ทูตสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพ บทเพลงของทูตสวรรค์ โดย บูเกอโร, 1825–1905.

ทูตสวรรค์ หรือ เทวทูต (อังกฤษ: angel) คือชาวสวรรค์จำพวกหนึ่งตามความเชื่อทางศาสนาและในเทพปกรณัมต่าง ๆ โดยมีหน้าที่เป็นผู้แจ้งข่าวสารจากสวรรค์มายังโลก บ้างก็ทำหน้าที่อารักขา แนะนำ หรือมอบหมายภารกิจแก่มนุษย์[1]

คำนี้แปลมาจากคำว่า ἄγγελος ในภาษากรีก ซึ่งตรงกับคำว่า מלאך (มลัก) ในคัมภีร์ฮีบรู (ทานัค) และเป็นคำเดียวกับคำว่า ملائكة (มลาอิกะฮ์) ที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ศัพท์เดิมในภาษาฮีบรูและภาษากรีกนี้แปลว่า ผู้แจ้งข่าว ซึ่งอาจเป็นมนุษย์ (ทั้งผู้เผยพระวจนะ ปุโรหิต และคนสามัญ) หรืออมนุษย์ก็ได้แล้วแต่บริบทในคัมภีร์ [2] ที่เป็นอมนุษย์นั้นเป็นได้ทั้ง ผู้แจ้งข่าวจากพระเจ้า[3] ลักษณะเฉพาะด้านของพระเจ้า (เช่น กฎจักรวาล)[4] หรือแม้แต่พระเป็นเจ้าเองที่ทรงเป็นผู้แจ้งข่าว (theophanic angel)[2][5]

คำว่า "ทูตสวรรค์" ยังถูกใช้หมายถึงวิญญาณในศาสนาอื่น ๆ ด้วย นอกจากการแจ้งข่าวแล้ว ทูตสวรรค์ยังมีหน้าที่ปกป้องและนำทางมนุษย์ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระเจ้ามอบหมายให้สำเร็จลุล่วง

เทววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับทูตสวรรค์เรียกว่า “วิทยาการทูตสวรรค์” (angelology) ในงานศิลปะทูตสวรรค์มักปรากฏภาพเป็นชายมีปีก ซึ่งอาจมาจากหนังสือวิวรณ์เรื่องสัตว์สี่ตัว (4:6-8) และคัมภีร์ฮีบรูเรื่องเครูบและเสราฟิม แต่คัมภีร์ไบเบิลระบุว่าเครูบและเสราฟิมมีปีก ไม่เคยกล่าวถึงทูตสวรรค์ว่ามีปีกด้วย [6]

คริสต์ศาสนา[แก้]

อัครทูตสวรรค์มีคาเอลสวมเสื้อคลุมและเกราะแบบทหารโรมันยุคหลัง ในศตวรรษที่ 17 วาดโดย Guido Reni

คริสต์ศาสนิกชนยุคแรกได้รับมรดกทางความคิดเกี่ยวกับทูตสวรรค์มาจากศาสนายูดาห์ ซึ่งศาสนายูดาห์ก็อาจรับมาจากศาสนาอียิปต์โบราณบ้างเช่นกัน[7] ในเบื้องต้นคริสตชนมองว่าทูตสวรรค์คือผู้แจ้งข่าวของพระเจ้า ทูตสวรรค์เป็นสิ่งสร้างแห่งความดี วิญญาณแห่งความรัก และผู้แจ้งข่าวของพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพระผู้ไถ่ ต่อมาจึงมีการระบุผู้แจ้งข่าวที่เป็นทูตสวรรค์โดยเฉพาะ ได้แก่ กาเบรียล มีคาเอล ราฟาเอล ยูเรียล และลูซิเฟอร์ ดังนั้นช่วงเวลากว่า 2 ศตวรรษ (ตั้งแต่ศตวรรษที่ 3-5) ภาพลักษณ์ของทูตสวรรค์จึงได้เริ่มปรากฏลักษณะเฉพาะทั้งในด้านเทววิทยาและศิลปะ[8]

ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 เหล่าปิตาจารย์แห่งคริสตจักรเห็นว่าทูตสวรรค์แบ่งเป็นหลายประเภทแตกต่างกัน แต่ละประเภทมีพันธกิจและกิจกรรมเหมาะสมกับตนตามที่ได้รับมอบหมาย นักเทววิทยาหลายคนเคยเสนอว่าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นสิ่งมีชีวิตอมตะที่มีฐานะต่ำกว่าพระตรีเอกภาพ ปัญหาเรื่องสถานะตรีเอกภาพนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อมีการพัฒนาหลักความเชื่อเรื่องทูตสวรรค์[9]

เรื่องทูตสวรรค์ปรากฏอยู่ทั่วทั้งคัมภีร์ไบเบิลในฐานะเป็นวิญญาณที่มีฐานะอยู่ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ดังที่ปรากฏในคัมภีรืไบเบิลว่า "พระองค์ทรงสร้างเขาให้ต่ำกว่าพระเจ้าแต่หน่อยเดียว" (Psalms 8:4–5) แม้ว่าคัมภีร์จะไม่เคยพูดถึงเหตุการณ์และช่วงเวลาที่พระเจ้าสร้างทูตสวรรค์[10][11] แต่คริสต์ศาสนิกชนบางคนก็เชื่อว่าทูตสวรรค์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ดังที่คัมภีร์ระบุว่า "ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระองค์ จงสรรเสริญพระองค์ พลโยธาของพระองค์ จงสรรเสริญพระองค์... เพราะพระองค์ทรงบัญชา สิ่งเหล่านั้นก็ถูกเนรมิตขึ้นมา" (Psalms 148:2–5; Colossians 1:16) สังคายนาลาเตรันครั้งที่สี่ (1215) ประกาศว่าทูตสวรรค์เป็นสิ่งสร้าง กฤษฎีกาชื่อ Firmiter credimus ของสภาสังคายนาได้ประกาศว่าทูตสวรรค์ถูกสร้างขึ้นก่อน แล้วจากนั้นจึงทรงสร้างมนุษย์ สังคายนาวาติกันครั้งที่หนึ่ง (1869) ก็ประกาศย้ำเช่นนี้อีกในกฤษฎีกา Dei Filius เรื่อง "สิทธันตธรรมนูญว่าด้วยความศรัทธาแบบคาทอลิก"

คริสต์ศาสนิกชนหลายคนมองว่าทูตสวรรค์ไม่มีเพศ โดยตีความจากพระวรสารนักบุญมัทธิว 22:30 แต่ทูตสวรรค์ก็มักถูกอธิบายว่าเหมือนมนุษย์เพศชาย ชื่อก็ใช้ศัพท์เพศชาย และแม้ว่าทูตสวรรค์จะมีความรู้มากกว่ามนุษย์ แต่พระวรสารนักบุญมัทธิวก็ระบุว่าทูตสวรรค์ไม่ใช่สัพพัญญู[12]

ศาสนาอิสลาม[แก้]

มลาอิกะฮ์ (อาหรับ: ملائكة, Malāʾikah; ตุรกี: Melek) คือทูตสวรรค์ในศาสนาอิสลาม ได้ถูกกล่าวถึงอยู่หลายครั้งในอัลกุรอานและหะดีษ โดยเฉพาะหะดีษกล่าวว่าพระเจ้าทรงสร้างมลาอิกะฮ์จากแสงสว่าง[13] ศาสนาอิสลามถือว่าทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นผู้แจ้งข่าวของพระเจ้า ไม่มีเจตจำนงเสรี จะทำแต่สิ่งที่พระเจ้าสั่งให้ทำ เช่นภารกิจในการทดลองศรัทธามนุษย์โดยบันดาลให้มนุษย์มั่งคั่งร่ำรวยและรักษาให้หายป่วย ความศรัทธาในมลาอิกะห์ถือเป็นหนึ่งในห้าหลักศรัทธาในศาสนาอิสลามด้วย

ศาสนาบาไฮ[แก้]

พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ กล่าวไว้ในคัมภีร์คีตาบีอีคานว่าทูตสวรรค์คือ "ผู้ที่ได้รับการเสริมพลังโดยอานุภาพของวิญญาณ และเผาผลาญคุณสมบัติและข้อจำกัดทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ด้วยไฟแห่งความรักของพระเป็นเจ้า และสวมตนเองด้วยเสื้อผ้าแห่งคุณลักษณะของพระผู้ทรงสภาวะที่ประเสริฐสุดและของเครูบ"[14] ส่วนอับดุลบะฮาอธิบายว่าทูตสวรรค์คือ "สิ่งยืนยันถึงพระเป็นเจ้าและอำนาจทพย์ของพระองค์"

ศาสนาโซโรอัสเตอร์[แก้]

ในศาสนาโซโรอัสเตอร์ เชื่อว่าแต่ละคนมีทูตสวรรค์ผู้อารักขาประจำตัว ส่วน "อาเมชาสเปนตา" เดิมหมายถึงพลังของพระอหุระมาซดะ ต่อมาถูกมองเชิงบุคคลวัตจนกลายเป็นทูตสวรรค์แบบหนึ่ง[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. According also to Augustine of Hippo's Enarrationes in Psalmos, 103, I, 15, augustinus.it (ละติน)
  2. 2.0 2.1 "‏מַלְאָךְ," Francis Brown, S.R. Driver, and Charles A. Briggs, eds.: A Hebrew and English Lexicon of the Old Testament , p. 521.
  3. Pope, Hugh. "Angels." The Catholic Encyclopedia. Vol. 1. New York: Robert Appleton Company, 1907. accessed 20 Oct. 2010
  4. Frederick Copleston, A History of Philosophy, Volume 1, Continuum, 2003, p. 460.
  5. Louis Goldberg Baker's Evangelical Dictionary of Biblical Theology: Angel of the Lord "The functions of the angel of the Lord in the Old Testament prefigure the reconciling ministry of Jesus. In the New Testament, there is no mention of the angel of the Lord; the Messiah himself is this person."
  6. "Angel," The International Standard Bible Encyclopedia James Orr, editor, 1915 edition.
  7. The development of Jewish ideas of angels : Egyptian and Hellenistic connections, ca. 600 BCE to ca. 200 CE Evans, Annette Henrietta Margaretha [1] เก็บถาวร 2020-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Proverbio(2007), pp. 25-38; cf. summary in Libreria Hoepli
  9. Proverbio(2007), pp. 29-38; cf. summary in Libreria Hoepli and review in La Civiltà Cattolica, 3795-3796 (2–16 August 2008), pp. 327-328.
  10. http://www.christiananswers.net/q-acb/acb-t005.html#2
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-20. สืบค้นเมื่อ 2011-07-03.
  12. BibleGateway, Matthew 24:36
  13. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล, หน้า 336
  14. คีตาบีอีคาน, หน้า 40
  15. Darmesteter, James (1880)(translator), The Zend Avesta, Part I: Sacred Books of the East, Vol. 4, pp. lx-lxxii, Oxford University Press, 1880, at sacred-texts.com