แก้ว (พรรณไม้)
บทความนี้อาจขยายความได้โดยการแปลบทความที่ตรงกันในภาษาอังกฤษ คลิกที่ [ขยาย] เพื่อศึกษาแนวทางการแปล
|
แก้ว | |
---|---|
กลุ่มใบและดอก | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | เงาะ Sapindales |
วงศ์: | วงศ์ส้ม Rutaceae |
สกุล: | Murraya Murraya (L.) Jack[1] |
สปีชีส์: | Murraya paniculata |
ชื่อทวินาม | |
Murraya paniculata (L.) Jack[1] | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
แก้ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ใบออกเป็นช่อเป็นแผงออกใบเรียงสลับกันช่อหนึ่งประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 4-8 ใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม
ชื่อพื้นเมืองอื่น: กะมูนิง (มลายู ปัตตานี) แก้วขาว (กลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก (เหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง) และ ตะไหลแก้ว (เหนือ)[3]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]แก้วเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางลำต้นมีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกลำต้นสีขาวปนเทา ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาว การแตกกิ่งก้านของทรงพุ่มไม่ค่อยเป็นระเบียบ ใบออกเป็นช่อเป็นแผง ออกใบเรียงสลับกัน ช่อหนึ่งประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 4-8 ใบ ใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ขยี้ดูจะมีกลิ่นฉุนแรงขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ขนาดของใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ3-6 เซนติเมตรออกดอกเป็นช่อใหญ่ ช่อสั้นออกตามปลายกิ่งหรือยอด ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 5-10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลรูปไข่ รีปลายทู่ มีสีส้ม ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด[4]
การกระจายพันธุ์
[แก้]แก้วมีถิ่นกำเนิดจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และออสเตรเลีย มันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาได้[5]
การปลูกเลี้ยง
[แก้]สามารถแบ่งเป็น 2 วิธี
- การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก การปลูกแบบนี้สามารถปลูกเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวก็ได้และสามารถตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ตามความต้องการของผู้ปลูก
- การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12 - 16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถาง 1 - 2 ปี/ ครั้ง หรือตามความเหมาะสมของการเจริญเติบโตของทรงพุ่ม เพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไปและเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
การดูแลรักษา
[แก้]ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง ควรให้น้ำ 3 - 5 วัน / ครั้ง ชอบดินร่วนซุย หรือดินร่วนทราย ต้องการแสงแดดจัด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1 - 2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 200- 300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง เพราะเป็นไม้ที่มึความทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร ขยายพันธ์โดยการเพาะเมล็ดและการตอน
วรรณกรรม
[แก้]แก้วปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง นิราศธารทองแดง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย
นมตำเลียเรี่ยทางไป
หอมหวังวังเวงใจ
ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว
ความเชื่อ
[แก้]คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีความดี มีคุณค่าสูง เพราะคำว่า แก้ว นั้นหมายถึง สิ่งที่ดีมีค่าสูงเป็นที่นับถือบูชาของบุคคลทั่วไปซึ่งโบราณได้เปรียบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เสมือนดั่งดวงแก้ว นอกจากนี้คนโบราณยังมีความเชื่ออีกว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เพราะแก้วคือความใสสะอาดความสดใสนอกจากนี้ดอกแก้วยังมีสีขาวสะอาดสดใสมีกลิ่นหอมนวลไปไกลและยังนำดอกแก้วไปใช้ในพิธีบูชาพระในพิธีทางศาสนาได้เป็นสิริมงคลยิ่งอีกด้วย
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันออก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ
ดอกไม้และต้นไม้ประจำสถาบัน
[แก้]- ดอกไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว
- ดอกไม้ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ดอกไม้ประจำโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี
- ดอกไม้ประจำโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง
- ดอกไม้ประจำโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ต้นไม้ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนกุลมาฒน์ธนบุรี
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนทวีธาภิเศก
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนเพชรพิทยาคม
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนสตรีนนทบุรี
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนสระแก้ว
- ต้นไม้ประจำโรงเรียนสระหลวงพิทยาคม
- ดอกไม้ประจำ โรงเรียนโยธินบำรุง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ดอกไม้ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ภาพ
[แก้]-
ดอก
-
ดอกและใบ
-
ภาพเส้นแสดงดอกและผล
-
ผล
-
กลุ่มใบ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Murraya paniculata". Australian Plant Census. สืบค้นเมื่อ 28 July 2020.
- ↑ "Murraya paniculata L. (Jack)". World Flora Online. World Flora Online Consortium. 2022. สืบค้นเมื่อ 4 September 2022.
- ↑ เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
- ↑ "ต้นแก้ว".
- ↑ http://www.ars-grin.gov/cgi-bin/npgs/html/tax_search.pl?Murraya%20paniculata retrieved on 28 June, 2007