ชาติ กอบจิตติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาติ กอบจิตติ

เกิด25 มิถุนายน พ.ศ. 2497 (69 ปี)
ตำบลบ้านบ่อ,อำเภอเมืองสมุทรสาคร
จังหวัดสมุทรสาคร ,ประเทศไทย
อาชีพนักเขียน
สัญชาติไทย
ผลงานที่สำคัญคำพิพากษา
พันธุ์หมาบ้า
มีดประจำตัว
เวลา
บริการรับนวดหน้า

ชาติ กอบจิตติ (เกิด 25 มิถุนายน 2497) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด[1]

ประวัติ[2][แก้]

ชาติเกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร ละแวกคลองสุนัขหอน เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ ต่อมาขณะที่เรียนเทอมสุดท้ายของ ชั้นประถมปีที่ 7 จำเป็นต้องไปอยู่กับยาย จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในตัวจังหวัดสมุทรสาคร (มหาชัย) เพราะแม่ต้องไปอยู่เรือทรายกับพ่อที่จังหวัดราชบุรี จากนั้นไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพานหรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์

ผลงาน[2][1][แก้]

เรื่องสั้นเรื่องแรก "นักเรียนนักเลง" ตีพิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์ ของโรงเรียนปทุมคงคา เมื่อพ.ศ. 2512 เรื่อง "ผู้แพ้" ได้รับรางวัลช่อการะเกด (2522) เคยประจำกองบรรณาธิการหนังสือ "ถนนหนังสือ" และใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับเมืองไทย ผลงานบางส่วนได้จัดแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเช่น "คำพิพากษา" "พันธุ์หมาบ้า" และ "เวลา" มีผลงานอาทิเช่น "ทางชนะ" (พ.ศ. 2522) "มีดประจำตัว" (พ.ศ. 2527) "นครไม่เป็นไร" (พ.ศ. 2532) นวนิยายเรื่อง "คำพิพากษา" ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2525 นิยายเรื่อง "เวลา" ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2537 ปัจจุบันพำนักในไร่ รอยต่อระหว่างจังหวัดสระบุรี-นครราชสีมา สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตร

นวนิยายของชาติ แสดงถึงพัฒนาการของนวนิยายไทยที่มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสากล นับตั้งแต่การนำเสนอนวนิยายเรื่องคำพิพากษา โศกนาฏกรรมสามัญชน ซึ่งมีนักวิชาการวรรณกรรมนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับผลงานของ กุนเทอร์ กราสส์ นักเขียนชาวเยอรมันซึ่งได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม และ เค็นซะบุโร โอเอะ นักเขียนญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเช่นกัน

นักวิจารณ์บางคนชี้ให้เห็นว่านิยายเรื่องนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของกรีก นักวิจารณ์บางท่านเห็นว่าชาตินำเอาปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ของ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) มาประยุกต์ใช้ใหม่อย่างน่าชมเชย นอกจากนี้นักวิจารณ์บางท่านเห็นว่า นวนิยายเรื่องเวลาเป็นพัฒนาการของนวนิยายไทยที่มีลักษณะเป็น “นว-นวนิยาย” (nouveau roman) ซึ่งมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสากล จึงกล่าวได้ว่าผลงานของชาติ กอบจิตติ มีความสำคัญต่อพัฒนาการนวนิยายไทยและต่อการนำวรรณกรรมไทยเข้าร่วมกระแสวรรณกรรมสากล ดังจะเห็นได้จากผลงานของเขาหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และมลายู และได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิจารณ์ไทยและนักวิชาการต่างประเทศ

ชาติ กอบจิตติ ยึดอาชีพนักเขียนเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว เขาเคยกล่าวไว้ว่า "ผม "เลือก" ที่จะเป็นคนเขียนหนังสือ ผมให้มันทั้งชีวิต เอาทั้งชีวิตแลกกับมัน" เขามีความละเอียดพิถีพิถันกับงานเขียนโดยเฉพาะนวนิยายอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่ากว่านวนิยายแต่ละเรื่องจะนำเสนอสู่สาธารณะจะใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานหลายปี แต่ทุกครั้งก็ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชาติเป็นนักเขียนที่ต้องการสร้างนักอ่าน โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นใหม่ เขาจึงไม่ต้องการให้ราคาหนังสือเป็นอุปสรรคต่อผู้รักการอ่านวรรณกรรมไทย ดังนั้นเขายืนยันให้สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ผลงานของเขาใช้กระดาษปรู๊ฟซึ่งไม่มีสำนักพิมพ์ไหนนิยมใช้กันแล้ว เพราะไม่สวย แต่ชาติต้องการให้หนังสือราคาถูก มากกว่าสวยงาม เพื่อจะได้กระจายไปสู่คนอ่านในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ เมื่อคนอ่านหนังสือมาก ๆ จะได้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ เพราะชาติเชื่อว่า "ไม่มีใครเสียคนเพราะอ่านหนังสือ"

ในระยะหลังชาติตั้ง สำนักพิมพ์หอน เพื่อพิมพ์ผลงานของตนเองตามอุดมการณ์ที่วางไว้ นอกจากการสร้างสรรค์งานเขียนด้วยความรัก และถือเป็น "งานเลี้ยงชีวิต" แล้ว ชาติ กอบจิตติยังอุทิศเวลาทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการสอนหนังสือให้เด็กๆ ที่โรงเรียนในหมู่บ้านช่วงปิดเทอม นอกจากนี้ยังรับเชิญไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เสมอเท่าที่โอกาสอำนวย ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ชาติสละเวลาเป็น "พี่เลี้ยง" ให้เด็กรุ่นน้องที่ต้องการเป็นนักเขียน โดยคัดเลือกเด็กจำนวนหนึ่งที่มีแววเป็นนักเขียนโดยพิจารณาจากงานที่เสนอมาให้อ่าน แล้วชาติใช้บ้านของตนประหนึ่งเป็น "โรงเรียนนักเขียน" ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้พักกินอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ตนถนัด โดยขอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทัศนะวิจารณ์กับชาติ กอบจิตติ ได้ตลอดเวลา หลังจากหมดเทอมแล้ว หากผู้ที่อยากเป็นนักเขียนมุมานะสร้างงานต่อเนื่อง ส่งผลงานมาให้อ่าน และขอคำปรึกษา ชาติ กอบจิตติ ก็สนับสนุนให้กำลังใจตลอดไปเช่นกัน

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี แม้ชาติ กอบจิตติ จะสร้างสรรค์ผลงานทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักเขียนคนอื่น แต่ผลงานของเขาเปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งด้านแนวคิดอันแสดงสำนึกเชิงสังคมและด้านวรรณศิลป์อันแสดงนวัตกรรมของการสร้างสรรค์ ชาติ กอบจิตติจึงเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ล้ำสมัย เขานำวงวรรณกรรมไทยก้าวไปข้างหน้าและอยู่ในกระแสวรรณกรรมโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ ชาติ กอบจิตติใช้ชีวิตอย่างสมถะ มุ่งสร้างงานเขียนดีๆ เพื่อประโยชน์แก่นักอ่านอย่างไม่รีบร้อน งานของเขาจึงสร้างผลสะเทือนต่อสังคมไทยไม่น้อย นอกจากนี้ เขายังไม่ทอดทิ้งนักอ่านรุ่นใหม่และผลักดันสรรค์สร้างนักเขียนรุ่นน้อง ชาติ กอบจิตติจึงเป็นแบบอย่างทั้งแนวคิด แนวเขียน แก่นักเขียนนักอ่านร่วมสมัย และเป็นเสียงแห่งมโนสำนึกของยุคสมัยที่ปลุกผู้อ่านให้พิจารณาความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ

งานเขียน[2][1][แก้]

  1. ทางชนะ (พ.ศ. 2522)
  2. จนตรอก (พ.ศ. 2523)
  3. คำพิพากษา (พ.ศ. 2524) ได้รับรางวัลซีไรต์
  4. เรื่องธรรมดา (พ.ศ. 2526)
  5. มีดประจำตัว (พ.ศ. 2527)
  6. หมาเน่าลอยน้ำ (พ.ศ. 2530)
  7. พันธุ์หมาบ้า (พ.ศ. 2531)
  8. นครไม่เป็นไร (พ.ศ. 2532)
  9. เวลา (พ.ศ. 2536) ได้รับรางวัลซีไรต์
  10. บันทึก : บันทึกเรื่องราวไร้สาระของชีวิต (พ.ศ. 2539)
  11. รายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2539)
  12. ลมหลง (พ.ศ. 2543)
  13. เปลญวนใต้ต้นนุ่น (พ.ศ. 2546)
  14. บริการรับนวดหน้า (พ.ศ. 2548)
  15. ล้อมวงคุย (พ.ศ. 2551)
  16. facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ (พ.ศ. 2559)
  17. (หา)เรื่องที่บ้าน(พ.ศ. 2561)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]