การผนวกนครเชียงใหม่ของสยาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การผนวกนครเชียงใหม่ของสยาม เป็นกระบวนการซึ่งยุติความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับนครเชียงใหม่จากรัฐประเทศราชมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตสยาม อันเป็นกระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ โดยใช้วิธีการทำนองเดียวกับจักรวรรดินิยมตะวันตก[1]: 63  กล่าวคือ ใช้กฎหมาย การส่งข้าหลวงมากำกับ การสร้างระบบราชการสยาม การวางรากฐานการศึกษาและควบคุมสถาบันสงฆ์ ส่งเสริมมิชชันนารี และการสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าเชียงใหม่[1]: 63  ในช่วงแรกเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เช่น กบฏเงี้ยว และยังมีความกระด้างกระเดื่องอยู่เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมผ่านสิ่งพิมพ์ การศึกษา และกองเสือป่า การเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าและการเสด็จประพาสมณฑลพายัพ (ลาวเฉียง)[1]: 63 

เหตุการณ์[แก้]

พระนครกรุงเทพฯ[แก้]

ภายหลังที่รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงแลกเปลี่ยนสัตยาบัน "สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอินเดียเพื่อการส่งเสริมการพาณิชย์ระหว่างพม่าของอังกฤษกับอาณาเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน" หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2416 อันเป็น "...การรับประกันว่า ประเทศราชภาคเหนือเป็นดินแดนของสยาม อันเป็นการป้องกันการยึดครองของต่างชาติไว้ได้อีกชั้นหนึ่ง..."[2][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ] แล้ว กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า

...การปกครองภายในที่ไม่สู้จะเป็นระเบียบ หรือว่าการที่เจ้านายขุนนางทางภาคเหนือเกลียดชังฝรั่ง และมักข่มเหงคนในบังคับนั้น อาจเป็นการท้าทายและอาจเป็นช่องทางที่ทำให้อังกฤษฉวยโอกาสใช้กำลังทางทหารเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างที่ทำกับพม่า และหรือว่าอย่างน้อยการทะเลาะวิวาทกันเองระหว่างเจ้านายขุนนางทางเหนือก็ย่อมจะมีผลกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และรัฐบาลในฐานะเจ้าของประเทศราชภาคเหนือ ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น...[2]

แต่แนวพระราชดำริที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวนั้น กลับตรงข้ามกับความเห็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงบันทึกไว้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ "...ยังคงยึดถือแนวทางการปกครองประเทศราชแบบดั้งเดิมคือ ไม่ต้องการที่จะให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแทรงการปกครองในภาคเหนือแต่อย่างใด ด้วยเกรงว่าเจ้านายขุนนางทางเหนืออาจจะไม่พอใจ และอาจก่อการกบฏขึ้น สมเด็จเจ้าพระยาฯถือว่า เมืองประเทศราชเป็นหัวเมือง "สวามิภักดิ์" ไม่ใช่ "เมืองขึ้นกรุง" ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงเห็นไปอีกอย่าง..." ซึ่งในครานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า "...ฉันว่าสวามิภักดิ์จริงแต่คนตระกูลนี้ แต่เมืองมิได้สวามิภักดิ์ เราตีได้แล้วตั้งให้อยู่ต่างหาก ใครพูดดังนี้เห็นจะไม่ถูก ท่านว่านั้นแลเขาพูดกันอย่างนั้น มันจึงเปรี้ยวนัก..." [2]ด้วยเหตุดังกล่าวจึงยากนักที่จะหาคนไปจัดการได้สมพระราชประสงค์ ขณะนั้นคงมีแต่พระนรินทรราชเสนี ปลัดบัญชีกรมพระกลาโหม ที่รับอาสาขึ้นไปจัดการตามพระราชดำริ ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระนรินทรราชเสนี เป็นข้าหลวงที่หนึ่ง และหลวงเสนีพิทักษ กรมมหาดไทยเป็นข้าหลวงที่สอง ไปประจำอยู่นครเชียงใหม่ มีหน้าที่ควบคุม ดูแลแนะนำให้พระเจ้าเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองเหนือ[3] รวมทั้งเป็นตุลาการศาลต่างประเทศในการพิจารณาอรรถคดีบรรดาคนในบังคับของอังกฤษฟ้องร้องคนพื้นเมืองเป็นจำเลย และคดีที่คนในบังคับของอังกฤษที่ไม่มีหนังสือสำหรับตัวตกเป็นจำเลย กับหน้าที่กำกับการให้สัมปทานป่าไม้ในเขตหัวเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน และยังโปรดเกล้าฯ ให้นายสิบและพลทหารราว 70 คนขึ้นมารับราชการพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ดี เนื้ออ่อน (2557) มองว่า การลงนามสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากรัฐบรรณาการมาเป็นราชอาณาเขต ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับจักรวรรดิบริติชเจ้าอาณานิคมขณะนั้น มองว่าล้านนาล้าหลังทำให้ต้องเข้าไปปฏิรูป[1]: 65 

การทูตกับอังกฤษ[แก้]

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่คนแรก

ในปี พ.ศ. 2426 รัฐบาลอังกฤษได้จัดทำ สนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2426 ขึ้นแทนฉบับเดิมที่หมดอายุโดยมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาฉบับเดิม คือ เกี่ยวกับเรื่องให้ความคุ้มครองคนในบังคับของทั้งสองฝ่าย เรื่องความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การป่าไม้ และส่วนที่แตกต่างคือ ว่าด้วยอำนาจของศาลต่างประเทศ และการตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่[2] แต่ก่อนที่อังกฤษจะส่งรองกงสุลขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่นั้น มีข่าวลือว่าได้มีทูตอังกฤษจากพม่าตอนใต้มาเจรจาทาบทามพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ว่า สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชประสงค์อยากจะขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมีที่ประสูติแด่แม่เจ้าเทพไกรสรราชเทวีไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อข่าวลือทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร อัญเชิญพระกุณฑลและพระธำมรงค์ประดับเพชรขึ้นไปหมั้นเจ้าหญิงดารารัศมี พร้อมกับตราพระราชบัญญัติสำหรับข้าหลวงและตระลาการสำหรับศาลเมืองลาวเฉียง โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ในการกำกับการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

นครเชียงใหม่[แก้]

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรที่เสด็จฯขึ้นมาเชียงใหม่ ได้ทรงหารือกับแม่เจ้าเทพไกรสรราชเทวี ชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ที่จะจัดระเบียบราชการงานเมืองให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ซึ่งเป็นทราบดีว่า สรรพราชการงานเมืองทั้งปวงอยู่ที่แม่เจ้าเทพไกรสรเสมือนเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่เสียเอง[4] แต่ยังไม่ทันจัดระเบียบใดๆ แม่เจ้าเทพไกรสรก็เสด็จถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2427 ซึ่งทำให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงไม่มีพระสติสมประฤๅดี เพราะหากไม่เสด็จพระราชทานน้ำอาบพระศพพระราชเทวีก็จะเสด็จพาพระราชโอรส-ธิดาเสด็จประพาสตามสวนดอกไม้ ไม่รับสั่งกับใคร เป็นเหตุให้ราชการงานเมืองติดขัด[4] ในขณะที่เจ้าราชบุตรนครเชียงใหม่ก็ไม่ทรงรู้เรื่องราชการงานเมือง ทำให้นับแต่นั้นมา กรมหมื่นพิชิตปรีชากรจึงทรงจัดระเบียบการปกครองนครเชียงใหม่ด้วยพระองค์โดยลำพัง

ผลจากการปฏิรูปของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรในสามหัวเมือง นอกจากจะมีผลให้เสนาทั้งหกได้เข้ามามีบทบาทในการบริหาราชการบ้านเมืองแทนเค้าสนามหลวง ซึ่งเป็นองค์กรปกครองตามจารีตล้านนาที่มีมาตั้งแต่รัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 แล้ว ยังส่งผลให้เค้าสนามหลวงถูกลดบทบาทลงจนในที่สุดก็ถูกยุบเลิกไปโดยปริยายในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประกอบกับการที่เจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งเคยมีบทบาทเป็นเจ้าภาษีนายอากรต้องถูกลดทอนผลประโยชน์จากส่วยและภาษีอากร รวมทั้งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในป่าไม้ก็ต้องเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับ ได้สร้างความคับข้องใจแก่เจ้านายฝ่ายเหนือในสามหัวเมืองเป็นอันมาก พระเจ้าอินทวิชยานนท์และพระประยูรญาติจึงพากันฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการที่ทางรัฐบาลกลางส่งมาเป็นผู้ช่วยเสนาหกเหล่าในการปฏิบัติราชการในด้านการเก็บภาษีอากรและด้านป่าไม้ ได้ใช้วิธีเบียดบังในรูปแบบบัญชี และคบคิดกับพวกเจ้าภาษีนายอากรทั้งหลายที่ประมูลผูกขาดการเก็บภาษีทางราชการไป ทำให้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตกไปอย่างมากมาย

มณฑลลาวเฉียง
  หัวเมืองนครเชียงใหม่
  หัวเมืองนครลำพูน
  หัวเมืองนครลำปาง
  หัวเมืองนครแพร่
  หัวเมืองนครน่าน

เมื่อพระยาเพชรพิไชย ขึ้นมาเป็นข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมืองใน พ.ศ. 2431 พระยาเพชรพิไชยได้สนับสนุนพระเจ้าอินทวิชยานนท์โดยการออกหนังสือประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยกเลิกตำแหน่งเสนาทั้งหก และยกเลิกระบบภาษีอากรแบบกรุงเทพฯ และขอให้ใช้ระบบแบบเดิม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาติตามที่เสนอมา ถึงกระนั้นพระยาเพชรพิไชย ก็ยินยอมให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ใช้พระราชอำนาจแห่งพระเจ้านครเชียงใหม่ ยกเลิกตำแหน่งเสนาทั้งหก และยกเลิกภาษีอากรต่างๆโดยพลการ และสามารถเปิดบ่อนการพนันขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากที่เลิกไปตามคำสั่งของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร[5]

กบฏพญาผาบ[แก้]

การที่พระยาเพชรพิไชยเอนเอียงไปเอาใจเจ้านายฝ่ายเหนือนั้น ทำให้ราชสำนักสยามเรียกพระยาเพชรพิไชยกลับลงมาที่กรุงเทพฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ เป็นข้าหลวงพิเศษขึ้นมาจัดการรักษาพระราชอาณาเขตเมืองนครเชียงใหม่ เพื่อทรงบังคับบัญชาการทหารและพลเรือนป้องกันมิให้พวกเงี้ยวยางแดงที่ถูกอังกฤษปราบปรามหลบหนีเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามเป็นที่มั่น

พร้อมกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพกระษัตรสมุห เป็นข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมืองแทนพระยาเพชรพิไชยในปลายปี พ.ศ. 2431 นั้นเอง ในระหว่างนั้น นายน้อยวงษ์ได้เป็นผู้ประมูลเก็บภาษีหมากโดยมีผลตอบแทนให้รัฐถึง 41,000 รูปีต่อปี ด้วยภาษีมากเช่นนี้ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียกเก็บภาษีจากเดินรายต้นมาเป็นการซื้อขายในพิกัดที่สูงแทน การเก็บภาษีเช่นนี้สร้างความเดือนร้อนให้แก่ราษฎรผู้ปลูกและซื้อขายหมากเป็นอันมากลุกฮือขึ้น จนบานปลายเป็น "กบฏพญาผาบ" ในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2432 หวังจะเข่นฆ่าข้าราชการสยามและพ่อค้าจีนในเชียงใหม่ให้หมดสิ้น แต่เมื่อถึงกำหนดตีเมืองเชียงใหม่นั้นก็มิอาจกระทำการได้ จากเกิดฝนตกหนักน้ำหลาก แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง และแม่น้ำคาวล้นฝั่ง ด้วยเหตุนี้ เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน์ และเจ้านายฝ่ายเหนือจึงสามารถออกปราบปราบและจับกุมกลุ่มชาวบ้านติดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง แต่พญาปราบสงครามสามารถพาบุตรหลานหนีไปได้ [6]

การผนวก[แก้]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนาส่วนใหญ่มองว่าภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกเป็นสาเหตุที่ทำให้สยามเร่งผนวกล้านนา และหมุดหมายที่บอกว่าการผนวกดินแดนนั้นสำเร็จ ได้แก่ การตั้งมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2442 และการปราบกบฏเงี้ยวใน พ.ศ. 2445[1]: 65 

เสนาหก[แก้]

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทรงเริ่มปฏิรูปเชียงใหม่ โดยการแบ่งขอบข่ายของงานข้าหลวงประจำเชียงใหม่ โดยให้พระยาราชสัมภารากร ข้าหลวงตุลาการเดิมเข้ารับหน้าที่เป็นตุลาการใหญ่ศาลต่างประเทศ รับผิดชอบการพิจารณาและพิพากษาความอย่างเดียว และให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นข้าหลวงใหญ่บัญคับงานทั่วไป และยังเป็นผู้ดูแลการต่างประเทศในภาคเหนือโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ติดต่อกับรองกงสุลฯแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน ข้าหลวงก็ยังคงมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองด้วย[7] และทรงมีกฎในการออกหนังสือเดินทางให้กับคนในบังคับสยามที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และยังติดตามคนต่างประเทศที่เข้าในในพระราชณาณาเขตสยาม รวมถึงดูแลการเก็บภาษีอากรต่างๆ

นอกจากนั้น กรมหมื่นพิชิตปรีชากรยังทรงจัดระเบียบราชการในฝ่ายพื้นเมืองขึ้นใหม่ ตามพระหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า

...เพื่อที่จะรักษาตามหนังสือสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยนั้น...เปนการจำเปนแท้ที่จะต้องจัดพื้นเมืองเสียก่อน...ด้วยการบ้านเมืองฃ้างเหนือนี้ เปนเอปสลุดแท้อย่างเมืองแขก การดี การชั่ว อยู่กับคนๆเดียว ถ้าเจ้าเปนคนดีก็ดี เจ้าไม่ดีการเมืองก็ตกอยู่ในมือคนที่มิได้รับผิด รับชอบในราชการที่เป็นที่รักของเจ้า ถ้าการและผลประโยชน์บ้านเมืองจะมีบ้าง ผู้นั้นก็กันเอาเสีย ถ้าการเสียก็ตกแก่เจ้าซึ่งเปนใหญ่เกินที่จะเอาโทษได้...ด้วยพวกคนโปรดถือและรู้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่กล้าทำโทษเจ้าก็ได้ ยุยงให้ทำการผิดๆ...เพราะฉนี้ฃ้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ไม่มีการอย่างอื่นซึ่งจะแก้การอย่างนี้ได้ง่ายกว่าการที่จะเอาคนเหล่านี้มารับผิด ในการที่เฃายุยงให้เจ้าทำผิดนั้นเสียให้ได้ จึ่งได้คิดจะจัดเจ้าหน้าที่ ๖ ตำแหน่งแบ่งพนักงานกันทำ...[8]

เจ้าหน้าที่ 6 ตำแหน่งที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2427 นั้นเรียกว่า "เสนาหก" หรือ "เสนาหกตำแหน่ง" มีหน้าที่บังคับบัญชาส่วนราชการต่างๆรวม 6 กรม ประกอบด้วย

  • กรมมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลความสงบ ทำบัญชีสำมโนครัว ซ่อมแซมดูแลสาธารณสมบัติ
  • กรมทหาร มีหน้าที่จัดการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต จัดกำลังพลยามศึกสงคราม
  • กรมคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีและดูแลรักษาเงินคงคลังในมณฑลฯ
  • กรมยุติธรรม มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย ตรวจรักษาความยุติธรรมในการว่าคดีความ ดูแลว่าการความการต่างประเทศ
  • กรมวัง มีหน้าที่ดูแลรักษากิจการต่างๆ ในคุ้มเจ้าหลวง ตัดสินความผิดเกี่ยวกับเจ้านาย ดูแลงานพระราชพิธีต่างๆ
  • กรมนา มีหน้าที่รักษาป่าไม้ ไร่นา ออกใบอนุญาตในที่ดินและออกใบอนุญาตเก็บของป่า

การที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทรงกำหนดให้ตำแหน่งพระยาว่าการกรมหรือที่เรียกกันว่า "เสนา" ทั้งหกตำแหน่ง รวมทั้งเสนาผู้ช่วยที่เรียกว่า "พระยาลองลาว" เป็นตำแหน่งที่สงวนไว้เฉพาะเจ้านายบุตรหลานและขุนนางพื้นเมืองที่เจ้าหลวงเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อต้องการกระจายอำนาจของเจ้าหลวง ซึ่งแต่เดิมมีอยู่มากไปสู่เจ้านายบุตรหลาน และโดยเฉพาะที่จะแต่งตั้งเจ้านายจากส่วนกลางเข้าทำงานประกบกับเจ้านายบุตรหลาน รวมทั้งกำหนดไว้ว่า หากกรุงเทพฯขาดแคลนข้าราชการจนไม่สามารถส่งมาประจำได้แล้ว ให้ตำแหน่งนั้นว่างไว้โดยที่ห้ามมิให้ตนพื้นเมืองดำรงตำแหน่ง

ป่าไม้และภาษีอากร[แก้]

ในส่วนของป่าไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดสนธิสัญญาเชียงใหม่ทั้งสองฉบับนั้น ในเบื้องต้น กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ได้ทรงจัดการแก้ปัญหาอันเกิดจากการที่เจ้านายผู้เป็นเจ้าของป่าไม้ได้ให้สัมปทานป่าไม้ซ้ำซ้อน และจากการที่ผู้รับสัมปทานป่าไม้ลักลอบตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นข้อพิพาทระหว่างเจ้านายและคนในบังคับอังกฤษมาหลายปี โดยทรงประกาศให้เจ้าของป่าไม้ต้องมาขึ้นบัญชีกับเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าป่าไม้ที่ไม่ได้แจ้งบัญชีไว้เป็นของหลวง และถ้าผู้ใดตัดป่าไม้ที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีนี้ก็จะถือว่าเป็นการลักตัดไม้หลวง จากประกาศดังกล่าวทำให้มีผู้มายื่นขึ้นบัญชีเป็นจำนวนมาก [9] และเมื่อมีการจัดทำบัญชีป่าไม้พร้อมแผนที่ตั้งป่าไม้ทั้งหมดแล้ว โปรดฯให้จัดตั้งทำบัญชีผู้รับสัมปทานป่าไม้ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่ จำนวนไม้ที่จะตัดฟัน รวมทั้งระยะเวลาที่เช่าทำป่าไม้ จากการจัดระเบียบป่าไม้นี้ นอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆได้หมดสิ้นแล้ว ยังช่วยให้สามารถเรียกเก็บเงินค่าตอไม้ซึ่งเป็นภาษีที่เรียกจากการตัดฟันไม้สักรายต้นได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของเงินภาษีอากรเกี่ยวกับป่าไม้ที่เรียกเก็บได้ในเขตแขวงนครเชียงใหม่นั้น กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงกำหนดให้แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ 1. ส่วนสำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2. ส่วนสำหรับส่งไปยังส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และ 3. ส่วนสำหรับเจ้าผู้ครองนครและพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ

เจ้าพระยาพลเทพ เป็นขุนนางกรุงเทพที่ใกล้ชิดกับเจ้านายฝ่ายเหนือ

เมื่อการปราบปราม กบฏพญาผาบเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้มีศุภอักษร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอยกเลิกวิธีการเก็บภาษีตามแบบของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร โดยขอให้เปลี่ยนไปเก็บเป็นเงินรายครัวเรือนของราษฏรเสมอกันทุกครัวเรือนแทน แต่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงพิเศษฯ ทรงพระดำริว่า หากจะเก็บภาษีอากรเช่นนั้น ราษฎรที่ยากจนก็ต้องจ่ายภาษีเท่ากับราษฎรที่ร่ำรวย จะสร้างความลำบาก แต่ก่อนที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ทรงตั้งกระทู้ถามไปยังเจ้าบุรีรัตน์นครเชียงใหม่เกี่ยวกันการยกเลิกภาษีอากร 12 ข้อ เจ้าบุรีรัตน์ก็ให้ถ้อยคำที่ไม่เป็นที่เข้าใจได้ จึงทรงระงับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ สมุหพระกลาโหม ซึ่งเคยรับราชการที่เชียงใหม่ครั้นเป็นพระนรินทราชเสนีที่มีความคุ้นเคยกับเจ้านายฝ่ายเหนือ[10] กลับขึ้นไปรับราชการที่นครเชียงใหม่ ซึ่งสร้างความพอใจให้เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอันมาก เจ้านายฝ่ายเหนือเหล่านั้นได้ระบายความอึดอัดใจในเรื่องต่างๆ[10] จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครเชียงใหม่ในทางที่ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น โปรดให้เลิกตำแหน่งเสนาทั้ง 6 ในพ.ศ. 2435 รวมทั้งเลิกระบบการผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร

จัดตั้งกรมป่าไม้[แก้]

หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมณฑลพายัพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ตั้งกรมป่าไม้ขึ้นที่เมืองนครเชียงใหม่ โดยทรงขอรัฐบาลอังกฤษให้นายสะเล็ด (Mr. Slade) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้จากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย มาดูแลเรื่องป่าไม้ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมป่าไม้ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 โดยนายสะเล็ดเป็นเจ้ากรมฯ[11]

แม้กรมป่าไม้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็ตามเพื่อพิทักษ์รักษาป่าไม้ไม่ให้หมดสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตามป่าไม้ในเชียงใหม่ทั้งหมด พระเจ้านครเชียงใหม่ยังทรงเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงทรงพระบรมราชานุญาติให้พระเจ้าเชียงใหม่มีสิทธิ์ให้เช่าทำป่าไม้ ได้รับเงินค่าอนุญาตมากน้อยตามแต่ประเภทของป่าไม้ที่ใหญ่เล็กและจำนวนไม้ที่มี กับได้รับเงินค่าตอไม้ที่ตัดเอาออกจากป่า ต้นละ 4 รูปี ส่วนป่าของเจ้านายฝ่ายเหนือองค์อื่น ก็มีสิทธิ์เฉกเช่นเดียวกัน[12] อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ของเจ้านายฝ่ายเหนือจากกฎใหม่นี้ก็ยังเทียบไม่ได้กับก่อนจัดตั้งกรมป่าไม้ที่มีรายได้มหาศาล

สมัยข้าหลวงใหญ่ พระยาทรงสุรเดช[แก้]

ในสมัยที่ พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียงในปี พ.ศ. 2436 ได้ขยายเขตการปฏิรูปออกไปจากเดิมถึงนครแพร่และนครน่านด้วย สำหรับนครเชียงใหม่ พระยาทรงสุรเดชจัดการหลายด้านซึ่งสามารถรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลางอีกขั้นหนึ่ง ด้านการปกครองในระดับมณฑล พระยาทรงสุรเดชริเริ่มจัดตั้งกองมณฑลลาวเฉียงซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก กองมณฑลมีพระยาทรงสุรเดชข้าหลวงใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และมีข้าหลวงรองในตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง ข้าหลวงป่าไม้ และมี ข้าราชการระดับเสมียนพนักงานประจำอยู่ในกองมณฑล

ส่วนการปกครองในนครเชียงใหม่ ตำแหน่งเสนา 6 หลังจากที่ถูกพระเจ้าเชียงใหม่ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2435 การตั้งเสนา 6 ตำแหน่งขึ้นมาใหม่ พระยาทรงสุรเดชใช้วิธีการที่เรียกว่า "อุบายเกี้ยวลาว" ซึ่งทำให้การเกลี้ยกล่อมพระเจ้าเชียงใหม่เป็นผู้แต่งตั้งข้าราชการในกองมณฑลเป็นพระยาผู้ช่วย 6 คนประสบความสำเร็จ

พระยาทรงสุรเดชดึงตัวข้าราชการที่ทำการในกองมณฑลมาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้ช่วยเสนาคลังและ ผู้ช่วยเสนานา ทั้งยังดึงเอาตำแหน่งสำคัญทั้งสองมารวมไว้ที่ว่าการมณฑลลาวเฉียง การกระทำดังกล่าวก็เท่ากับที่ว่าการมณฑลแย่งตำแหน่งและงานต่างๆ ที่ระดับฝ่ายราชสำนักเชียงใหม่เคยทำ ซึ่งเจ้านายบุตรหลานเริ่มไม่พอใจเพราะเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว และเกรงว่ารัฐบาลจะยกตำแหน่งต่างๆ ไปไว้ ณ ที่ว่าการมณฑลเสียหมดจนกระทั่งตนไม่มีอำนาจหน้าที่จะทำกิจการใดๆ

ในด้านการคลัง พระยาทรงสุรเดชรวบอำนาจไว้ไม่ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านาย บุตรหลานใช้จ่ายอย่างอิสระ โดยกำหนดการจัดการผลประโยชน์ตอบแทนแก่เจ้าผู้ครองและพระญาติวงศ์เป็นเงินปีที่แน่นอน อาทิ พระเจ้านครเชียงใหม่ ทรงได้รับเงินปีละ 80,000 รูปี, เจ้านครลำปางปีละ 30,000 รูปี และเจ้านครลำพูนปีละ 5,000 รูปี ซึ่งในขณะที่ดำเนินการอยู่นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัย ในขณะที่ตำแหน่งเจ้านครยังว่างนี้ พระยาทรงสุรเดชจึงตัดเงินผลประโยชน์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เหลือปีละ 30,000 รูปี พร้อมทั้งลดเงินเดือนเจ้านายบุตรหลานที่รับ ราชการ และจัดการโยกย้ายถอดถอนบางตำแหน่งแล้วให้ข้าราชการกรุงเทพฯเป็นแทนพร้อมกับเพิ่มเงินเดือนให้

การจัดการของพระยาทรงสุรเดช รวมถึงปัญหาที่เจ้านายฝ่ายเหนือไม่พอใจจากการปฏิรูปด้านป่าไม้ที่มาแต่เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งถูกลิดรอนอำนาจอีก ทำให้สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดแบ่งเขตแดนกันในนครเชียงใหม่[12] ฝ่ายข้าหลวงกรุงเทพฯอยู่ริมแม่น้ำปิง (ที่ทำการเทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ส่วนฝ่ายเจ้านายฝ่ายเหนืออยู่ในเขตกำแพงเมือง[12] สถานการณ์ตึงเครียด จนพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงเรียกทรงแก้ไขโดยเรียกตัวพระยาทรงสุรเดชกลับกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ซึ่งไม่เข้มงวดเช่นพระยาทรงสุรเดช ขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแทน

ลัทธิอาณานิคมและชาตินิยม[แก้]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ส่วนใหญ่มองว่าล้านนาได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างสมบูรณ์หลังการตั้งมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2442 และหลังปราบกบฏเงี้ยวใน พ.ศ. 2445 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเห็นได้ว่าเป็นการปรับโครงสร้างการปกครองให้เข้ากับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้สร้างจิตสำนึกความเป็นชาติ จึงเป็นนโยบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา[1]: 66 

ในรายงานของกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถที่เสด็จไปตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2461 ทรงบันทึกว่า "ในส่วนทางราชการนั้นห้ามมิให้มีการใช้คำว่า ลาว ให้เรียกไทยเพราะต้องการจูงใจให้คนพายัพรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เลิกเป็นประเทศราชเท่ากับโคโลนีของฝรั่งนั้นเสีย" ซึ่งเนื้ออ่อน (2557) เห็นว่า การผนวกดินแดนนี้ดูไม่ผิดจากลัทธิอาณานิคมของตะวันตกเลย แต่กลับมองว่าเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ[1]: 66–7 

ข้อที่ว่าการสร้างชาตินิยมเป็นนโยบายนั้น สังเกตได้จากรายงานตรวจราชการใน พ.ศ. 2456 ที่สรุปงานด้านการศึกษาไว้ตอนหนึ่งว่า "ที่บกพร่องเป็นข้อสำคัญนั้นคือการขาดการสอนให้เป็นไทยได้จริง ๆ คือยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าอันสูงสุด และควรปฏิบัติอย่างไรต่อท่าน" แสดงให้เห็นว่าคนมณฑลพายัพยังไม่แน่ใจในเรื่องการเคารพพระมหากษัตริย์สยามเป็นเจ้าสูงสุด[1]: 67  นอกจากนี้ยังมีความพยายามเปลี่ยนล้านนาให้เป็นไทย และการขจัดภาพจำ "ลาว" จากสำนึกของชาวสยาม[1]: 67 

ดูเพิ่ม[แก้]

ทั่วไป

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ขรัวทองเขียว, เนื้ออ่อน (มกราคม - มิถุนายน 2557). "รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417 – 2476". ศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). 6 (11). สืบค้นเมื่อ 28 August 2020. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 วิมลวรรณ ปีตธวัชชัย. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
  3. เจ้าหลวง, หน้า ๑๓๔
  4. 4.0 4.1 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๘๘. รายงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เรื่องจัดราชการเชียงใหม่
  5. ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า ๓๗๗
  6. เจ้าหลวง. หน้า ๑๓๗
  7. ลายพระหัตถ์ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร. อ้างแล้ว.
  8. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๘๘ รายงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เรื่องจัดราชการเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง (พฤษภาคม ร.ศ. ๑๐๓)
  9. สวัสวดี อ่องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า ๓๗๖
  10. 10.0 10.1 เพ็ชรล้านนา (๑). หน้า ๒๐๘
  11. พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์). ประวัติ. หน้า ๔-๕
  12. 12.0 12.1 12.2 มหาอำมาตย์ตรี พระยาประกิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์). หน้า ๘-๑๐.