ข้ามไปเนื้อหา

หมู่พระมหาปราสาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมหาปราสาท
หมู่พระมหาปราสาท
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง
เมืองเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2325
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง
เลขอ้างอิง0005574

หมู่พระมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง โดยก่อสร้างลักษณะสถาปัตยกรรมไทยแท้ มีทั้งองค์พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร พระปรัศว์ เรือนจันทร์ครบถ้วน ฝีมือก่อสร้างประณีตวิจิตรงดงาม เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ หมู่พระมหาปราสาทนี้ มีประวัติศาสตร์ที่แสดงขนบธรรมเนียมประเพณี เกี่ยวกับองค์สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้ายาวนาน

ประวัติ

[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2325 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทซึ่งเป็นพระมหาปราสาทองค์แรกภายในพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายแบบจากพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทภายในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยามาใช้เป็นต้นแบบ โดยเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2326 และพิธียกยอดพระมหาปราสาทเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2327 พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ใช้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ซึ่งจัดขึ้นอีกครั้งตามโบราณขัตติยราชประเพณี อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งองค์นี้เกิดเพลิงไหม้จนต้องรื้อลงเมื่อ พ.ศ. 2332 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทขึ้นใหม่ที่แตกต่างจากพระที่นั่งองค์เดิม โดยสร้างขึ้นเป็นพระที่นั่ง 2 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นท้องพระโรง และพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ประทับ

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทขึ้นบริเวณกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออกเพื่อใช้เป็นพลับพลาสำหรับรับส่งเสด็จฯ ขึ้นประทับบนพระราชยาน และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งราชกรัณยสภาขึ้นอีกองค์บริเวณทิศตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ปัจจุบัน หมู่พระมหาปราสาทใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ อาทิ พระราชพิธีฉัตรมงคล รวมทั้ง เป็นสถานที่สำหรับสรงน้ำพระบรมศพและประดิษฐานพระโกศ และพระหีบพระบรมศพของพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์

สิ่งก่อสร้างในหมู่พระมหาปราสาท

[แก้]
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

[แก้]

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทซึ่งถูกเพลิงไหม้ไป พระที่นั่งองค์ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและพระราชกุศลหลายครั้ง อาทิ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้น ณ พระที่นั่งแห่งนี้ รวมถึง ใช้เป็นสถานที่ตั้งพระโกศ และพระหีบพระบรมศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์

พระที่นั่งพิมานรัตยา

[แก้]

พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพร้อมกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อใช้เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ในโอกาสที่เสด็จมาประทับยังหมู่พระมหาปราสาท พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยมุขกระสัน ปัจจุบัน ใช้เป็นที่สถานที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท

[แก้]

พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงทรงปราสาทจตุรมุขประกอบเครื่องยอดบุษบกมีเชิงเทินเกยเทียบพระยานคานหามใช้สำหรับรับส่งเสด็จฯ ขึ้นประทับบนพระราชยาน[1]

พระที่นั่งราชกรัณยสภา

พระที่นั่งราชกรัณยสภา

[แก้]

พระที่นั่งราชกรัณยสภา สร้างขึ้นบนกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้ นอกจากนี้ พระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดินอีกหลายวาระ เช่น ใช้เป็นที่ประชุมของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะที่ยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะและใช้เป็นที่ประชุมองคมนตรีโดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นองค์ประธาน ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลาผนวช[1] ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย2ชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในตกแต่งแบบยุโรป

เรือนจันทร์

[แก้]

เรือนจันทร์ สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นโถง ที่มีมาแต่แรกสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามแบบแผนของการสร้างพระมหามณเฑียร และคงได้รับการบูรณะต่อมา กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นห้องเสวยเมื่อเสด็จฯ มาประทับ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมและได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก บกพื้นสูงระดับเดียวกับพระที่นั่งพิมานรัตยา มีชาลาเชื่อมกับองค์พระที่นั่ง ตัวอาคารทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เป็นห้องโถงสองระดับ คือระดับในยกพื้นที่ขึ้นสองชั้น ส่วนระดับนอกเป็นเฉลียงรายรอบ กั้นด้วยหน้าต่างบานเฟี้ยมไม้ทาสี เปิดถึงพื้นโดยมีบานเฟี้ยมใหญ่ 2 บานตรงกลาง ด้านตะวันตกของเฉลียงกั้นเป็นห้องเล็ก ๆ หลังคามีมุขลดสองชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทอง หน้าบันเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

[แก้]
ศาลาเปลื้องเครื่อง

นอกจากนี้ยังมีอาคารประกอบอื่น ๆ อีก ได้แก่

นอกจากอาคารภายในกำแพงแก้วแล้ว ก็ยังมีอาคารต่าง ๆ ภายนอกกำแพงแก้ว เช่น

  • ศาลาว่าการพระราชวัง
  • ศาลารัฐมนตรีสภา
  • ศาลาอรรถวิจารณ์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ศาลาอรรถวิจารณ์เป็นที่ตั้งของร้านอาหารในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์เสวยพระกระยาหาร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ , สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 2 : พระบรมมหาราชวัง[ลิงก์เสีย], เข้าถึงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

บรรณานุกรม

[แก้]
  • วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 874-341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5