ข้ามไปเนื้อหา

กังดงแบล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาชิกกังดงแบลแต่งกายเป็นโอบา โอริชาตนหนึ่ง ขณะทำพิธีเข้าทรง การเข้าทรงโอริชาเป็นศูนย์กลางความเชื่อศาสนานี้

กังดงแบล (โปรตุเกส: Candomblé) เป็นศาสนาพลัดถิ่นแอฟริกาที่พัฒนาในบราซิลช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดจากการผสานความเชื่อระหว่างศาสนาดั้งเดิมของแอฟริกาตะวันตกหลายศาสนา โดยเฉพาะศาสนาโยรูบา บันตูและกเบ นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลบางส่วนจากนิกายโรมันคาทอลิกของศาสนาคริสต์ กังดงแบลไม่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์[1] และองค์กรกลาง[2] แต่ดูแลจัดการโดย ตึไรรู (terreiros, ศาลเจ้า)[3]

กังดงแบลเกี่ยวข้องกับการนับถือวิญญาณที่เรียกว่า โอริชา (orixás)[4] ซึ่งรับชื่อและลักษณะมาจากเทพดั้งเดิมของแอฟริกาตะวันตก โอริชาแต่ละตนมีสถานะเทียบเท่านักบุญของนิกายโรมันคาทอลิก[5] ตำนานหลายแหล่งเล่าว่าโอริชาเป็นผู้รับใช้พระผู้สร้างนาม โอลูดูมาเร (Oludumaré) กังดงแบลเชื่อว่ามนุษย์มีโอริชาคอยคุ้มครองมาตั้งแต่ก่อนกำเนิดและส่งผลต่อลักษณะนิสัยของแต่ละคน[6] สมาชิกมักรวมตัวที่ตึไรรูที่ดูแลโดยนักบวช บาบาโลริชา (babalorixá)[7] และนักบวชหญิง อียาโลริชา (iyalorixá)[8] พิธีหลักคือการร้องรำทำเพลงเพื่อปลุกโอริชาให้เข้าสิง โดยสมาชิกเชื่อว่าพวกเขาสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้โดยตรงเมื่อโอริชาประทับร่าง[9] ของเซ่นโอริชาคือผลไม้และสัตว์พลี นอกจากนี้ยังใช้สังเวยแก่วิญญาณอื่น ๆ เช่น โบยาเดรู (boiadero) เปรตูแวญู (preto velho) กาโบกลู (caboclos) และวิญญาณบรรพบุรุษที่เรียกว่า เอกุน (egun)[10] มีการทำนายหลายแบบเพื่อแปลข้อความที่ได้รับจากโอริชา[11] พิธีรักษาด้วยสมุนไพรและการทำเครื่องรางมีบทบาทสำคัญในศาสนานี้[12]

กังดงแบลพัฒนาขึ้นในหมู่ชุมชนชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกาท่ามกลางการค้าทาสแอตแลนติกในคริสต์ศตวรรษที่ 16–19[13] เป็นการผสานศาสนาดั้งเดิมที่ทาสชาวแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางนับถือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโยรูบา ชาวโฟนและชาวบันตู เข้ากับคำสอนนิกายโรมันคาทอลิกของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสผู้ครอบครองดินแดนในขณะนั้น สมาชิกกังดงแบลรวมกลุ่มอยู่ในรัฐบาเยียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1891 หลังบราซิลได้รับเอกราชจากโปรตุเกสจะมอบเสรีภาพทางศาสนา[14] แต่กลุ่มโรมันคาทอลิกในบราซิลมองสมาชิกกังดงแบลอย่างผสม บางส่วนยอมรับความต่างทางศาสนา ขณะที่บางส่วนแสดงความปฏิปักษ์ต่อศาสนานี้[15] ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 การอพยพของผู้คนในรัฐบาเยียส่งผลให้กังดงแบลแพร่ไปทั่วบราซิลและที่อื่น ๆ รวมถึงเกิดสายสัมพันธ์กับศาสนาอื่นที่มีรากจากศาสนาดั้งเดิมของแอฟริกาอย่างซันเตรียาในคิวบาและวูดูในเฮติ[16] ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 สมาชิกบางกลุ่มเน้นย้ำ "การกลายเป็นแอฟริกาอีกครั้ง" เพื่อขจัดอิทธิพลโรมันคาทอลิกในศาสนา[17] และสร้างกังดงแบลในรูปแบบที่ใกล้เคียงศาสนาดั้งเดิมของแอฟริกาตะวันตกที่สุด[18]

คำว่า "กังดงแบล" สันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาบันตู kandombele หมายถึงการเต้นรำ คำนี้ยังพัฒนาต่อไปเป็นกังดงเบ (Candombe) แนวเพลงและการเต้นรำในอาร์เจนตินาและอุรุกวัยที่มีรากฐานมาจากทาสชาวแอฟริกา[19] แต่ละตึไรรูของกังดงแบลมีอำนาจปกครองตนเอง[20] แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเรียกว่า นาซอยส์ (nações)[21] ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมของแอฟริกาตะวันตก กลุ่มที่โดดเด่นที่สุด 3 กลุ่ม ได้แก่ เกตู (Ketu) เฌเฌ (Jejé) และแองโกลา (Angola)[22] ในปี ค.ศ. 2010 มีผู้นับถือศาสนานี้ในบราซิล 167,363 คน[23] และมีชุมชนขนาดย่อมในประเทศต่าง ๆ ของทวีปอเมริกาใต้และยุโรป[24] นอกเหนือจากชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกา ยังมีชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่นับถือกังดงแบลเช่นกัน[25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Álvarez López & Edfeldt 2007, p. 151.
  2. Wafer 1991, p. 57; Johnson 2002, p. 50.
  3. Walker 1990, p. 104; Wafer 1991, p. 4; Johnson 2002, pp. 13, 205; Bahia 2016, p. 18.
  4. Walker 1990, p. 108; Voeks 1997, p. 54; Johnson 2002, p. 14; Brazeal 2013, p. 105.
  5. Walker 1990, pp. 111–112; Wafer 1991, p. 56; Voeks 1997, p. 59; Paula Adinolfi & Van de Port 2013, p. 290.
  6. Walker 1990, p. 117; Paula Adinolfi & Van de Port 2013, p. 290.
  7. Voeks 1997, p. 63; Johnson 2002, p. 201; Álvarez López & Edfeldt 2007, pp. 163-164.
  8. Voeks 1997, p. 63; Johnson 2002, p. 203; Álvarez López & Edfeldt 2007, pp. 163-164.
  9. Wafer 1991, p. 165.
  10. Brazeal 2013, p. 116.
  11. Voeks 1997, p. 89; Johnson 2002, pp. 12, 203; Capone 2010, p. 43.
  12. DeLoach & Petersen 2010, p. 44.
  13. "History of Candomblé". BBC. 15 September 2009. Retrieved 7 January 2014.
  14. Johnson 2002, p. 81.
  15. Johnson 2002, p. 122.
  16. Johnson 2002, p. 9; Álvarez López & Edfeldt 2007, p. 149.
  17. Walker 1990, pp. 114–115.
  18. Wafer 1991, p. 56; Johnson 2002, p. 71; Hartikainen 2017, p. 374.
  19. Johnson 2002, p. 202.
  20. Voeks 1997, p. 129; Johnson 2002, p. 35; Capone 2010, p. 31.
  21. Voeks 1997, p. 53.
  22. Wafer 1991, p. 5; Álvarez López & Edfeldt 2007, p. 157.
  23. Schmidt, Bettina E. (2016). Contemporary Religions in Brazil. Vol. 1. Oxford University Press. p. 7. doi:10.1093/oxfordhb/9780199935420.013.50.
  24. Bahia 2014, p. 329.
  25. Johnson 2002, p. 42.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]