ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Paris Saint-Germain F.C.)
ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง
ฉายาPSG, Paris SG, Les Rouge-et-Bleu, Les Parisiens
ยักษ์ใหญ่แดนน้ำหอม (ฉายาในภาษาไทย)
ก่อตั้ง12 สิงหาคม ค.ศ. 1970
สนามปาร์กเดแพร็งส์
ความจุ48,713 ที่นั่ง
เจ้าของกาตาร์ สปอร์ต อินเวสเมนท์ (QSI)
ประธานนาศิร อัลเคาะลัยฟี
ผู้จัดการลุยส์ เอนริเก
ลีกลีกเอิง
2023–24อันดับที่ 1 (ชนะเลิศ)
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง (ฝรั่งเศส: Paris Saint-Germain F.C.) หรือเรียกอย่างย่อว่า เปแอ็สเฌ (PSG) เป็นสโมสรฟุตบอลซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเล่นอยู่ในลีกเอิง ลีกสูงสุดของฟุตบอลฝรั่งเศส เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของฝรั่งเศส[1][2] โดยชนะเลิศการแข่งขันในประเทศและระดับทวีปมากถึง 50 รายการ ซึ่งรวมถึงสถิติชนะเลิศฟุตบอลลีกเอิง 12 สมัย และยังครองสถิติในการเล่นในลีกสูงสุดยาวนานที่สุดโดยไม่ตกชั้น และเป็นสโมสรเดียวของฝรั่งเศสที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลในประเทศ 3 รายการ และ 4 รายการในฤดูกาลเดียวกัน มีสนามเหย้าคือปาร์กเดแพร็งส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองที่ 16 ใกล้กับเทศบาลบูโลญ-บียงกูร์[3] สโมสรมีสัญลักษณ์คือรูปหอไอเฟล และดอกลิลลี สีประจำสโมสรได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว

ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1970 จากการควบรวมสโมสรระหว่างปารี แอ็ฟเซ และ สตาดแซ็ง-แฌร์แม็ง[4] ถ้วยรางวัลแรกของสโมสรคือรายการกุปเดอฟร็องส์ใน ค.ศ. 1982 ก่อนจะคว้าแชมป์ลีกเอิงสมัยแรกได้ใน ค.ศ. 1986 ถัดมาในช่วงทศวรรษ 1990 สโมสรเข้าสู่ยุคแห่งความสำเร็จ โดยชนะเลิศลีกเอิงสมัยที่ 2, ชนะเลิศกุปเดอฟร็องส์เพิ่ม 3 สมัย และกุปเดอลาลีกอีก 2 สมัย และชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพใน ค.ศ. 1996 ส่งผลให้พวกเขาเป็นหนึ่งในสองสโมสรของฝรั่งเศสที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลยุโรป[5] สโมสรเข้าสู่ช่วงตกต่ำจนเกือบจะตกชั้นจากลีกเอิงในทศวรรษ 2000 ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2011 เมื่อกลุ่มนายทุนมหาเศรษฐีจากกาตาร์เข้าซื้อกิจการสโมสร ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศส และหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[6][7][8] และด้วยการลงทุนซื้อตัวผู้เล่นมากกว่า 1.2 พันล้านยูโร ส่งผลให้สโมสรครองความยิ่งใหญ่ในประเทศอย่างต่อเนื่องโดยชนะเลิศฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วยหลายรายการ และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกใน ค.ศ. 2020[9][10]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งเป็นสโมสรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในฝรั่งเศส รวมทั้งเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก[11][12][13] สโมสรมีคู่ปรับคือออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ โดยการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมเรียกว่า เลอกลาซิก[14] ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งเป็นสโมสรที่ทำรายรับมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกจากการจัดอันดับโดยดีลอยต์ทูชโทมัตสุด้วยรายรับกว่า 800 ล้านยูโร และได้รับการจัดอันดับโดยฟอบส์ให้เป็นสโมสรที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกด้วยมูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันสโมสรอยู่ภายใต้การบริหารโดย กาตาร์ สปอร์ต อินเวสต์เมนต์ ซึ่งถือหุ้น 87.5% และ Arctos Partners บริษัทด้านการลงทุนจากสหรัฐซึ่งถือครองส่วนแบ่งอีก 12.5%

ประวัติ

[แก้]
กี เครซ็อง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสโมสร

ยุคแรกของการก่อตั้งและการแยกทีม (1970–73)

[แก้]

สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1970[15] โดย กี เครซ็อง และ ปีแยร์-เอเตียน กีโย[16] นักธุรกิจชื่อดังซึ่งมีแนวคิดต้องการสร้างทีมฟุตบอลที่เป็นตัวแทนของกรุงปารีสในการแข่งขันระดับโลก[17] และต้องการนำชื่อเสียงมาสู่กรุงปารีสและวงการฟุตบอลฝรั่งเศส โดยแต่เดิมนั้นสโมสรได้เกิดจากการรวมทีมกันระหว่างสโมสร ปารี แอ็ฟเซ (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1969) กับ สตาดแซ็ง-แฌร์แม็ง (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1904) ภายหลังจากที่สตาดแซ็ง-แฌร์แม็งซึ่งเล่นอยู่ในลีก 3 ในขณะนั้นเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกเดอ (ลีก 2) โดย ปารี แอ็ฟเซ ได้ให้การสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่าย ในขณะที่ สตาดแซ็ง-แฌร์แม็ง วางแผนในด้านโครงสร้างทีมและการบริหาร รวมถึงการสร้างศูนย์ฝึกซ้อม ซึ่งภายหลังจากการรวมทีมกันสโมสรได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง[18] และลงเล่นในลีกเดอในปีนั้น และ ปีแยร์-เอเตียน กีโย ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนแรก[19] การแข่งขันนัดแรกอย่างเป็นทางการของพวกเขาคือการบุกไปเสมอ Stade Poitevin FC ด้วยผลประตู 1–1 ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1970 ผู้ทำประตูแรกให้แก่สโมสรก็คือ Bernard Guignedoux โดยทำได้จากลูกฟรีคิก[20]

ในช่วงเวลาดังกล่าว สโมสรยังเปิดโอกาสให้แฟนบอลได้ร่วมเป็นเจ้าของทีม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของฝรั่งเศส สโมสรมีสมาชิกร่วมลงนามกว่า 20,000 คน และสโมสรเรอัลมาดริดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสโมสร[21] โดยซานเตียโก เบร์นาเบว ประธานสโมสรเรอัลมาดริดในขณะนั้น ได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนพวกเขาจากการที่กลุ่มผู้บริหารเริ่มประสบปัญหาการเงิน[22]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดอย่างลีกเอิงได้ใน ค.ศ. 1971 ในฐานะแชมป์การแข่งขันลีกเดอ[23] โดยในฤดูกาลแรกพวกเขาสามารถจบในอันดับที่ 16 และในฤดูกาลต่อมาพวกเขาจบอันดับที่ 12 ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1972 สภาเมืองปารีสได้เสนอเงินจำนวน 850,000 ฟรังก์เพื่อชำระหนี้ของสโมสร และรักษาสถานะในการเล่นบนลีกสูงสุดต่อไป โดยข้อเสนอดังกล่าวแลกกับการต่อรองให้สโมสรเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า "Paris Football Club (สโมสรฟุตบอลปารี)" กี เครซ็อง ผู้เข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อ ทว่า อ็องรี ปาเตรล ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การลาออกของ เครซ็อง โดยเขายอมส่งมอบตำแหน่งประธานสโมสรให้แก่ปาเตรลแทน ซึ่งปาเตรลได้พยายามเจรจากับสภาของกรุงปารีสใหม่อีกครั้งทว่าก็ไม่เป็นผล

ในช่วงนั้นมีนักเตะชื่อดังอย่างฟร็องซัว อึมเปอเล เขาเป็นผู้ทำประตูสูงสุดอันดับที่ 7 ของการแข่งขันในสโมสร ซึ่งเขายังเป็นผู้ทำประตูสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ Rouge et Bleu ในเฟรนช์คัพ (28 ประตู) นักเตะชาวคองโกซึ่งยิงประตูในลีกไปถึง 21 ประตู ต่อมาใน ค.ศ. 1972 สืบเนื่องจากความขัดแย้งที่เรื้อรังมาร่วมปี สโมสรได้ประกาศแยกทีมอีกครั้ง โดยสโมสรปารี แอ็ฟเซ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสภากรุงปารีส และ กี เครซ็อง กลับไปมีสถานะเดิมอีกครั้งและยังคงเล่นในลีกสูงสุดต่อไปในฤดูกาล 1973 ในขณะที่ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง (สตาดแซ็ง-แฌร์แม็งเดิม) ของ อ็องรี ปาเตรล ต้องตกชั้นอีกครั้ง และสูญเสียสถานะสโมสรฟุตบอลอาชีพไปโดยปริยาย เอ็มเปเล่ทำผลงานยิงประตูในลีกให้กับสโมสรไปถึง 21 ประตูโดยเป็นรองดาวซัลโวของฤดูกาล 1974-75[24]

กลับคืนสู่ลีกสูงสุด และความสำเร็จในยุคแรก (1970–89)

[แก้]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ทำการยกระดับทีมกลับมาอีกครั้ง ด้วยการมารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารคนใหม่อย่าง ดาเนียล เฮชเตอร์ นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเบลเยียม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1973[25] โดยเขามีบทบาทสำคัญในด้านการลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก และยังเป็นผู้ออกแบบชุดแข่งขันของทีมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น[26] และยังแต่งตั้ง ฌุสต์ ฟงแตน อดีตนักฟุตบอลชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังเข้ามาเป็นผู้อำนวยการด้านกีฬา สโมสรกลับคืนสู่ลีกเอิงได้อีกครั้งหลังจากกลับมาเอาชนะ สโมสรฟุตบอลวาล็องเซียนส์ ในการแข่งขันเพลย์ออฟด้วยผลประตูรวมสองนัด 5–4 แม้จะบุกแพ้ในนัดแรก 1–2 แต่พวกเขากลับมาเอาชนะคืนได้ที่ปาร์กเดแพร็งส์ ด้วยผลประตู 4–2[27] และสโมสรไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สโมสรยังได้รับสถานะสโมสรฟุตบอลอาชีพกลับมาอีกครั้ง

ในฤดูกาล 1973–74 ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ลงเล่นเกมในบ้านที่ ปาร์กเดแพร็งส์ บนลีกสูงสุดนัดแรกพบสโมสรเรดส์สตาร์ และพวกเขาเอาชนะด้วยผลประตู 3–1 โอตเนียล ดอสเซวี ชาวโตโก ถือเป็นผู้ทำประตูแรกของสโมสรที่สนามแห่งนี้[28] พวกเขายังทำผลงานในฟุตบอลถ้วยได้อย่างยอดเยี่ยมในเวลาอันสั้น โดยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศรายการ กุปเดอฟร็องส์ ได้ หลังจากเอาชนะ แม็ส ด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–1[29] ในช่วงเวลานั้นสโมสรที่แยกตัวออกไปอย่าง ปารี แอ็ฟเซ มีช่วงเวลาที่มืดมน พวกเขามีผลงานย่ำแย่ถึงขั้นตกชั้นสู่ลีกเดอในฤดูกาลเดียวกับที่ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เลื่อนชั้นกลับมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของ ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ดาเนียล เฮชเตอร์ ได้ปรับบทบาทด้วยการดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1974 ภายหลังการลาออกของ อ็องรี ปาเตรล และ ฟรองซิส บอเรลลิ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานสโมสร

ภายใต้การบริหารทีมของ เฮชเตอร์ สโมสรยังไม่สามารถชนะถ้วยรางวัลใดในทศวรรศ 1970 นี้ แต่มีการพัฒนาทีมอย่างต่อเนื่องและทำผลงานในฟุตบอลถ้วยได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้สโมสรมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นทุกปี นำไปสู่การดึงดูดผู้เล่นชื่อดังในยุคนั้นอย่าง ฌ็อง-ปีแยร์ โดเลียน, มุสตาฟา ดาร์เลฟ และ การ์ลอส เบียงคี[30] อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น เมื่อ ดาเนียล เฮชเตอร์ ถูกลงโทษจากสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส ห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางฟุตบอลในประเทศตลอดชีวิต สืบเนื่องจากการทุจริตในโครงการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน ณ สนามปาร์กเดแพร็งส์ ส่งผลให้ ฟรองซิส บอเรลลิ รองประธานในขณะนั้นรับตำแหน่งประธานสโมสรต่อ

สโมสรคว้าแชมป์รายการแรกคือกุปเดอฟร็องส์ในฤดูกาล 1981–82[31] ด้วยการชนะอาแอ็ส แซ็งเตเตียนในการดวลลูกโทษ หลังจากเสมอกัน 2–2 ภายใต้การคุมทีมของผู้จัดการอย่าง ฌอร์ฌ แปรอโช ซึ่งรับตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ท่ามกลางการเฉลิมฉลองของแฟน ๆ ในสนามรวมถึงประธานสโมสรที่วิ่งลงไปในสนาม โดยผู้ที่ยิงจุดโทษตัดสินให้ทีมชนะก็คือ ฌ็อง-มาร์ก ปียาร์เฌ ชัยชนะดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมแข่งขันฟุตบอลยุโรปของสโมสร ซึ่งพวกเขาเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศยูโรเปียนคัพในฤดูกาล 1982–83[32]

ด็อมมินิค โรเชตู หนึ่งในผู้เล่นตัวหลักของสโมสรในช่วงทศวรรษ 1980

แม้จะยังไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกเอิงได้ แต่พวกเขาก็ทำอันดับได้ดีโดยจบอันดับสามในฤดูกาล 1982–83 และป้องกันแชมป์กุปเดอฟร็องส์ได้อีกครั้ง จากเอาชนะน็องต์ผู้ชนะการแข่งขันลีกเอิงในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตู 3–2[33] ก่อนที่ แปรอโช จะลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีม[34] แต่การรอคอยก็สิ้นสุดลงเมื่อพวกเขาคว้าแชมป์ลีกเอิงได้ในฤดูกาล 1985–86 ภายใต้การคุมทีมของ เฌราร์ อูลีเย[35] ทีมชุดนั้นมีผู้เล่นแกนหลักอย่าง โฌแอล บัตซ์, ด็อมมินิค เบเธเนย์, ลุยส์ เฟอร์นานเดส, ซาเฟต ซูซิช และ ด็อมมินิค โรเชตู โดยสโมสรคว้าแชมป์ด้วยผลงานยอดเยี่ยมโดยไม่แพ้ติดต่อกันถึง 26 นัด นับตั้งแต่บุกไปเอาชนะตูลูสในนัดที่สามของฤดูกาล แต่เส้นทางในฤดูกาลต่อมาก็ไม่ราบรื่นนัก เมื่อพวกเขาจบเพียงอันดับเจ็ดในลีกเอิง[36] และยังตกรอบฟุตบอลถ้วยอย่างรวดเร็วทั้งการแข่งขันในประเทศและยูโรเปียนคัพ

เข้าสู่ฤดูกาล 1987–88 สโมสรยังทำผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยต้องลุ้นหนีตกชั้นถึงนัดสุดท้าย แต่เอาตัวรอดได้จากการบุกไปเอาชนะ เลออาฟวร์ อาเซ[37] ก่อนจะกลับไปทำผลงานยอดเยี่ยมอีกครั้งในฤดูกาล 1988–89 โดยลุ้นแชมป์ลีกกับคู่อริอย่าง ออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ แต่ก็พลาดแชมป์โดยเป็นรองเพียงแค่สามคะแนน[38]

ยุคทอง (1990–99)

[แก้]
จอร์จ เวอาห์ กองหน้าชาวไลบีเรียผู้ทำผลงานโดดเด่นกับสโมสร ก่อนจะคว้ารางวัลบาลงดอร์ ค.ศ. 1995

ใน ค.ศ. 1991 กานาลปลุส (Canal+) สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของฝรั่งเศสได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสร และทำให้สโมสรเริ่มกลับมาประสบความสำเร็จมากขึ้น พวกเขากลายสภาพเป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ และถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของพวกเขาอย่างแท้จริง[39] มีแชล เดนีโซ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสโมสรแทนที่ ฟรานซิส บอเรลลิ ภายใต้ความคาดหวังที่สูงขึ้น โดยกลุ่มผู้บริหารตั้งเป้ามหายว่าต้องผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในรายการยุโรปในฤดูกาลแรกทันที และต้องกลับไปคว้าแชมป์ลีกเอิงให้ได้ภายในสามปี[40] ด้วยเหตุนี้ Canal+ จึงเพิ่มงบประมาณของสโมสรเพื่อเสริมทีมจาก 90 เป็น 120 ล้านฟรังก์เพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่งไว้สำหรับฤดูกาล 1991–92 รวมทั้งแต่งตั้งผู้จัดการทีมอย่าง อาร์ตูร์ จอร์จ ซึ่งพาฟูเตบอลกลูบึดูโปร์ตู หรือ สโมสรฟุตบอลโปร์ตู ทีมดังของโปรตุเกสคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพ ค.ศ. 1987 รวมถึงเซ็นสัญญากับผู้เล่นใหม่อย่าง รีการ์ดู โกมึซ และ วัลดู สองผู้เล่นชื่อดังทีมชาติบราซิลจากสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา รวมทั้งผู้เล่นชาวฝรั่งเศศที่ทำผลงานโดดเด่นหลายราย ไม่ว่าจะเป็น โปล เลอ เก็น, โลร็องต์ โฟร์เนียร์, ปาทริค คอลเลเตอร์ และกองหน้าชาวไลบีเรียอย่าง จอร์จ เวอาห์

ในฤดูกาล 1992–93 ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของความดุเดือดในศึกแห่งศักดิ์ศรีอย่าง เลอกลาซิก ที่สโมสรต้องพบกับ ออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ ซึ่งทั้งสองทีมแย่งแชมป์ลีกกันอย่างสูสีอีกครั้งเช่นเดียวกับในฤดูกาล 1988–89 และปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ก็ต้องผิดหวังไปอีกครั้ง หลังจากมีคะแนนตามหลังมาร์แซย์สองคะแนนได้เพียงรองแชมป์ โดยพวกเขาแพ้ต่อมาร์แซย์ไปทั้งเกมเหย้าและเกมเยือน[41] โดยการแข่งันนัดสำคัญเกิดขึ้นเพียงสามวันภายหลังออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ คว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 1992–93 ซึ่งพวกเขาต้องเปิดบ้านรับผู้มาเยือนอย่างปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง โดยนัดนั้นถือเป็นนัดตัดสินแชมป์และพวกเขาเอาชนะ ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ไปได้ อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลฝรั่งเศส เมื่อออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ถูกตัดสินจากสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสว่ามีความผิดจากกรณีล็อกผลการแข่งขัน และสมาคมตัดสินใจทำการริบแชมป์และจะมอบตำแหน่งให้แก่ ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ทีมอันดับสองแทน แต่เจ้าของสโมสรอย่างกานาลปลุสได้ปฏิเสธสิทธิ์ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให่แก่กลุ่มผู้สนับสนุนของทีม ส่งผลให้ตำแหน่งผู้ชนะลีกสูงสุดในปีนั้นเป็นโมฆะ และถือว่าไม่มีทีมใดคว้าแชมป์ และ อาแอ็ส มอนาโก ซึ่งได้อันดับสามในฤดูกาลนั้น ได้สิทธิ์ไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 1993–94 แทน ออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ที่ได้รับโทษแบน

แม้จะพลาดแชมป์ลีก แต่สโมสรสามารถคว้าแชมป์กุปเดอฟร็องส์ด้วยการชนะน็องต์ด้วยผลประตู 3–0 ต่อมาใน ค.ศ. 1995 สโมสรคว้าแชมป์กุปเดอฟร็องส์ ได้หลังเอาชนะอาแอ็สสทราซบูร์ 1–0 และคว้าแชมป์ทรอเฟเดช็องปียงในปีเดียวกัน รวมทั้งผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ จอร์จ เวอาห์ กองหน้าคนสำคัญของทีมซึ่งทำผลงานโดดเด่นในฤดูกาลนั้นยังคว้ารางวังบาลงดอร์ได้และยังได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำปีของฟีฟ่า แม้เจ้าตัวจะย้ายไปร่วมทีมเอซีมิลาน ต่อมาใน ค.ศ. 1996 สโมสรคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพสมัยแรกได้ และเป็นการคว้าแชมป์รายการระดับทวีปครั้งแรก[42] โดยเอาชนะสโมสรราพิทวีนจากออสเตรียด้วยผลประตู 1–0 จากประตูชัยของบรูว์โน อึนกอตี[43] และยังได้รองแชมป์ลีกเอิงในปีเดียวกัน ต่อมา ในฤดูกาล 1997–98 ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งคว้าแชมป์ในประเทศได้สองรายการคือ ทรอเฟเดช็องปียงและกุปเดอลาลีกเอิง ก่อนที่จะได้รองแชมป์ลีกเอิงอีกครั้งในฤดูกาล 1999–2000[44] ในทศวรรษ 1990 ถือเป็นรุ่งเรื่องของสโมสรนับตั้งแต่ก่อตั้งทีม พวกเขาชนะถ้วยรางวัลเก้ารายการ

ประสบปัญหา (2000–09)

[แก้]

นับจากปี 1998 เป็นต้นมาการเปลี่ยนแปลงของสโมสรได้เกิดขึ้นมากมาย เริ่มต้นจากการมีปัญหาภายในด้านการเงินของสโมสรจากนั้นฐานะทางการเงินของสโมสรก็ดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงเวลาดังกล่าวสโมสรสามารถคว้าแชมป์ยูฟ่าอินเตอร์โตโต้คัพได้ในปี 2001 ซึ่งทีมชุดนั้นนำโดยผู้เล่นระดับตำนานเช่น มาร์โก ซีโมเน, รอนัลดีนโย และเปาเลตา ต่อมา กลุ่มกานาลได้ขายสโมสรให้กับ Colony Capital ในปี 2006 หลังจากนั้นมาสโมสรก็ได้ยกระดับตนเองขึ้นมาและเริ่มมีฐานแฟนบอลเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ในช่วงเวลาดังกล่าวพวกเขาคว้าแชมป์เพิ่มได้ 5 รายการ

อย่าไรก็ตาม ในช่วงฤดูกาล 2006–07 และ 2007–08 สโมสรต้องประสบกับปัญหาภายในหลายอย่างและมีผลงานย่ำแย่ในลีกเอิงจนถึงขั้นต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2008 โดยในการแข่งขันนัดสุดท้ายพวกเขาต้องพบกับโซโชซ์ในการลุ้นหนีตกชั้น และอมารา ไดแอน กองหน้าชาวโกตดิวัวร์ เป็นผู้ทำประตูชัยช่วยให้ทีมชนะไปได้ 2–1 รอดตกชั้นไปอย่างหวุดหวิด

มหาเศรษฐีทีมใหม่ (2011–ปัจจุบัน)

[แก้]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 2011 เมื่อสโมสรถูกกลุ่มนายทุนจากประเทศกาตาร์ในนาม Qatar Sports Investments เข้าซื้อ โดยมีนาศิร อัลเคาะลัยฟี ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรพร้อมด้วยเงินจำนวนมหาศาล ผู้บริหารสโมสรได้ลงทุนสร้างทีมจนกลายเป็นทีมยักษ์ใหญ่ทีมใหม่ของยุโรปด้วยผู้เล่นระดับโลก และมีเป้าหมายคือการคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[45]

ซลาตัน อิบราฮีโมวิช เปิดตัวบริเวณหน้าหอไอเฟลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012

เลโอนาร์ดู อาราอูฌู อดีตผู้เล่นของสโมสรเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการด้านกีฬา และดูแลตลาดซื้อขายนักเตะในช่วงฤดูร้อนปี 2011 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ลีกเอิง รวมถึงการเซ็นสัญญากับนักเตะหลายราย เช่น แบลซ มาตุยดี, ซัลวาโตเร ซีรีกู , มักซ์เวล, เควิน กาเมโร และ ฆาบิเอร์ ปัสโตเร[46] แม้จะจบการแข่งขันลีกเอิงฤดูกาล 2011–12 ด้วยรองแชมป์ แต่พวกเขากลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในประเทศได้ในปีต่อมา โดยการนำทีมของผู้เล่นชื่อดัง ซลาตัน อิบราฮีโมวิช และกัปตันทีม ชียากู ซิลวา ภายใต้การคุมทีมของ การ์โล อันเชลอตตี ผู้จัดการทีมชื่อดัง[47] รวมทั้งเซ็นสัญญาระยะสั้นกับเดวิด เบคแคม[48] จำนวน 30 ประตูของอิบราฮีมอวิชทำให้ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งคว้าแชมป์ลีกเอิงเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี และเป็นสมัยที่สามในประวัติศาสตร์ พวกเขายังกลายเป็นทีมที่เข้าสู่รอบแพ้คัดออกของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูกาลนั้นพวกเขาตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายโดยแพ้บาร์เซโลนาด้วยกฎประตูทีมเยือน

การลงทุนในตลาดซื้อขายยังคงดำเนินต่อไป ด้วยการมาถึงของเอดินซอน กาบานิ ในปี 2013 ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 64 ล้านยูโร[49] และดาวิด ลูอีซ ในปี 2014 ในราคา 50 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นสถิติโลกในขณะนั้นของการซื้อขายผู้เล่นกองหลัง แม้อันเชลอตตีจะอำลาทีมเพื่อไปคุมเรอัลมาดริด แต่สโมสรยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยการคุมทีมของ โลร็องต์ บล็องก์ ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์สามรายการหลักในประเทศ (ลีกเอิง, กุปเดอลาลีก และ ทรอเฟเดช็องปียง) ในฤดูกาล 2013–14 ตามด้วยการคว้า 4 แชมป์ในประเทศ (ลีกเอิง, กุปเดอฟร็องส์, กุปเดอลาลีก และ ทรอเฟเดช็องปียง) ได้สองฤดูกาลติตด่อกันตั้งแต่ปี 2014–16 โดยเฉพาะในปี 2016 ซึ่งสโมสรได้แชมป์ลีกโดยทำไปถึง 96 คะแนน เป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลของฟุตบอลฝรั่งเศส

Neymar Jr official presentation for Paris Saint-Germain, 4 August 2017.
เนย์มาร์ เซ็นสัญญากับสโมสรด้วยค่าตัวสถิติโลกจำนวน 222 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2017

ในฤดูกาล 2016–17 อูไน เอเมรี เข้ามาคุมทีมหลังจากประสบความสำเร็จในการพาเซบิยาคว้าแชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีก 3 สมัยติดต่อกัน แต่ผลงานโดยรวมของทีมตกลงไปจากการย้ายทีมของ ซลาตัน อิบราฮีโมวิช[50] พวกเขาเสียแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีให้แก่อาแอ็ส มอนาโก และยังล้มเหลวในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้บาร์เซโลนาในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยผลประตูรวม 5–6 ทั้งที่เอาชนะไปได้ก่อนในนัดแรกที่ปาร์กเดแพร็งส์ 4–0 แต่กลับพ่ายแพ้ในการไปเยือนที่สนามกัมนอว์อย่างยับเยิน 1–6 ความสำเร็จในการกลับมาของบาร์เซโลนาในครั้งนั้นได้รับการยกย่องเป็น "La Remontada" ("The Comeback")[51] จากความล้มเหลวดังกล่าว ส่งผลให้ทีมลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้งในฤดูกาลต่อมาด้วยการซื้อตัวเนย์มาร์ ผู้เล่นชื่อดังชาวบราซิลด้วยค่าตัวสถิติโลก 222 ล้านยูโร รวมถึงการยืมตัวกีลียาน อึมบาเป ดาวรุ่งชาวฝรั่งเศสที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในยุโรปมาจากมอนาโกก่อนจะซื้อขาดในราคา 180 ล้านยูโร ทำให้ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งมีสองนักเตะที่ค่าตัวสูงที่สุดในโลกอยู่ในทีม ก่อนจะคว้า 4 ถ้วยรางวัลในประเทศได้เป็นครั้งที่สามในรอบสี่ฤดูกาล แต่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จในรายการยุโรป โดยแพ้เรอัลมาดริดในยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีก ส่งผลให้เอเมรียุติสัญญา[52]

โทมัส ทุคเคิล เข้ามาคุมทีมต่อ[53] แต่พาทีมตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยกฎประตูทีมเยือน (ผลประตูรวม 3–3) แม้พวกเขาจะบุกไปชนะได้ก่อนที่โอลด์แทรฟฟอร์ด 2–0 แต่แพ้ในนัดที่สองที่ปาร์กเดแพร็งส์ด้วยประตู 1–3 รวมถึงแพ้สตาดแรแนในรอบชิงชนะเลิศกุปเดอฟร็องส์ และแพ้แก็งก็องในกุปเดอลาลีก 1–2 แต่พวกเขายังคว้าแชมป์ลีกเอิงได้เป็นสมัยที่ 8 ต่อมา ในฤดูกาล 2019–20 สโมสรคว้าแชมป์ลีกเป็นสมัยที่ 9 จากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศตัดจบฤดูกาลจากการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนา[54] และยังคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยได้สองรายการคือ กุปเดอฟร็องส์ และ กุปเดอลาลีก เอาชนะ อาแอ็ส แซ็งเตเตียน และ ออแล็งปิกลียอแน ตามลำดับ และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกแต่แพ้ไบเอิร์นมิวนิก 0–1[55] แม้จะประสบความสำเร็จกับสโมสร แต่ทุคเคิลได้ลาทีมในฤดูกาลต่อมาจากการมีปัญหากับผู้บริหารสโมสร[56] เมาริซิโอ โปเชติโน อดีตผู้เล่นของสโมสรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมในเดือนมกราคม 2021[57] และพาทีมได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยสองรายการคือทรอเฟเดช็องปียง และกุปเดอฟร็องส์ แต่พวกเขาตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยแพ้แมนเชสเตอร์ซิตี และยังเสียแชมป์ลีกเอิงให้แก่ล็อสก์ลีล[58]

กีลียาน อึมบาเป, ลิโอเนล เมสซิ และ เนย์มาร์ ผู้เล่นสามประสานในตำแหน่งแนวรุกระหว่างฤดูกาล 2021–23

ในฤดูกาลต่อมา สโมสรทำการลงทุนครั้งใหญ่ด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นระดับโลก[59][60][61] ได้แก่ ลิโอเนล เมสซิ,[62] เซร์ฆิโอ ราโมส, อัชร็อฟ ฮะกีมี, จอร์จีนีโย ไวนัลดึม และ จันลุยจี ดอนนารุมมา รวมถึงการยืมตัว นูนู เม็งดึช[63] แต่ก็ล้มเหลวในฟุตบอลถ้วยทุกรายการ โดยแพ้ล็อสก์ลีลในทรอเฟเดช็องปียง 0–1 และตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายกุปเดอฟร็องส์จากการแพ้จุดโทษโอเฌเซ นิส และแพ้ เรอัล มาดริด ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก[64] ก่อนจะคว้าแชมป์ลีกเอิงเป็นสมัยที่ 10 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดร่วมกับ อาแอ็ส แซ็งเตเตียน ในฤดูกาลนี้สโมสรต้องพบกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของผู้เล่นคนสำคัญอย่าง กีลียาน อึมบาเป ซึ่งตกเป็นข่าวว่าต้องการย้ายร่วมทีมเรอัลมาดริด[65] แต่ท้ายที่สุด อึมบาเป ก็ขยายสัญญากับสโมสรออกไปถึง ค.ศ. 2025[66] นำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปโดยลาลิกา ซึ่งต้องการให้ตรวจสอบการละเมิดกฎการเงินของปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง[67]

ในฤดูกาล 2022–23 นาศิร อัลเคาะลัยฟี ซึ่งไม่พอใจกับทิศทางของสโมสรซึ่งยังไม่สามารถคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาครอง ได้ให้คำมั่นแก่กลุ่มผู้สนับสนุนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในด้านโครงสร้างและการบริหารทีม โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เลอ ปารีเซียง[68] ว่าทีมจะเดินหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการแต่งตั้ง ลุยส์ แกมโปส เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านกีฬาให้แก่ อาแอ็ส มอนาโก และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันการซื้อตัวผู้เล่นชื่อดัง เช่น ราดาเมล ฟัลกาโอ, ฌูเวา โมตีญู, ฮาเมส โรดริเกซ, ฟาบิญญู, อ็องตอนี มาร์ซียาล, บือร์นาร์ดู ซิลวา และ ตอมา เลอมาร์ ตามด้วยการปลดโปเชติโนในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 และแต่งตั้ง คริสต็อฟ กาลตีเย เข้ามารับตำแหน่งแทนด้วยสัญญาสองปี[69] สโมสรยังเน้นเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุน้อย โดยมีการนำผู้เล่นอย่าง นูนู เม็งดึช, วีตีญา, อูโก เอกิติเก และ นอร์ดี มูคิเอเล เข้ามาเสริมทีม ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นอายุมากหลายรายได้ถูกขึ้นบัญชีขาย[70]

กาลตีเยพาทีมประเดิมฤดูกาล 2022–23 ด้วยการเอาชนะน็องต์ด้วยผลประตู 4–0 ในรายการทรอเฟเดช็องปียง 2022 แต่ทีมก็ยังล้มเหลวในฟุตบอลยุโรป โดยแพ้ไบเอิร์นมิวนิกในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยผลรวมสองนัด 0–3[71] สโมสรสร้างสถิติใหม่ในการคว้าแชมป์ลีกเอิงสูงสุดสมัยที่ 11 ในฤดูกาลนี้ ภายหลังจบฤดูกาลทีมมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นอีกครั้ง เมื่อผู้เล่นสำคัญอย่างเมสซิ, เนย์มาร์ และราโมสอำลาทีม[72][73] รวมถึงมีการแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่อย่างลุยส์ เอนริเก ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์ทรอเฟเดช็องปียง 2023 ด้วยการเอาชนะตูลูซ ด้วยผลประตู 2–0 ตามด้วยแชมป์ลีกเอิงฤดูกาล 2023–24 ซึ่งเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 12 และคว้าแชมป์กุปเดอฟร็องส์สมัยที่ 15 ด้วยการชนะออแล็งปิกลียอแน 2–1 ภายหลังจบฤดูกาลสโมสรต้องเสียผู้เล่นคนสำคัญอย่างอึมบาเปซึ่งย้ายไปร่วมทีมเรอัลมาดริดในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2024

เอกลักษณ์

[แก้]
The Lynx สัตว์นำโชคประจำสโมสร

สโมสรถือเป็นตัวแทนของประเทศฝรั่งเศส โดยมีสีประจำทีมคือสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว โดยสีแดงและน้ำเงินถือเป็นสีของชาวปารีส และสีขาวสื่อถึงการเป็นตัวแทนของจักรพรรดิฝรั่งเศสในอดีต[74] นอกจากนี้ โลโก้ของสโมสรยังปรากฏภาพของหอไอเฟล ซึ่งต้องการสื่อถึงการเป็นตัวแทนของสโมสรที่ดีที่สุดในกรุงปารีสและยังสะท้อนถึงการเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลฝรั่งเศส[75]

สัตว์นำโชคอย่างเป็นทางการของสโมสรคือ "Germain the Lynx" ซึ่งสวมชุดที่เป็นสีประจำสโมสร โดยเปิดตัวใน ค.ศ. 2010[76] ที่กรุงปารีส เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีของสโมสรและมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่เด็ก ๆ โดย "The Lynx" จะออกมาสร้างสีสันทุกครั้งก่อนเริ่มการแข่งขันโดยมักออกมาแจกของขวัญรวมทั้งขนมให้กับแฟนบอลในสนาม

คำขวัญ

[แก้]

คำขวัญแรกอย่างเป็นทางการของสโมสรคือ "Allez Paris!"[77] ซึ่งเริ่มใช้โดย แอนนี คอร์ดี นักแสดงหญิงชื่อดังชาวเบลเยียมใน ค.ศ. 1970 ซึ่งเธอถือเป็นแฟนของสโมสรมาอย่างยาวนานและยังเป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ให้การสนับสนุนเงินทุนสโมสรในระยะแรกของการก่อตั้งทีมในคริสต์ทศวรรษ 1970 อีกด้วย[78] ต่อมาใน ค.ศ. 1977 แฟนบอลในกรุงปารีสได้ร่วมกันก่อตั้งคำขวัญ "Allez Paris-Saint-Germain!" และเริ่มมีการนำมาร้องเชียร์ให้กำลังใจนักฟุตบอลในสนาม โดยยังคงให้เกียรติแอนนี่ คอร์ดีด้วยการใช้คำว่า Allez Paris นำหน้าเสมอ และสโมสรได้นำคำขวัญ Allez Paris-Saint-Germain! มาเป็นคำขวัญสโมสรมาจนถึงปัจจุบัน[79][80]

สนามกีฬา

[แก้]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ลงเล่นเกมแรกของพวกเขาที่สนามเหย้าปัจจุบันคือปาร์ก เด แพร็งซ์ พบสโมสรเรดส์สตาร์ ใน ค.ศ. 1973 สนามมีความจุ 47,929 ที่นั่ง ตั้งอยู่ในกรุงปารีส โดยมีจุดเด่นคือสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามโดยรอบกรุงปารีสได้อย่างชัดเจน และจะมีการเปิดไฟเป็นสีธงชาติฝรั่งเศสเป็นประจำทุกค่ำคืน[81] สนามแห่งนี้เคยถูกใช้โดย ปารี แอ็ฟเซ จนกระทั่งสโมสรตกชั้นสู่ลีกเดอใน ค.ศ. 1974 ซึ่งเป็นฤดูกาลเดียวกับทีม ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เลื่อนชั้นกลับคืนสู่ลีกสูงสุด สนามแห่งนี้จึงเป็นสนามเหย้าของ ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง มานับตั้งแต่นั้น

ศึกแห่งศักดิ์ศรี

[แก้]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งถือเป็นคู่ปรับสำคัญของสโมสรออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ การพบกันระหว่างทั้งสองทีมถือเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่เรียกว่าเลอกลาซิก ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ดุเดือดที่สุดของวงการฟุตบอลฝรั่งเศส[82][83] และได้รับการขนานนามจากแฟนฟุตบอลว่าเป็นศึกเอลกลาซิโกของฝรั่งเศส[84][85]

ทั้งสองสโมสรถือเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสองอันดับแรกของประเทศ และต่างก็เป็นหนึ่งในสองสโมสรของประเทศฝรั่งเศสที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลระดับทวีป ทั้งสองฝ่ายต่างแย่งชิงความสำเร็จกันมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา นอกจากนี้ทั้งสองทีมยังถือเป็นสองสโมสรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในฝรั่งเศส[86][87] ทั้งคู่มีสถิติการพบกันจำนวน 101 นัด โดยปารีแซ็ง-แฌร์แม็งสามารถเอาชนะไปได้ 45 นัด เป็นชัยชนะของออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ 33 นัด และเสมอกันไป 23 นัด

บุคลากรปัจจุบัน

[แก้]
ณ วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2022[88]

คณะกรรมการ

[แก้]
Nasser Al-Khelaïfi, president of Paris Saint-Germain.
นาศิร อัลเคาะลัยฟี ประธานสโมสรคนปัจจุบัน
  • ประธานสโมสร: นาศิร อัลเคาะลัยฟี
  • รองผู้จัดการทั่วไป: ฌ็อง-โคลด บลังค์[89]
  • เลขาธิการ: วิคตอเรียโน เมเรโร[90]
  • ที่ปรึกษา: ลุยส์ แกมโปส[91]
  • รองผู้อำนวยการด้านฟุตบอล: ออลีวีเย กาเย[92]

ทีมงานผู้ฝึกสอน

[แก้]
  • ผู้จัดการทีม: ลุยส์ เอนริเก
  • ผู้ช่วยผู้จัดการทีม: ตีแยรี โอเล็กเซียก
  • ผู้ช่วยผู้จัดการทีมคนที่สอง: ฌูเวา ซาคราเมนโต
  • ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู: จานลูกา สปิเนลลิ
  • นักกายภาพบำบัด: เปโดร โกเมส

ผู้เล่น

[แก้]
ณ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2024[93]

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK อิตาลี จันลุยจี ดอนนารุมมา
2 DF โมร็อกโก อัชร็อฟ ฮะกีมี
3 DF ฝรั่งเศส แพร็สแนล กีมแปมเบ
5 DF บราซิล มาร์กิญญุส (กัปตัน)
8 MF สเปน ฟาเบียน รุยซ์
9 FW โปรตุเกส กงซาลู รามุช
10 FW ฝรั่งเศส อุสมาน แดมเบเล
11 MF สเปน มาร์โก อาเซนซิโอ
14 FW ฝรั่งเศส เดซีเร ดูเอ
17 MF โปรตุเกส วีตีญา
19 MF เกาหลีใต้ อี คัง-อิน
21 DF ฝรั่งเศส ลูกัส แอร์น็องแดซ
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
23 FW ฝรั่งเศส ร็องดาล กอโล มัวนี
24 MF ฝรั่งเศส เซนนี มายูลู
25 DF โปรตุเกส นูนู เม็งดึช
29 FW ฝรั่งเศส แบรดลีย์ บาร์กอลา
33 MF ฝรั่งเศส วาร์เรน ซายาร์-เอเมอรี
35 DF บราซิล ลูคัส เบรัลดู
37 DF สโลวาเกีย มิลาน ชกรีเนียร์
39 GK รัสเซีย มัตเวย์ ซาโฟนอฟ
42 DF ฝรั่งเศส โยรัม ซาร์ก
51 DF เอกวาดอร์ วิลเลียม โยเอล ปาโช เตโนริโอ
80 GK สเปน อาร์เนา เตนัส
87 MF โปรตุเกส ฌูเวา แนวึช

ผู้เล่นที่ปล่อยยืม

[แก้]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
GK ฝรั่งเศส ลูว์กา ลาวาเล (ไป ยูเอสแอล ดาแค๊ก จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
DF สเปน ฆวน เบร์นัต (ไป สปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
DF ฝรั่งเศส โกแล็ง ดักบา (ไป โอแซร์ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
MF สเปน อิสมาเอล การ์บี อัลบาเรซ (ไป เอฟซี สต๊าด โลซาน-อูชี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
MF โปรตุเกส รึนาตู ซังชึช (ไป โรมา จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
MF ฝรั่งเศส อายมาน คาริ (ไป สโมสรฟุตบอลลอริยองต์ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
MF เนเธอร์แลนด์ ซาฟี ซีโมนส์ (ไป แอร์เบ ไลพ์ซิช จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
FW ฝรั่งเศส โนอา เลอมีนา (ไป อูนีโอเนกัลโชซัมป์โดเรีย จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)

เกียรติประวัติ

[แก้]
ตู้โชว์ถ้วยรางวัลในพิพิธภัณฑ์สโมสร ณ สนาม ปาร์กเดแพร็งส์

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ครองสถิติชนะเลิศการแข่งขันในประเทศหลายรายการ[94] พวกเขาเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฝรั่งเศสในแง่ของจำนวนถ้วยรางวัล[95] โดยชนะเลิศการแข่งขันในประเทศได้ 46 รายการรวมทั้งสถิติชนะเลิศลีกเอิง 12 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติชนะเลิศสูงสุดในรายการ กุปเดอฟร็องส์, กุปเดอลาลีก และทรอเฟเดช็องปียง ในการแข่งขันระดับทวีป พวกเขาชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ และ ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ รายการละ 1 สมัย[96][97][98]

ภายหลังจากการชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพในฤดูกาล 1995–96 ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวของฝรั่งเศสที่คว้าแชมป์รายการดังกล่าวได้ และเป็นหนึ่งในสองสโมสรของฝรั่งเศส (ร่วมกับ ออแล็งปิกเดอมาร์แซย์) ที่ชนะเลิศการแข่งขันระดับทวีป รวมทั้งเป็นสโมสรจากยุโรปที่มีอายุการก่อตั้งน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ได้[99] ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เป็นสโมสรฝรั่งเศสที่ลงเล่นในลีกสูงสุดติดต่อกันยาวนานที่สุด (47 ปีนับตั้งแต่ฤดูกาล 1974–75)[100] นอกจากนี้ยังเป็นสโมสรเดียวในฝรั่งเศสที่ชนะเลิศรายการ กุปเดอฟร็องส์ ได้โดยไม่เสียประตูเลยตลอดทั้งรายการ โดยทำสถิติดังกล่าวได้ 2 ครั้ง (ฤดูกาล 1992-93 และ 2016–17)[101] และยังเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศรายการ: กุปเดอฟร็องส์ 4 สมัยติดต่อกัน (2015–18), กุปเดอลาลีก 5 สมัยติดต่อกัน (2014–18) และ ทรอเฟเดช็องปียง 8 สมัยติดต่อกัน (2013–20)[102]

ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ยังทำสถิติชนะเลิศการแข่งขันภายในประเทศทั้ง 4 รายการ (Domestic quadruple) ได้ถึง 4 ครั้ง และเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศฟุตบอลถ้วยของฝรั่งเศสได้มากกว่า 1 รายการภายในฤดูกาลเดียวกัน (ซึ่งพวกเขาเคยทำได้ทั้ง 2 รายการ, 3 รายการ และ 4 รายการในฤดูกาลเดียวกัน)[103]

ฝรั่งเศส ระดับประเทศ

[แก้]
  • ลีกเอิง (สถิติสูงสุด)
    • ชนะเลิศ (12): 1985–86, 1993–94, 2012–13, 2013–14, 2014–15, 2015–16, 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2021–22, 2022–23, 2023–24
  • กุปเดอฟร็องส์ (สถิติสูงสุด)
    • ชนะเลิศ (15): 1981–82, 1982–83, 1992–93, 1994–95, 1997–98, 2003–04, 2005–06, 2009–10, 2014–15, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2019–20, 2020–21, 2023–24
  • กุปเดอลาลีก (สถิติสูงสุด)
    • ชนะเลิศ (9): 1994–95, 1997–98, 2007–08, 2013–14, 2014–15, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2019–20

ยุโรป ระดับทวีปยุโรป

[แก้]

สถิติสำคัญ

[แก้]

ผู้เล่นที่ลงสนามมากที่สุด

[แก้]
สถิติ ณ วันที่ 29 มกราคม 2023 รายชื่อตัวหนาคือผู้เล่นที่ยังคงเล่นให้กับสโมสรถึงปัจจุบัน
อันดับ ผู้เล่น จำนวนนัด
1 ฝรั่งเศส ฌ็อง-มาร์ก ปียาร์เฌ 435
2 อิตาลี มาร์โก แวร์รัตตี 401
3 บราซิล มาร์กิญญุส 390
4 ฝรั่งเศส ซิลเวน อาร์ม็อง 380
5 สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ซาเฟต ซูซิช 344
ฝรั่งเศส โปล เลอ เก็น
7 ฝรั่งเศส แบร์นาร์ ลามา 318
8 บราซิล ชียากู ซิลวา 315
9 แอลจีเรีย มุสตาฟา ดาเลบ 310
10 อุรุกวัย เอดินซอน กาบานิ 301

ผู้เล่นที่ทำประตูมากที่สุด

[แก้]
เอดินซอน กาบานิ อดีตเจ้าของสถิติผู้ทำประตูรวมมากที่สุดของสโมสร

สถิติ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2023 รายชื่อตัวหนาคือผู้เล่นที่ยังคงเล่นให้กับสโมสรถึงปัจจุบัน

อันดับ ผู้เล่น จำนวนประตู
1 ฝรั่งเศส กีลียาน อึมบาเป 201
2 อุรุกวัย เอดินซอน กาบานิ 200[104]
3 สวีเดน ซลาตัน อิบราฮีมอวิช 156
4 บราซิล เนย์มาร์ 118
5 โปรตุเกส เปาเลตา 109
6 ฝรั่งเศส ด็อมมินิก โรเชตู 100
7 แอลจีเรีย มุสตาฟา ดาเลบ 98
8 สาธารณรัฐคองโก ฟร็องซัว เอ็มเปเล่ 95
9 อาร์เจนตินา อังเฆล ดิ มาริอา 90
10 สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ซาเฟต ซูซิช 85

สถิติอื่น ๆ

[แก้]
มาร์โก แวร์รัตติ ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดกับสโมสร ชนะเลิศถ้วยรางวัล 29 รายการ
  • ผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่ลงเล่นให้กับสโมสร: จันลุยจี บุฟฟอน (41 ปี 5 เดือน)[105]
  • ผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ลงเล่นให้กับสโมสร: กีงส์แล กอมาน (16 ปี 249 วัน)[106]
  • ผู้เล่นที่ทำประตูมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล: ซลาตัน อิบราฮีมอวิช (50 ประตู/ 2015-16)
  • ผู้เล่นที่ผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมมากที่สุด: อังเฆล ดิ มาริอา (110 ครั้ง)[107]
  • ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: มาร์โก แวร์รัตติ (29 ถ้วยรางวัล)
  • การซื้อผู้เล่นที่แพงที่สุด: เนย์มาร์ (222 ล้านยูโร ค.ศ. 2017)[108]
  • การขายผู้เล่นที่แพงที่สุด: กงซาลู แกดึช (40 ล้านยูโร ค.ศ. 2018)[109]
  • ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: โลร็องต์ บล็องก์ (11 ถ้วยรางวัล)[110]
  • ผู้จัดการทีมที่พาทีมคว้าชัยชนะมากที่สุด: โลร็องต์ บล็องก์ (121 นัด)[111]


อ้างอิง

[แก้]
  1. UEFA.com. "Paris | History | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  2. "Ligue 1 - Club market value". www.transfermarkt.com (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Le Parc des Princes". Le Parc des Princes. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-21. สืบค้นเมื่อ 21 October 2010.
  4. redaction (2018-11-12). "La création du PSG de 1970 à 1973". Paris United (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-01.
  5. "Palmares". PSG.fr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-04. สืบค้นเมื่อ 12 October 2010.
  6. "PSG top on football's rich list, man city, others drop". The Guardian Nigeria News - Nigeria and World News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-02-15.
  7. "The Top 20 richest teams in world football". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2021-01-26.
  8. "Manchester United drop to fourth as Barcelona top Forbes rich list for first time despite huge debt". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  9. "Le Classique: Five reasons to watch OM-PSG". Ligue1 (ภาษาอังกฤษ).
  10. Johnson, Jonathan. "Paris Saint-Germain vs. Marseille: Why Le Classique Is France's Biggest Game". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  11. Luck, Emma (2020-03-04). "The extreme fans of French football". The New European (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-10. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
  12. "Paris Saint-Germain boasts more than 100 million fans on social media". EN.PSG.FR (ภาษาอังกฤษ).
  13. "Fan clubs". EN.PSG.FR (ภาษาอังกฤษ).
  14. "PSG : Paris jouera avec son maillot bleu "hechter" pour le classique face à l'OM". France Bleu (ภาษาฝรั่งเศส). 2021-02-05.
  15. "Political and Organizational Factors of PSG". Sports and Leisure in France.
  16. "Association". Association Paris Saint-Germain (ภาษาฝรั่งเศส).
  17. "A brief history of PSG". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-17.
  18. "Paris Saint-Germain FC (PSG) history". www.footballhistory.org.
  19. "Association". Association Paris Saint-Germain (ภาษาฝรั่งเศส).
  20. "Bernard Guignedoux nous a quittés". PSG.FR (ภาษาฝรั่งเศส).
  21. thefootballcult (January 16, 2018). "A brief history: Paris FC". Medium (ภาษาอังกฤษ).
  22. "6 interesting facts you should know about Paris Saint Germain". Discover Walks Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-08-20.
  23. "ALGERIA: Paris Club Pay-Back". Africa Research Bulletin: Economic, Financial and Technical Series. 43 (5): 16972A–16972B. June 2006. doi:10.1111/j.1467-6346.2006.00275.x. ISSN 0001-9852.
  24. ฟรานซัวส์ เอ็มเปเล่ ฉายาว่า "ปิแอร์ ฟอนแตนสีดำ" (Pierre Fontaine noir) ดาวซัลโว PSG ในอดีต. สืบค้นเมื่อ 2024-04-30.
  25. Stephane.B (2019-03-20). "Daniel Hechter s'exprime sur les maillots du PSG faits par Nike et se dit prêt à en faire". www.parisfans.fr (ภาษาฝรั่งเศส).
  26. "Political and Organizational Factors of PSG". Sports and Leisure in France.
  27. "PSG70 : PSG - Valenciennes 1974". psg70.free.fr.
  28. "Millième au Parc des Princes : ces dix matches qui ont fait l'histoire du PSG". Europe 1 (ภาษาฝรั่งเศส).
  29. Taille, Arnaud de La (2018-11-19). "1973 - 1978 : Paris se replace sur la scène française". Paris United (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-08. สืบค้นเมื่อ 2022-08-17.
  30. "PSG70 : Histoire du Paris Saint Germain". psg70.free.fr.
  31. "PSG70 : PSG -Saint-Etienne 1982". psg70.free.fr.
  32. "Le Top 10 du PSG en Coupe d'Europe: De la Juve à Valence, de Liverpool au Bayern". Eurosport (ภาษาฝรั่งเศส). 2013-04-01.
  33. "PSG70 : PSG - Nantes 1983". psg70.free.fr.
  34. "PSG70 : Saison 1982/83". psg70.free.fr.
  35. "PSG70 : Saison 1985/86". psg70.free.fr.
  36. Sefraoui, Mehdi (2018-12-03). "Période 1978 - 1991 : l'ère Borelli, là où tout a commencé". Paris United (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-04. สืบค้นเมื่อ 2022-08-17.
  37. "4 juin 1988, il y a 34 ans, dramatique Le Havre-PSG". Paris.canal-historique. 2022-06-04.
  38. "Welcome to FIFA.com News - France's passion play - FIFA.com". web.archive.org. 2019-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-29. สืบค้นเมื่อ 2022-08-17.
  39. "L'histoire du PSG 1991-1998 : Le PSG devient un grand d'Europe - Paris United". Paris United (ภาษาฝรั่งเศส). 2018-12-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
  40. CAPPELAERE, Hugo (2018-12-17). "L'histoire du PSG 1991-1998 : Le PSG devient un grand d'Europe". Paris United (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
  41. Post, Guest (2011-07-19). "The Greatest French Club Sides Of All Time – Part 3". frenchfootballweekly.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-17.
  42. UEFA.com (1997-03-01). "1996 Super Cup: Dazzling Juve shine in Paris | UEFA Super Cup". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  43. "uefa.com - UEFA Cup Winners' Cup". web.archive.org. 2010-05-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-03. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  44. "Ligue 1 1999/2000 Table, Results, Stats and Fixtures". FootballCritic (ภาษาอังกฤษ).
  45. Reed, Adam (2018-09-18). "Paris Saint-Germain's Qatari owners have spent $1.17 billion on players, but the Champions League is still out of reach". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  46. https://www.espn.com/soccer/story/1135960/a-brief-history-of-psg?src=com
  47. "PSG appoint Ancelotti as coach". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2011-12-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-24. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  48. "David Beckham joins Paris St-Germain and will play for free". BBC. 31 January 2013. Retrieved 1 February 2013.
  49. "PSG signs Uruguay striker Edinson Cavani". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ). 2013-07-16.
  50. "Zlatan Ibrahimovic to leave PSG: 'I came like a king, left like a legend'". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-13.
  51. "Remembering la remontada: Barcelona 6-1 PSG". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-16.
  52. Agencies (2018-04-27). "Unai Emery says he will leave PSG manager's job at end of season". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  53. "Paris Saint-Germain appoint Thomas Tuchel as their new coach". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  54. https://www.skysports.com/football/news/11820/11981197/paris-saint-germain-crowned-ligue-1-champions-after-french-season-called-off#:~:text=Paris%20Saint%2DGermain%20have%20been,season%20was%20suspended%20in%20March.
  55. https://www.bbc.com/sport/football/53867676
  56. "Paris Saint-Germain confirm sacking of manager Tuchel following his dismissal after Strasbourg win | Goal.com". www.goal.com.
  57. "PSG appoint Pochettino to replace Tuchel as boss". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-01-02.
  58. https://www.independent.co.uk/sport/football/lille-ligue-1-psg-results-b1852559.html
  59. https://www.theguardian.com/football/2021/jun/16/gianluigi-donnarumma-joins-psg-as-gianluigi-buffon-goes-back-to-parma
  60. https://en.psg.fr/teams/first-team/content/sergio-ramos-signs-with-paris-saint-germain-until-2023
  61. https://www.theguardian.com/football/2021/jun/07/georginio-wijnaldum-signs-contract-to-join-psg-rather-than-barcelona
  62. https://www.bbc.co.uk/sport/football/58163106
  63. https://en.psg.fr/teams/first-team/content/nuno-mendes-joins-paris-saint-germain-until-2022-mercato
  64. "Benzema hat-trick as Real send PSG out". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-23.
  65. Gastelum, Andrew. "Kylian Mbappé Reacts to PSG's Champions League Collapse Amid Links to Real Madrid". Sports Illustrated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  66. "Kylian Mbappé extends contract with Paris saint-Germain until 2025". EN.PSG.FR (ภาษาอังกฤษ).
  67. "Nota informativa". Página web oficial de LaLiga | LaLiga (ภาษาสเปน).
  68. Daniel (2016-06-06). "A New Era Begins at PSG". PSG Talk (ภาษาอังกฤษ).
  69. "PSG confirm Pochettino sacking as Galtier takes over to lead Mbappe, Messi and Co. | Goal.com". www.goal.com.
  70. "PSG put 11 players on the transfer list". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-10.
  71. "Bayern cruise past PSG to reach quarter-finals". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-03-14.
  72. "Sergio Ramos will leave PSG at the end of the season, following Lionel Messi out of Parc des Princes after two years". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-02.
  73. King, Kieran (2023-06-02). "Sergio Ramos joins Lionel Messi in quitting PSG after two seasons with club". mirror (ภาษาอังกฤษ).
  74. McQueen, Paul. "Things You Should Know About Paris Saint-Germain FC". Culture Trip.
  75. FootballDatabase.com. "Paris Saint-Germain, Ranking and Statistics - FootballDatabase". footballdatabase.com (ภาษาอังกฤษ).
  76. à 07h00, Par Le 21 juillet 2010 (2010-07-21). "Le lynx Germain, nouvelle mascotte du PSG". leparisien.fr (ภาษาฝรั่งเศส).
  77. "Allez Paris ! par Annie Cordy". www.bide-et-musique.com.
  78. "L'hommage du PSG à Annie Cordy, qui avait chanté le premier hymne du club". RMC SPORT (ภาษาฝรั่งเศส).
  79. "PSG: Ecoutez l'hymne des Parisiens chanté par les joueurs !". Sportune (ภาษาฝรั่งเศส). 2012-03-22.
  80. "Le PSG prend un nouveau virage - Tous PSG - PSG.fr". web.archive.org. 2017-08-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  81. "Stadium Tour". EN-EXP (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  82. Almeras, Christopher. "Joey Barton Puts the "Punch" Back into the Marseille-PSG Rivalry". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  83. April 2021, Greg Lea 20 (2021-04-20). "Ranked! The 50 biggest derbies in world football". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).
  84. Mewis, Joe (2018-04-13). "The top 50 derbies in the world 20-11: The 'Mother of all Battles' and more". mirror (ภาษาอังกฤษ).
  85. "Paris SG – Marseille : Parier, Pronostics, Cotes" (ภาษาฝรั่งเศส). 2007-09-02.
  86. withafunfilter (2020-04-16). "The Top 15 Biggest and Most Supported Football Teams in the World". With a Fun Filter (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
  87. "France : Le PSG est le nouveau club préféré des Français". Onze Mondial (ภาษาฝรั่งเศส). 2018-03-22.
  88. "Effectif". PSG.FR (ภาษาฝรั่งเศส).
  89. "Jean-Claude Blanc nommé directeur général délégué du PSG". Le Monde.fr (ภาษาฝรั่งเศส). 2011-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  90. "Victoriano Melero officiellement secrétaire général du PSG". CulturePSG (ภาษาฝรั่งเศส).
  91. "Luis Campos devient Conseiller Football du Paris Saint-Germain". PSG.FR (ภาษาฝรั่งเศส).
  92. "Présentation du nouvel organigramme de l'équipe première du club". PSG.FR (ภาษาฝรั่งเศส).
  93. "Equipe première". PSG.FR. สืบค้นเมื่อ 1 September 2021.
  94. "Statistiques". Histoire du #PSG (ภาษาฝรั่งเศส).
  95. perdues, RemiSudiste à l'esprit contradictoire amoureux de Paris et du PSG depuis mon enfance Nostalgique à mes heures; Gr, J'aime Me Souvenir De Nos Belles Heures Et Savoure Ces; Rémi, es années Avec "Histoire du PSG" je me régale chaque jour autour des rouge et bleu Voir la bio de (2018-05-09). "Le Palmarès du PSG". Histoire du #PSG (ภาษาฝรั่งเศส).
  96. "Listes des saisons". Histoire du #PSG (ภาษาฝรั่งเศส).
  97. "victoire à l'ICC : PSG, 22 ans après". Paris.canal-historique. 2015-07-30.
  98. "Trophée national du meilleur public sportif - Football Division II - Collection privée Valjustrotinou - Pour la mémoire". valjustrotinou.canalblog.com (ภาษาฝรั่งเศส). 2018-12-24.
  99. "Le Paris Saint-Germain et les finales européennes, acte 3 !". PSG.FR (ภาษาฝรั่งเศส).
  100. "Ligue 1 Uber Eats : la longévité des clubs à la loupe". Ligue1 (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  101. perdues, RemiSudiste à l'esprit contradictoire amoureux de Paris et du PSG depuis mon enfance Nostalgique à mes heures; Gr, J'aime Me Souvenir De Nos Belles Heures Et Savoure Ces; Rémi, es années Avec "Histoire du PSG" je me régale chaque jour autour des rouge et bleu Voir la bio de (2019-04-04). "Défense parfaite en Coupe de France : Et de 3 pour le PSG !". Histoire du #PSG (ภาษาฝรั่งเศส).
  102. "Pochettino wins first trophy with PSG". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  103. Brunt, Gordon. "PSG win Coupe de la Ligue to complete domestic quadruple". theScore.com (ภาษาอังกฤษ).
  104. "Cavani becomes first PSG player to score 200 goals for the club | Goal.com". www.goal.com.
  105. "Buffon sets new record! PSG's oldest player in the history of Ligue 1". Daily Active (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-08-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-11. สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  106. ans, GrichkaSupporter du PSG depuis presque 20; Abonné, Ancien; fond, et actuel salarié du club Je vis football à; Grichka, et donc pour le PSG Voir la bio de (2017-06-01). "Les records individuels". Histoire du #PSG (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-13. สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  107. Zavala, Steve (2021-05-20). "The Numbers Behind Di Maria's Record 104 Assists With PSG". PSG Talk (ภาษาอังกฤษ).
  108. "Neymar". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  109. "Official: Valencia sign Guedes from PSG for €40mn". AS.com (ภาษาอังกฤษ). 2018-08-27.
  110. June 2016, FourFourTwo Staff 27 (2016-06-27). "Eleven trophies and records galore: The best stats from Blanc's PSG reign". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).
  111. June 2016, FourFourTwo Staff 27 (2016-06-27). "Eleven trophies and records galore: The best stats from Blanc's PSG reign". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]