มะตูม
มะตูม | |
---|---|
![]() | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
ชั้นย่อย: | Rosidae |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Rutaceae |
สกุล: | Aegle Corr. Serr. |
สปีชีส์: | A. marmelos |
ชื่อทวินาม | |
Aegle marmelos (L.) Corr. Serr. |
มะตูม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos ภาคเหนือเรียกว่า มะปิน ภาคใต้เรียกว่า กะทันตาเถร, ตูม และตุ่มตัง ภาคอีสานเรียกว่า บักตูม ภาษาเขมรเรียกว่า พะโนงค์ (ព្នៅ) ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า มะปีส่า[1] เป็นไม้ผลยืนต้นพื้นเมืองของอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] มีการเพาะปลูกทั่วไปในอินเดีย รวมทั้งในศรีลังกา แหลมมลายูตอนเหนือ เกาะชวา และฟิลิปปินส์ จัดเป็นพืชเพียงสปีชีส์เดียวที่อยู่ในสกุล Aegle
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]
ลำต้นมีความสูง 18 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทาเรียบเป็นร่องตื้น เนื้อไม้แข็ง มีสีขาวแกมเหลือง และมีกลิ่นหอม โคนต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ยาว แข็ง ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่ง[3] ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่หรือรูปหอกมี 3 ใบ มองดูคล้ายตรีศูลของพระศิวะ ดอกสีขาวหรือขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม ผลมีเปลือกแข็งเรียบและมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–15 เซนติเมตร บางผลมีเปลือกแข็งมากจนต้องกระเทาะเปลือกออกโดยใช้ค้อนทุบ เนื้อผลเหนียวข้น มีกลิ่นหอม และมีเมล็ดจำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อผล โดยเมล็ดจะมีขนหนาปกคลุม
การใช้ประโยชน์[แก้]
ผลมะตูมใช้รับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง น้ำจากผลเมื่อนำไปกรองและเติมน้ำตาลจะได้เครื่องดื่มคล้ายน้ำมะนาว และยังใช้ในการทำ Sharbat ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการนำเนื้อผลมะตูมไปผสมกับมะขาม ผลอ่อนฝานแล้วตากแห้งนำไปต้มกับน้ำเป็นน้ำมะตูม นำมายำ ใบอ่อนและยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสลัด กินกับน้ำพริก ลาบ และข้าวยำ ผลแก่แต่เปลือกยังนิ่มนำมาฝานแล้วทำเป็นมะตูมเชื่อม ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมของขนมอื่นอีกหลยอย่าง มะตูมสุก เนื้อเละใช้รับประทานเป็นผลไม้ และใช้เป็นยารักษาอาการท้องร่วง ท้องเดิน โรคลำไส้ ตาแห้งไข้หวัดธรรมดา และยังใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง
ความเชื่อ[แก้]
คนไทยถือว่ามะตูมเป็นไม้มงคล นิยมปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน ศาสนาฮินดู เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ[1] ดังนั้นจึงพบต้นมะตูมได้ทั่วไปในสวนของวิหารในประเทศอินเดีย และใบมะตูมยังเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์หรือครอบครู
สัญลักษณ์[แก้]
ต้นมะตูมเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชัยนาท ผู้ที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงหรืองานสมรสพระราชทานจะได้รับพระราชทานใบมะตูมเพื่อเป็นสิริมงคล[1]
ชื่อท้องถิ่นของมะตูม[แก้]
ชื่อสามัญของมะตูมในภาษาต่าง ๆ ได้แก่
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เอเชียใต้
- ภาษาเบงกอล: বেল
- ภาษาฮินดี: बिल्व (Bilva)
- โอเดีย: ବେଲ
- ภาษากันนาดา: ಬೇಲದ ಹಣ್ಣು
- ภาษากงกัณ: gorakamli
- ภาษามลยาฬัม: കൂവളം
- ภาษามราฐี: बेल หรือ कवीठ (Kaveeth)
- ภาษาปัญจาบ: ਬਿਲ (Beel)
- ภาษาสันสกฤต : बिल्वम्
- ภาษาสินธี: ڪاٺ گدرو
- ภาษาสิงหล: බෙලි (Beli)
- ภาษาทมิฬ: வில்வம் (Vilvam)
- ภาษาเตลูกู: మారేడు (maredu)
- Sir Phal (ภาษาฮินดีโบราณ)
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์ (ตุลาคม 2550). "มะตูม" ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กรุงเทพฯ: แสงแดด. หน้า 147–148. ISBN 9789749665749.
- ↑ "Taxon: Aegle marmelos (L.) Corrêa". GRIN Global, National Plant Germplasm System, US Department of Agriculture. 19 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2018.
- ↑ "มะตูม". ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2553.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Aegle marmelos |