กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ
กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ | |
---|---|
คลูเกอในปี 1943 | |
ชื่อเกิด | กึนเทอร์ อดอล์ฟ แฟร์ดีนันท์ ฟ็อน คลูเกอ |
ชื่ออื่น | ฮันส์ กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ |
ชื่อเล่น | เคลฟเวอร์ ฮันส์ |
เกิด | 30 ตุลาคม ค.ศ. 1882 โพเซิน, ปรัสเซีย, จักรวรรดิเยอรมัน (โปแลนด์ในปัจจุบัน) |
เสียชีวิต | 19 สิงหาคม ค.ศ. 1944 แม็ส, นาซีเยอรมนี | (61 ปี)
รับใช้ | เยอรมนี (1901–1918) เยอรมนี (1918–1933) ไรช์เยอรมัน (1933–1944) |
Branch | กองทัพบกปรัสเซีย ไรชส์แฮร์ กองทัพบกเยอรมัน |
ประจำการ | 1901–44 |
ชั้นยศ | แกเนอราลเฟ็ลท์มาร์ชัล |
หน่วย | กรมทหารปืนใหญ่ภาคสนามที่ 46 |
บังคับบัญชา | |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง |
บำเหน็จ | กางเขนเหล็กกางเขนอัศวินประดับด้วยใบโอ๊กและดาบ |
คู่สมรส | Mathilde von Briesen (สมรส 1907)[1] |
บุตร | 3 |
ความสัมพันธ์ | ว็อล์ฟกัง ฟ็อน คลูเกอ (น้องชาย) Eike-Henner Kluge (หลาน) |
กึนเทอร์ อดอล์ฟ แฟร์ดีนันท์ ฟ็อน คลูเกอ (เยอรมัน: Günther Adolf Ferdinand Kluge) บ้างรู้จักในชื่ือ ฮันส์ กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ เป็นจอมพลชาวเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้บัญชาการการรบทั้งแนวรบตะวันออกและแนวรบตะวันตก เขาได้บัญชาการแก่กองทัพที่ 4 ของแวร์มัคท์ในช่วงการบุกครองโปแลนด์ในปี 1939 และยุทธการที่ฝรั่งเศส ในปี 1940 ได้รับเลื่อนตำแหน่งยศเป็นจอมพลไรช์ คลูเกอยังคงบัญชาการกองทัพที่ 4 ในปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา(การบุกครองสหภาพโซเวียต) และยุทธการที่มอสโกในปี 1941
ท่ามกลางวิกฤตของการรุกตอบโต้กลับของโซเวียตในเดือนธันวาคม 1941 คลูเกอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกลุ่มทัพกลาง เข้ามาแทนที่กับจอมพล เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค สมาชิกหลายคนของกลุ่มทหารเยอรมันฝ่ายต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ซึ่งทำหน้าที่ในคณะเสนาธิการของเขา รวมทั้งเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค คลูเกอได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของผู้วางแผนก่อกบฏ แต่ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนยกเว้นแต่เพียงฮิตเลอร์จะถูกสังหาร การบัญชาการของเขาในแนวรบด้านตะวันออกได้ดำเนินไปจนถึงเดือนตุลาคม 1943 เมื่อคลูเกอได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
ภายหลังจากได้พักฟื้นรักษาตัวเป็นเวลานาน คลูเกอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก (OB West) ในเขตยึดครองฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม 1944 ภายหลังคนก่อนหน้านี้ จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท ถูกสั่งปลดเพราะมีความเชื่อว่าจะพ่ายแพ้สงคราม กองกำลังของคลูเกอไม่สามารถหยุดยั้งแรงผลักดันของการบุกครองนอร์ม็องดีของฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ได้ และเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าสงครามทางด้านตะวันตกกำลังจะพ่ายแพ้แล้ว แม้ว่าคลูเกอจะไม่ได้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนลับ 20 กรกฎาคม แต่ภายหลังการก่อรัฐประหารได้ล้มเหลว เขาได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 19 สิงหาคม 1944 หลังจากที่ถูกเรียกตัวกลับไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อเข้าพบกับฮิตเลอร์ ดังนั้นตำแหน่งของคลูเกอร์จึงถูกแทนที่โดยจอมพล วัลเทอร์ โมเดิล
ช่วงชีวิตตอนต้นและอาชีพ
[แก้]คลูเกอเกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1882 ในโพเซิน ปรัสเซีย และปัจจุบันคือทางตะวันตกของโปแลนด์[2] พ่อของเขา แม็กซ์ ฟ็อน คลูเกอ ซึ่งมาจากครอบครัวทหารปรัสเซียชนชั้นสูง ด้วยการเป็นผู้บัญชาการที่มีความโดดเด่น แม็กซ์เป็นนายทหารตำแหน่งยศพลโทในกองทัพบกปรัสเซีย ซึ่งประจำการอยู่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้แต่งงานกับ lise Kühn-Schuhmann[2] ในปี 1881 คลูเกอเป็นหนึ่งในลูกชายสองคน ซึ่งมีน้องชายที่ชื่อว่า ว็อล์ฟกัง (1892-1976)[2] ว็อล์ฟกังได้ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามโลกสองครั้ง ได้รับเลื่อนยศตำแหน่งเป็นพลโท ในปี 1943, และเป็นผู้บัญชาการแห่งป้อมปราการดันเคิร์ก ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน 1944[3]
ในปี 1901 คลูเกอได้รับหน้าที่ในกรมทหารปืนใหญ่ภาคสนามที่ 46 แห่งกองทัพบกปรัสเซีย เขาได้ทำหน้าที่ในคณะเสนาธิการทั่วไป ระหว่างปี 1910 และ 1918 ได้รับเลื่อนตำแหน่งยศเป็นร้อยเอกบนแนวรบด้านตะวันตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขายังคงประจำการอยู่ในไรชส์แวร์ภายหลังความขัดแย้ง จนได้เป็นพันเอกในปี 1930 พลตรีในปี 1933 และพลโทในอีกหนึ่งปีต่อมา[2] วันที่ 1 เมษายน 1934 คลูเกอได้บัญชาการแก่กองพลที่ 6 ในมึนส์เทอร์[2] คำประกาศแวร์มัคท์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในปี 1935 ได้เร่งรัดการกำหนดของเขาให้กับกองพลน้อยที่ 6 และกลุ่มทัพที่ 6 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกองทัพที่ 4 [2]
คลูเกอเชื่อว่า "ลัทธิแสนยนิยมที่หยาบประด้าง" ของฮิตเลอร์จะนำพาเยอรมนีไปสู่หายนะ ในช่วงวิกฤตการณ์ซูเดเทินลันท์ เขาเป็นสมาชิกของกลุ่มลับต่อต้านสงครามซึ่งนำโดยลูทวิช เบ็ค และ Ernst von Weizsäcker ได้คาดหวังว่าจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในดินแดนข้อพิพาท วิกฤตดังกล่าวได้ถูกเบี่ยงเบนโดยข้อตกลงมิวนิก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1938 แม้ว่าเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงพวกนาซีเป็นการส่วนตัว แต่คลูเกอมีความเชื่อมั่นในหลักการของเลเบินส์เราม์ (พื้นที่อยู่อาศัย) และภาคภูมิใจในการฟื้นแสนยานุภาพของแวร์มัคท์[4]
เขาได้มีชื่อเล่นว่า เดอ คลูเกอ ฮันส์ ("เคลฟเวอร์ ฮันส์") ตามชื่อของม้าสายพันธุ์เยอรมันที่สามารถคำนวณคิดเลขได้[5]
สงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]การบุกครองโปแลนด์
[แก้]ฮิตเลอร์ได้อนุมัติเค้าโครงสำหรับการรุกรานโปแลนด์ของกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมันกับกองทัพสองกลุ่มในช่วงการบรรยายสรุปทางทหาร เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน 1939[6] กองทัพที่ 4 ของคลูเกอได้รับมอบหมายให้เป็นกองกำลังของกลุ่มทัพเหนือภายใต้การบัญชาการโดยเฟดอร์ ฟ็อน บ็อค[7] การทัพโปแลนด์ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยใช้ประโยชน์จากชายแดนที่ยืดยาวติดกับประเทศเยอรมนี กองทัพที่ 4 ได้เคลื่อนทัพไปทางตะวันออกเข้าสู่ฉนวนจากทางตะวันตกของพอเมอเรเนียเพื่อเข้าสมทบกับกองทัพที่ 3 เมืองท่าเรือดันท์ซิชได้ถูกยึดครองภายในวันแรก[8]
ในวันต่อมา ด้วยความวิตกกังวลต่อแนวป้องกันของโปแลนด์ที่แข็งแกร่งตามแนวแม่น้ำเบรดาไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน กองทัพที่ 4 ได้ข้ามแม่น้ำ ทำการปิดล้อมกองพลทหารราบที่ 9 กองพลทหารราบที่ 27 และกองพลน้อยทหารม้าพอเมอเรเนียของโปแลนด์ไว้ในฉนวน คลูเกอได้ส่งกองพลยานเกราะที่ 10 จากกองทัพของเขาเองให้ข้ามแม่น้ำวิสตูล่า ไปสมทบกับกองทัพที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน[9] กองทัพน้อยยานเกราะที่ 19 (ไฮนทซ์ กูเดรีอัน) ได้เข้ายึดครองเมืองเบรสท์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ภายหลังสามวันของการสู้รบในยุทธการที่เบรสท์-ลีตอฟสก์[10] กลุ่มทัพเหนือได้รับแจ้งข่าวว่า การบุกครองโปแลนด์ทางตะวันออกของกองทัพแดงในวันเดียวกัน และได้รับคำสั่งให้อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำ Bug เมืองเบรสท์ได้ถูกส่งไปให้กับกองทัพโซเวียต เมื่อวันที่ 22 กันยายน สำหรับการโอบล้อมต่อกองกำลังโปแลนด์ในช่วงเริ่มต้นของการบุกครอง คลูเกอได้รับการยกย่องจากฮิตเลอร์ว่าเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการที่เก่งกาจที่สุดของเขา[7]
ยุทธการที่ฝรั่งเศส
[แก้]ในการเตรียมความพร้อมสำหรับฟัลเก็ลพ์ ("กรณีเหลือง") การบุกครองฝรั่งเศส คลูเกอและกองทัพที่ 4 ได้ถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่มทัพเอภายใต้บัญชาการของแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท[11] ฮิตเลอร์ยังคงมองหาทางเลือกที่ดูก้าวร้าวมาแทนที่ในแผนการเดิม ได้ยอมรับความคิดของเอริช ฟ็อน มันชไตน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันคือ แผนมันชไตน์ ภายหลังการประชุมกับพวกเขา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1940[11] แผนการได้ระบุว่า กองทัพที่ 4 จะให้การสนับสนุนเพื่อเข้าโจมตีผ่านภูมิประเทศอาร์แดนที่ดูขรุขระจากทางตอนใต้ของเบลเยียมและลักเซมเบิร์กมุ่งหน้าไปยังแม่น้ำเมิซ คลูเกอได้มอบหมายให้กองทัพน้อยกองทัพบกที่ 15 ทำการห้อมล้อมกองพลยานเกราะที่ 5 และที่ 7 เพื่อจัดตั้งปีกคุ้มกันแก่กองทัพน้อยของ Georg-Hans Reinhardt โดยการข้ามแม่น้ำเมิซที่ Dinant[12]
การเปิดฉาก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม กรณีเหลืองเริ่มประสบความสำเร็จ กองทัพน้อยของคลูเกอได้เข้ารุกอย่างรวดเร็ว จนมาถึงแม่น้ำเมิซในสองวัน[13] ในการข้ามแม่น้ำ ผู้นำหัวหอกโดยแอร์วีน ร็อมเมิล ผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 7 ได้สร้างหัวสะพานบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมิซ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม และบีบบังคับให้กองทัพฝรั่งเศสที่ 9 ต้องล่าถอย[14] กองกำลังของคลูเกอ - โดยเฉพาะกองพลยานเกราะที่ 7 ได้ประสบความเร็วในการบุกทะลวงอย่างรวดเร็วจากหัวสะพานของพวกเขาในวันต่อมา ระหว่างวันที่ 16 และ 17 พฤษภาคม ร็อมเมิลได้จับกุมเชลยศึกจำนวน 10,000 นาย และยึดรถถัง 100 คัน และกวาดล้างกองทัพฝรั่งเศสที่ 9 ที่หลงเหลืออยู่โดยสูญเสียกำลังคนไปเพียง 35 นาย[15] ด้วยการเคลื่อนทัพที่ยาวไกลเกินไปและนำหน้าอย่างเต็มที่ของกลุ่มทัพ กองพลยานเกราะที่ 5 และที่ 7 ได้ป้องกันการโจมตีตอบโต้กลับร่วมกันของบริติช-ฝรั่งเศส ใกล้กับเมืองอารัส เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม[16]
หลังจากการประชุมกับฮิตเลอร์และรุนท์ชเต็ท คลูเกอได้ออกคำสั่งแก่หน่วยยานเกราะของเขาให้หยุด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ห่างระยะทางเพียง 16 กิโลเมตร(9.9 ไมล์) จากเดิงแกร์ก ซึ่งในขณะนั้นเป็นเส้นทางการหลบหนีที่เป็นไปได้สำหรับกองกำลังรบนอกประเทศบริติช[16] การหยุดพักชั่วคราวเพียงสองวันทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทำการรวบรวมกำลังคนบริเวณรอบเดิงแกร์กและเตรียมความพร้อมสำหรับการอพยพ[16] เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ณ จุดเริ่มต้นของฟัลโรท (กรณีแดง) ระยะที่สองของแผนการบุกครอง กองทัพที่ 4 ของคลูเกอได้ช่วยเหลือในการบรรลุการบุกทะลวงครั้งแรกที่อาเมียงและมุ่งหน้าไปถึงแม่น้ำแซน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน[17][18] การบัญชาการของคลูเกอและการนำทัพของร็อมเมิลในช่วงตลอดของการบุกครองทำให้เขาได้รับเลื่อนตำแหน่งยศเป็นแกเนอราลเฟ็ลท์มาร์ชัล(จอมพล) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม[17]
การบุกครองสหภาพโซเวียต
[แก้]คลูเกอได้บัญชาการแก่กองทัพที่ 4 ในการเปิดฉากปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทัพกลาง นอกเหนือจากการบัญชาการของเขา กลุ่มทัพซึ่งรวมทั้งกองทัพบกภาคสนาม กองทัพที่ 9 และขบวนเคลื่อนที่เร็วสองหน่วย กลุ่มยานเกราะที่ 2 (ไฮนทซ์ กูเดรีอัน) และที่ 3 (แฮร์มันน์ โฮท)[19]
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน คลูเกอได้ออกคำสั่งว่า ผู้หญิงที่อยู่ในชุดเครื่องแบบจะต้องถูกยิงทิ้ง ตามที่สอดคล้องกับโลกทัศน์ในอุดมการณ์นาซี ซึ่งถือว่า ผู้ต่อสู้รบที่เป็นผู้หญิงเป็นการแสดงให้เห็นถึงรูปแบบหนึ่งของลัทธิบอลเชวิคที่ดู"ป่าเถื่อน" ซึ่งบทบาททางเพศตามธรรมชาติได้พลิกกลับ คำสั่งดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในวันต่อมา และให้จับกุมผู้หญิงที่อยู่ในชุดเครื่องแบบแทน[20] เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม กองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน (OKH) ได้ส่งมอบกลุ่มยานเกราะที่ 2 และที่ 3 ให้อยู่ภายใต้บัญชาการของคลูเกอ เพื่อปรับปรุงการประสานงานระหว่างหัวหอกยานเกราะที่เคลื่อนที่เร็วและทหารราบที่เชื่องช้า ผลลัพธ์ได้ก่อตัวขึ้นทำให้เกิดสามัคคีบนกระดาษ ในความเป็นจริง ผู้บัญชาการกลุ่มยานเกราะมักจะขัดคำสั่งของคลูเกอและกูเดรีอัน และคลูเกอหมั่นไส้แต่ละคนเป็นการส่วนตัว[21][22] คลูเกอได้ยอมแพ้ทั้งหมดยกเว้นแต่กองทัพน้อยทหารราบสองหน่วยของเขา กองทัพน้อยหน่วยอื่น ๆ ของเขาได้รับมอบหมายให้เป็นกองทัพที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกจัดให้เป็นกองกำลังสำรอง[23]
ด้วยการคาดหวังว่า สงครามในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานโซเวียตสำหรับความพยายามในการทำสงครามของเยอรมัน กองบัญชาการใหญ่และผู้นำทางทหารไม่ได้เตรียมความพร้อมที่เพียงพอสำหรับที่พักเชลยศึกและพลเรือนที่ถูกคุมขัง ในเขตบังคับบัญชาการของคลูเกอ เชลยศึก 100,000 นายและพลเรือน 40,000 คนได้ถูกต้อนเข้าไปในค่ายกลางแจ้งขนาดเล็กในมินสค์ในเดือนกรกฎาคม 1941 ท่ามกลางสภาพที่ดูทรุดโทรมและความอดอยากในค่าย องค์กรท็อทได้ร้องขอให้คลูเกอปล่อยคนงานที่มีความสามารถจำนวน 10,000 คน คลูเกอได้ปฏิเสธและต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับนักโทษด้วยตัวเขาเอง[24]
ในส่วนหนึ่งของแผนความหิว ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของสงครามของการทำลายล้างกับสหภาพโซเวียต แวร์มัคท์ส่วนใหญ่คาดหวังว่า "พื้นที่ที่จะได้อยู่อาศัย" ดังนั้น การฉกชิงทรัพย์ การปล้นสะดม และการกระทำทารุณต่อประชากรพลเรือนได้ลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ด้านหลัง ในเดือนกันยายน 1941 คลูเกอได้ออกคำสั่งให้กองทหารของเขามุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูกฎระบียบวินัย โดยกล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติวิธีการได้รับเสบียงอย่างไม่ยุติธรรม การโจมตีโฉบฉวย การเที่ยวปล้นสะดมในระยะทางอันกว้างใหญ่ การกระทำที่ไร้สติและอาชญากรรมทั้งหมด " คลูเกอได้ข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการรุนแรงต่อผู้รับผิดชอบพร้อมกับผู้บัญชาการทหารระดับสูงของพวกเขาที่ล้มเหลวในการรักษากฎระบียบวินัย[25]
ยุทธการที่มอสโก
[แก้]ในช่วงปฏิบัติการไต้ฝุ่น เยอรมันได้เข้ารุกสู่กรุงมอสโก คลูเกอได้กลุ่มยานเกราะที่ 4 ภายใต้บัญชาการโดยเอริช เฮิพเนอร์ ซึ่งมาอยู่ใต้บังคับบัญชาการของกองทัพที่ 4 ในช่วงต้นเดือนตุลาคม กลุ่มยานเกราะที่ 4 ได้ทำการโอบล้อมที่ Vyazma อย่างสมบูรณ์ ด้วยความไม่พอใจอย่างมากของเฮิพเนอร์ คลูเกอได้สั่งให้เขาหยุดการรุก เนื่องจากหน่วยของเขามีความจำเป็นเพื่อขัดขวางการตีฝ่าวงล้อมของกองทัพโซเวียต เฮิพเนอร์นั้นมีความมั่นใจว่า จะสามารถเคลียร์วงล้อมและรุกเข้าสู่กรุงมอสโกซึ่งสามารถทำได้ในเวลาเดียวกัน เขามองว่า การกระทำของคลูเกอเป็นการแทรกแซง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและ"การปะทะ" กับหัวหน้าของเขา ในขณะที่เขาได้เขียนจดหมายไปทางบ้าน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม[26] ดูเหมือนว่า เฮิพเนอร์จะไม่ปลื้มที่หน่วยของเขามีเชื้อเพลิงน้อยมาก กองพลยานเกราะที่ 11 ได้รายงานว่าไม่มีเชื้อเพลิงเลย มีเพียงแต่กองพลยานเกราะที่ 20 ซึ่งมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงมอสโกท่ามกลางสภาพถนนที่ทรุดโทรม[27]
วันที่ 17 พฤศจิกายน กลุ่มยานเกราะที่ 4 เข้าโจมตีมอสโกอีกครั้งพร้อมกับกองทัพน้อยกองทัพที่ 5 ของกองทัพที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไต้ฝุ่นโดยกลุ่มทัพกลาง กลุ่มยานเกราะและกองทัพน้อยกองทัพบกได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นกองกำลังที่ดีที่สุดของคลูเกอ ซึ่งมีความพร้อมอย่างมากสำหรับการรุกอย่างต่อเนื่อง ในการสู้รบสองสัปดาห์ กองทัพเยอรมันได้เข้ารุกเพียงระยะทาง 60 กิโลเมตร (37 ไมล์)(4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) ต่อวัน)[28] การขาดแคลนรถถัง การขนส่งทางรถยนต์ที่ไม่เพียงพอ และสถานการณ์ด้านเสบียงที่ดูล่อแหลม พร้อมกับการต้านทานที่เหนี่ยวแน่นของกองทัพแดง และอำนาจเหนือน่านฟ้าที่ทำได้โดยเครื่องบินรบของโซเวียตได้เข้าขัดขวางการโจมตี[29]
เมื่อเผชิญแรงกดดันจากกองบัญชาการใหญ่ ในที่สุดคลูเกอได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีปืกใต้ที่อ่อนแอ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ในภายหลังจากการสู้รบ เฮิพเนอร์และกูเดรีอันได้กล่าวโทษความมุ่งมั่นที่ล่าช้าของคลูเกอที่ปีกใต้ของกองทัพที่ 4 เพื่อเข้าโจมตีสำหรับความล้มเหลวของเยอรมันในการเข้าถึงมอสโก นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า David Stahel ได้เขียนว่า การประเมินผลครั้งนี้ได้ประเมินความสามารถสูงเกินไปอย่างไม่ลดละของกองกำลังที่เหลืออยู่ของคลูเกอ[30] พวกเขายังมองไม่เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่ากรุงมอสโกเป็นเมืองขนาดใหญ่ และกองกำลังเยอรมันก็ขาดแคลนกำลังคนจำนวนมากเพื่อการโอบล้อม ด้วยแนวป้องกันชั้นนอกได้เสร็จสิ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน มอสโกจึงเป็นตำแหน่งที่มีป้อมปราการซึ่งแวร์มัคท์ขาดแคลนกำลังคนเพื่อเข้าจู่โจมส่วนหน้า การโจมตีที่ไกลห่างออกไปได้ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม กองทัพแดงได้เปิดฉากการรุกตอบโต้กลับฤดูหนาวในวันเดียวกัน[31]
กลุ่มทัพกลาง
[แก้]ภายหลังจากเฟดอร์ ฟ็อน บ็อคถูกปลดออกจากการบังคับบัญชาการแก่กลุ่มทัพกลาง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม คลูเกอได้รับตำแหน่งหน้าที่แทนที่เขา[32][33] การสู้รบอันขมขืนยังคงดำเนินต่อไปในภาคส่วนของกลุ่มทัพกลางในฤดูหนาวและช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้มากนัก กองทัพเยอรมันยังยึดครองอยู่แต่แทบไม่ได้มากนัก[34] ในช่วงการทัพฤดูร้อน ปี 1942 กรณีสีน้ำเงิน กลุ่มทัพได้รับหน้าที่ในตำแหน่งนี้[35]
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1942 คลูเกอได้รับจดหมายอวยพรจากฮิตเลอร์พร้อมกับเช็คเงินสดมูลค่าครึ่งล้านไรชส์มาร์ค[a][36] ซึ่งถูกทำออกมาให้แก่เขาจากกองคลังเยอรมัน รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาในการจ่ายค่าปรับปรุงที่ดินของเขาซึ่งสามารถเรียกเก็บได้จากรัฐ นี่เป็นส่วนหนึ่งของการติดสินบนโครงสร้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแวร์มัคท์[37] คลูเกอได้ยอมรับเงินนี้ ภายหลังการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหัวหน้าคณะเสนาธิการ เฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค ที่ได้ประณามเขาเรื่องการทุจริต เขาได้ตกลงที่จะเข้าพบกับคาร์ล ฟรีดริช เกอร์เดอเลอร์ ผู้ต่อต้านระบอบนาซี ในเดือนพฤศจิกายน 1942[38] คลูเกอได้ให้คำมั่นสัญญากับเกอร์เดอเลอร์ว่า เขาจะจับกุมฮิตเลอร์ในครั้งต่อไป เมื่อเขามาที่แนวรบด้านตะวันออก แต่หลังจากนั้นก็ได้รับ"ของขวัญ" อีกชิ้นหนึ่งจากฮิตเลอร์ เขาจึงเปลี่ยนใจและตัดสินใจที่จะยังคงจงรักภักดีต่อไป[39] ฮิตเลอร์ที่ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยินว่า คลูเกอจะไม่พอใจกับความเป็นผู้นำของเขา ซึ่งถือว่า "ของขวัญ"ของเขาเป็นการให้สิทธิ์เขาแก่ความจงรักภักดีทั้งหมดของคลูเกอ[39]
ตลอดช่วงปี 1942 และต้นปี 1943 กลุ่มทัพกลางได้มีส่วนร่วมในการทำสงครามประจำตำแหน่งบริเวณรอบ ๆ ส่วนยื่นออกมาของรเจฟเพื่อต่อกรกับการรุกของกองทัพแดง หรือที่เรียกโดยรวมกันว่า ยุทธการที่รเจฟ กองทัพโซเวียตได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปฏิบัติการมาส์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับปฏิบัติการยูเรนัส การโอบล้อมกองทัพเยอรมันในยุทธการที่สตาลินกราด กองกำลังของคลูเกอได้หมดกำลังลงอย่างสิ้นเชิงและในช่วงต้นปี 1943 เขาได้รับอนุญาตให้ถอนกำลังแก่กองทัพที่ 9 (วัลเทอร์ โมเดิล) และองค์ประกอบของกองทัพที่ 4 (นายพล Gotthard Heinrici) ออกจากส่วนยื่นออกมา ผลลัพธ์ของปฏิบัติการบึเฟิลแสดงให้เห็นว่า แวร์มัคท์ได้ละทิ้งส่วนยื่นออกมา ในช่วงระหว่างวันที่ 1 และ 22 มีนาคม 1943 ปฏิบัติการดังกล่าวได้กำจัดส่วนที่ยื่นออกมาที่ทำให้แนวรบของเยอรมันสั้นลงจากระยะทาง 370 กิโลเมตร (230 ไมล์) การถอนกำลังดังกล่าวได้เกิดขึ้นพร้อมกับกลยุทธ์ผลาญภพที่ดูโหดเหี้ยมและการทัพความมั่นคง ส่งผลทำให้เกิดการทำลายล้างอย่างกว้างขวาง การเผาผลาญหมู่บ้าน การเนรเทศประชากรชายฉกรรจ์สำหรับแรงงานทาส และการสังหารพลเรือนโดยกองกำลังของแวร์มัคท์ ซึ่งอยู่ในลักษณะของ"การสงครามต่อต้านพลพรรค"[40]
วันที่ 13 มีนาคม 1943 ฮิตเลอร์ได้อนุญาตให้เข้าโจมตีหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งที่ได้เข้าปะทะกับส่วนที่ออกมาของคูสค์[41][42] เมื่อการต่อต้านครั้งสุดท้ายของโซเวียตในยุทธการที่ฮาร์คอฟครั้งที่ 3 ได้ยุติลง เอริช ฟ็อน มันชไตน์ ผู้บัญชาการกลุ่มทัพใต้ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้คลูเกอเข้าโจมตีแนวรบกลางของโซเวียตโดยทันที ซึ่งเป็นการป้องกันจากทางตอนเหนือของส่วนที่ยื่นออกมา คลูเกอได้ปฏิเสธ โดยเชื่อว่ากองกำลังของเขาอ่อนแอเกินกว่าที่จะเข้าโจมตีได้[43] ในช่วงกลางเดือนเมษายน ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายและกองทัพเยอรมันที่หมดกำลังลงและจำเป็นต้องปรับปรุง การรุกได้ถูกเลื่อนออกไป[44][45]
วันที่ 15 เมษายน ฮิตเลอร์และกองบัญชาการใหญ่ได้ออกคำสั่งให้เริ่มปฏิบัติการใหม่สำหรับการรุก รหัสนามว่า ซิทาเดล (Zitadelle) ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 3 พฤษภาคมหรือหลังจากนั้นได้ไม่นานในการเข้าปะทะส่วนที่ยื่นออกมาของคูสค์[46] ปฏิบัติการซิทาเดลดังกล่าวได้นำไปสู่ยุทธการที่คูสค์ เพื่อเรียกร้องสำหรับการโอบล้อมสองครั้ง กลุ่มทัพกลางได้จัดตั้งกองทัพที่ 9 ของโมเดิลเพื่อเป็นก้ามปูทางเหนือ[47] กองทัพยานเกราะที่ 4 และกองทัพ Detachment Kempf ของกลุ่มทัพใต้ได้มุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อสมทบกับกองทัพที่ 9 ทางตะวันออกของคูสค์[48][49] ในขณะที่กำลังวางแผนและการเตรียมความพร้อมยังคงดำเนินต่อไป ในปลายเดือนเมษายน โมเดิลได้เข้าพบกับฮิตเลอร์ซึ่งแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งการป้องกันอันแข็งแกร่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพแดงในเขตภาคของเขา[50]
ฮิตเลอร์ได้เรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงและที่ปรึกษาของเขาให้เข้ามาประชุมที่มิวนิก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม มีตัวเลือกมากมายสำหรับความคิดเห็น: ให้เข้าโจมตีทันทีด้วยกองกำลังที่มีอยู่ ชะลอการรุกครั้งต่อไปเพื่อรอการมาถึงของรถถังชนิดใหม่และดีกว่า แก้ไขปฏิบัติการอย่างกระทันหัน หรือยกเลิกโดยสิ้นเชิง มันชไตน์ได้สนับสนุนให้เข้าโจมตีแต่เนิ่น ๆ แต่ได้ร้องขอกองพลทหารราบเพิ่มเติมอีกสองกองพล ซึ่งฮิตเลอร์ได้ตอบว่าแทบจะไม่มีอยู่เลย คลูเกอได้แสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าวในการชะลอเลื่อนออกไปและลดเครื่องมิอสำหรับการลาดตะเวนของโมเดิล นายพล ไฮนทซ์ กูเดรีอัน ผู้ตรวจการกองทัพ ได้โต้แย้งถึงปฏิบัติการดังกล่าว โดยระบุว่า "เป็นการโจมตีที่ไร้จุดหมาย"[51] การประชุมได้สิ้นสุดลงโดยที่ฮิตเลอร์ไม่อาจตัดสินใจได้ แต่ซิทาเดลไม่ได้ถูกยกเลิก[51]
ปฏิบัติการดังกล่าวได้เปิดฉาก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ได้เกิดความผิดพลาดนับตั้งแต่เริ่มต้น ในเขตภาคเหนือ กองกำลังโซเวียตสามารถหยุดยั้งการรุกของเยอรมันอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 10 กรกฎาคม[52] เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม กองทัพแดงได้เปิดฉากปฏิบัติการคูตูซอฟ ซึ่งเป็นการรุกตอบโต้กลับต่อส่วนที่ยื่นออกมาของโอเริล ซึ่งได้เข้าคุกคามทางด้านปีกและด้านหลังของกองทัพที่ 9 ของโมเดิล ในช่วงเย็นของวันที่ 12 กรกฎาคม ฮิตเลอร์ได้เรียกคลูเกอและมันชไตน์มาที่กองบัญชาการของเขาที่ Rastenburg ในปรัสเซียตะวันออก ซึ่งเขาได้ประกาศยกเลิกซิทาเดล[53] ท่ามกลางการสู้รบอย่างหนัก กองทัพแดงได้เข้าสู่โอเริล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม และในวันที่ 18 สิงหาคม กองทัพแดงได้มาถึงชานเมืองของ Bryansk โดยได้กำจัดส่วนที่ยื่นออกมาของโอเริล[54] เมื่อกลุ่มทัพกลางได้ล่าถอยกลับไปยังตำแหน่งการป้องกันที่ได้เตรียมไว้ การต่อต้านของเยอรมันก็แข็งขันและกองทัพโซเวียตต้องใช้เวลานานจนกระทั่งปลายเดิอนกันยายนในการปลดปล่อยสโมเลนสค์[55]
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1943 คลูเกอได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาไม่สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 1944[56] จอมพล แอ็นสท์ บุช ได้เข้ามาแทนที่คลูเกอในฐานะผู้บัญชาการกลุ่มทัพกลาง[57]
แนวรบด้านตะวันตก
[แก้]ในเดือนกรกฎาคม 1944 คลูเกอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตกภายหลังจากคนก่อนหน้านี้ แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท ถูกสั่งปลดเพราะมีความเชื่อว่ากำลังจะพ่ายแพ้สงคราม[58] ด้วยความคิดริเริ่มที่เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร คลูเกอได้พยายามแสดงสิทธิ์อำนาจเหนือร็อมเมิล ซึ่งรับผิดชอบดูแลกลุ่มทัพบี และสร้างความมั่นใจให้แก่กองบัญชาการของเขาในการป้องกันนอร์ม็องดี[59] เมื่อถึงวันที่ 12 กรกฎาคม คลูเกอได้ออกตรวจแนวหน้าและได้รับฟังการบรรยายสรุปจากผู้บัญชาการภาคสนาม คลูเกอได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อสงสัยของเขาแก่อัลเฟรท โยเดิล : "ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย แต่ในความคิดของผม สถานการณ์ก็ไม่น่าจะเลวร้ายลง"[59] ห้าวันต่อมา ร็อมเมิลได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อเครื่องบินรบของกองทัพอากาศแคนาดา(RCAF) ระดมยิงใส่รถประจำตำแหน่งของเขา ทำให้รถได้เบี่ยงออกจากถนน คลูเกอได้ช่วงต่อจากเขาในการบังคับบัญชาการแก่กลุ่มทัพบี ในขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งอื่น ๆ เอาไว้[59]
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขับไล่เยอรมันออกจากเนินเขาที่สำคัญของแซ็ง-โลในเดือนกรกฎาคม ได้จัดตั้งเวทีสำหรับการรุกครั้งใหญ่ในการทัพนอร์ม็องดี[60] การเปิดฉากปฏิบัติการคอบรา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นการมุ่งเป้าหมายโดยกองทัพสหรัฐเพื่อใช้ประโยชน์จากกองทัพเยอรมันผู้ยึดครองโดยการโจมตีของบริติชและแคนาดาบริเวณรอบ ๆ เมืองก็องและบรรลุในการบุกทะลวงที่เด็ดขาดในฝรั่งเศสตะวันตกเฉียงเหนือ ในวันที่ 28 กรกฎาคม ปฏิบัติการได้ประสบความสำเร็จในการบุกทะลวงแนวรบเยอรมัน และการต้านทานต่ออเมริกันอย่างไม่เป็นระเบียบ[61] จากการขาดแคลนทรัพยากรที่จะรักษาแนวหน้า หน่วยกองกำลังเยอรมันได้เปิดฉากการโจมตีตอบโต้กลับอย่างสิ้นหวังเพื่อหลบหนีจากการถูกโอบล้อม ในขณะที่คลูเกอได้ส่งการเสริมกำลัง ซึ่งประกอบได้ด้วยองค์ประกอบของกองพลยานเกราะที่ 2 และที่ 116 ไปยังทางตะวันตกโดยคาดหวังว่าจะหลีกเลี่ยงการละลายหายทั้งหมด ในการสู้รบที่ดุเดือด กองกำลังของเขาได้ประสบความสูญเสียอย่างหนักทั้งกำลังคนและรถถถังที่เขาไม่สามารถหามาแทนที่ได้[62]
ในวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม กองทัพเยอรมันในนอร์ม็องดีได้ถูกลดทอนกำลังลงในสภาพที่ย่ำแย่จากการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งคลูเกอไม่อาจรักษาตำแหน่งป้องกันในนอร์ม็องดีได้อีกต่อไป เขาไม่มีโอกาสในการได้รับการเสริมกำลัง ภายหลังจากปฏิบัติการบากราติออน การรุกช่วงฤดูร้อนของโซเวียตซึ่งต่อกรกับกลุ่มทัพกลาง และมีชาวเยอรมันเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถกอบกู้ชัยชนะไว้ได้[63] ระหว่างวันที่ 1 และ 4 สิงหาคม กองพลทั้งเจ็ดของกองทัพสหรัฐที่ 3 ภายใต้บัญชาการของพลโท จอร์จ เอส. แพตตัน ได้เข้ารุกอย่างรวดเร็วผ่านทาง Avranches และข้ามสะพานที่ Pontaubault เข้าสู่บริตทานี[64]
ด้วยการที่ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำในการถอนกำลังของคลูเกอ ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้โจมตีตอบโต้กลับในปฏิบัติการลึททิช ระหว่าง Mortain และ Avranches[65][66] เขาได้เรียกร้องให้หน่วยรบยานเกราะที่มีอยู่ทั้งหมดให้ร่วมมือกันในการโจมตีมุ่งเป้าหมายไปที่การเข้ายึดครองคาบสมุทรคอนเตนตินกลับคืนมา และตัดกองกำลังสหรัฐในบริตทานีจากการจัดหาเสบียง[65] ตามรายงานของนายทหารเสนาธิการในปฏิบัติการของผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก Bodo Zimmermann คลูเกอรับรู้ว่า "คงจะดีกว่าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ซึ่งอาจหมายถึงการล่มสลายของแนวรบนอร์ม็องดี" แต่ความวิตกกังวลของเขาถูกเพิกเฉย[65] คลูเกอสามารถรวบรวมกองพลยานเกราะที่หมดสภาพได้เพียงสี่กองพล โดยช่วงเวลาของปฏิบัติการได้เริ่มต้นในวันที่ 7 สิงหาคม การรุกได้หยุดชะงักลงในระยะทาง 15 กิโลเมตร(9.3 ไมล์) จาก Avranches สาเหตุหลักมาจากอำนาจเหนือน่านฟ้าของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้หน่วยกองกำลังเยอรมันนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกดักล้อม[67][68]
การรุกครั้งสุดท้าย ปฏิบัติการแทร็กทาเบิล ซึ่งถูกเปิดฉากโดยกองทัพแคนาดา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งร่วมกับการรุกของอเมริกาไปยังทางเหนือช็องบัว เป้าหมายของพวกเขาคือการโอบล้อมและทำลายกองทัพเยอรมันที่ 7 และกองทัพยานเกราะที่ 5 ใกล้กับเมืองฟาเลส์[69] ในคำสั่งสุดท้ายของเขาในฐานะผู้บัญชาการแห่งผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก คลูเกอได้ออกคำสั่งให้ล่าถอยอย่างเต็มรูปแบบไปทางตะวันออก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม[70] ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้เข้ายึดครองฟาเลส์จนกระทั่งวันเดียวกันนั่นเอง โดยทิ้งช่องว่างที่มีระยะทาง 24 กิโลเมตร(17 ไมล์) ระหว่างกองกำลังแคนาดาและอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันคือ ช่องว่างฟาเลส์[71] ในวันที่ 22 สิงหาคม ช่องว่างซึ่งถูกปกป้องอย่างหมดรูปโดยเยอรมันเพือให้กองกำลังทหารที่ถูกล้อมสามารถหลบหนีไปได้ จนกระทั่งถูกปิดผนึกอย่างสมบูรณ์ เป็นการยุติของยุทธการที่นอร์ม็องดีด้วยชัยชนะที่เด็ดขาดของฝ่ายสัมพันธมิตร[72] ในขณะส่วนที่เหลือของกลุ่มทัพบีได้หลบหนีไปทางตะวันออก ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ารุกโดยปราศจากการต่อต้านผ่านทางดินแดนที่ไม่มีการป้องกัน แม้ว่าชาวเยอรมันจำนวน 100,000 นายที่สามารถหลบหนีไปได้ จำนวน 10,000 นายที่ถูกสังหาร และอีก 40,000–50,000 นายที่ถูกจับกุม[71]
แผนลับต่อต้านฮิตเลอร์
[แก้]ด้วยการติดต่อผ่านทางคาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล คลูเกอได้ทราบแผนลับ 20 กรกฎาคมเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์ เขาตกลงที่จะสนับสนุนการยึดอำนาจของเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิด ถ้าฮิตเลอร์ถูกสังหาร[73] ในกรุงปารีส เหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดได้เข้าจับกุมสมาชิกของหน่วยเอ็สเอ็สและเอ็สดีจำนวนกว่า 1,200 คน และภายหลังจากการลอบสังหารได้ล้มเหลว ชตึลพ์นาเกิลและ Caesar von Hofacker ได้เข้าพบกับคลูเกอที่กองบัญชาการของเขาใน La Roche-Guyon[73][74] เมื่อทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ คลูเกอจึงถอนตัวการสนับสนุนและยกเลิกหมายจับกุม[73]
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม รถของคลูเกอได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร และเขาถูกตัดขาดจากการติดต่อทั้งหมดกับกองกำลังของเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง ฮิตเลอร์เคลือบแคลงสงสัยทันทีว่าคลูเกอกำลังจะเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร เขาถูกปลดออกในอีกสองวันต่อมาและถูกแทนที่โดยโมเดิล[70] เมื่อเขาถูกเรียกตัวกลับไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อเข้าพบฮิตเลอร์ คลูเกอมีความเชื่อว่า ฮิตเลอร์รับรู้แล้วว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องในแผนลับ 20 กรกฎาคม และตัดสินใจเลือกที่จะฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม โดยการกินยาพิษโพแทสเซียมไซยาไนด์[75] ในคำให้การครั้งสุดท้ายของเขา เขายืนยันในความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์และแสดงความเห็นว่า เยอรมนีจำเป็นต้องยุติสงคราม โดยเขียนว่า "ประชาชนชาวเยอรมันได้รับคามทุกข์ทรมานอย่างนับไม่ถ้วน คงถึงเวลาที่จะต้องยุติความน่าสะพรึงกลัวนี้ได้แล้ว"[70][76]
เกียรติยศ
[แก้]อิสริยาภรณ์เยอรมัน
[แก้]- กางเขนเหล็ก (1914) ชั้นสอง และชั้นหนึ่ง
- กางเขนอัศวินแห่งเครื่องอิสรยาภรณ์ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น คาดดาบ[77]
- เข็มกลัดกางเขนเหล็ก (1939) ชั้นสอง (5 กันยายน 1939) และชั้นหนึ่ง[78]
- กางเขนอัศวินแห่งกางเขนเหล็ก
ยศทหาร
[แก้]- มีนาคม 1901 : ร้อยตรี (Leutnant)
- มิถุนายน 1910 : ร้อยโท (Oberleutnant)
- สิงหาคม 1914 : ร้อยเอก (Hauptman)
- เมษายน 1923 : พันตรี (Major)
- กรกฎาคม 1927: พันโท (Oberstleutnant)
- กุมภาพันธ์ 1930 : พันเอก (Oberst)
- ตุลาคม 1933 : พลตรี (Generalmajor)
- เมษายน 1934: พลโท (Generalleutnant)
- สิงหาคม 1936: พลเอกทหารปืนใหญ่ (General der Artillerie)
- ตุลาคม 1939: พลเอกอาวุโส (Generaloberst)
- กรกฎาคม 1940: จอมพล (Generalfeldmarschall)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kinder & Porada 2017, p. 283.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Barnett 1989, pp. 395–396.
- ↑ Mitcham 2008, p. 201.
- ↑ Barnett 1989, pp. 396–398.
- ↑ Margaritis 2019, p. 29.
- ↑ Kennedy 2015, p. 71.
- ↑ 7.0 7.1 Barnett 1989, pp. 396–397.
- ↑ Barnett 1989, pp. 79–80.
- ↑ Kennedy 2015, p. 82.
- ↑ Kennedy 2015, p. 98.
- ↑ 11.0 11.1 Horne 1969, pp. 204–207.
- ↑ Horne 1969, p. 208.
- ↑ Barnett 1989, pp. 397–398.
- ↑ Horne 1969, pp. 324–326, 329–331.
- ↑ Horne 1969, pp. 472–479.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Barnett 1989, pp. 399–400.
- ↑ 17.0 17.1 Barnett 1989, pp. 401–402.
- ↑ Horne 1969, pp. 641–643.
- ↑ Glantz & House 2015, p. 35.
- ↑ Die Zeit 2011.
- ↑ Glantz & House 2015, p. 62.
- ↑ https://www.youtube.com/watch?v=0GogjX5SppE&t=419s
- ↑ Klink 1998, p. 527.
- ↑ Müller 1998, pp. 1146–1147.
- ↑ Förster 1998, pp. 1210–1211.
- ↑ Stahel 2013, pp. 74–75, 95.
- ↑ Stahel 2013, p. 95.
- ↑ Stahel 2015, p. 228.
- ↑ Stahel 2015, pp. 240–244.
- ↑ Stahel 2015, pp. 229–230.
- ↑ Stahel 2015, pp. 306–307.
- ↑ Megargee 2006, p. 139.
- ↑ Glantz & House 2015, p. 111.
- ↑ Glantz & House 2015, pp. 111–115.
- ↑ Citino 2007, p. 157.
- ↑ historicalstatistics.org.
- ↑ Wheeler-Bennett 2005, p. 529.
- ↑ Wheeler-Bennett 2005, pp. 529–530.
- ↑ 39.0 39.1 Wheeler-Bennett 2005, p. 530.
- ↑ Newton 2006, pp. 212–216.
- ↑ Clark 2012, p. 186.
- ↑ Glantz & House 2004, p. 354.
- ↑ Glantz & House 2004, p. 14.
- ↑ Glantz & House 2004, p. 13.
- ↑ Clark 2012, pp. 178, 186.
- ↑ Citino 2012, p. 121.
- ↑ Newton 2002, p. 13.
- ↑ Clark 2012, p. 194,196.
- ↑ Glantz & House 2004, pp. 51–53.
- ↑ Clark 2012, p. 193.
- ↑ 51.0 51.1 Showalter 2013, p. 50.
- ↑ Overy 1995, p. 204.
- ↑ Overy 1995, pp. 204–205.
- ↑ Glantz & House 2015, pp. 220–221.
- ↑ Glantz & House 2015, pp. 223–224.
- ↑ DHM 2014.
- ↑ Mitcham 1988, p. 272.
- ↑ Barnett 1989, p. 405.
- ↑ 59.0 59.1 59.2 Hastings 1984, pp. 175–176.
- ↑ Hastings 1984, p. 249.
- ↑ Hastings 1984, pp. 256–258.
- ↑ Hastings 1984, pp. 260–263, 265.
- ↑ Hastings 1984, pp. 277–278.
- ↑ D'Este 1983, pp. 408–410.
- ↑ 65.0 65.1 65.2 D'Este 1983, pp. 413–415.
- ↑ Barnett 1989, p. 407.
- ↑ D'Este 1983, pp. 418–420.
- ↑ Graeger 1998, p. 62.
- ↑ Hastings 1984, pp. 301–302.
- ↑ 70.0 70.1 70.2 Hastings 1984, pp. 302–303.
- ↑ 71.0 71.1 D'Este 1983, pp. 430–431.
- ↑ Hastings 1984, pp. 304–305, 313.
- ↑ 73.0 73.1 73.2 Barnett 1989, pp. 406–407.
- ↑ Reuth 2005, p. 182.
- ↑ Shirer 1990, pp. 1076–1077.
- ↑ Barnett 1989, p. 408.
- ↑ Hürter 2007, p. 639.
- ↑ Thomas 1997, p. 378.
- ↑ 79.0 79.1 79.2 79.3 Scherzer 2007, p. 451.
บรรณานุกรม
[แก้]- Barnett, Correlli (1989). Hitler's Generals. Grove Weidenfeld Publications. ISBN 1-55584-161-9.
- Boog, Horst; Förster, Jürgen; Hoffmann, Joachim; Klink, Ernst; Müller, Rolf-Dieter; Ueberschär, Gerd R., บ.ก. (1998). "The Army and the Navy". Germany and the Second World War: Attack on the Soviet Union. Vol. IV. Oxford and New York: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-822886-8.
- Citino, Robert (2007). Death of the Wehrmacht: The German Campaigns of 1942. University Press of Kansas. ISBN 978-0-7006-1531-5.
- Citino, Robert M. (2012). The Wehrmacht Retreats: Fighting a Lost War, 1943. Lawrence, KS: University Press of Kansas. ISBN 978-0-7006-1826-2.
- Clark, Lloyd (2012). Kursk: The Greatest Battle: Eastern Front 1943. London: Headline Publishing Group. ISBN 978-0-7553-3639-5.
- D'Este, Carlo (1983). Decision in Normandy. Konecky & Konecky. ISBN 1-56852-260-6.
- Förster, Jürgen (1998). "Securing 'Living Space'". ใน Boog, Horst; Förster, Jürgen; Hoffmann, Joachim; Klink, Ernst; Müller, Rolf-Dieter; Ueberschär, Gerd R. (บ.ก.). Germany and the Second World War: Attack on the Soviet Union. Vol. IV. Oxford and New York: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-822886-8.
- Glantz, David; House, Jonathan (2015). When Titans Clashed: How the Red Army Stopped Hitler. University Press of Kansas. ISBN 978-070062121-7.
- Glantz, David M.; House, Jonathan M. (2004) [First published 1999]. The Battle of Kursk. Lawrence, Kansas: University Press of Kansas. ISBN 978-070061335-9.
- Graeger, Rüdiger (1998). "Field Marshal Gunther von Kluge as C-in-C West in 1944". RUSI Journal. 143 (5): 59–66. doi:10.1080/03071849808446312.
- "Hans Günther von Kluge 1882-1944". Deutsches Historisches Museum. 14 September 2014. สืบค้นเมื่อ 3 January 2019.
- Hastings, Max (1984). Overlord D-Day and the Battle for Normandy. Michael Joseph Ltd. ISBN 0-671-46029-3.
- "Historical currency converter". historicalstatistics.org. สืบค้นเมื่อ 2 February 2019.
- Hoffman, Peter (1977). The History of the German Resistance, 1939–1945. MA: MIT Press. ISBN 978-0-262-08088-0.
- Horne, Alistair (1969). To Lose a Battle: France 1940. Macmillan London. ISBN 978-0-141-03065-4.
- Hürter, Johannes (2007). Hitlers Heerführer. Die deutschen Oberbefehlshaber im Krieg gegen die Sowjetunion 1941/42 [Hitler's army commander. The German commander-in-chief in the war against the Soviet Union 1941/42]. Oldenbourg Verlag. ISBN 978-3-486-57982-6.
- Kennedy, Robert M. (2015). The German Campaign in Poland (1939). Merriam Press. ISBN 978-157638364-3.
- Kinder, Sebastian; Porada, Haik Thomas (2017). Das Havelland um Rathenow und Premnitz: Eine landeskundliche Bestandsaufnahme (ภาษาเยอรมัน) (2nd ed.). Böhlau Köln. ISBN 978-341222297-0.
- Knopp, Guido (2007). Die Wehrmacht: Eine Bilanz (ภาษาเยอรมัน). München: C. Bertelsmann Verlag. ISBN 978-3-570-00975-8.
- Margaritis, Peter (2019). Countdown to D-Day: The German Perspective. Oxford & PA, USA: Casemate. p. 29. ISBN 978-1-61200-769-4.
- Mawdsley, Evan (2005). Thunder in the East: the Nazi-Soviet War, 1941–1945. Hodder Arnold. p. 502. ISBN 0-340-80808-X.
- Megargee, Geoffrey P. (2006). War of Annihilation: Combat and Genocide on the Eastern Front, 1941. Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-7425-4482-6.
- Mitcham, Samuel W. (2008). Rommel's Desert Commanders: The Men Who Served the Desert Fox, North Africa, 1941-42. Stackpole Books. ISBN 978-0-8117-3510-0.
- Mitcham, Samuel W. Jr (1988). Hitler's Field Marshals and Their Battles. London, United Kingdom: Guild Publishing. OCLC 220632577.
- Müller, Rolf-Dieter (1998). "Failure of the Economic 'Blitzkrieg'". ใน Boog, Horst; Förster, Jürgen; Hoffmann, Joachim; Klink, Ernst; Müller, Rolf-Dieter; Ueberschär, Gerd R. (บ.ก.). Germany and the Second World War: Attack on the Soviet Union. Vol. IV. Oxford and New York: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-822886-8.
- Newton, Steven (2002). Kursk: The German View. Cambridge: Da Capo Press. ISBN 0-306-81150-2.
- Newton, Steven H. (2006). Hitler's Commander: Field Marshal Walter Model – Hitler's Favorite General. Cambridge, MA: Da Capo Press. ISBN 978-0-306-81399-3.
- Overy, Richard (1995). Why the Allies Won. New York: Norton Press. ISBN 978-0-393-03925-2.
- Reuth, Ralf Georg (2005). Rommel: The End of a Legend. London: Haus Books. ISBN 978-1-904950-20-2.
- Scherzer, Veit (2007). Die Ritterkreuzträger 1939–1945 [The Knight's Cross Bearers 1939–1945] (ภาษาเยอรมัน). Jena, Germany: Scherzers Militaer-Verlag. ISBN 978-3-938845-17-2.
- Shirer, William L. (1990). The Rise and Fall of the Third Reich. New York: Simon & Schuster. ISBN 0-671-72868-7.
- Showalter, Dennis E. (2013). Armor and Blood: The Battle of Kursk, The Turning Point of World War II. New York, USA: Random House. ISBN 978-1-4000-6677-3.
- "Siegen helfen, Das Schreckbild der sowjetischen "Flintenweiber"". Die Zeit (ภาษาเยอรมัน). 24 May 2011.
- Stahel, David (2013). Operation Typhoon: Hitler's March on Moscow, October 1941. Cambridge University Press. ISBN 978-1107035-12-6.
- Stahel, David (2015). The Battle for Moscow. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-08760-6.
- Stargardt, Nicholas (2015). The German War: A Nation Under Arms, 1939–1945. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-01899-4.
- Thomas, Franz (1997). Die Eichenlaubträger 1939–1945 Band 1: A–K [The Oak Leaves Bearers 1939–1945 Volume 1: A–K] (ภาษาเยอรมัน). Osnabrück, Germany: Biblio-Verlag. ISBN 978-3-7648-2299-6.
- Wheeler-Bennett, Sir John (2005) [First published 1953]. The Nemesis of Power: German Army in Politics, 1918 – 1945. New York: Palgrave Macmillan Publishing Company. ISBN 978-1-4039-1812-3.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
จอมพล เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค | ผู้บัญชาการกลุ่มทัพกลาง (19 ธันวาคม 1941 – 12 ตุลาคม 1943) |
จอมพล แอ็นสท์ บุช | ||
จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท | ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ D (2 กรกฎาคม 1944 – 15 สิงหาคม 1944) |
จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท | ||
จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท | ผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก (2 กรกฎาคม 1944 – 15 สิงหาคม 1944) |
จอมพล วัลเทอร์ โมเดิล (รักษาการแทน) | ||
จอมพล แอร์วีน ร็อมเมิล | ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ B (19 กรกฎาคม 1944 – 17 สิงหาคม 1944) |
จอมพล วัลเทอร์ โมเดิล |
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/>
ที่สอดคล้องกัน