การอ้างผลที่ตามมา
การอ้างผลที่ตามมา[1] (อังกฤษ: Appeal to consequences, argumentum ad consequentiam, คำละตินแปลว่า การให้เหตุผลโดยผลที่จะเกิดขึ้น) เป็นการให้เหตุผลที่สรุปว่าสมมติฐาน (ปกติจะเป็นความเชื่อ) เป็นจริงหรือไม่จริง โดยอาศัยเพียงว่าข้อตั้งจะให้ผลที่ตามมาอันน่าพึงใจหรือไม่น่าพึงใจ การให้เหตุผลเช่นนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของ การอ้างอารมณ์ (appeal to emotion) และเป็นเหตุผลวิบัติชนิดหนึ่ง เพราะความน่าพึงใจของผลไม่ได้ทำให้เหตุผลนั้นเป็นจริง นอกจากนั้นแล้ว เพราะจำแนกว่าผลนั้นน่าพึงใจหรือไม่น่าพึงใจ จึงมีมุมมองที่เป็นอัตวิสัยโดยธรรมชาติ คือเป็นจริงสำหรับบางบุคคลเท่านั้น (เทียบกับเหตุผลที่ควรจะเป็นปรวิสัย คือเป็นความจริงกับทุกๆ คน)
รูปแบบทั่วไป
[แก้]การให้เหตุผลที่อาศัยการอ้างผลที่ตามมาโดยทั่วไปจะมีสองรูปแบบ[2]
รูปแบบเชิงบวก
[แก้]- ถ้า "ก" จริง, "ข" จะเกิดขึ้น
- "ข" น่าพึงใจ
- ดังนั้น "ก" ต้องเป็นจริง
ดังนั้น จึงมีลักษณะคล้ายกับเหตุผลวิบัติโดย wishful thinking (การคิดตามความปรารถนา)
ตัวอย่าง
[แก้]- พายน่าจะเป็นจำนวนตรรกยะ เพราะทำให้ค่านั้นงาม
- อสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะมีค่าเพิ่มขี้นเรื่อยๆ (เพราะ) เจ้าของย่อมยินดีกับกำไรส่วนทุน
- มนุษย์จะเดินทางได้เร็วกว่าแสง (เพราะ) การเดินทางได้เร็วกว่าแสงจะมีประโยชน์มากในการเที่ยวไปในอวกาศ
- ชีวิตหลังการตายจะต้องมี (เพราะ) ข้าพเจ้าต้องการจะอยู่ตลอดไป
รูปแบบเชิงลบ
[แก้]- ถ้า "ก" จริง, "ข" จะเกิดขึ้น
- "ข" ไม่น่าพึงใจ
- ดังนั้น "ก" ต้องไม่จริง
ตัวอย่าง
[แก้]- เจตจำนงเสรีต้องมี (เพราะ) ถ้าไม่มี เราทั้งหมดก็จะเป็นเพียงเครื่องกล
- ทฤษฎีวิวัฒนาการจะต้องไม่จริง (เพราะ) ถ้าเป็นจริงแล้ว มนุษย์ก็จะไม่มีอะไรดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน และต้องมีบรรพบุรุษเป็นสัตว์เดียรัจฉาน
- "ถ้าชายหกคนนี้ชนะคดีนี้ ก็จะหมายความว่าพวกตำรวจมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ว่าพวกตำรวจมีความผิดโดยการซ้อมและการข่มขู่ ว่าคำสารภาพนั้นกุขึ้นและไม่ได้รับเข้าเป็นหลักฐานอย่างถูกต้องโดยทำให้พิพากษาลงโทษอย่างผิดพลาด นี้เป็นภาพพจน์ที่น่ารังเกียจจนกระทั่งว่า ทุกคนที่มีเหตุมีผลจะต้องกล่าวว่า การปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ถูกแน่" เป็นคำตัดสินของศาลอังกฤษว่าผู้ต้องหามีความผิดในคดี Birmingham Six ซึ่งภายหลังต่อมาชายหกคนก็ได้การตัดสินว่าบริสุทธิ์ (และสิ่งไม่ดีที่ศาลพูดถึงนั้นพิสูจน์ว่าเป็นจริงทุกอย่าง) และรัฐบาลต้องเสียค่าเสียหายให้กับผู้ต้องหา
- พระเป็นเจ้าจะต้องมี (เพราะ) ถ้าไม่มี ก็จะไม่มีเหตุผลให้เป็นคนดีและชีวิตก็จะไม่มีความหมายอะไร
- ศีลธรรมที่เป็นปรวิสัยต้องมี (เพราะ) ถ้าไม่มี ก็จะต้องพิจารณาว่า การกระทำที่โหดเหี้ยมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
ในนิติศาสตร์
[แก้]ในนิติศาสตร์ การให้เหตุผลโดยความไม่สะดวกหรือที่เรียกว่า argumentum ab inconvenienti เป็นการอ้างผลที่ตามมาซึ่งไม่จัดว่าวิบัติ เพราะเป็นการแสดงว่า การกระทำที่เสนอนั้นจะสร้างความยากลำบากเกินเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ให้เหตุผลเช่นนี้เพื่อค้านกฎหมายที่บังคับผู้ให้กู้เงินแบบจำนองทรัพย์สิน ให้ต้องตรวจสอบว่าผู้ที่ต้องการยืมเงินมีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจริงๆ โดยสอบถามกับสำนักงานศาลทุกๆ แห่งทั่วประเทศ
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ นิพัทธ ผึ้งไผ่งาม (May 2014). "2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง". การใช้เหตุผลวิบัติในการโต้แย้งบนเว็บบอร์ด (PDF) (วิทยานิพนธ์ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-06. สืบค้นเมื่อ 2023-12-08.
- ↑ Curtis, Gary. "Logical Fallacy: Appeal to Consequences". Logical Fallacies. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-22. สืบค้นเมื่อ 2023-12-07.