จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 2[1] (อังกฤษ: Second Epistle of Paul to the Thessalonians) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมเธสะโลนิกา ฉบับที่ 2 เป็นเอกสารฉบับที่ 14 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่

พระธรรมเล่มนี้แต่เดิมเป็นจดหมายฉบับที่สองซึ่งนักบุญเปาโลเขียนไปถึงคริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกา เมื่อพิจารณาจากความคล้ายคลึงกันของเนื้อหาระหว่าง 1 เธสะโลนิกา และ 2 เธสะโลนิกา แล้ว จดหมายฉบับที่สองนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นหลังจากจดหมายฉบับแรกไม่นานนัก เป็นไปได้ว่าอาจจะภายในปีเดียวกัน หรือหลังจากนั้นหนึ่งปี ซึ่งก็จะเป็นปีค.ศ. 52

หลังจากที่จดหมายฉบับแรกไปถึงคริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกา นักบุญเปาโลได้ทราบว่าเกิดความสับสนขึ้นในหมู่คริสเตียนที่นั่น พวกเขาเข้าใจกันว่า วันที่พระเยซูจะเสด็จกลับมานั้นได้มาถึงแล้ว ทำให้พวกเขาคิดว่าถึงวันที่โลกจบสิ้นลงแล้ว พวกเขาจึงหยุดทุกอย่าง หยุดหาเลี้ยงตัวเอง - ครอบครัว และหยุดทำงาน[2] มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้ สาเหตุแรกคือการตีความในจดหมายฉบับแรกอย่างไม่ถูกต้อง สองคือมีผู้อื่นล่อลวงคริสเตียนให้เข้าใจผิด โดยกล่าวอ้างคำพูดของนักบุญเปาโล สามคือเป็นไปได้ว่ามีจดหมายปลอมเกิดขึ้น โดยอ้างว่ามาจาก นักบุญเปาโล อีกเช่นกัน[3] ดังนั้นนักบุญเปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับที่สองขึ้น เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของพวกเขาให้ถูกต้อง โดยครั้งนี้นักบุญเปาโลเน้นในตอนท้ายของจดหมาย เพื่อให้น่าเชื่อถือว่าเป็นจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักบุญเปาโลเอง[4]

2 เธสะโลนิกา มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับ 1 เธสะโลนิกา คือ สาระสำคัญของจดหมายเกี่ยวข้องกับการพิพากษา แต่ใน 2 เธสะโลนิกา ได้เน้นเรื่องนี้มากขึ้นอีก สังเกตได้จากเนื้อหาในจดหมาย ทั้งหมด 3 บท รวม 47 ข้อใน 2 เธสะโลนิกา มีถึง 18 ข้อที่พูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากนักบุญเปาโลต้องการให้คริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกาเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซู

วัตถุประสงค์ในการเขียนจดหมายฉบับนี้ของนักบุญเปาโลมีอยู่ 3 ประการคือ ประการแรกต้องการหนุนน้ำใจของคริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกา เพราะทราบว่าพวกเขากำลังทนทุกข์จากการกดขี่ข่มเหงอยู่[5] โดยให้กำลังใจในจดหมายว่า ให้ทนต่อไป จนถึงวันที่พระเยซูเสด็จมา พวกเขาจะได้รับการบรรเทา ส่วนผู้ที่กดขี่ข่มเหงจะต้องรับการพิพากษา[6]

ประการที่สอง ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการให้คริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกาเข้าใจเรื่องวันที่พระเยซูจะเสด็จมาพิพากษาให้ถูกต้อง นักบุญเปาโลอธิบายว่าก่อนวันนั้นจะมาถึงจะต้องมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน เช่น คนจะเชื่อเรื่องพระเจ้าน้อยลง ศัตรูของพระเยซูซึ่งนักบุญเปาโลเรียกว่า "คนนอกกฎหมาย" จะปรากฏตัวขึ้น และจะพยายามประกาศตนเองว่าเป็นพระเจ้า จากนั้นพระเยซูจะทรงประหารมัน และผลาญมันให้สูญไปด้วยการเสด็จมาของพระองค์[7]

ประการที่สามคือ ต้องการให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นเนื้อหาในตอนท้ายของจดหมาย ในส่วนนี้ นักบุญเปาโล เขียนไว้ตรงไปตรงมาและเข้าใจได้ง่าย เช่น "อย่าเกียจคร้าน" "ให้เขาทำงานด้วยใจสงบและหากินเอง" "จงเตือนสติเขาฉันพี่น้อง"[8] เป็นต้น


โครงร่าง[แก้]

  1. การเสด็จมาอย่างสง่าราศีของ พระเยซู 1:1 - 12
  2. เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อน พระเยซู เสด็จมา 2:1 - 17
  3. คำเตือนสติให้ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ 3:1 - 18


อ้างอิง[แก้]

  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์: กรุงเทพฯ, หน้า 684
  2. 2 เธสะโลนิกา 3:10 - 11
  3. 2 เธสะโลนิกา 2:2
  4. 2 เธสะโลนิกา 3:17
  5. 2 เธสะโลนิกา 1:4 - 5
  6. 2 เธสะโลนิกา 1:6 - 9
  7. 2 เธสะโลนิกา 2:3 - 8
  8. 2 เธสะโลนิกา 3:6 - 15

ดูเพิ่ม[แก้]