กันภัยมหิดล
กันภัยมหิดล | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Fabales |
วงศ์: | Fabaceae |
วงศ์ย่อย: | Faboideae |
เผ่า: | Millettieae |
สกุล: | Afgekia |
สปีชีส์: | A. mahidoliae |
ชื่อทวินาม | |
Afgekia mahidoliae[1] B. L. Burtt & Chermsir. |
กันภัยมหิดล หรือ กันภัย[1] เป็นชื่อไม้เถาชนิด Afgekia mahidoliae Burtt et Chermsir.[1] ในวงศ์ Leguminosae พบทางจังหวัดกาญจนบุรี ใบเป็นใบประกอบ ช่อหนึ่งมีใบย่อยหลายใบ ด้านล่างของใบมีขนสีน้ำตาล ดอกเป็นช่อตั้ง สีขาวปนม่วง ฝักสั้นป้อมแบน ๆ ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[1]
ไม้เถาชนิดนี้ เกษม จันทรประสงค์ ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย[2] และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานพระกรุณาธิคุณทรงมีพระวินิจฉัยชี้ขาด กันภัยมหิดล ให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542[2] ด้วยเหตุว่า เป็นต้นไม้ที่พบในประเทศไทย ปลูกง่าย นามเป็นมงคลและพ้องกับชื่อมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเป็นไม้เถาแต่ก็มีลักษณะสวยงาม สามารถจัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้หลายแบบ อายุยืน โดยเมื่อเถาแห้งไปก็สามารถงอกขึ้นใหม่ได้ ซึ่งความเป็นไม้เถาแสดงถึงความเจริญก้าวหน้า และความสามารถปรับตัวให้พัฒนาไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี
กันภัยมหิดลนี้ได้รับการเสนอเข้าประกวดเนื่องในวันครบรอบ 30 ปี แห่งการพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดการประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ ด้วยความเห็นที่ว่ายังไม่มีต้นไม้สัญลักษณ์ที่เป็นทางการดังเช่นสถาบันการศึกษาอื่น โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ รศ.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และ ผศ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอ กันภัยมหิดลเข้าร่วมประกวด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]เป็นไม้เถา แตกพุ่มหนาแน่น ยาวประมาณ 15 ม. มีขนคล้ายไหมหนาแน่นเกือบทุกส่วน หูใบออกเป็นคู่ รูปเคียว เบี้ยวเล็กน้อย ยาวประมาณ 1.5 ซม. ใบประกอบแกนกลางยาว 8-18 ซม. ก้านใบยาว 2.5 ซม. หูใบย่อยรูปเส้นด้าย ยาว 5 มม. ใบย่อยมี 4-6 คู่ เรียงเกือบตรงข้าม รูปไข่หรือขอบขนาน ยาว 1.5-7.5 ซม. ปลายใบกลม มีติ่งเล็กๆ โคนใบกลมหรือรูปหัวใจตื้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น ก้านใบย่อยยาว 2-4 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว 10-15 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 1.5-3 ซม. ก้านดอกยาว 0.7-1 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง สีขาวอมม่วง หลอดกลีบยาว 5-7 มม. รูปปากเปิด กลีบบน 2 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 3-6 มม. กลีบล่าง 3 กลีบ ยาวไม่เท่ากัน รูปแถบหรือรูปลิ่มแคบ ยาว 0.5-1 ซม. กลีบดอกสีม่วงอ่อน กลีบกลางรูปรี ด้านในมีสีเข้ม พับงอกลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนกลีบรูปหัวใจ เป็นสันนูนทั้งสองด้าน เส้นกลางกลีบเป็นร่อง มีสีเหลืองแต้มใกล้โคน ที่โคนมีเดือยรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ ยาว 3 มม. กลีบปีกรูปขอบขนาน มีสีเข้ม ยาว 1.5 ซม. กลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กลีบปีก เชื่อมติดกันรูปคุ่ม ฝักรูปรีหรือขอบขนาน ยาว 7-9 ซม. หนาประมาณ 3 ซม. เมล็ดมี 1-2 เมล็ด สีน้ำตาล เกือบกลม[3][4][5]
การค้นพบ
[แก้]พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2510 โดย เกษม จันทรประสงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการกองพืชพรรณ กรมวิชาการเกษตร ได้เล่าเรื่องการพบพืชชนิดนี้ว่าได้นั่งรถไฟไปลงที่สถานีวังโพ และเดินทางขึ้นภูเขาเตี้ย ๆ หลังสถานีทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามกับแม่น้ำแควน้อย เมื่อถึงเวลาเที่ยง ได้หยุดพักรับประทานอาหารที่ใต้ต้นไม้ ได้พบดอกไม้ชนิดหนึ่งร่วงอยู่ที่พื้น ซึ่งรู้สึกคุ้นกับลักษณะดอก เพราะคล้ายถั่วแปบช้างแต่คนละสี เมื่อมองขึ้นไปและเก็บลงมาเพื่อทำตัวอย่างแห้ง
อีก 2 เดือนถัดมา คือวันที่ 15 พฤศจิกายน คุณ เกษม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) เดินทางกลับไปที่เดิมเพื่อเก็บฝักที่เริ่มแก่ ให้ได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์และขุดต้นกลับมาปลูกที่กรมวิชาการเกษตร สำหรับระบุ (identify) ว่าต้นไม้นี้จะเป็นต้นไม้ชื่ออะไร เมื่อต้นไม้ต้นนี้ออกดอกที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 จึงได้เก็บตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างต้นแบบ พร้อมทั้งทำคำบรรยายเป็นภาษาละตินและวาดภาพส่งไปให้ B. L Burtt พิสูจน์ชื่อที่สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งขอพระราชทานชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับพระชนนีศรีสังวาลย์ (พระยศในขณะนั้น) โดยเสนอคำว่า ศรีสังวาลย์ หรือ มหิดล โดย Burtt ได้แนะนำว่าให้ใช้มหิดล ซึ่งเขียนเป็นภาษาละตินว่า mahidolae
ทั้งนี้ในขณะนั้นถั่วแปบช้าง (Afgekia sericea Craib) ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกันมากและอยู่ในสกุล (genus) เดียวกัน คือ สกุลแอฟกีเกีย (Afgekia) เป็นพืชชนิดเดียวในสกุล ด้วยลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดหลายประการ ผศ. จิรายุพิน จึงแน่ใจว่าพืชต้นนี้เป็นพืชต่างชนิดแน่นอน และจะเป็นพืชชนิดที่สองในสกุลนี้ (ปัจจุบันค้นพบอีกชนิดหนึ่งคือ Afgekia filipes (Dunn) R.Geesink ซึ่งมีดอกสีเหลือง กระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของจีนและทางเหนือของไทย)
เมื่อผลงานการค้นพบ และตั้งชื่อพืชชนิดนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอเรอ ชื่อ Notes from the Botanic Garden Edinburgh Vol.31 No.1 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514 จึงได้ถือว่าพืชชนิดนี้มีชื่อเป็นทางการตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ ชื่อที่ได้รับคือ Afgekia mahidolae B. L. Burtt & Chermsir. แต่ไม่มีชื่อไทย ส่วนถั่วแปบช้างนั้นมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น กันภัย ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์กรมป่าไม้ จึงได้เสนอว่าควรเรียกพืชต้นนี้ว่า กันภัย หรือ กันภัยมหิดล[6] ท่านกล่าวว่าในเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ย่างกุมารทองนั้น ได้ใช้เถากันภัยมัดกุมารทองไว้ และด้วยเหตุที่เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่เกิดในแถบจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี เถากันภัยดังกล่าว จึงน่าจะเป็นพืชชนิดเดียวกับพืชที่เพิ่งค้นพบนี้
สำหรับชื่อพฤกษศาสตร์ Afgekia mahidolae นั้น มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามไวยากรณ์ภาษาละติน โดยเติม -i- หลังวิสามานยนามเป็น Afgekia mahidoliae ตาม International Code of Botanical Nomenclature ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นผลจากการชำระกฎการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย (เรียกกฎเล่มนี้ในชื่อย่อว่า Vienna Code ตีพิมพ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2549) โดยคำแนะนำข้อ 60C.1.b ระบุว่าชื่อพฤกษศาสตร์ที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่บุคคล ถ้าชื่อบุคคลลงท้ายด้วยตัวสะกด ให้เติม -i- และรูปคำระบุเพศต่อท้าย เช่น ชื่อบุคคลชายเติม i+i และชื่อบุคคลหญิงเติม i+ae เป็นต้น[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". ราชบัณฑิตยสถาน. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2012-09-20.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 "จดหมายเหตุประวัติของมหาวิทยาลัย สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ต้นกันภัยมหิดล". มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 2019-12-31.
- ↑ Burtt, B.L.; C. Chermsirivathana (1971), "A second species of Afgekia (Leguminosae)", Notes from the Royal Botanic Garden, Edinburgh, vol. 31 no. 1, pp. 131–133
- ↑ Phan Ke Loc; J.E. Vidal (2001), "Leguminosae-Papilionoideae, Millettieae", Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam, vol. 30, pp. 8–15
- ↑ Wei, Z.; L. Pedley (2010), "Fabaceae (Afgekia)", Flora of China, vol. 10, p. 174
- ↑ เต็ม สมิตินันทน์ (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544. กรุงเทพฯ: ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
- Kew Science: Plants of the World Online
- "Kan Pai Mahidol, The symbolic plant of Mahidol university" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-20. สืบค้นเมื่อ 2009-07-01.
- "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-07. สืบค้นเมื่อ 2010-05-05. สารานุกรมพืชในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้