ข้ามไปเนื้อหา

หนูหริ่งหนูหรั่งผจญเพชรตาปีศาจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก The Rescuers)
หนูหริ่งหนูหรั่งผจญเพชรตาปีศาจ
กำกับ
เนื้อเรื่อง
สร้างจากเดอะเรสคิวเออส์ และ มิสบียองกา
โดย มาร์เจอรี ชาร์ป
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
ตัดต่อ
  • จิม โคฟอร์ด
  • เจมส์ เมลทัน
ดนตรีประกอบอาร์ที บัตเลอร์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายบิวนาวิสตาดิสทริบิวชัน
วันฉาย
  • 22 มิถุนายน ค.ศ. 1977 (1977-06-22)
ความยาว77 นาที
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง7.5 ล้านดอลลาร์[1]
ทำเงิน169 ล้านดอลลาร์[2]

หนูหริ่งหนูหรั่งผจญเพชรตาปีศาจ (อังกฤษ: The Rescuers) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแนวผจญภัยและคอเมดีดรามา วอลต์ดิสนีย์พรอดักชันส์ผลิตและบิวนาวิสตาดิสทริบิวชันเผยแพร่ใน ค.ศ. 1977 จัดเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องที่ 23 ของวอลต์ดิสนีย์ เนื้อหาว่าด้วยสมาคมกู้ภัย องค์การระหว่างประเทศของหนู ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่สหประชาชาตินครนิวยอร์ก และมีบทบาทคล้ายสหประชาชาติ โดยอุทิศตนให้แก่การช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากการถูกลักพาตัวทั่วโลก ในเรื่องนี้ นางสาวบียองกา ผู้แทนหนูจากฮังการี กับนายเบอร์นาร์ด ภารโรงของสมาคม ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือเพนนี เด็กหญิงกำพร้าซึ่งถูกคุณนายเมดูซา เจ้าของโรงรับจำนำที่เป็นนักล่าสมบัติ กักขังไว้ใช้กู้เพชรเนตรปีศาจขึ้นมาจากน้ำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายชุดหนึ่งของมาร์เจอรี ชาร์ป โดยเฉพาะเรื่อง เดอะเรสคิวเออส์ (ค.ศ. 1959) และเรื่อง มิสบียองกา (ค.ศ. 1962)

การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ริเริ่มใน ค.ศ. 1962 แต่ถูกเก็บเข้าลิ้นชักเพราะวอลต์ ดิสนีย์ ไม่ชอบใจในเนื้อหาแนวกระทบกระเทียบทางการเมือง ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1970 จึงรื้อขึ้นมาใหม่ในฐานะโครงการสำหรับนักแอนิเมชันรุ่นเยาว์ แต่เมื่อเผยแพร่เรื่อง โรบินฮู้ด ใน ค.ศ. 1973 แล้ว นักแอนิเมชันอาวุโสก็รับไปทำต่อแทนจนสำเร็จและออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1977 ภาพยนตร์ได้รับเสียงวิจารณ์ทางบวก ทั้งประสบความสำเร็จด้านรายได้ในสหรัฐและทั่วโลก จึงมีการสร้างภาคต่อชื่อ หนูหริ่งหนูหรั่งปฏิบัติการแดนจิงโจ้ เผยแพร่ใน ค.ศ. 1990 นับเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของดิสนีย์ที่มีภาคต่อ

ภาพยนตร์นี้ฉายทางดิสนีย์+ ฮอตสตาร์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565[3] แบบบรรยายไทยเท่านั้น

เนื้อเรื่อง

[แก้]

เพนนี เด็กหญิงกำพร้าซึ่งถูกกักตัวไว้ ณ เรือร้างกลางบึงปีศาจในรัฐลุยเซียนา เขียนจดหมายขอความช่วยเหลือใส่ขวดแก้วแล้วแอบหย่อนลงน้ำไป สายน้ำนำพาขวดมาถึงนครนิวยอร์ก โดยฝูงหนูเป็นผู้พบและส่งต่อมายังสมาคมกู้ภัย องค์การระหว่างประเทศของเหล่าหนูอันตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ สมัชชาหนูมอบคดีนี้ให้นางสาวบียองกา ผู้แทนหนูจากฮังการี กับนายเบอร์นาร์ด หนูซึ่งเป็นภารโรงของสมาคม บียองกากับเบอร์นาร์ดจึงติดตามมาสืบถึงโรงเลี้ยงเด็กมอร์นิงไซด์ที่เพนนีเคยอยู่ ได้พบแมวชรานาม รูฟัส ผู้แจ้งทั้งสองเกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งหญิงผู้หนึ่งชื่อ คุณนายเมดูซา พยายามล่อลวงเพนนีขึ้นรถ หนูทั้งสองจึงเดินทางต่อมายังโรงรับจำนำของเมดูซา และพบว่า เมดูซา กับคู่หูชื่อ สนูปส์ กำลังพยายามกู้เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลกนาม เพชรเนตรปีศาจ ขึ้นมาจากบึง เมดูซาขังเพนนีไว้ โดยให้สนูปส์เฝ้ากับจระเข้สองตัวที่นางเลี้ยงชื่อ บรูทุส และเนโร เพราะเมดูซาต้องการใช้เด็กตัวเล็กมุดโพรงลงไปงมเพชรขึ้นมา

ด้วยความช่วยเหลือของนกแอลบาทรอสชื่อ ออร์วิลล์ กับแมลงปอนาม เอวินรูด บียองกากับเบอร์นาร์ดตามเมดูซามาถึงบึงปีศาจจนได้พบเพนนีและช่วยกันคิดหาหนทางหนี พวกเขาส่งเอวินรูดไประดมสรรพสัตว์ในท้องถิ่นมาช่วย แต่เอวินรูดไปช้าเพราะถูกฝูงค้างคาวโจมตีกลางทาง เป็นเหตุให้เพนนีถูกเมดูซาพาไปงมเพชรเสียก่อน เพนนี พร้อมด้วยบียองกาและเบอร์นาร์ด ช่วยกันใช้ดาบงัดเพชรที่ติดอยู่ในปากศพออกมาเป็นผลสำเร็จ และมอบให้เมดูซา

เมดูซาไม่ต้องการแบ่งเพชรกับสนูปส์ตามสัญญา ทั้งคู่มีปากเสียงกัน เมดูซาซ่อนเพชรไว้ตุ๊กตาหมีของเพนนีและพยายามหลบหนีไป ทันใดนั้น เหล่าสัตว์ที่เอวินรูดไประดมก็มาถึงเรือร้าง และขึ้นไปสร้างความปั่นป่วนจนเรือระเบิดด้วยพลุเพื่อให้เพนนีหนีออกมาได้ เมดูซาโกรธเกรี้ยว ออกตามล่าเพนนี โดยขี่จระเข้บรูทุสกับเนโรเป็นสกี และเอาแส้โบยตีให้เคลื่อนไป ทำให้จระเข้โกรธ หันมาโจมตีเมดูซาเสียเอง ส่วนสนูปส์ขี่ซากเรืออยู่บนน้ำพลางหัวเราะเยาะ

ภายหลัง ในนิวยอร์ก สมาคมกู้ภัยชวนกันดูโทรทัศน์รายงานข่าวเพนนีพบเพชรเนตรปีศาจและมอบเพชรนั้นให้แก่สถาบันสมิทโซเนียน ส่วนเมดูซากับสนูปก็มีรายงานเป็นนัยว่าถูกจับกุมและจำคุกแล้ว เมื่อนักข่าวถามเพนนีว่า ใครไปช่วยออกมา คำตอบของเพนนีว่า หนู สร้างความงงงวยไปตาม ๆ กัน แต่ก็เป็นที่หัวเราะชอบใจของเหล่าหนู ข่าวยังรายงานว่า มีคู่รักใจดีรับเพนนีเป็นบุตรบุญธรรม ขณะนั้น เอวิดรูดรุดมาแจ้งข่าวขอความช่วยเหลือถึงที่ประชุมสมาคม บียองกากับเบอร์นาร์ดจึงเตรียมออกผจญภัยกันอีกครั้ง

ตัวละคร

[แก้]

เรื่องอื้อฉาว

[แก้]

8 มกราคม ค.ศ. 1999 สามวันหลังเผยแพร่ภาพยนตร์เป็นโฮมวิดีโอ บริษัทวอล์ตดิสนัย์เรียกวิดีโอเทปราว 3.4 ล้านชุดคืน เพราะมีภาพลามกอนาจารปรากฏในฉากหลังตอนหนึ่งของภาพยนตร์[4][5][6][7] โดยเป็นภาพเลือนรางของหญิงเปลือยท่อนบน เห็นทรวงอกและหัวนม ปรากฏในตอนที่บียองกากับเบอร์นาร์ดโดยสารนกออร์วิลล์ไปบึงปีศาจ[8]

10 มกราคม ค.ศ. 1999 หนังสือพิมพ์ ดิอินดีเพนเดนต์ รายงานว่า โฆษกหญิงของดิสนีย์แถลงว่า ภาพดังกล่าวถูกใส่เข้าไปในภาพยนตร์หลังการผลิตเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ไม่เผยว่า ใครทำ และทำทำไม โฆษกกล่าวว่า ที่เรียกคืน เพราะต้องการปฏิบัติตามคำมั่นอันให้ไว้แก่ครอบครัวผู้ชมทั้งหลายว่า ดิสนีย์จะเป็นยี่ห้อที่เชื่อถือได้ และจะให้ความบันเทิงที่ดีที่สุดแก่ทุกครอบครัว[9]

มีการออกภาพยนตร์นี้เป็นโฮมวิดีโออีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1999 โดยตัดต่อภาพที่เป็นปัญหาออกไป

ภาคต่อ

[แก้]

ภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องแรกของวอล์ตดิสนีย์ที่มีภาคต่อ คือ หนูหริ่งหนูหรั่งปฏิบัติการแดนจิงโจ้ ซึ่งออกฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 เนื้อหาดำเนินไปในเอาต์แบกต์ พื้นที่ห่างไกลในประเทศออสเตรเลีย โดยบียองกากับเบอร์นาร์ดต้องช่วยเหลือเด็กชายกับนกอินทรีให้พ้นจากเงื้อมมือของนักล่าสัตว์ใจทมิฬ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Film Reviews: The Rescuers". Variety. June 15, 1977. สืบค้นเมื่อ February 12, 2016.
  2. D'Alessandro, Anthony (October 27, 2003). "Cartoon Coffers – Top-Grossing Disney Animated Features at the Worldwide B.O.". Variety. p. 6.
  3. "สัปดาห์นี้ดูอะไรดี 👀 ขอดูด้วยคนได้มั๊ย ? Facebook Disney+ Hotstar Thailand".
  4. "Photographic images of a topless woman can be spotted in The Rescuers". Urban Legends Reference Pages. สืบค้นเมื่อ April 12, 2007.
  5. Davies, Jonathan (January 11, 1999). "Dis Calls in 'Rescuers' After Nude Images Found". The Hollywood Reporter.
  6. Howell, Peter (January 13, 1999). "Disney Knows the Net Never Blinks". The Toronto Star.
  7. Miller, D.M. (2001). "What Would Walt Do?". San Jose, CA: Writers Club Press. p. 96.
  8. White, Michael (January 8, 1999). "Disney Recalls 'The Rescuers' Video". Associated Press.
  9. "Disney recalls "sabotaged" video". The Independent (London). October 23, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 25, 2014. สืบค้นเมื่อ September 24, 2017.