พระพรมหัศจรรย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศนาบนภูเขา ภาพวาดของ Carl Heinrich Bloch

พระพรมหัศจรรย์[1] (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ มหาบุญลาภ[2] (ศัพท์คาทอลิก) (อังกฤษ: Beatitudes) เป็นตอนต้นใน 10 บรรทัดแรกของคำเทศนาบนภูเขา ซึ่งมีชื่อเสียงมาก และเป็นหลักคำสอนที่บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังเช่น มหาตมา คานธี และ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ต่างให้ความนับถือเป็นอย่างสูง ความหมายของพระพรแต่ละประการนั้นมีผู้อธิบายขยายความไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในภาษาแอราเมอิกและภาษากรีกที่ใช้ในการบันทึกคำสอน และจากการรวบรวมสามารถสรุปความโดยสังเขปได้ดังนี้

เนื้อหาและอรรถาธิบาย[แก้]

1. Blessed are the poor in spirit : for theirs is the kingdom of heaven. (Matthew 5:3) ("เป็นบุญของผู้สมัครใจในความยากจน เหตุว่าอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา")

คำว่า "ยากจน" ในความหมายของพระเยซูคือการไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งของแต่มีใจยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น คนจนของพระเจ้าจึงไม่ได้หมายถึงคนจนที่ไม่มีสมบัติ เพราะคนจนแบบนี้ยังมีใจโลภในสิ่งของต่าง ๆ เพียงแต่ไม่มีโอกาสที่จะครอบครอง คนจนของพระเจ้านั้นเลือกที่จะปล่อยวางวัตถุไม่มุ่งสะสมทรัพย์สมบัติในโลกนี้แต่มุ่งแสวงหาความร่ำรวยในอาณาจักรสวรรค์ คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้านั่นเอง

2. Blessed are they that mourn : for they shall be comforted . (Matthew 5:4) ("เป็นบุญของผู้เศร้าโศก เหตุว่าเขาจะได้รับการปลอบโยนบรรเทา")

พระเยซูสอนไม่ให้หนีความทุกข์แต่เผชิญหน้ากับมันและหาความหมายในความทุกข์เหล่านั้น แม้แต่พระเยซูเองก็ไม่หนีความทุกข์ แต่ทรงยอมรับพระทรมานและยอมสละชีวิตบนไม้กางเขน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการไถ่บาป ความทุกข์จึงเป็นโอกาสให้นึกถึงพระวจนะและได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าในที่สุด

3. Blessed are the meek : for they shall inherit the earth. (Matthew 5:5)("เป็นบุญของผู้มีใจอ่อนโยน เหตุว่าเขาจะได้ครอบครองแผ่นดิน")

ความมีใจอ่อนโยนนั้นหมายถึงการเป็นผู้ที่ว่านอนสอนง่าย ความสุภาพถ่อมตน ไม่เป็นศัตรูกับใคร ระวังความจองหองและริษยาที่อาจเกิดในใจได้ตลอดเวลา ผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยนย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น จึงเปรียบเสมือนการได้แผ่นดินโลกไว้เป็นกรรมสิทธิ์

4. Blessed are they which do hunger and thirst after righteousness : for they shall be filled. (Matthew 5:6)("เป็นบุญของผู้กระหายโหยหาความชอบธรรม เหตุว่าเขาจะได้รับความอิ่มหนำสมบูรณ์")

ผู้ที่ศรัทธาในความชอบธรรมอย่างแรงกล้า ย่อมดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้าอย่างมั่นคง ด้วยเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงประทานบำเหน็จแก่เราในวันที่เราจะต้องได้รับการพิพากษาอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเรากระหายโหยหาความชอบธรรม และดำเนินชีวิตตามความชอบธรรมนั้นอย่างสุดจิตใจแล้ว ย่อมไม่รู้สึกว่าตนเองถูกผู้ใดข่มเหงเบียดเบียน ไม่ต้องการแสวงหาความสุขใส่ตน แต่ทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่นตามวิถีทางแห่งความชอบธรรม

5. Blessed are the merciful : for they shall obtain mercy. (Matthew 5:7)("เป็นบุญของผู้มีใจเมตตากรุณา เหตุว่าเขาจะได้รับพระเมตตาดุจเดียวกัน")"

ความเมตตากรุณา ในความหมายของพระเยซู คือความสามารถในการเข้าถึงจิตใจของผู้อื่น และการระลึกว่าเพื่อนมนุษย์คือลูกของพระเจ้า เป็นพี่น้องที่พระเจ้ามีพระประสงค์จะให้เราช่วยเหลือ

6. Blessed are the pure in heart : for they shall see God. (Matthew 5:8)("เป็นบุญของผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ เหตุว่าเขาจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้า")

การมีจิตใจบริสุทธิ์ในความหมายของพระเยซูเจ้าคือการทำทุกอย่างโดยบริสุทธิ์ใจในความดี เพราะใจบริสุทธิ์นั้นเป็นคุณสมบัติของพระเจ้า ผู้มีใจพระย่อมเห็นพระเจ้าได้

7. Blessed are the peacemakers : for they shall be called the children of God. (Matthew 5:9)("เป็นบุญของผู้สร้างสันติ เหตุว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า")

"สันติ" ในความหมายของพระเยซูคือความสงบสันติโดยสมบูรณ์ เพราะพระเจ้าเป็นองค์ความสันติ ผู้ใดสร้างสันติผู้นั้นจึงใกล้ชิดกับพระเจ้า การปฏิบัติตามวิถีทางของพระเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้านั่นเอง

8. Blessed are they which are persecuted for righteousness' sake : for theirs is the kingdom of heaven. (Matthew 5:10)("เป็นบุญของผู้ถูกข่มเหงด้วยเหตุแห่งความชอบธรรม เหตุว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา")

พระเยซูทรงบอกกับผู้ที่สมัครใจจะติดตามพระองค์ว่า พระองค์เสด็จมาไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตของผู้ติดตามพระองค์สะดวกสบายขึ้น แต่มาเพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นยิ่งใหญ่ และได้รับพระสิริรุ่งโรจน์เช่นเดียวกับพระองค์ เนื่องจากการปฏิบัติตามวิถีทางของพระองค์ ย่อมมีโอกาสถูกผู้มีใจหยาบช้าข่มเหง ใส่ร้าย หรือแม้แต่กระทำอันตราย ด้วยเหตุที่ไปขัดผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมต่างๆ หรือแม้แต่เพียงไม่พอใจเมื่อทราบว่าเป็นผู้ที่นับถือในองค์พระเยซู ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความเชื่อที่เขามีต่อพระองค์ หรือเพราะการกระทำความดีตามพระวาจาของพระองค์ ย่อมจะได้รับบำเหน็จในสวรรค์ และแม้ว่าเขาผู้นั้นจะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นของเขาก่อนแล้วโดยสมบูรณ์

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, 91
  2. "มหาบุญลาภแปดประการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-04-01.