Jacaranda obtusifolia

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ศรีตรัง
ศรีตรัง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Lamiales
วงศ์: Bignoniaceae
สกุล: Jacaranda
สปีชีส์: J.  obtusifolia
ชื่อทวินาม
Jacaranda obtusifolia
Bonpl.
ชื่อพ้อง
  • Bignonia filicifolia A.Anderson [ยกเลิก]
  • Jacaranda filicifolia (A.Anderson) D.Don
  • Jacaranda filicifolia var. puberula K.Schum.
  • Jacaranda lasiogyne Bureau & K.Schum.
  • Jacaranda obtusifolia subsp. obtusifolia

ศรีตรัง หรือ แคฝอย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Jacaranda obtusifolia) เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดกลางในวงศ์แคหางค่าง ปลูกเป็นไม้ประดับ สูง 4-10 เมตร เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมขาว แตกล่อนเป็นแผ่นบางตามยาวคล้ายกระดาษ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงตรงกันข้าม ใบย่อย 12-21 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปขอบขนานแกมรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัด มีขนาดเล็ก กว้าง 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบหลักยาว 7-11 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 4-8 มม. ไม่มีก้านใบย่อย ดอก สีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนงตามกิ่งและซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-9 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วงเข้มปลายแยก 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร จะออกดอกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม เป็นผลประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผลแห้งแตกเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.2-2.5 เซนติเมตร เมล็ดมีปีกจำนวนมาก

ศรีตรังเป็นชื่อไม้ต้นสองชนิด ได้แก่ ชนิด J. obtusifolia และชนิด J. mimosifolia ทั้งสองชนิดมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ แต่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ต่างกันบางประการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ได้นำศรีตรังชนิด J. obtusifolia มาปลูกที่เมืองตรังเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2444 ปัจจุบันศรีตรังชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ทั้งยังได้รับการกำหนดให้เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง[1][2]

เกร็ดความรู้[แก้]

ต้นศรีตรังชนิดนี้เป็นไม้ประจำหน่วยงานและสถานศึกษาดังต่อไปนี้

อนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลก็เคยใช้ศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข นำต้นไม้ชนิดนี้ไปปลูกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศรีตรังจึงกลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลได้เปลี่ยนไปใช้ต้นกันภัยมหิดลเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยแทน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ส่วนเพาะชำกล้าไม้. สำนักส่งเสริมการปลูกป่า. กรมป่าไม้. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, 2540, หน้า 71.
  2. กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. สำนักงานจังหวัดตรัง. "ดอกไม้ประจำจังหวัด." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.trang.go.th/trnew/index.php?option=com_content&view=article&id=55&Itemid=59[ลิงก์เสีย] 2554. สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2558.