พระวรสารนักบุญยอห์น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระวรสารนักบุญยอห์น (ศัพท์คาทอลิก) หรือ พระกิตติคุณยอห์น (ศัพท์โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: Gospel of John; ภาษากรีก: Κατά Ιωαννην, “Kata Iōannēn”) เป็นพระวรสารฉบับที่สี่ของพระวรสารในสารบบ (Canonical gospels) ซึ่งเป็นเอกสารหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ แต่มิได้ถูกนับเป็นพระวรสารสหทรรศน์สามฉบับซึ่งประกอบด้วยพระวรสารนักบุญมาระโก พระวรสารนักบุญลูกา และพระวรสารนักบุญมัทธิว

คริสตชนเชื่อว่ายอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารเขียนพระวรสารฉบับนี้ขึ้น และเชื่อว่าเป็นท่านเดียวกับยอห์นอัครทูตซึ่งเป็น "สาวกที่พระองค์ทรงรัก" (john 13:23 One of his disciples, whom Jesus loved, was reclining at table close to Jesus,) ผู้ซึ่งรู้วิถีชีวิตของชาวยิวเป็นอย่างดี และได้อ้างถึงขนบธรรมเนียมของชาวยิวอยู่หลายบทในพระวรสารเล่มนี้ ยอห์นเป็นอัครทูตแห่งความรัก ไม่มีใครบรรยายถึงพระลักษณะของพระเจ้าได้อย่างยอห์น เช่น "เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์"[1] กับอีกหลายเหตุการณ์ที่ยอห์นบรรยายถึงพระเยซูได้อย่างจับใจ แสดงว่าเรื่องราวต่าง ๆ ถูกบันทึกจากความทรงจำที่ได้เห็นมากับตา พระวรสารเล่มนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นประมาณปีค.ศ. 85 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย

เช่นเดียวกับพระวรสารอีกสามฉบับที่เล่าเรื่องชีวิตของพระเยซูคริสต์ แต่บางเหตุการณ์มีการตีความอย่างละเอียด พระวรสารนักบุญยอห์นเป็นพระวรสารของ “ความเชื่อ”[ต้องการอ้างอิง] ที่เขียนขึ้นเพื่อจะยืนยันกับผู้อ่านว่าพระเยซูเป็น "พระเมสสิยาห์" และเป็น “พระบุตรพระเป็นเจ้า” ดังที่ปรากฏอยู่ในพระวรสารว่า "แต่การที่ได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ พระบุตรพระเป็นเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้ว ท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์"[2] *คือการเข้าอาศัยอยู่ในพระเยซูคริสต์ รักษาชีวิตให้บริสุทธิ์ดั่งพระองค์ เชื่อและปฏิบัติตามคำสั่ง และคำสอนของพระองค์

ในแง่ของเทววิทยาศาสนาคริสต์แล้ว พระวรสารนักบุญยอห์นเป็นฉบับที่มีน้ำหนักที่สุดในทางคริสตวิทยา (Christology) ซึ่งบรรยายพระเยซูพระบุตรของพระเจ้าว่าเป็น “พระวจนะ” (Logos) (ภาษากรีกหมายความว่า “คำ” “เหตุผล” “ความเป็นเหตุเป็นผล” “ภาษา” หรือ “โอวาท”) ผู้เป็น “Arche” (ภาษากรีกหมายความว่า “ผู้เป็นตัวตนมาตั้งแต่ต้น” หรือ “เป็นสิ่งที่สุดของทุกอย่าง”), กล่าวถึงความเป็นผู้ที่มาช่วยมวลมนุษย์ และประกาศพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า[3]

พระวรสารของยอห์นได้รับการทรงนำจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเป็นอย่างมาก บทเริ่มต้นของพระวรสารนำผู้อ่านกลับไปสู่ช่วงก่อนกาลเวลา ซึ่งมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็นอยู่ คล้ายกับบทเริ่มต้นในหนังสือปฐมกาลที่พระเจ้าทรงสร้างโลก รวมทั้งการกล่าวถึงเทศกาลของชาวยิวอยู่บ่อย ๆ

"ใน​ปฐม​กาล​พระ​วาทะ​ดำรง​อยู่ และ​พระ​วาทะ​ทรง​สถิต​อยู่​กับ​พระ​เจ้า และ​พระ​วาทะ​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า ใน​ปฐม​กาล​พระ​องค์​ทรง​ดำรง​อยู่​กับ​พระ​เจ้า​

​พระ​เจ้า​ทรง​สร้าง​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​ขึ้น​มา​โดย​พระ​วาทะ ใน​บรรดา​สิ่ง​ที่​เป็นมา​นั้น ไม่​มี​สัก​สิ่ง​เดียว​ที่​ได้​เป็นมา​นอกเหนือ​พระ​วาทะ​

​พระ​องค์​ทรง​เป็น​แหล่ง​ชีวิต และ​ชีวิต​นั้น​เป็น​ความ​สว่าง​ของ​มนุษย์​ ความ​สว่าง​ส่อง​เข้า​มา​ใน​ความ​มืด และ​ความ​มืด​หา​ได้​ชนะ​ความ​สว่าง​ไม่" (john 1:1-5)

พระวรสารฉบับนี้กล่าวถึงพระเยซูอย่างมีเนื้อหา มีคำสอนเป็นอันมากที่พระองค์ทรงสอนกับสาวก อีกทั้งยังได้บันทึกเหตุการณ์บางอย่างที่พระวรสารเล่มอื่นไม่ได้กล่าวถึงไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เรียกว่า "ห้องชั้นบน" เป็นช่วงเวลาของการร่วมรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูคริสต์ตรัสเป็นส่วนตัวกับเหล่าสาวกของพระองค์ถึงเรื่องความรอด ประตูซึ่งนำไปสู่ความรอด พระบัญญัติแห่งพระเยซู ความรักที่พระองค์มีให้ต่อเหล่าสาวก การเปิดเผยถึงการทรยศของยูดาส อิสคาริโอท​ การสำแดงพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ถึงความเป็นหนึ่งเดียว การเปิดเผยและทำนายการตายของพระองค์เอง และฟื้นขึ้นในวันที่สาม และความชื่นชมยินดี

ยอห์นได้รับการทรงนำในการเขียนพระวรสารเล่มนี้ และพระวรสารเล่มนี้ได้บอกให้ทราบว่า พระเยซูทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า เพราะว่าตั้งแต่ก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จเข้ามาในโลก พระองค์ทรงดำรงอยู่กับพระเจ้า[4] และยอห์นได้เน้นคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ของพระเยซู เช่น พระองค์มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ มีการกันแสงด้วยความเศร้าเสียใจ ฯลฯ ยอห์นยังได้บันทึกพระวรสารเล่มนี้ เพื่อให้ผู้ใดที่เชื่อในพระเยซู แล้ว "ก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์"[5] *พระองค์โปรดประทานพระนามพระองค์ให้เหล่าผู้เชื่อ เพื่อเป็นสิทธิอำนาจในการอธิษฐาน และเกิดขึ้นจริงตามนั้นโดยพระนามของพระองค์

และยอห์นบอกเล่าถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า เช่น "เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีนั้นย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ"[6] ซึ่งนำมาสู่การสิ้นพระชนม์บนกางเขนของพระองค์ เพื่อไถ่บาปแก่คนที่เชื่อในพระองค์ทั้งสิ้น ให้ได้รับความรอดจากการถูกพิพากษา เป็นต้น

พระวรสารนักบุญยอห์น ใช้ “ยอห์น” หรือ “ยน” ในการอ้างอิง

โครงร่าง[แก้]

1. บทนำ 1:1 - 18

2. พระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในกาลิลี 1:19 - 12:50

3. พระเยซูคริสต์ในเยรูซาเล็ม 13:1 - 38

4. บทบรรยายห้องชั้นบน 14:1 - 17:26

5. การสิ้นพระชนม์ การคืนพระชนม์ และการปรากฏแก่เหล่าสาวกของพระเยซู 18:1 - 21:25

อ้างอิง[แก้]

  • TBS1971
  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. ยอห์น 3:16
  2. ยอห์น 20:31
  3. A detailed technical discussion can be found in Raymond E. Brown, "Does the New Testament call Jesus God?" Theological Studies 26 (1965): 545–73
  4. ยอห์น 1:2
  5. ยอห์น 20:31
  6. ยอห์น 10:11

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]