นครน่าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นครเมืองน่าน)
นครน่าน

พ.ศ. 2270–พ.ศ. 2442
  อาณาเขตนครน่าน
สถานะนครรัฐเอกราชโดยพฤตินัย
(พ.ศ. 2270 - พ.ศ. 2300)
ประเทศราชของราชวงศ์โก้นบอง
(พ.ศ. 2300 - พ.ศ. 2317)
 เมืองเทิง (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2329)
ประเทศราชของอาณาจักรธนบุรี
(พ.ศ. 2318 - พ.ศ. 2323)
ประเทศราชของอาณาจักรรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2442)
เมืองหลวงนครน่าน
(พ.ศ. 2270 - พ.ศ. 2318)
เมืองท่าปลา
(พ.ศ. 2318 - พ.ศ. 2320)
เมืองอวน
(พ.ศ. 2320 - พ.ศ. 2321)
เมืองงั่ว
(พ.ศ. 2321 - พ.ศ. 2323)
เมืองเทิง
(พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2329)
เมืองท่าปลา
(พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2331)
เมืองงั่ว
(พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2337)
เมืองพ้อ
(พ.ศ. 2337 - พ.ศ. 2344)
นครน่าน
(พ.ศ. 2344 - พ.ศ. 2442)
ภาษาทั่วไปคำเมือง , ไทลื้อ
ศาสนา
ศาสนาพุทธ (เถรวาท)
การปกครองราชาธิปไตย
เจ้าผู้ครองนคร 
• พ.ศ. 2270-2442
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ประวัติศาสตร์ 
• พม่าสิ้นอิทธิพลจากดินแดนล้านนาตอนล่าง
พ.ศ. 2270
• สวามิภักดิ์ต่อสยาม
พ.ศ. 2318
• สยามรับรองสถานะประเทศราช
พ.ศ. 2331
• ย้ายเมืองน่านไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง
พ.ศ. 2362
• ตั้งอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน)[note 1]
พ.ศ. 2396
• ย้ายเมืองน่านจากเวียงเหนือ (บริเวณดงพระเนตรช้าง) กลับไปยังเวียงใต้
พ.ศ. 2397
พ.ศ. 2436
พ.ศ. 2442
พื้นที่
พ.ศ.2446[1]36,972 ตารางกิโลเมตร (14,275 ตารางไมล์)
สกุลเงินเงินทอกน่าน[2] , เงินเจียงน่าน
ก่อนหน้า
ถัดไป
2270:
หัวเมืองเชียงใหม่
2347:
นครรัฐเชียงแสน
2436:
อาณาจักร
หลวงพระบาง
2442:
มณฑลลาวเฉียง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

นครน่าน เป็นประเทศราชของอาณาจักรพม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา โดยแยกตัวออกมาจากการปกครองของเมืองเชียงใหม่ และต่อมาเป็นประเทศราชของอาณาจักรธนบุรีและอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ภายหลังที่ สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้เสด็จลงมากรุงเทพฯ เพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อปี พ.ศ. 2331

ประวัติศาสตร์[แก้]

การก่อตัวของรัฐ[แก้]

 ในปี พ.ศ. 2270 กบฏตนบุญเทพสิงห์โค่นล้มผู้ปกครองพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองในดินแดนล้านนาตอนล่าง แม้ว่าพม่าพยายามที่จะย้ายศูนย์กลางการปกครองไปยังเชียงแสน[3] แต่หัวเมืองล้านนาตอนล่างต่างแยกตัวเป็นอิสระและปกครองตนเองในลักษณะเดียวกับชุมนุมต่างๆหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ผู้ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองได้ไม่นานได้สั่งสมฐานอำนาจในนครน่าน ทำให้สามารถปกครองเมืองได้อย่างยาวนานโดยไม่ถูกพม่าแทรกแซงและสืบทอดอำนาจการปกครองต่อไปได้ภายในราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์[4]

 ต่อมาราชวงศ์โก้นบองสามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2300 และทำให้นครต่างๆในดินแดนล้านนาต่างส่งบรรณาการมาสวามิภักดิ์[5] ในปี พ.ศ. 2306 กองทัพพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ พร้อมทั้งปราบปรามหัวเมืองอื่นๆในล้านนา แต่ผู้ปกครองพม่าไม่สามารถควบคุมเมืองต่างๆได้อย่างสมบูรณ์[4] นครน่านร่วมกับเมืองต่างๆก่อกบฏต่อพม่า จนกระทั่งนครน่านถูกตีแตกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311[6]

นครน่าน สมัยอาณาจักรพม่า (พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2317)[แก้]

 นครน่าน ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา[7] (พ.ศ. 2269 - พ.ศ. 2317) เมื่อปี พ.ศ. 2269 พระนาขวา (น้อยอินทร์) ผู้ที่พระมหากษัตริย์พม่าได้แต่งตั้งให้ดูแลเมืองน่านต่างพระเนตรพระกรรณ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระเจ้าทนินกันเว พระมหากษัตริย์พม่า รัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์ตองอู เพื่อขออัญเชิญ เจ้าพระยาติ๋น เจ้าเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าเสวยราชสมบัติในนครเมืองน่าน เมืองน่านจึงมีเจ้าผู้ครองนคร โดยการสืบเชื้อสายลำดับราชวงศ์อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ โดยเป็นปฐมราชสกุล ณ น่าน , มหายศนันทน์ , มหาวงศนันทน์ และอื่นๆ

 โดยในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่า รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์อลองพญา เสด็จสวรรคต หัวเมืองล้านนาต่างๆ ถือโอกาสกระด้างกระเดื่อง พระเจ้ามังลอก พระราชโอรสเสด็จเสวยราชย์ต่อจากพระเจ้าอลองพญา จึงได้ส่งแม่ทัพชื่ออภัยคามณีมาตีเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาอื่นๆ เวลานั้น เจ้าอริยวงศ์ ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน จึงได้หันไปอ่อนน้อมกับพม่าดังเดิม เมื่อพม่าปราบปรามหัวเมืองล้านนาได้อย่างราบคาบแล้ว พระเจ้ามังลอก จึงทรงแต่งตั้งให้โป่อภัยคามินีเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2306 พระเจ้ามังระ ได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัติต่อจากพระเจ้ามังลอก พระเชษฐาธิราช โป่อภัยคามณี เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงอังวะองค์ใหม่ (ตามธรรมเนียม) เจ้านายแสนท้าวพญาในหัวเมืองล้านนาต่างๆ ซึ่งได้กำลังสนับสนุนจากเมืองหลวงพระบางถือโอกาสพากันแข็งเมือง พระเจ้ามังระ จึงทรงให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพนำกำลังร่วมกับกองทัพของโป่อภัยคามณียกมาปราบปราบอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 หัวเมืองล้านนาต่างๆ ได้สนับสนุนทัพกองพม่า นำโดยโป่อภัยคามณียกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น เจ้าอริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 ทรงได้มอบหมายให้เจ้านายอ้าย ผู้เป็นพระภาคิไนย (หลานลุง) คุมกำลังพลกองทัพเมืองน่านมาสมทบกับกองทัพพม่า ในปีนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เสียเอกราชแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2

นครน่าน ระหว่างสงครามพม่า-สยาม[แก้]

 หลังจากนครน่านถูกตีแตก พม่าได้เข้ามาควบคุมการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่านลำดับถัดมา คือ เจ้านายอ้ายและเจ้ามโน หลังจากสยามได้เมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีได้เกลี้ยกล่อมเมืองน่านให้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม และฝ่ายธนบุรีได้ตั้งเจ้าวิธูรเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318 โดยเจ้ามโนยินยอมสละอำนาจและเดินทางออกจากนครน่านไป ฝ่ายพม่าที่เมืองเชียงแสนเมื่อทราบว่าเมืองน่านหันไปขึ้นกับอาณาจักรธนบุรีแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองน่านในเดือนเมษายนทำให้เจ้าวิธูรต้องอพยพชาวเมืองหนีออกจากเมือง ต่อมาพระยากาวิละเจ้าผู้ครองนครลำปางกล่าวหาว่าเจ้าวิธูรเป็นกบฏต่อธนบุรีและจับกุมเจ้าวิธูรลงไปยังกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2321 ในปีเดียวกัน เจ้ามโนนำผู้คนเข้ามาตั้งที่เมืองงั่ว กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2323 กองทัพพม่าและเมืองยองยกมากวาดต้อนชาวเมืองน่านและเจ้ามโนไปยังเชียงแสน[6] เมืองน่านจึงกลายเป็นเมืองร้าง

 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2325 พม่าให้เจ้ามโนนำชาวเมืองน่านมาตั้งอยู่ที่เมืองเทิง ปีถัดมาสยามสนับสนุนพระยามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองน่าน โดยตั้งอยู่ที่เมืองท่าปลา เจ้ามโนถึงแก่พิราลัยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2327 ฝ่ายพม่าจึงสนับสนุนเจ้าอัตถวรปัญโญเป็นเจ้าเมืองน่านที่เมืองเทิง ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2329 เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาจากเมืองเทิง และปรึกษากับพระยามงคลวรยศที่เมืองท่าปลา ว่าจะขอเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายสยาม พระยามงคลวรยศจึงยกราชสมบัติให้เจ้าอัตถวรปัญโญ[8]

นครน่าน สมัยอาณาจักรธนบุรี (พ.ศ. 2317 - พ.ศ. 2331)[แก้]

 นครน่าน ภายใต้การปกครองของอาณาจักรธนบุรี[9] (พ.ศ. 2317 - พ.ศ. 2331) เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2310 หัวเมืองล้านนาต่างๆ ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา พระองค์จึงทรงยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ถึง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2314 ไม่สามารถตีได้ จึงยกขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2317 ครั้งนั้น พระยาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ได้หันมาสวามิภักดิ์กับฝ่ายธนบุรี นำกำลังผู้คนเข้ามาสมทบตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางเมืองน่านซึ่งในเวลานั้นมี เจ้ามโนราชา ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพม่า ได้โปรดให้เจ้านาขวาน้อยวิธูร ซึ่งเป็นโอรสใน เจ้าอริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 นำกำลังพลเมืองน่านไปช่วย โป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ในการป้องกันเมืองเชียงใหม่จากกองทัพธนบุรี แต่ไม่สามารถต้านทานกำลังกองทัพธนบุรีได้ จึงได้ทิ้งเมืองเชียงใหม่แล้วไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงแสน ส่วนเจ้านาขวาน้อยวิธูรถูกจับกุม หลังจาก ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 มีชัยชนะเหนือเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรี อยู่จัดการปกครองหัวเมืองล้านนาต่างๆ ครั้งนั้นได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้าฟ้าเมืองน่าน ยอมสวามิภักดิ์กับฝ่ายธนบุรี เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้ เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่ มาอยู่ในพระราชอาณาเขตกรุงธนบุรี นับตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เป็นต้นมา

 ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ติดศึกพม่าที่บางแค หรือ บางแก้ว เจ้าพระยาจักรี ได้ยกกองทัพกลับลงมาจากเมืองเชียงใหม่ตามออกไปถึง (เอกสารจากพงศาวดาร ไทยรบพม่า พงศาวดารกรุงธนบุรี) ได้นำขุนนางเมืองน่าน ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาออกไปเฝ้าด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงพระปีติโสมนัส ตรัสสรรเสริญความชอบของเจ้าพระยาจักรี และพระราชทานพระแสงดาบฝักทองกับพระธำมรงค์เพชรวงหนึ่งเป็นบำเหน็จ

 ครั้นต่อมา เจ้าหลวงวิธูร เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 55 ได้ถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายธนบุรี พระยากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง จึงนำกำลังไปควบคุมตัวเจ้าหลวงวิธูร พร้อมทั้งครอบครัวส่งลงมากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2321 เป็นเหตุให้เมืองน่านขาดเจ้าผู้ครองนคร ภายหลังกองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจึงได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองน่านไปไว้ที่เมืองเชียงแสน เมืองน่าน จึงกลายเป็นเมืองร้าง ครั้งที่ 2 นานถึง 23 ปี

 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง เจ้าจันทปโชต ผู้เป็นพระนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ขึ้นเป็น “เจ้ามงคลวรยศ” แล้วโปรดให้กลับขึ้นไปครองนครน่าน ในปี พ.ศ. 2326 (พ.ศ. 2326 - พ.ศ. 2329) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองท่าปลา (ปัจจุบัน คือ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์) ต่อมาในปี พ.ศ. 2327 พระมหากษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้เป็นพระปนัดดา (เหลนปู่) ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ขึ้นเป็น “พระยาอัตถวรปัญโญ” เจ้าผู้ครองนครน่านด้วยเช่นกัน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองเทิง (ปัจจุบัน คือ อ.เทิง จ.เชียงราย) ต่อมาเจ้ามงคลวรยศ ทรงสละราชสมบัติยกนครน่านให้ เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้เป็นพระภาติยะ ขึ้นปกครองสืบวงศ์ต่อไป

นครน่าน สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2474)[แก้]

 นครน่าน ภายใต้การปกครองของอาณาจักรรัตนโกสินทร์[10] (พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2474) ในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ได้นำแสนท้าวขุนนางเมืองน่าน เสด็จลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในการนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระยาอัตถวรปัญโญ ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครน่าน" ต่อไปตามเดิม และในครั้งนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เจ้าสมณะ ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย)ใน พระยาอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ขึ้นเป็น "พระยาอุปราช เมืองน่าน" หรือที่ราชสำนักนครน่านเรียกว่า พระยามหาอุปราชา เจ้าหอหน้า (มีพระสถานะรองจาก เจ้าผู้ครองนคร)

 หลังจากเจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ขึ้นครองนครน่านแต่ยังมิได้เข้าไปประทับอยู่ตัวเวียงนครน่าน เนื่องจากตัวเวียงนครน่านยังรกร้างอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2343 เจ้าอัตถวรปัญโญ โปรดให้บูรณะซ่อมแซมกำแพงเมือง และตัวเวียงนครน่านขึ้นใหม่ พร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในตัวเวียงนครน่าน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2345 นครน่าน จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรสยาม เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ ด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญหลายครั้งหลายคราด้วยกัน นอกจากนี้เจ้าผู้ครองนครน่านทุกองค์ ต่างก็ได้ทำนุบำรุง กิจการพระพุทธศาสนาในตัวเวียงนครน่าน และหัวเมืองภายใต้การปกครอง และอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดําริในการปฏิรูปการปกครองโดยเฉพาะการปฏิรูปหัวเมือง ทรงยกเลิกการจัดการปกครองหัวเมืองที่เป็นเมืองประเทศราช แล้วให้ใช้การปกครองระบบเทศาภิบาลแทน จึงทำให้นครน่านกลายเป็นหัวเมือง (จังหวัด) ส่วนหัวเมืองขึ้นทั้งหลายที่เคยขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครก็ได้ถูกยุบรวมหรือแบ่งแยกเป็นแขวง (อำเภอ) หรือแคว้น (ตำบล) และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม เจ้าผู้ครองนครไม่มีอำนาจในการปกครองอีกต่อไป แต่ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครยังมีอิทธิพลสูงภายในบ้านเมืองของตนเองรัฐบาลสยามจึงไม่สามารถปลดออกจากตำแหน่งได้อย่างทันที แต่ได้รับรองแต่งตั้งไว้ในฐานะเป็น “สัญลักษณ์ของบ้านเมือง” จนกระทั่ง เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 ได้เสด็จถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ. 2474 ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ได้ถูกยกเลิกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การฟื้นฟูนครน่านและการขยายอำนาจ[แก้]

 ครั้งล่วงมาในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเพื่อขอเป็นข้าขอบขันฑสีมา หลังจากเจ้าอัตถวรปัญโญขึ้นครองเมืองน่าน ก็ยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่านยังรกร้างอยู่ เจ้าอัตถวรปัญโญได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ เมืองงั่วและเมืองพ้อ หลังจากเจ้าอัตถวรปัญโญได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านในปี พ.ศ. 2344

 หลังจากได้รับสถานะประเทศราชของสยาม นครน่านร่วมมือกับนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครแพร่ขยายอำนาจสู่ดินแดนของเชียงแสนซึ่งยังคงถูกปกครองโดยพม่า[3] จนในที่สุดก็สามารถทำลายเมืองเชียงแสนได้ในปี พ.ศ. 2347 ทำให้พม่าสูญสิ้นอิทธิพลไปจากล้านนาอย่างถาวร รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงเมืองน่าน มีพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าสมณะ ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ในสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญขึ้นเป็น พระยาอุปราช เมืองน่าน หรือที่ราชสำนักนครน่านเรียกว่า พระยามหาอุปราชา เจ้าหอหน้า ดินแดนของเชียงแสนถูกตัดแบ่งให้กับนครเชียงใหม่และนครน่าน โดยนครน่านได้รับเมืองแก่นท้าว เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองเชียงของ ซึ่งเปิดเส้นทางสู่กลุ่มนครรัฐไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนาให้แก่นครน่าน[4]

 พ.ศ. 2348 เจ้าอัตถวรปัญโญยกทัพขึ้นไปโจมตีกลุ่มนครรัฐไทลื้อ ทำให้นครน่านได้เมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาไว้ในอำนาจ เช่น เมืองภูคา รัฐเชียงแขง รวมถึงทำให้เมืองเชียงรุ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อสยาม[11] อย่างไรก็ตาม นครน่านและนครเชียงใหม่ไม่สามารถรักษาอิทธิพลเหนือเชียงรุ่งไว้ได้ แม้ว่าจะพยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในเชียงรุ่งหลายครั้ง จนกระทั่งเลิกล้มความพยายามไปหลังจากสยามตีเชียงตุงไม่สำเร็จในปี พ.ศ. 2397[4]

นครน่าน ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรสยาม[แก้]

 ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 สยามเริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตก ในปี พ.ศ. 2434 รัฐเชียงแขงอาศัยปัญหาอำนาจในการปกครองที่ไม่ชัดเจนขอแยกตัวออกจากนครน่านและขึ้นตรงต่อสยาม[4] ต่อมากรณีพิพาทในปี พ.ศ. 2436 ทำให้สยามต้องยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนของนครน่านรวมอยู่ด้วย สยามจึงเร่งผนวกประเทศราชต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ในปี พ.ศ. 2442 สยามประกาศจัดตั้งมณฑลลาวเฉียง ทำให้สถานะประเทศราชของนครน่านสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม เจ้าผู้ครองนครน่านยังคงมีตำแหน่งเจ้าและมีอำนาจในการปกครองบางส่วน[4] จนกระทั่งสยามเริ่มมีนโยบายไม่แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครในปี พ.ศ. 2469[12] ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2474

อาณาเขตของนครน่านก่อนและหลังสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 โดยเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ เจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยาของสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2438-2439[13]

ความสัมพันธ์กับสยาม[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2331 เป็นต้นมา นครน่านมีสถานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม พระมหากษัตริย์สยามเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนาแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าหลวง) ให้ดำรงพระยศเป็น พระเจ้าประเทศราช, เจ้าประเทศราช หรือพระยาประเทศราช และเจ้าผู้ครองนครน่านมีพระสถานะเป็นกษัตริย์ประเทศราช ในยุคนี้พระมหากษัตริย์สยามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาตั้งเจ้าผู้ครองนครน่านทุกพระองค์สืบมาจนถึง เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 (พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2474) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายแห่งนครน่าน

ถึงแม้นครน่านเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เจ้าผู้ครองนครน่านมีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองอาณาเขตและพลเมืองของตน ถึงแม้ว่าการขึ้นครองนครจะต้องได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้เจ้านายบุตรหลานและขุนนางผู้ใหญ่ในนครน่าน เลือกตัวเจ้านายผู้มีอาวุโสขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง มิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน

เจ้าผู้ครองนครน่าน ในชั้นหลังทุกพระองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเชียงแสนในรัชกาลที่ 1 ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ 3 ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ ทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน ซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ อยู่เป็นนิจ ทำให้เมืองน่านกลับคืนสู่สันติสุข ร่มเย็น ต่างจากระยะแรกๆ ที่ผ่านมา

การปกครอง[แก้]

ระเบียบบริหารการปกครองภายในนครเมืองน่าน แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่

  1. เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ (ฝ่ายเจ้านายบุตรหลานเชื้อพระวงศ์)
  2. เค้าสนามหลวง หรือ สภาขุนนาง (ฝ่ายขุนนางเสนาอำมาตย์)
  3. สำนักเจ้าผู้ครองนคร (ฝ่ายขุนนางในราชสำนัก)

1. เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ[แก้]

 เมื่อปี พ.ศ. 2435 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ถึงแก่พิราลัย ภายหลังเสร็จงานพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว มีพระบรมราชโองการให้ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราชนครเมืองน่าน ลงไปเฝ้าที่กรุงเทพฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ เจ้าราชวงษ์ (สุริยะ) ว่าที่เจ้าอุปราชนครเมืองน่าน ขึ้นเป็น เจ้านครเมืองน่าน สืบต่อจากพระบิดา และได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน" เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437
 และเนื่องจากได้มีการแก้ไขการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2435 โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้าราชการผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกรรณ มากำกับดูแลการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร และทรงแต่งตั้งเจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนคร ให้เป็นเจ้าศักดินาชั้นสัญญาบัตรลดหลั่นกันลงไปเป็นกรมการพิเศษ ช่วยเหลือการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร

เจ้าขันห้าใบเมืองนครน่าน ประกอบด้วย 5 ตำแหน่ง ดังนี้

  1. เจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง หรือ กษัตริย์ประเทศราช)
  2. เจ้าอุปราช (เจ้าหอหน้า) รัชทายาทโดยตำแหน่ง
  3. เจ้าราชวงศ์
  4. เจ้าบุรีรัตน์
  5. เจ้าราชบุตร

เจ้าตำแหน่งรองและตำแหน่งพิเศษเมืองนครน่าน

  • เจ้าตำแหน่งรองเมืองนครน่าน ประกอบด้วย 10 ตำแหน่ง ดังนี้ (ตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบ)
    1. เจ้าราชสัมพันธวงษ์
    2. เจ้าราชภาคินัย
    3. เจ้าราชภาติกวงษ์
    4. เจ้าสุริยวงษ์
    5. เจ้าอุตรการโกศล
    6. เจ้าไชยสงคราม
    7. เจ้าราชดนัย
    8. เจ้าประพันธพงษ์
    9. เจ้าราชญาติ
    10. เจ้าวรญาติ
  • เจ้าตำแหน่งพิเศษเมืองนครน่าน ประกอบด้วย 8 ตำแหน่ง ดังนี้ (ตำแหน่งเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระ")
    1. พระยาวังขวา (เฉพาะเมืองนครน่าน)
    2. พระยาวังซ้าย (เฉพาะเมืองนครน่าน)
    3. พระวิไชยราชา
    4. พระเมืองราชา
    5. พระเมืองไชย
    6. พระเมืองแก่น
    7. พระเมืองแก้ว
    8. พระเมืองน้อย

2. เค้าสนาม (สภาขุนนาง)[แก้]

 ระเบียบการปกครองฝ่ายธุรการนั้น ได้จัดเป็น “เค้าสนาม” เป็นที่ว่าการบ้านเมือง ซึ่งจะมีขุนนางพญาแสนท้าวกลุ่มหนึ่งเป็นผู้บริหารงานราชการส่วนกลาง การงานได้ดำเนินสำเร็จไปด้วยการประชุมปรึกษาเป็นประมาณ การงานที่ปฏิบัติในสนามนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การงานที่ต้องนำขึ้นทูลเจ้าผู้ครองนครเพื่อทรงวินิจฉัยและบัญชาการอย่างหนึ่ง และการงานที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันไม่มีสารสำคัญสามัญสามารถที่จะกระทำเสร็จไปได้ที่สนาม โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเจ้าผู้ครองนครอีกอย่างหนึ่ง
 “ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวง” ของนครน่าน มีทั้งหมดจำนวน 32 ตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “พญาปี๊นทั้ง ๔” (หรือ “พ่อเมืองทั้ง ๔”) คือ พญาผู้เป็นใหญ่ในเค้าสนามทั้ง 4 ท่าน มียศศักดิ์เป็น “พญาหลวง ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี” เป็นขุนนางชั้นสูงสุดมี 1 ตำแหน่ง และ “พญาหลวง อรรคมหาเสนาธิบดี” รองลงมาอีก 3 ตำแหน่ง กับ “ขุนเมืองทั้ง ๘” เป็นขุนนางชั้นรองหัวหน้าและผู้ช่วยกรมการต่างๆ มียศศักดิ์เป็น “พญา , แสน , หลวง , ท้าว” ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านได้แต่งตั้งให้มียศศักดิ์จัดไว้เป็นทำเนียบ ในรัชสมัย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน มีรายนามดังต่อไปนี้

ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวงนครน่าน[แก้]

พญาปี๊น หรือ (พ่อเมืองทั้ง ๔)[แก้]
  • พญาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาศรีวิสุทธิมงคล ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี
    หน้าที่ : ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป และเป็นประธานในขุนสนามทั้งปวง
  • พญาหลวงอามาตย์ อรรคมหาเสนาธิบดี
    หน้าที่ : รองผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป
  • พญาหลวงราชธรรมดุลย์ อรรคมหาเสนาธิบดี
    หน้าที่ : หัวหน้าฝ่ายตุลาการ
  • พญาหลวงราชมนตรี อรรคมหาเสนาธิบดี
    หน้าที่ : หัวหน้าฝ่ายสุรัสวดีและนายทะเบียนสักเลข (ทหาร)
พญาชั้นรอง (หัวหน้ากรม)[แก้]
  • กรมว่าการทั่วไป
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงนัตติยราชวงศา
       ผู้ช่วย - 1.) พญาราชเสนา
       2.) พญาไชยสงคราม
       3.) พญาทิพเนตร
       4.) พญาไชยราช
       
  • กรมโหรหลวงประจำเมือง
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงราชบัณฑิต
       ผู้ช่วย - 1.) พญาสิทธิมงคล
       
  • กรมว่าการฝ่ายอักษร
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงศุภอักษร
       ผู้ช่วย - 1.) พญาพรหมอักษร
       2.) พญามีรินทอักษร
       
  • กรมว่าการคลัง (เงิน)
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงคำลือ
       ผู้ช่วย - 1.) พญาสิทธิธนสมบัติ
       2.) พญาราชสมบัติ
       3.) พญาธนสมบัติ
       4.) พญาราชสาร
       
  • กรมรักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงราชภักดี
       ผู้ช่วย - 1.) พญาราชโกฏ
       2.) พญาราชรองเมือง
       3.) พญาอินต๊ะรักษา
       4.) พญานาหลัง
       5.) พญาแขก
       
  • กรมการฝ่ายตุลาการ
    • หน้าหัวกรม - พญาแสนหลวงราชธรรมดุลย์
       ผู้ช่วย - 1.) พญาสิทธิเดช
       2.) พญานราสาร
       3.) พญาไชยพิพิธ
       
  • กรมฝ่ายโยธา
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงไชยปัญญา
       ผู้ช่วย - 1.) พญานันต๊ะปัญญา
       
  • กรมธรรมการ
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงธรรมราช
       ผู้ช่วย - 1.) -
       
  • กรมการเหมืองฝาย
    • หน้าหัวกรม - พญาหลวงเมฆสาคร
       ผู้ช่วย - 1.) -
       

3. สำนักเจ้าผู้ครองนคร[แก้]

โดยฐานะเจ้าผู้ครองนคร (เดิม) เป็นประมุขหรือเจ้าแผ่นดินน้อยๆ เป็นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่งที่สำคัญของเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินน้อยๆ จึงไม่ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ในอาณาจักรใหญ่ๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ด้วยความเป็นใหญ่เป็นประธานในเหล่าพสกนิกร ผู้เป็นประมุขจักต้องบริหารการปกครองให้เจริญมั่นคง ดำรงแว่นแคว้นให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทั่วไป เป็นผู้นำแบบความดีงามทั้งหลายทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนา นอกจากนี้ เพื่อจะยังให้เกียรติยศและความร่มเย็นเป็นสุขของราษฎรมีผลอันไพบูลย์ เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะบำเพ็ญกรณีตามคติธรรมของผู้เป็นประมุขเนื่องในทางศาสนาสืบมาแต่โบราณอันเรียกว่า "ทศพิธราชธรรม" ประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย

ส่วนอิสริยยศประจำตัวเจ้าผู้ครองนครนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามฐานะของบ้านเมือง บ้านเมืองใหญ่ก็มีอิสริยยศประดับมาก บ้านเมืองน้อยก็ลดหลั่นกันลงมาตามกำลังวังชาแต่อย่างไรก็ดีทาง สำนักผู้ครองนครน่าน ก็ได้มีคติประเพณีทางฝ่ายขัตติยสืบกันมาช้านาน กล่าวคือ เมื่อมีเจ้าขึ้นครองเมือง ก็มีพิธีอภิเษก แม้ในชั้นหลังการตั้งเจ้าเมืองจะได้เป็นโดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง ณ กรุงเทพฯ ก็ดี ก็มิได้ละประเพณีเสียที่มีมาแต่เดิม จึงมีพิธีอภิเษกเจ้าผู้ครองนคร ณ สำนักคุ้มหลวงนครน่าน อีกครั้งหนึ่ง มหาขัติยราชวงษาเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ก็อาราธนาเชิญท่านขึ้นสถิตย์สำราญในราชนิเวศน์โรงหลวง (คุ้มหลวง) ซึ่งตรงกับคำว่า “เฉลิมพระราชมณเฑียร” มีการออกพญาแสนท้าว (ขุนนาง) ต้อนรับแขกเมืองด้วยพิธี มีการออกประพาสเมืองโดยอิสสริยศด้วยกระบวนข้าบริพารเป็นอาทิ

นอกจากพญาแสนท้าวอันเป็นขุนนางที่เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งขึ้นไว้ เพื่อบริหารกิจการบ้านเมืองยังสนาม ซึ่งเป็นการภายนอกส่วนหนึ่งแล้ว ยังอีกการภายใน อันเป็นกิจการของคุ้มของเจ้าผู้ครองนครโดยตรง ก็แต่งตั้ง “ขุนใน” ขึ้นไว้รับใช้การงานและประดับเกียรติยศเจ้าผู้ครองนครอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำนองข้าราชการฝ่ายราชสำนัก ซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นส่วนใหญ่ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้

กิจการภายในสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน อาจแบ่งออกได้เป็น 5 แผนก คือ แผนกวัง แผนกเสมียนตรา แผนกมณเฑียรและอาสนะ แผนกการกุศล และแผนกรับใช้

  • แผนกวัง

มีหน้าที่ควบคุมตรวจตรากิจการภายในคุ้มหลวงทุกอย่าง รักษาความสงบเรียบร้อยภายในคุ้มหลวง พิทักษ์ตัวเจ้าผู้ครองนครด้วยกำลังคน “เจ้าใช้การใน” ที่มีประจำอยู่ จัดพิธีออกพญาแสนท้าวในคราวที่ประกอบเป็นเกียรติยศ พิธีออกแขกเมือง – ต้อนรับแขกเมือง จัดกองเกียรติยศเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาส

  • ขุนในแผนกวัง
  1. พญาสิทธิวังราช : หัวหน้าแผนกวัง
  2. พญาราชวัง : ผู้ช่วยแผนกวัง
  3. ท้าวอาสา : หัวหน้าคนเจ้าใช้การใน มีหน้าที่จับกุมบุคคลที่ขัดอาชญาตามบัญชาของเจ้าผู้ครองนครและมีหน้าที่ถือมัดหวายนำหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร
  4. ท้าววังหน้า : หัวหน้าคนเจ้าใช้การใน กับมีหน้าที่ออกหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร ในอันที่จะประกาศมิให้ผู้คนจอแจข้างหน้าทางหรือตัดหน้าฉาน กับมีคนใช้การในสำหรับที่จะเรียกใช้กระทำกิจการภายในคุ้ม 1,000 คน ในเวลาปกติมีคนเจ้าใช้การในมาเข้าเวรยาม 15 คน พวกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละ 2 วัน 3 คืน หมุนเวียนกันไป
  • แผนกเสมียนตรา

มีหน้าที่ทำหนังสือของเจ้าผู้ครองนครที่จะมีไปในที่ต่างๆ และรับคำสั่งอาชญาที่จะแจ้งไปให้สนามทราบกับมีหน้าที่เก็บสรรพหนังสือภายในหอคำ

  • ขุนในแผนกเสมียนตรา
  1. พญาสิทธิอักษร : หัวหน้าแผนกเสมียนตรา
  • แผนกมณเฑียรและอาสนะ

แผนกมณเฑียรและอาสนะ มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหอคำและเรือนโรงของเจ้าผู้ครองนครและบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อชำรุด กับมีหน้าที่แต่งตั้งอาสนะเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาสไปประทับ ณ ที่ใดที่หนึ่ง

  • ขุนในแผนกมณเฑียรและอาสนะ

- แผนกมณเฑียร

  1. พญาราชมณเฑียร : หัวหน้าแผนกมณเฑียร
  2. แสนหลวงราชนิเวศน์ : ผู้ช่วยแผนกมณเฑียร

- แผนกอาสนะ

  1. พญาอาสนมณเฑียร : หัวหน้าแผนกอาสนะ
  • แผนกการกุศล

มีหน้าที่ประกอบการกุศลของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ กระทำพิธีบูชาพระเคราะห์ตามคราวและมีหน้าที่บันทึกเรื่องรายงานการกุศล

  • ขุนในแผนกการกุศล
  1. แสนหลวงสมภาร : หัวหน้าแผนกการกุศล
  2. แสนหลวงกุศล : ผู้ช่วยแผนกการกุศล
  3. แสนหลวงขันคำ : ผู้ช่วยแผนกการกุศล
    หน้าที่ : ผู้ถือพานทองนำหน้าเจ้าผู้ครองนคร ในคราวบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ
  • แผนกรับใช้

มีหน้าที่รับใช้เจ้าผู้ครองนครในกิจการต่าง ๆ

  • ขุนในแผนกรับใข้
  1. แสนหลวงใน : ผู้รับใช้จับจ่ายอาหารเลี้ยงดูคนในคุ้ม
  2. แสนหลวงต่างใจ : เป็นผู้รับใช้กิจการต่าง ๆ

หัวเมืองขึ้นของเมืองน่าน[แก้]

จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมืองระบุว่า หัวเมืองขึ้นของเมืองน่านประกอบด้วย เมืองเชียงของ เมืองโปง เมืองเงิน เมืองสราว เมืองปัว เมืองหิน และเมืองงั่ว[14]

หัวเมืองขึ้นของเมืองนครน่าน พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2445

นครน่าน เป็นหัวเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวาง จากรายงานทางราชการของนครน่านที่มีไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ปกครองมีหัวเมืองขึ้น 46 เมือง[15] ประกอบด้วย

  1. เมืองเชียงของ
  2. เมืองเทิง
  3. เมืองเชียงคำ
  4. เมืองเงิน
  5. เมืองหลวงภูคา
  6. เมืองไชยพรหม
  7. เมืองริม
  8. เมืองแงง
  9. เมืองเชียงคาน
  10. เมืองเชียงกลาง
  11. เมืองและ
  12. เมืองเปือ
  13. เมืองงอบ
  14. เมืองบ่อ
  15. เมืองปอน
  16. เมืองปัว
  17. เมืองย่าง
  18. เมืองยม
  19. เมืองอวน
  20. เมืองพง
  21. เมืองบ่อว้า
  22. เมืองควร
  23. เมืองเชียงฮ่อน
  24. เมืองเชียงลม
  25. เมืองคอบ
  26. เมืองสวด
  27. เมืองเชียงม่วน
  28. เมืองเชียงแรง
  29. เมืองเชียงเคี่ยน
  30. เมืองสะเอียบ
  31. เมืองสระ
  32. เมืองปง
  33. เมืองออย
  34. เมืองงิม
  35. เมืองมิน
  36. เมืองยอด
  37. เมืองสะเกิน
  38. เมืองลอย
  39. เมืองลี
  40. เมืองศรีษะเกษ
  41. เมืองหิน
  42. เมืองสา
  43. เมืองท่าแฝก
  44. เมืองหาดล้า
  45. เมืองท่าปลา
  46. เมืองผาเลือด

การตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน[แก้]

การตั้งเมืองน่าน ในปัจจุบัน

 พญาผากอง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ. 1904 - พ.ศ. 1929) ได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านทางด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านห้วยไค้ (ที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน) เมื่อ "ปีรวายซง้า จุลศักราชได้ ๗๓๐ ตัวเดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ วันอังคารยามแถหั้นแล" หรือตรงกับวันศุกร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 1911 (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 เหนือ) ในสมัยต่อมานครน่านมีตัวเมือง 2 แห่ง คือ "เวียงน่านเก่า" หรือเรียกว่า “เวียงใต้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่ง กับ "เวียงน่านใหม่" หรือเรียกว่า “เวียงเหนือ” ตั้งอยู่บนดอนข้างหลังเวียงเก่าถัดขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง เหตุที่มีตัวเมืองสองแห่งนั้น กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่พญาผากองได้ย้ายมาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านทางด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) มีกษัตรย์น่านและเจ้าผู้ครองนครน่านได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครองเมืองสืบวงศ์ต่อๆ กันมาหลายชั่วหลายวงศ์ จนมาถึงปี พ.ศ. 2360 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นครน่าน ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ กระแสน้ำได้พัดกำแพงเมืองและวัดวาอารามบ้านเรือนในเวียงน่านเก่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
 พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 และองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2368) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครในขณะนั้น จึงโปรดให้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งอยู่ที่บริเวณดงพระเนตรช้าง (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ และบ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองน่าน) อยู่ห่างจากตัวเวียงน่านเก่าขึ้นไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวเมืองทอดไปตามลำแม่น้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำประมาณ 800 เมตร มีเหตุมณฑลแห่งคูเมือง คือ ด้านเหนือจดบ้านน้ำล้อม ด้านตะวันออกยาวไปตามถนนสุมนเทวราชเดี๋ยวนี้ ด้านใต้จดทุ่งนาริน ด้านตะวันตกยาวไปตามแนวของขอบสนามบินด้านนอก และใช้เวลาสร้างอยู่ 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ (พงศาวดารเมืองน่านได้ระบุว่า) “คูเมือง ด้านตะวันออกยาว ๙๔๐ ต่า ด้านตะวันตกยาว ๗๒๘ ต่า ด้านใต้ยาว ๓๙๓ ต่า ด้านเหนือยาว ๖๗๗ ต่า ปากคูกว้าง ๕ ศอก ท้องคูกว้าง ๔ ศอก ลึก ๙ ศอก“ และได้ย้ายขึ้นไปอยู่เมืองใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2362 ปัจจุบันยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่ เจ้าผู้ครองนครน่านประทับอยู่ที่ราชวังหอคำหลวงเวียงเหนือสืบกันมาได้ 4 พระองค์ เป็นระยะเวลา 36 ปี
 ต่อมาในปี พ.ศ. 2397 ในรัชสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครในขณะนั้น จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองกลับมาตั้งอยู่ที่เวียงน่านเก่าดังเดิม โปรดให้ซ่อมกำแพงเมืองให้มั่นคง โดยสร้างเป็นกำแพงอิฐ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2400 ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าออกสู่แม่น้ำน่าน ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมา ตั้งอยู่บนเชิงเทิน ซุ้มประตูและป้อมเป็นทรงเรือนยอด กำแพงสูงประมาณ 6 เมตร เชิงเทินกว้าง 2.20 เมตร ใบเสมากว้าง 1 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 1.20 เมตร ความสูงจากเชิงเทินถึงใบเสมาประมาณ 2 เมตร ตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง 4 แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ 5 กระบอก

  • กำแพงด้านทิศเหนือยาว ยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
    • ประตูริม - เป็นประตูเมืองที่เดินทางสู่เมืองขึ้นของนครน่านทางทิศเหนือ เช่น เมืองเชียงคำ เมืองเทิง และเมืองเชียงของ เป็นต้น
    • ประตูอมร - เป็นประตูที่เจาะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2450
  • กำแพงด้านทิศตะวันออก ยาวประมาณ 650 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
    • ประตูชัย - เป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางชลมาร์คไปกรุงเทพฯ
    • ประตูน้ำเข้ม - ใช้สำหรับติดต่อค้าขายทางน้ำ และเป็นประตูเข้าออกสู่แม่น้ำน่านของประชาชนทั่วไป
  • กำแพงด้านทิศใต้ ยาวประมาณ 1,400 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
    • ประตูเชียงใหม่ - เป็นประตูเมืองที่เดินทางไปสู่ต่างเมือง เช่น นครเชียงใหม่
    • ประตูท่าลี่ - เป็นประตูที่นำศพออกไปเผานอกเมือง ณ สุสานดอนไชย
  • กำแพงด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ 950 เมตร ประกอบ 2 ประตู คือ
    • ประตูปล่องน้ำ - ใช้ในการระบายน้ำจากตัวเมืองออกสู่ด้านนอก
    • ประตูหนองห้า - เป็นประตูสำหรับคนในเมืองออกไปทำไร่ทำนา และใช้ขนผลผลิตเข้ามาในเมือง

 ลักษณะของประตูเมือง ทำเป็นซุ้ม บานประตูเป็นไม้ หลังคาประตูเป็นทรงเรือนยอดสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น มีป้อมอยู่เพียงสามป้อมอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นป้อมแปดเหลี่ยม หลังคาทรงเรือนยอดซ้อนกันสองชั้น หลังคาชั้นแรกเป็นทรงแปดเหลี่ยม ชั้นที่สองเป็นทรงสี่เหลี่ยม

สภาพสังคมของเมืองน่าน ใน พ.ศ. 2400[แก้]

กำแพงเมือง[แก้]

กำแพงเมืองเก่า นครน่าน

ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง 4 ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ 2 วา มีเชิงเทินกว้าง 3 ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง 4 แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ 4 กระบอก มีประตู 7 ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตูท่าลี่ มีคูล้อม 3 ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้นอยู่ การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็นผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย

ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง 7 นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ 22.00 น. และเปิดในเวลาประมาณ 05.00 น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ 1 แคลง (ประมาณ 1 ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย

อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นเจ้าเมืองน่าน

คุ้มหลวง - หอคำ[แก้]

หอคำหลวงนครน่าน สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช

ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ

บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ

หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน มีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ

หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว 7 หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ

เมื่อเจ้าอนันวรฤทธิเดชถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่อ พ.ศ. 2436 ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แต่ให้กลับเรียกว่า “คุ้มหลวง” เป็นไปตามเดิม ครั้นล่วงเวลามาอีก 10 ปี ถึง พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช จึงรื้อหอคำเก่าไปถวายวัดและสร้างหอคำเป็นตึกขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน

ภายในบริเวณคุ้มแก้ว มีโรงม้า โรงแต๊ก โรงแต๊กนั้นถือเป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอดาบ ง้าวปืนและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในการทัพศึก

ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก

สนาม[แก้]

ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้ามวัดพรหมมินทร์และที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง

ฉาง[แก้]

ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ 2 โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”

บ้านเรือน[แก้]

ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่ เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น

วัด[แก้]

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในปัจจุบัน

วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ 2 วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์ แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง

ตลาด[แก้]

การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย

ถนน[แก้]

ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง 4 - 5 ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา

ลักษณะการจัดการบ้านเมือง[แก้]

ลักษณะการจัดการบ้านเมือง ในด้านต่างๆ ของนครเมืองน่าน มีดังนี้

  1. การทัพ
  2. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
  3. ทาส
  4. ตุลาการ

การทัพ[แก้]

หลักการปกครองของบ้านเมืองมีข้อสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ อาชญาของเจ้าผู้ครองนครข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์ให้มาช่วยกันป้องกันบ้านเมืองในเวลามีศึกสงครามข้อหนึ่ง อาชญานั้นมีความหมายตามที่คติปกครองแบบนี้ว่า เป็นคำสั่งคำบังคับบัญชาของผู้เป็นประมุขที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมืองได้โดยใช้สิทธิขาด อย่างที่เรียกว่า “อาชญาสิทธิ์” ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษถึง 2 ประการ คือ โทษอันผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองประการหนึ่ง และโทษอันผิดต่ออาชญาของเจ้าผู้ครองนครอันมีลักษณะคล้ายพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน อีกประการหนึ่ง เหตุที่เจ้าผู้ครองนครทรงไว้ซึ่งอาชญาและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาบ้านเมืองเช่นนี้ หน้าที่ของพลเมืองจึงต้องเจริญรอยโดยบริหารของผู้เป็นประมุขทุกประการ ส่วนที่สำคัญยิ่งก็คือหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้

ฝ่ายชายฉกรรจ์มีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ลูกจุ๊” เข้าสังกัดอยู่ในเจ้านายท้าวพญาคนใดคนหนึ่งจะลอยตัวอยู่ไม่ได้ มีหน้าที่รับใช้สอยกิจการในสังกัดมูลนายของตนไปจนกว่าอายุได้ 60 ปี จึงปลด หรือมิฉะนั้นก็ต่อเมื่อมีบุตรมารับใช้การงานได้ 3 คนแล้ว เมื่อชายฉกรรจ์เข้าสังกัดเป็นลูกจุ๊ของผู้นั้นอยู่ตลอดไป จะย้ายมูลนายผู้ต้นสังกัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสนาม

บรรดาผู้ที่จะรับเป็นลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดในตนได้ โดยเฉพาะต้องเป็นเจ้านายหรือท้าวพญาในสนามเท่านั้น ในเวลาปกติลูกจุ๊ก็อยู่ตามถิ่นฐานบ้านช่องของตนไม่ต้องเข้ามาประจำทำงานในเมืองมีกำหนดเวลาเป็นแน่นอน นอกจากบางคราวจะถูกมูลนายเรียกมาใช้กิจการเป็นครั้งคราว การที่มูลนายจะใช้ลูกจุ๊ให้ทำกิจการนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกิจการฝ่ายบ้านเมืองแต่อย่างเดียว ย่อมใช้ได้ตลอดถึงการส่วนตัวทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เช่น ในการทำนา ปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นต้น อีกประการหนึ่งควรกล่าวได้ว่า พวกลูกจุ๊ที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เป็นมูลนายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของผู้ลูกจุ๊ก็ได้รับผลแต่เพียงได้รับความคุ้มครองของมูลนายในคราวเมื่อมีทุกข์ร้อน เช่น ถูกพวกอื่นรบกวนเบียดเบียนโดยไม่เป็นธรรม หรือในคราวที่มีคดีความเกิดขึ้น เป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่เป็นมูลนายต้องตั้งบุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัวหมวด” ไว้ตามละแวกถิ่นฐานที่ลูกจ๊ะตั้งบ้านเรือน สำหรับเรียกลูกจุ๊ในเมื่อต้องการตัวได้โดยสะดวกและพรักพร้อม

ในเวลามีการทัพศึกเกิดขึ้น เมื่อต้องการกำลังกองทัพเป็นจำนวนคนเท่าใด เจ้าผู้ครองนครก็เกณฑ์คนเอาแก่มูลนายที่มีลูกจุ๊เฉลี่ยเอาตามส่วน ส่วนผู้ที่จะคุมกองทัพนั้น ถ้าเป็นการสำคัญเจ้าผู้ครองนครก็เป็นผู้ไปเอง หรือถ้าไม่สำคัญก็ให้เจ้านายในวงศ์สกุลหรือท้าวพญาผู้ใดผู้หนึ่งควบคุมไป ตามแต่จะเห็นสมควร

เรื่องของลูกจุ๊นี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนครไม่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาได้ เวลาปกติเจ้าผู้ครองนครจึงมีคนอีกจำพวกหนึ่งสำหรับใช้สอยและอยู่เวรยามรักษาคุ้มโดยเฉพาะเรียกว่าคน “เจ้าใช้การใน”

ผลประโยชน์ของบ้าน[แก้]

การทำมาหากินของราษฎรในเมืองน่านที่กระทำกันมากและเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ก็คือการทำนา แต่ทางบ้านเมืองมิได้เก็บอากรค่านา ฉะนั้นราษฎรในเขตเมืองชั้นใน เมื่อทำนาได้ข้าวจึงต้องแบ่งข้าวส่งมาขึ้นฉางหลวง เรียกว่า “หล่อฉาง” เพื่อเก็บไว้เป็นเบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในคราวเกิดทัพศึกและต้อนรับแขกเมือง หรือให้พลเมืองยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ข้าว การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางนี้ เก็บแต่ผู้ที่มีครอบครัวแล้ว เป็นข้าวครอบครัวละ 3 หมื่น (สัด) ส่วนราษฎรในเขตเมืองชั้นนอกอันอยู่ไกลจะส่งข้าวมาหล่อฉางเป็นความลำบากมาก แต่เพราะว่าเมืองเหล่านั้นเป็นที่เกิดหรือมีสิ่งของบางอย่างที่บ้านเมืองต้องการใช้ เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง กระดาษ เกลือ ฯลฯ จึงเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่ราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามสมควร ส่งมาแทนข้าว เรียกว่า “ส่วยหล่อฉาง” หรือ “ส่วยบำรุงเมือง” เมืองน่านมีส่วนเกลือมาจากเมืองบ่อปีละ 7 ล้าน 7 แสน 7 หมื่น (น้ำหนัก 310 2/5 หาบ) ส่วนดินประสิวจากเหมืองยอดเมืองสะเกินปีละ 20 หาบ เมืองมิน บ้านหัวเมือง (ท้องที่อำเภอนาน้อย) ปีละ 30 หาบ ส่วนเหล็กจากเมืองอวน ปีละ 30 หาบ บ้านวัวแดง (ท้องที่อำเภอสา) ปีละ 20 บาท (การตีเหล็กเป็นอาวุธหอกและดาบและซ่อมแซมอาวุธเป็นหน้าที่ของราษฎรในบ้านก้นฝาย (ฝายมูล) ท้องที่อำเภอท่าวังผาและบ้านห้วยลับมืนท้องที่อำเภอสา นอกจากนี้ยังมีส่วยขี้ผึ้งจากเมืองขึ้นทางฟากแม่น้ำโขงอีกปีละ 12 หาบ กับคน 300 คน สำหรับทำฝายทุกเมือง

ทาส[แก้]

ลักษณะการเป็นทาสมีคติสืบเนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันโบราณราชกษัตริย์ได้ทรงบัญญัติไว้เรียกว่านำธงชัยไปรบศึก แล้วได้มาเป็นทาสเชลยหนึ่ง ทาสซึ่งไถ่มาด้วยทรัพย์หนึ่ง ลักษณะทาสที่มีอยู่ในพื้นเมืองน่านก็เป็นอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ดังจะนำมากล่าวพอเป็นเค้า คือ

  • ทาสเชลย เป็นคนซึ่งแต่ก่อนมาเจ้านายและกรมการเมืองได้ไปรบตีเมืองสิบสองปันนา เมืองเวียงจันทร์ได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเป็นความชอบของแม่ทัพนายกองเรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง” มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกกันว่า “ค่าหอคนโรง” อันชื่อว่าทาสได้มาแต่ครั้งปู่และบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้มีอายุ 10 ขวบขึ้นไปมีค่าตัวชาย 62 รูเปีย หญิง 62 รูเปีย ถ้าอายุต่ำกว่า 10 ขวบ คิดคนหนึ่งขวบละ 5 รูเปีย ตามจำนวนอายุผู้เป็นนายถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดมีอำนาจที่จะขายทาสเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาสเชลยจะมีบุตรหลานสืบทอดออกไปอีกเท่าใดก็ดีก็คงเป็นทาสเชลยทั้งสิ้น และผู้เป็นนายก็รับมรดกกันสืบมา ผู้ที่เป็นมูลนายจะยกทาสเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้เมื่อทาสเชลยได้นำเงินมาไถ่ค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นความเป็นทาส
  • ทาสสินไถ่ คือทาสที่นายเงินได้ออกมาไถ่ ถ้าทาสไม่มีเงินมาให้แก่นายเงินครบค่าแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นยากจากทุกข์เป็นไทยได้ ฝ่ายลูกทาสที่ซึ่งเกิดแต่ทาสสินไถ่นั้น ถ้าเกิดในเรือนเบี้ยพอเกิดมาในเรือนทาสมีค่าตัวอยู่เรื่อยไป

ทาสทั้งสองจำพวกนี้ ได้มีวิธีการลดหย่อนผ่อนผันให้เสื่อมคลายลง นับแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. 119 ในรัชกาลที่ 5 และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง และการที่เป็นทาสได้เลิกเด็ดขาดไปเมื่อหลังแต่ได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในมณฑลพายัพในรัชกาลที่ 6 ร.ศ. 131 แล้วเป็นลำดับมา ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นเกล้าฯ

การตุลาการ[แก้]

กฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้ใช้สำหรับภายในบ้านเมืองเรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” แต่เดิมมาได้ทราบว่าเคยใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์และราชศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดียเหมือนกัน อาณาจักรหลักคำเพิ่งจะมาตั้งขึ้นในชั้นหลังโดยถือหลักจากกฎหมายที่กล่าวแล้วบ้าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพบ้านเมืองบ้าง แต่แปลกที่มีบทบัญญัติบทลงโทษและคำสั่งสอนรวมคละปะปนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะแม้แต่ความผิดเล็กน้อยอาจถูกประหารชีวิตได้ ปรากฏว่าเมืองน่านในยุคนั้นสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าได้เป็นนิสัยปัจจัยสืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้

วิธีพิจารณาในประเภทความอาชญาอุกฉกรรจ์คงดำเนินอย่างวิธีที่จะแคะไค้เอาความจริงด้วยการทรมานให้สารภาพตามลักษณะที่เรียกว่า “จารีตนครบาล” เหมือนอย่างเมทั้งปวงในสมัยเดียวกัน เมื่อคดีตกถึงสนาม ขุนสนาม 32 นาย พิจารณาเป็นรูปเรื่องเห็นว่าใครผิดใครถูกแพ้ชนะกันอย่างไรแล้ว ก็พร้อมกันลงความเห็นในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามผลที่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติในอาณาจักรหลักคำลงในพับดำ (สมุดดำ) หรือแผ่นกระดาษดำ แล้วนำขึ้นไปอ่านถวายเจ้าผู้ครองนครอันพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาหอคำ เมื่อเจ้าผู้ครองนครและคณะได้พิจารณาเห็นว่าจะควรชี้โดยสถานใดแล้ว เจ้าผู้ครองนครก็ชี้ขาดบัญชาให้บังคับเป็นไปตามด้วยสถานนั้นๆ

ส่วนความแพ่งนั้น วิธีพิจารณาคงดำเนินไปในทางอันเดียวกัน เว้นแต่การไต่สวนไม่ใช่เคี่ยวเข็ญเอาตามจารีตนครบาล แต่ถ้าเป็นความที่กำกวมหรือคลุมเครือซึ่งคณะตุลาการไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกด้วยกฎหมายได้แล้ว ก็มีวิธีตัดสินด้วยการให้คู่ความทนต่อการสาบานหรือการพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งในการพิสูจน์นั้นอาจเป็นด้วยการให้เอานิ้วมือจิ้มตะกั่วที่ละลาย หรือเสี่ยงเทียน หรือวิธีที่จะยังความครั่นคร้ามให้แก่ผู้ทุจริตอื่นใดก็ได้ ซึ่งหวังในความศักดิ์สิทธิ์บันดาลของพระและเทพเจ้าเป็นใหญ่ สุดแล้วแต่ผู้พิพากษาจะเห็นสมควร เมื่อผู้ใดชนะการพิสูจน์ก็ตัดสินให้เป็นผู้ชนะคดี

มีเกร็ดของเรื่องนี้อยู่เรื่องหนึ่งกล่าวกันว่า มีผู้พิพาทกันด้วยเรื่องตู่กรรมสิทธิ์กระบือกันขึ้นเรื่องหนึ่ง ผลของการพิจารณาตุลาการไม่สามารถที่จะชี้ให้ได้ว่ากระบือตัวนั้นเป็นของผู้ใดเพราะน้ำหนักคำให้การของคู่ความรับกันในเรื่องลักษณะของกระบือเท่าๆ กัน ผลที่สุด จึงให้โจทก์จำเลยกระทำพิธีสาบาน และพิสูจน์ด้วยการเสี่ยงเทียนกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ข้อตกลงมีว่า ถ้าเทียนของ ผู้ใดดับก่อนผู้นั้นก็แพ้แก่ความสัตย์จริง และจะตัดสินให้อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เทียนนั้นได้ควั่นขึ้นจากขี้ผึ้งมีน้ำหนักเท่ากัน เส้นด้ายไส้เทียนก็นับมีจำนวนเท่ากัน การพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์ชนะเพราะเทียนจำเลยดับก่อน ตุลาการจึงจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น จำเลยไม่ยอมกลับพูดว่า “พระองค์น้อยเกิดเมื่อวามาเมื่อซืนจะไปฮู้ฮีตบ้านกองเมืองหยัง” เพื่อจะบังคับคดีให้เป็นไปโดยละม่อมและให้จำเลยจำนนแก่การพิสูน์จริงๆ ตุลาการก็ยอม จึงให้คู่ความไปทำการพิสูจน์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เลือกกระทำกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเมืองทีเดียว ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ปรากฏว่าจำเลยชนะ โจทก์กลับมีเสียงขึ้นบ้างว่า “สี่สิบลืมหน้า ห้าสิบลืมหลังเฒ่าชะแร แก่ออกล้ำ เยียใดจักจำได้” ในที่สุดกระบือตัวนั้นเลยตัดสินให้ตกเป็นกระบือของหลวง

ได้คัดส่วนหนึ่งของอาณาจักรหลักคำลงไว้ สำหรับท่านที่สนใจต่อคติธรรมโบราณของจังหวัดน่านด้วย

อาณาจักรหลักคำ (กฏหมายเมืองน่าน) พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2451

 พระราชกถาสมเด็จพระเชษฐบรมราชาอนันตยศวรราชเจ้า องค์เป็นอิสสราธิบัตติองค์ เป็นเจ้าแก่รัฐประชาในไชยนันทเทพบุรีนครราชธานีนครเมืองน่าน มีพระราชกรุณาแก่มหาขัตติยราชวงษาและท้าวพญาราชเสวกาผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวล ว่าโบราณราชวรปิตตุจฉาองค์เป็นน้าได้เสวยราชสมบัติ เป็นเจ้าแก่รัฐประชามาช้านาน ก็เป็นเถิงแก่กรรมนำตนไปสู่โลกภายหน้า ละสถานบ้านช่องบ้านเมืองและเราท่านทั้งหลายเสียแล้ว ครั้นอยู่มาเถิง จุลศักราช 1214 ตัวเดือน 7 ออก 3 คํ่า ตัวเราจึงได้พาเอาขัตติยราชวงษาและขุนเสนาอำมาตย์ล่องลงไปเฝ้าพระมหากษัตริย์เจ้า ณ กรุงเทพมหานคร แล้วจึงมีพระมหากรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม หื้อตัวเราได้เป็นเจ้าได้เสวยราชสมบัติสืบราชตระกูลวงษาเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองน่านรักษาราชตระกูลวงษารัฐประชานครสถานบ้านเมือง และวรพุทธ-ศาสนา ให้การกุ่งรุ่งเรืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อไปภายหน้า ตามดังโบราณประเพณีอันมีมาแต่ก่อนนั้น
 โปรดประการนี้ บัดนี้เราเป็นเจ้ามารำพึงเล็งหันวรพุทธศาสนานครสถานบ้านเมืองแห่งเราทั้งหลาย ทุกวันมานี้ หนภายนอก มีเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลาย ผู้บ่ดีสมคบกับด้วยกันกระทำเป็นโจรกรรมอันบ่ดี ไปลักเอาวัวควายของท่าน ลักทางเหนือเอาไว้ทางใต้ ลักทางใต้เอาไปไว้ทางเหนือ ลักทางวันตกเอาไปไว้วันออก ลักทางวันออกเอาไปไว้วันตก แลเอาของท่านไปซุ่มซ่อนไว้ ปาดหูตัดเขาเหมียดหมายเสียใหม่ เพื่อจักหื้อของท่านสาปสูญแล้วเอาเป็นของตัว อนึ่งไปซื้อเอามาฆ่ากิน อนึ่งสมคบกันเล่นแท่นเล่นเบี้ยเล่นหมากแกวเล่นพนันขันต่อกัน เอาสรรพสิ่งของเงินทองกัน ลวดเป็นหนี้เป็นสินกับด้วยกันหาสง จะใช้แทนบ่ได้ ลวดสมคบกันเป็นโจรไปลักเอาสิ่งของแห่งท่าน อนึ่งด้วยผู้คนทั้งหลายก็ดี อันเป็นร้าง เป็นบ่าวก็ดี แอ่วคํ่ามาคืน แอ่วร้างจาสาว ถือศาสตราอาวุธกระทำตัวแปลกปลอม บ่หื้อรู้บ่ฮื้อหันหน้า บ่หื้อรู้จักว่าเป็นผู้ร้ายผู้ดี ในกรรมทั้งหลายฝูงนี้จักพาให้บ้านเมืองวินาศฉิบหายและร้อนรนแก่รัฐประชาบ้านเมืองต่อๆ ไปมีเป็นหลายประการต่างๆ เหตุนั้นเราเป็นเจ้าจึงปงพระราชอาญาไว้แก่เจ้าพระยามหาอุปราชาหอหน้า หื้อหาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาแลลูกหลานท้าวพญาเสนาอามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลมาพร้อมกัน ปรึกษาพิจารณาแลตั้งพระราชอาชญาเป็นราชอาณาจักรกดขี่สั่งสอนบาปบุคคลผู้บ่ดี อย่าหื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน ร้อนรนแก่บ้านเมืองแห่งเราแลรัฐประชาต่อๆ ไป เพื่อให้วรพุทธศาสนาแลบ้านเมืองแห่งเรานี้หื้อได้อยู่เย็นเป็นสุขพึ่งด้วยเดชบุญคุณแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป ว่าฉะนี้
 ครั้นอยู่มาเถิงจุลศักราช 1214 เดือนยี่ แรม 10 คํ่า เจ้ามหาอุปราชาหอหน้า จึงได้หาเอาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาลูกหลาน แลท้าวพญาเสนาอามาตย์ขึ้นปรึกษาพร้อมกันยังโรงไชย เจ้าพระยาหอหน้าปรึกษากันพิจารณาด้วยอันจักตั้งพระราชอาณาจักรนั้นตกลงแล้ว ครั้นเถิงเดือนยี่ออก 1 คํ่า มีเจ้าพระยาอุปราชาหอหน้าเป็นประธาน และเจ้าพระยาราชบุตร เจ้าพระยาศรีสองเมือง เจ้าพระยาสุริยพงษ์ เจ้าพระยาวังซ้าย เจ้าพระยาวังขวา เจ้าพระยาอริยวงษา เจ้าพระยาเทิง เจ้าพระยาเมืองราชา เจ้าพระเมืองแก้ว เจ้าพระเมืองน้อย เจ้าพระวิไชยราชา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเลน เจ้าราชวงษ์เมืองเลน เจ้าเมืองหลวง เจ้าเมืองเชียงลาบ เจ้าเมืองภูคา เจ้าเมืองลํ้า แลขัติยราชวงษา ท้าวพญาเสนาอามาตย์ราชเสวกผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลพร้อมกันเอาเนื้อความปรึกษาตั้งราชอาชญานั้นขึ้นกราบหลอง เถิงราชสำนักเราเป็นเจ้าแล้ว จึงได้พร้อมกันตั้งพระราชอาชญาไว้หื้อเป็นอาณาจักรหลักคำ ไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านายท้าวขุนลูกหลานไพร่ไทยทั้งหลายอย่ากระทำกรรมอันบ่ดีสืบต่อไปภายหน้าว่าตั้งแต่ศักราช 1214 ตัวปีเต่าไจ้ เดือนยี่ ออก 1 คํ่า วันพุธนี้ไปภายหน้าห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายได้สมคบกันกระทำกรรมบ่ดี เป็นโจรลักเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองแลช้างวัวควายของท่านไปฆ่ากินก็ดี ลักเอาไปขายเสียก็ดี ลักเอาไป เหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี อนึ่งซื้อเอามาฆ่ากินก็ดี ผู้จักขายก็รู้ว่าท่านจักเอามาฆ่ากินแล้วป้อย ขายหื้อก็ดีในกรรมทั้งหลายมวลฝูงนี้อย่าหื้อได้กระทำเป็นอันขาด คันว่า บุคคลผู้ใด ไปลักเอาควายท่านมาฆ่ากินจักเอาตัวใส่ราชวัตร ไวแล้วหื้อใช้ค่าควายตามราคา แล้วจักเอาตัวไปฆ่าเสีย บ่หื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดินต่อไป
 คันว่าลักเอาควายท่านขายเสียก็ดี ลักเอาไปตัดเขาปาดหูเหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี โทษเสมอกัน จักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันว่าได้ของเก่าคืน หื้อไหม 4 ตัวควาย คันว่าบ่ได้ของเก่าคืนฮื้อใช้ 1 ไหม 4 ตัวควาย ค่าควายพู่แม่ดำพอนใหญ่น้อยถือว่าค่า 200 ดอก คันเป็นว่าเจ้านายหื้อ คารวะอาชญา ยากต่อกึ่ง คันเป็นท้าวขุนหื้อใส่สินค่าคอ 440 ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ 330 ยากต่อกึ่ง
 อนึ่ง ตัวหากลักฆ่าควายตัวก็ดี ไปซื้อควายเปิ้นมาฆ่ากิน ผู้ขายก็รู่ว่าท่านจักเอาไปฆ่ากินแล้วป้อยขายหื้อก็ดี ถือโทษเสมอกัน คันว่ารู้แล้วจักเอาตัวใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อใส่สินค่าคอ 440 ดอก ยากต่อกึ่ง คันเป็นไพร่หื้อใส่สินคอ 330 ดอก ยากต่อกึ่ง
 อนึ่ง จักปริกรรมผีเทพดาอาลักษณ์นั้น คันว่าในราชสำนักในเวียงหื้อไหว้สา คันเป็นหน้าบ้านหื้อปฏิบัติเถิงสนามก่อน คันว่าหัวเมืองนอก หื้อบอกเถิงพ่อเมือง หื้อได้รู้ก่อนคันบ่บอกหื้อรู้ ถือว่าเป็นโจรลักกินควาย คันได้รู้แล้วจักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ 440 ดอก คันเป็นไพร่ใส่สินค่าคอ 330 ดอก ยากต่อกึ่ง
 อนึ่ง ห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายบนผีหนังประกรรม แลผีพระเจ้าหาดเชี่ยว ว่าจะหื้อกินควาย อย่าหื้อกระทำเป็นอันขาด คันบุคคลผู้ใดยังกระทำ จะเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ 440 ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ 330 ดอก ยากต่อกึ่งฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
 อนึ่ง พ่อเมืองนายบ้าน นายอ่ายนายเกิน ทั้งหลายทุกตำบล อย่าได้ลาสา ประมาท หื้อรักษาด่านทางเขตแขวงบ้านเมืองไผมันหื้อมั่นขันแข็งแรง แม้นว่าลูกค้าวานิชทั้งหลายคือว่าค่าช้างค่าม้าค่าวัว ค่าควายหาบแลสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย ออกจากเมืองไปบ่มี ชะลางหนังสือ ตีตราแต่ราชสำนักอย่าได้ปล่อยไปเป็นอันขาด ว่าคันเป็นคนหื้อจับตัวใส่คา หื้อมั่นขันส่งเข้ามาเถิงราชสำนักสนาม คันเป็นสมณะชีพราหมณ์หื้อเกาะเอาตัวเข้ามาเถิงราชสำนักสถาน คันว่าเป็นลูกค้าแลคนต่างประเทศเมืองอื่นเข้ามาเถิงนายอ่ายแล้ว บ่มีหนังสือชะลางตีตรา อย่าปล่อยเข้าด้วยง่ายหื้องดไว้ก่อน แล้วหื้อมาบอกเถิงพ่อเมืองนายบ้าน แล้วเกาะเอาตัวมาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน
 อนึ่ง ด้วยคนทั้งหลายหนีลุก์ ต่างประเทศบ้านเมืองที่อื่น เข้ามาแอบแฝงเพิ่งอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย แลอาศัยอยู่กับวัดวาอารามที่ใดๆ ก็ดี แม้เป็นคนไทยใต้ก็ดี เป็นลาวก็ดี เป็นคนบ้านใดเมืองใดก็ดี หากหนีมาผู้ 1-2-3 คนก็ดี แลหาชะลางหนังสือ บ่ได้แม้จักมาอาศัยอยู่กับบ้านใดเมืองใดก็ดี วัดวาก็ดี อย่าหื้อรับอะหยั้งด้วยง่ายหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านได้นำเอาฝูงคนนั้น เข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน จักได้ไล่เลียงไต่ถามหื้อรู้ก่อน คันว่าคนฝูงนี้หากมีการหนีเข้ามาเพิ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย ผู้ใดปิดบังเสียบ่เอาตัวเข้ามาปฏิบัติเถิงสนามหื้อได้รู้ภายลุน บังเกิดเป็นข้าลักกระโมยโจรเป็นประการใดก็ดี ตัวมันหากหนีหายไปหาตัวบ่ได้ จับเอาตัวเจ้าเรือนที่อาศัยแทนผู้นั้นตามโทษ
 อนึ่ง ลูกค้าทั้งหลายมาจากต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศอื่น เข้ามาหาซื้อช้างซื้อม้าซื้อวัวซื้อควายนั้น คันเข้ามาเถิงบ้านใดเมืองใดก็ดี อย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายอย่าได้นับซื้อขายต่อกันด้วยง่าย หื้อพาเอาตัวลูกค้าทั้งหลายเข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน อนึ่ง หาก ผู้ใดบ่ฟังลักซื้อลักขายกัน บ่มาปฏิบัติเถิงสนามนั้น จักเอาโทษตามอาชญา คันบ้านใดเมืองใด บ่กระทำตามพระราชอาชญาได้ ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ สืบรู้จักเอาโทษจงหนัก ในพระราชอาชญาได้ปรึกษาพร้อมเพรียงกับด้วยมหาขัตยราชวงศ์อัครมหาเสนาอำมาตย์ชูตนชูคนได้ตั้งพระราชอาณาจักรตักเตือนสั่งสอนแก่เจ้านายท้าวพญาราษฎรทั้งหลาย แลพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายในขงจักขวัติเมืองน่านทุกตำบลชะและบุคคลผู้ใดกระทำล่วงเกินสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จักเอาโทษตามพระราชอาชญา ซึ่งได้ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ ทุกประการ

รายพระนามและรายนามผู้ปกครอง[แก้]

เจ้าผู้ครองนครน่าน (สมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

 ในปี พ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา เจ้าจันทปโชติ ผู้เป็นพระโอรสในพระเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองเมืองน่าน" ได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระยามงคลวรยศประเทศราช พระยานครน่าน และโปรดเกล้าฯ ให้กลับขึ้นมาปกครองเมืองน่านตามเดิม แต่เมืองน่านในขณะนั้นยังรกร้างว่างเปล่าเพราะถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน พระยามงคลวรยศ จึงได้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองท่าปลา (ปัจจุบันคือ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์) เขตบริเวณน่านใต้ (อาณาเขตนครน่านในอดีต)
 ในปี พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุง พระมหากษัตริย์พม่า รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์อลองพญา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้เป็นพระภาติยะ (หลานน้า)ใน พระยามงคลวรยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองเมืองน่าน" และได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระยาอัตถวรปัญโญ พระยาเมืองน่าน โดยตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเทิง (ปัจจุบันคือ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เขตบริเวณน่านเหนือ (อาณาเขตนครน่านในอดีต)
 ในปี พ.ศ. 2329 พระยาอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ที่ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเทิง เขตบริเวณน่านเหนือ ก็ได้พาเจ้านายบุตรหลานท้าวขุนบ่าวไพร่ลงไปพึ่งพระยามงคลวรยศ เจ้าเมืองน่าน ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ที่เมืองท่าปลา เขตบริเวณน่านใต้ ต่อมาพระยามงคลวรยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 ได้สละราชย์สมบัติ และยกเมืองน่านให้ พระยาอัตถวรปัญโญ ผู้เป็นพระภาติยะ (หลานน้า) ขึ้นปกครองสืบสันตติวงศ์ต่อไป
 ในปี พ.ศ. 2331 พระยาอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ได้นำแสนท้าวขุนนางเมืองน่าน เสด็จลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในการนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาอัตถวรปัญโญ ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครน่าน" ต่อไปตามเดิม และต่อมาในปี พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนอิสริยยศ เจ้าพระยาอัตถวรปัญโญ เจ้าพระยาน่าน ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน

รายพระนามเจ้าผู้ครองนครน่าน 9 พระองค์ แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

  1. พระยามงคลวรยศประเทศราช พระยานครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 และองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 2 เมษายน พ.ศ. 2326 - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 รวมเวลา 3 ปี[16]
  2. สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2331 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2353 รวมเวลา 22 ปี
  3. พระยาสุมนเทวราช พระยานครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 และองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2354 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2368 รวมเวลา 15 ปี
  4. พระยามหายศ พระยานครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 59 และองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 6 กันยายน พ.ศ. 2368 - 30 มกราคม พ.ศ. 2378 รวมเวลา 10 ปี
  5. พระยาอชิตวงษ์ พระยานครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 60 และองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 28 มกราคม พ.ศ. 2380 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2380 รวมเวลา 8 เดือน
  6. พระยามหาวงศวรราชานราธิบดี พระยานครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 61 และองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 23 เมษายน พ.ศ. 2381 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2394 รวมเวลา 13 ปี[17]
  7. เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 รวม 40 ปี
  8. พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 - 5 เมษายน พ.ศ. 2461 รวมเวลา 25 ปี
  9. เจ้ามหาพรหมสุรธาดา นันทบุราธิวาศวงศ์ บรมราชประสงค์สฤษดิรักษ์ นิตยสวามิภักดิ์อาชวาศัย ประสาสนนัยวิจิตร กิติคุณาดิเรก เอกโยนกมหานคราธิบดี เจ้านครน่าน
    เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 และองค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
    ครองราชย์ 22 เมษายน พ.ศ. 2461 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474 รวมเวลา 13 ปี

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. อาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน) ยกเลิกใช้ในปี พ.ศ. 2451

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.photoontour.com/gallery3/lampang54/5_nan_province.htm
  2. https://www.bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter/BOTMuseum/Northern/Pages/coin05.aspx
  3. 3.0 3.1 อ๋องสกุล, สรัสวดี (2003). เอียวศรีวงศ์, นิธิ (บ.ก.). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. pp. 170, 246. ISBN 9742726612.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 อินปาต๊ะ, บริพัตร (2017). การฟื้นฟูรัฐน่านในสมัยราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ. 2329-2442 (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 27, 30, 50–56, 62, 67, 202. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-04-11.
  5. Harvey, Godfrey Eric (1925). History of Burma: from the Earliest Times to 10 March, 1824: The Beginning of the English Conquest. United Kingdom: Longmans, Green and Company. p. 241. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  6. 6.0 6.1 โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1919), "ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน" [Ratchawongsapakon Phongsawadan Mueang Nan], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  7. ห้องที่ 2 วิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่าน สู่รัตนโกสินทร์ สมัยอาณาจักรพม่า
  8. http://www.chonburionline.com/index.php/2019-01-01-06-35-18/2019-01-01-13-34-45/2019-01-17-14-36-59
  9. ห้องที่ 2 วิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่าน สู่รัตนโกสินทร์ สมัยอาณาจักรธนบุรี
  10. ห้องที่ 2 วิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่าน สู่รัตนโกสินทร์ สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์
  11. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (1901), ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง (บ.ก.), พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ [Royal Chronicle of the Kingdom of Rattanakosin: First Reign] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, pp. 240–242, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  12. ขรัวทองเขียว, เนื้ออ่อน; จุฬารัตน์, จุฬิศพงศ์ (2014). "รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417-2476" [THE SIAMESE STATE AND LANNA, 1874-1933]. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 6: 75. สืบค้นเมื่อ 2024-05-12.
  13. สมิธ, เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน (2019) [1898], ห้าปีในสยาม [Five Years in Siam] (PDF), vol. 1, แปลโดย กีชานนท์, เสาวลักษณ์ (2nd ed.), กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  14. "จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ (เมืองเชียงของ เมืองโปง เมืองเงิน เมืองสราว เมืองปัว เมืองน่าน เมืองหิน เมืองงั่ว)". ฐานข้อมูลจารึกแห่งประเทศไทย. 12 March 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-04-14.
  15. ประวัติศาสตร์เมืองน่าน
  16. จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ (เมืองเชียงของ เมืองโปง เมืองเงิน เมืองสราว เมืองปัว เมืองน่าน เมืองหิน เมืองงั่ว)
  17. จารึกเจ้ามหาวงศ์ฯ ซ่อมพระธาตุแช่แห้ง พ.ศ. 2389