ข้ามไปเนื้อหา

ทหารม้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทหารม้าโปแลนด์ (Polish cavalry) ในปี 1938
ทหารม้าบนรถถัง

ทหารม้า (อังกฤษ: Cavalry, จากคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคำว่า cavalerie สืบทอดจากตัวของมันเองจากคำว่า "cheval" หมายถึง "ม้า") เป็นทหารหรือนักรบที่ต่อสู้รบด้วยการขี่บนหลังม้า ในเมื่อครั้งอดีต ทหารม้าเป็นหน่วยกองกำลังรบที่เคลื่อนที่ได้เร็วมากที่สุด ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารม้าเบาในบทบาทของการลาดตระเวน การคุ้มกัน(Screening) และการรบปะทะที่เล็กน้อย(harassing) ในหลายกองทัพ หรือจะเป็นทหารม้าหนักสำหรับการโจมตีที่เด็ดขาดในกองทัพอื่นๆ ทหารแต่ละคนในกองทหารม้าเป็นที่รู้จักกันโดยชื่อที่ถูกตั้งให้เป็นจำนวนมากซึ่งขึ้นอยู่กับยุคสมัยและกลยุทธ์ เช่น พลทหารม้า นักขี่ม้า ทรูปเปอร์ คาตาฟรัค ฮุสซาร์ แลนเซอร์ หรือดรากูน การกำหนดชื่อของทหารม้าโดยทั่วไปแล้วจะไม่ได้กำหนดให้กับกองกำลังทหารที่ใช้สัตว์อื่นมาเป็นพาหนะ เช่น อูฐ หรือช้าง ทหาราบผู้ที่ซึ่งเคลื่อนไหวบนหลังม้า แต่เมื่อลงจากหลังม้าเพื่อเข้าต่อสู้รบบนทางเท้า เป็นที่รู้จักกันในศตวรรษที่ 17 และช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 คือ ดรากูน ซึ่งเป็นกลุ่มทหารราบที่ขี่บนหลังม้าซึ่งกองทัพส่วนใหญ่ในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นทหารม้าแบบมาตรฐาน ในขณะที่ยังคงรักษาชื่อที่ถูกกำหนดไว้ในประวัติศาสตร์

ทหารม้านั้นมีข้อได้เปรียบในเรื่องความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น และทหารที่ต่อสู้รบจากหลังม้าก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความสูงและความเร็วที่ดีกว่า และมวลเฉื่อยที่มีมากกว่าคู่ต่อสู้บนทางเท้า องค์ประกอบอีกประการหนึ่งของการทำสงครามบนหลังม้าคือ ผลกระทบทางจิตใจของทหารที่ขี่บนหลังม้าสามารถทำลายล้างคู่ต่อสู้ได้

ด้วยความเร็ว ความคล่องแคล่ว และค่าที่ทำให้เกิดความสะดุ้งหวาดกลัวของทหารม้าได้รับความชื่นชมและใช้ประโยชน์อย่างมากในกองทัพในยุคโบราณและยุคกลาง กองกำลังบางส่วนส่วนใหญ่เป็นทหารม้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนเผ่าเร่ร่อนของเอเชีย ที่เด่นที่สุดคือ ชาวฮันของอัตติลาและต่อมาเป็นกองทัพมองโกล ในทวีปยุโรป ทหารม้าได้รับการติดตั้งด้วยการหุ้มเกราะที่มากขึ้น(หนัก) และท้ายที่สุดก็พัฒนาเป็นอัศวินที่ขี่บนหลังม้าในยุคกลาง  ในช่วงศตวรรษที่ 17 ทหารม้าในทวีปยุโรปได้สูญเสียเกราะส่วนใหญ่ไป ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมากนักเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ที่นำเข้ามาใช้งาน และในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ชุดเกราะส่วนใหญ่ต่างได้ยกเลิกใช้ไปหมดแล้ว แม้ว่าบางหน่วยทหารจะยังคงมีการใช้เสื้อเกราะขนาดเล็กที่มีความหนามากขึ้นที่สามารถใช้ในการป้องกันหอกและดาบและบางครั้งก็ป้องกันกระสุนได้ด้วย

ในช่วงสมัยระหว่างของสงครามโลก ทหารม้าหลายหน่วยต่างได้ถูกเปลี่ยนเป็นหน่วยทหารราบยานยนต์และหน่วยทหารราบยานเกราะ หรือเปลี่ยนมาเป็นพลขับรถถัง อย่างไรก็ตาม ทหารม้าบางส่วนยังคงทำหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เด่นมากที่สุดคือ กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียต กองทัพประชาชนมองโกเลีย กองทัพบกราชอาณาจักรอิตาลี กองทัพโรมาเนีย กองทัพบกโปแลนด์ และหน่วยทหารลาดตระเวนเบาภายในหน่วยวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส หน่วยทหารม้าส่วนใหญ่ที่ขี่บนหลังม้าในกองทัพสมัยใหม่นั้นได้ทำหน้าที่ในพิธีทางการอย่างสง่าผ่าเผย หรือทหารราบที่ขี่ม้าในภูมิประเทศที่มีความยากลำบาก เช่น ภูเขา หรือพื้นที่ป่าทึบ การใช้คำศัพท์สมัยใหม่โดยทั่วไปหมายถึงหน่วยทหารที่ทำหน้าที่บทบาทของการลาดตระเวน การเฝ้าระวัง และการได้มาซึ่งเป้าหมาย (reconnaissance, surveillance, and target acquisition, RSTA)

คุณลักษณะของทหารม้า

[แก้]

ทหารม้าต้องประกอบด้วยคุณลักษณะที่จำเป็นและสำคัญของเหล่าคือ

  1. ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ (Mobility) พาหนะที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น ม้า, ยานยนต์, ยานเกราะ หรืออากาศยาน
  2. อำนาจการยิงรุนแรง (Fire power) ได้แก่ อาวุธประจำกายและอาวุธประจำยานพาหนะ หรือประหน่วยซึ่งมีหลายชนิด และหลายขนาดสามารถทำการยิงได้ตั้งแต่ระยะใกล้จนถึงระยะไกล
  3. อำนาจการทำลายและข่มขวัญ (Shock action) เป็นผลที่ได้มาจากการปฏิบัติการอย่างรุนแรง ด้วยอาวุธที่มีอำนาจการทำลายสูง เช่น ปืนใหญ่และปืนกลประจำรถประกอบกับรูปร่าง ขนาด เสียงที่เกิดจากเครื่องยนต์ สายพาน และของอาวุธรวมทั้งมีเกราะกำบังที่ยากแก่การทำลายและความรวดเร็วในการเคลื่อนที่สูง สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเกิดผลในทางทำลายแล้ว ยังได้ผลในการข่มขวัญของฝ่ายตรงข้าม คือก่อให้เกิดความตระหนกตกใจและชะงักงันให้แก่ข้าศึกได้เป็นอย่างดีด้วย ภายใต้คำขวัญ “รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด”

ขีดจำกัดของทหารม้า

[แก้]

อย่างไรก็ตาม ขีดจำกัดของทหารม้าคือการรบในระยะประชิดตัว และการรบในป่าทึบ เนื่องจากข้อจำกัดด้านอาวุธที่ติดตั้ง โดยเฉพาะเมื่อถูกโจมตีจากด้านหลัง อีกทั้งวิสัยทัศน์การมองของพลประจำรถถังเองก็ถูกจำกัด สงครามเวียดนามเป็นเหตุการณ์ หนี่งที่ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดนี้ได้อย่างชัดเจน โดยทหารราบเวียดกง ทำการต่อกรกับทหารม้ารถถังอเมริกัน ด้วยการซุ่มอยู่ข้างทางในป่าทึบ แล้วใช้หลักการ คานดีดคานงัด เข้างัดรถถังอเมริกันให้พลิกคว่ำ

เพื่อเป็นการชดเชยข้อจำกัดของทหารม้า จึงมักจะทำการรบในลักษณะของกองกำลังผสมระหว่างทหารม้าและทหารราบ

ภารกิจของทหารม้า

[แก้]

ทหารม้าเป็นกำลังรบหลักส่วนหนึ่งของกองทัพบก ซึ่งสามารถมอบภารกิจให้ทำการรบโดยลำพังหรือผสมเหล่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งภารกิจในการรบที่หน่วยทหารม้ารับผิดชอบได้แก่ ภารกิจดังต่อไปนี้

  1. เป็นหน่วยในการลาดตระเวน การเข้าตี การระวังป้องกันและออมกำลังให้กับหน่วยใหญ่
  2. เป็นหน่วยหลักในการดำเนินกลยุทธ์

ทหารม้าในประเทศไทย

[แก้]

ประวัติทหารม้าไทย

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นจเรกองทัพบก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ได้จัดให้มีกิจการจเรทหารม้าอยู่ในการจัดกองทัพ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทหารม้า เป็นยุคแรกของทหารม้าสมัยใหม่

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศแก้ไขกิจการทหารม้าใหม่ เปลี่ยนเป็น “กระทรวงกลาโหม” มีกรมจเรกองทัพบกเป็นกรมหนึ่งในครั้งนี้และมีหน่วยขึ้นตรงของกรมนี้แบ่งเป็น 5 แผนก มีแผนกที่ 2 เป็นแผนกจเรทหารม้า ซึ่งมีพลตรี พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (อุ่น อินทรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการท่านแรก และต่อมามีคำสั่งกระทรวงกลาโหมเปลี่ยนชื่อหน่วยอีกหลายครั้ง คือ เปลี่ยนเป็น“กรมจเรทหารม้า” “กรมจเรทหารม้าและสัตว์พาหนะ” กรมจเรสัตว์พาหนะทหารบกและทหารม้า”

เมื่อปีพ.ศ. 2460 ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เป็นผู้บังคับบัญชา และขอพระราชทานนามพระองค์เป็นชื่อค่าย “อดิศร” ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 44/12291 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ให้เปลี่ยนชื่อจากกรมการทหารม้า เปลียนเป็น ศูนย์การทหารม้า ถือว่าวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสถาปนาศูนย์การทหารม้า ปัจจุบันกองทัพบกไทยตั้งวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันทหารม้า และยกย่องให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็น“พระบิดาแห่งการทหารม้าไทย”[1][2]

การแบ่งประเภทของทหารม้า

[แก้]

ศูนย์การทหารม้า ได้กำหนดหลักนิยมและรูปแบบการจัดหน่วยทหารม้าโดยแบ่งประเภทของทหารม้าไว้ดังนี้

  1. ทหารม้าลาดตระเวน หมายถึง หน่วยทหารม้าที่จัดขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน และระวังป้องกันโดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็นกองพันลาดตระเวน หรือกองร้อยลาดตระเวนทุกรูปแบบ จัดอยู่ในประเภททหารม้าลาดตระเวนทั้งสิ้น
  2. ทหารม้ารถถัง หมายถึง หน่วยทหารม้าที่ดำเนินกลยุทธ์หลัก โดยมีรถถังเป็นยานรบไม่ว่าจะเป็นกองพันรถถังของกองพลทหารราบ หรือกองพันรถถังในอัตราของกรมทหารม้า จัดอยู่ในประเภททหารม้ารถถังทั้งสิ้น
  3. ทหารม้าบรรทุกยานเกราะ หมายถึง หน่วยทหารม้าที่ใช้ดำเนินกลยุทธ์หลัก โดยมียานยนต์สายพานหุ้มเกราะเป็นยานรบหลัก สามารถเคลื่อนที่และทำการรบบนยานรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารม้ารถถังโดยตลอด จะลงรบบนดินเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินกลยุทธ์ทางพื้นดิน เพื่อชดเชยจุดอ่อนของทหารม้ารถถังเท่านั้น
  4. ทหารม้าขี่ม้า ปัจจุบันกองทัพบกสงวนไว้เพียง 1 กองพัน คือ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ เพื่อใช้ในภารกิจแห่นำตามเสด็จเป็นการเชิดชูเกียรติ วัฒนธรรมประเพณีของชาติ และเป็นการรักษาตำนาน
  5. ทหารม้าอากาศ เป็นทหารม้าที่ใช้อากาศยาน เป็นยานรบหลัก เป็นหน่วยที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูงมาก ซึ่งจัดอยู่ในประเภททหารม้าลาดตระเวน เพื่อเอาชนะขีดจำกัดของภูมิประเทศทหารม้าประเภทนี้มหาอำนาจบางประเทศ เช่น สหรัฐ มีการจัดและเคยใช้ปฏิบัติการได้ผลมาแล้วในสงครามเวียดนาม ปัจจุบันกองทัพบกได้อนุมัติหลักการในการจัดตั้งแล้ว 4 กองร้อย เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองทัพบก ฝากการบังคับบัญชาไว้กับ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ คือ กองร้อยทหารม้าอากาศที่ 1 (ปัจจุบันถูกยุบกองร้อยเป็นที่เรียบร้อย)

หน่วยทหารม้าในปัจจุบันของไทย

[แก้]

หน่วยทหารม้าที่เป็นกำลังรบในปัจจุบัน ทั้งที่จัดตั้งแล้วและยังอยู่ในการดำเนินการจัดตั้งมีอยู่ 3 กองพล, 7 กรม, 31 กองพัน และ 5 กองร้อยอิสระ มีที่ตั้งอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จังหวัดที่มีหน่วยทหารม้าอยู่ นอกจากกรุงเทพมหานคร และสุโขทัย ได้แก่ สระบุรี, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, น่าน, อุตรดิตถ์, แพร่, กาญจนบุรี, นครศรีธรรมราช, ร้อยเอ็ด และปัตตานี

ทหารม้าชาวไทยที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]