วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร | |
---|---|
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร | |
ชื่อสามัญ | วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร |
ที่ตั้ง | เชียงใหม่-ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | หลวงพ่อเพชร (จำลองจากวัดท่าหลวง) |
เจ้าอาวาส | พระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปโชโต) |
ความพิเศษ | ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธาตุประจำปีเกิดของปีชวด |
กิจกรรม | งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทองวันที่15 |
หมายเหตุ | เว็บไซด์วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
ตำนานและประวัติ
[แก้]ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ
[แก้]ดอยจอมทอง มีสัณฐานเป็นภูเขาดินสูงจากระดับพื้นที่ราบอื่นยอดดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” เจ้าผู้ครองเมืองนั้นชื่อว่า พระยาอังครัฏฐะ พระยาอังครัฏฐะ ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้“ เวลานี้ประทับอยู่เมืองราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย จึงอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้วจึงเสด็จมาสู่เมืองอังครัฏฐะ ทรงแสดงธรรมและทรงพยากรณ์ ไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานแล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวาของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทอง แห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ ส่วนพระยาอังครัฏฐะทรงสดับพระดำรัสที่ตรัสพยากรณ์นั้นแล้ว ได้ทรงรับสั่งให้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทองด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ กาลล่วงมาถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย พระองค์ได้เสด็จสู่ดอยจอมทอง ได้ขุดคูหูเปิดอุโมงคใต้พื้นดอยจอมทองแล้วทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปไว้ภายในคหูนนี้ ทรงอัญเชิญพระบรมธาตุที่อยู่ในสถูปที่พระยาอังครัฏฐะรับสั่งให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปประดิษฐานในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำาคูหาไว้ ทรงอธิษฐานไว้ว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ฝูงชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา”
สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด
[แก้]- พ.ศ. 1995 พ่อสร้อย แม่เม็ง สองสามีภรรยา บ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทอง จึงได้เริ่ม สร้างเป็นวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้นแล้วให้ชื่อว่า วัดศรีจอมทอง การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี พ่อสร้อย แม่เม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาเมื่อ
- พ.ศ. 2009 มีชาย 2 คน ชื่อสิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจอมทองและก่อสร้างวิหารมุงหญ้าคาขึ้นหนึ่งหลังจนเสร็จ แล้วได้อาราธนาพระสารีปุตตเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
ค้นพบพระบรมธาตุ
[แก้]- พ.ศ. 2042 ในสมัยที่พระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาส มีตาปะขาวคนหนึ่งเกิดนิมิตฝันว่าเทวดามาบอกว่าที่ใต้พื้นวิหารบนยอดดอย ที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าและพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันให้เจ้าอาวาสฟัง ท่านจึงได้ทำการอธิษฐานว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้นขอให้พระบรมธาตุจงเสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิษฐานแล้วในวันรุ่งขึ้น ได้พบพระบรมธาตุอยู่ในช่องใจกลางพระเกศโมลีของพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่ภายในวิหารนั้นจึงได้เก็บรักษากันไว้ โดยเงียบๆ สืบมา
- พ.ศ. 2058 สมัยที่พระมหาสีลปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้มีพระมหาพุทธญาโณเถระ ได้นำตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ มาจากเมืองพุกามจึงได้สั่งให้พระอานันทะ ผู้เป็นศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง จึงได้ทำการสักการบูชาอธิษฐานอยู่ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญเมื่อได้เห็นอาการดังนั้น จึงได้นำเอาพระบรมธาตุที่ได้เก็บรักษากันต่อๆกันออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปแจ้งแก่พระมหาพุทธญาโณ ผู้เป็นอาจารย์ ฝ่ายพระมหาพุทธญาโณ เมื่อได้ทราบดังนั้น จึงได้นำความไปทูลพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ
- พ.ศ. 2060 พระเมืองแก้ว จึงอาราธนาให้พระมหาพุทธญาโณ เป็นหัวหน้าไปสร้างวิหารจตุรมุข และก่อปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าประดิษฐานไว้ภายในปราสาทนั้น พระบรมธาตุจึงได้รับการเก็บรักษาไว้โดยวิธีนี้ ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงกาลปัจจุบันนี้
ลำดับเจ้าอาวาส วัดพระธาตุศรีจอมทอง (เท่าที่มีบันทึก)
[แก้]- พระสารีปุตตเถระ พ.ศ. 2009-2013
- พระเทพกุลเถระ พ.ศ. 2013-2018
- พระธมฺมปญฺโญเถระ พ.ศ. 2018-2046
- พระอานนฺโท พ.ศ. 2046-2047
- พระเหมปญฺโญ พ.ศ. 2047-2049
- พระญาณมงคละ พ.ศ. 2049-2050
- พระพุทธเตชะ พ.ศ. 2050-2052
- พระอรญฺญวาสี พ.ศ. 2052-2054
- พระธมฺมรกฺขิต พ.ศ. 2054-2055
- พระเอยฺยอปฺปกะ พ.ศ. 2055-2056
- พระมหาสีลปญฺโญ พ.ศ. 2056-2071
- พระมหาสงฺฆราชสทฺธมฺมทสฺสี พ.ศ. 2071-2087
- พระมหาสงฺฆราชาญาณมงฺคละ พ.ศ. 2087-2099
- พระมหาสงฺฆราชชวนปญฺโญโสภิตขิตินทริยวงฺโส พ.ศ. 2099-2109
- พระมหาสามิคณาจิตฺต พ.ศ. 2109
- ครูบาพุทธิมาวงฺโส พ.ศ. 2314
- ครูบามหาวัน พ.ศ. 2409-2462
- พระครูพุทธศาสน์สุประดิษฐ์ (อินถา ทาริโย) พ.ศ. 2462-2483
- พระครูสุวิทยธรรม (สม สุมิตโต) พ.ศ. 2483-2533
- พระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) พ.ศ. 2534-2562
- พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ) (รักษาการ) พ.ศ. 2562-2563
- พระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปโชโต) พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน [1]
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอมรเวที (อ๊อด ชยาภินนฺโท ป.ธ.๘)
- พระศรีศิลปาจารย์ (ประมวล ปญฺญาวโร)
- พระครูโสภณสุวรรณาทร วิ. (เพชร วชิรญาโณ)
- พระครูอาทรสมาธิวัตร วิ. (สันติ ถาวโร อภิธรรมบัณฑิต)
- พระครูพิจิตรสรการ (ประเสริฐ สิริปุญโญ ป.ธ. ๔)
- พระครูปลัดสุวัฒนมงคลสิทธิคุณ (ยุวรัตน์ ยสิสฺสโร ป.ธ.๗)
- พระครูวิบูลสุวรรณวัฒน์ (อิศรา อภิวฑฺฒโน อภิธรรมบัณฑิต)
- พระมหาธนวัฒน์ ธนวฑฺฒโน เปรียญธรรม ๙ ประโยค
- พระมหาคัมภีร์ ภูริวฑฺฒโน เปรียญธรรม ๙ ประโยค
- พระมหามงคล สนฺตจิตฺโต เปรียญธรรม ๖ ประโยค
- พระมหาพฤฒิ ปภสฺสโร เปรียญธรรม ๗ ประโยค
- พระมหาธวัชชัย ธรรมกุสกโล เปรียญธรรม ๓ ประโยค
- พระครูสังฆรักษ์สมศักดิ์ ฐานวโร
- พระครูภาวนาพุทธิวิเทศ (ชเนศร์ ชุตินฺธโร)
ความสำคัญ
[แก้]พระธาตุศรีจอมทอง เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
- พ.ศ. 1994 สร้างบนดอยจอมทอง ชื่อว่า วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ทางทิศตะวันตกมีทิวเขาอินทนนท์ และลำน้ำแม่กลาง
- พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
- พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร
- พ.ศ. 2524 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
- พ.ศ. 2538 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
[แก้]วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [2]
สำนักวิปัสสนากรรมฐาน
[แก้]สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 1 มีพระธรรมมังคลาจารย์ (ทอง สิริมงฺคโล) (ในขณะนั้น) หัวน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือ กองการวิปัสสนาธุระ เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ให้การสอน การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนผู้ที่สนใจ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ และมีการจัดให้สอบอารมณ์ ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ)
การเดินทาง
[แก้]การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ถึง จ.นครสวรรค์ เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่าน จ.ตาก ถึง อ.เถิน จ.ลำปาง แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ไปทาง จ.ลำพูน ก่อนถึง อ.บ้านโฮ่ง จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1010 ไป อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามทาง วัดอยู่ฝั่งซ้าย สำหรับรถโดยสาร มีรถโดยสารเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต)-จอมทอง
ในส่วนของการเดินทางโดยเครื่องบิน สายการบินไทย สายการบินไทยสไมล์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลออนแอร์ มีเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ออกทุกวัน
สำนักวิปัสสนาสาขาในต่างประเทศ
[แก้]- สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพระธาตุศรีจอมทอง เยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพุทธปิยวราราม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- สำนักวิปัสสนากรรมฐาน ธัมมจารี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
อ้างอิง
[แก้]http://www.watchomtong.org/ เก็บถาวร 2014-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "มหาเถรสมาคม The Sangha Supreme Council of Thailand". www.mahathera.onab.go.th. ครั้งที่ 04/2565, มติที่ 137/2565 "เรื่อง พระราชดำริโปรดแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง"
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ