูลนี้ทำให้พระเยซูถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์โลก

ประการที่สองคือ ลูกาต้องการบันทึกเรื่องราวของพระกุมารเยซู[5] ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้

ประการที่สามคือ ลูกาต้องการให้ผู้อ่านทราบว่าพระเยซูนำข่าวดีมายังคนยากจน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโลก กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกท้อแท้ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรเท่าคนร่ำรวย และคิดว่าชีวิตไม่มีค่า แต่พระเยซูเสด็จมาเพื่อปลดปล่อยให้เป็นไท และประกาศถึงแผ่นดินสวรรค์ที่รออยู่ในโลกหน้า

ประการที่สี่คือ ลูกาต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิง[6] โดยบันทึกบทบาทของผู้หญิงในหมู่สาวกของพระเยซู[7]

ประการที่ห้าคือ ลูกาต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า พระกิตติคุณของพระเยซูเป็นสากล[8] มาถึงคนทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชนชาติใดชาติหนึ่ง[9]

พระวรสารนักบุญลูกา ใช้ “ลูกา” หรือ “ลก” ในการอ้างอิง

โครงร่าง

[แก้]

1. บทนำ 1:1 - 4

2. การประสูติและปฐมวัยของพระเยซู 1:5 - 4:13

3. พระราชกิจของพระเยซูในกาลิลี 4:14 - 9:50

4. พระเยซูเดินทางไปเยรูซาเล็ม 9:51 - 19:27

5. สัปดาห์สุดท้ายของพระเยซู 19:28 - 23:56

6. การคืนพระชนม์ของพระเยซู 24:1 - 53

อ้างอิง

[แก้]

Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998

Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997

  1. ลูกา 1:1
  2. ลูกา 3:1 - 2
  3. ลูกา 1:3
  4. ลูกา 3:23 - 38
  5. ลูกา 2:21 และ 42
  6. ลูกา 11:38 - 42
  7. ลูกา 24:10
  8. ลูกา 4:43
  9. ลูกา 6:17


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]