วัยอลวน 4 : ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น
วัยอลวน 4 : ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ |
บทภาพยนตร์ | ชลลดา เตียวสุวรรณ ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ |
อำนวยการสร้าง | ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ จิระ มะลิกุล ยงยุทธ ทองกองทุน |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | สมบูรณ์ พิริยะภักดีกุล |
ตัดต่อ | ดุษณีย์ ผุยหนองโพธิ์ |
ผู้จัดจำหน่าย | GTH ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น |
วันฉาย | 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 |
ความยาว | 102 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 20 ล้านบาท |
ก่อนหน้านี้ | วัยอลวน (2519) รักอุตลุด (2520) ชื่นชุลมุน (2521) |
ต่อจากนี้ | วัยอลวน 5 (2566) |
ข้อมูลจากสยามโซน |
วัยอลวน 4 : ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2548 เป็นเรื่องราวของตั้ม และ โอ๋ สองพระนางจากภาพยนตร์ชื่อดัง "วัยอลวน" ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดช่วงปี พ.ศ. 2519-21 จากบทประพันธ์ของ บุญญรักษ์ นิลวงศ์ หรือ "บุญรักษ์"
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ โดยมีเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาคก่อนหน้า เป็นที่ปรึกษา ในภาพยนตร์ภาคนี้ นำเสนอความสัมพันธ์ของตั้ม และโอ๋ ซึ่งแต่งงานกันมาแล้วเกือบสามสิบปี และลูกชายลูกสาวซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น โดยนำเสนอประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องการอยู่ก่อนแต่งของนักเรียนนักศึกษา การเบี่ยงเบนทางเพศของวัยรุ่น เขียนบทภาพยนตร์โดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ และชลลดา เตียวสุวรรณ (เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย)
ในภาคนี้ มีนักแสดงดั้งเดิมมาร่วมแสดงอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ไพโรจน์ สังวริบุตร รับบท ตั้ม, ลลนา สุลาวัลย์ รับบท โอ๋, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา รับบท อ้อ พี่สาวของโอ๋, พจนีย์ อินทรมานนท์ รับบท คุณนิด กิ๊กเก่าของตั้ม, จีรศักดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รับบท แอ๊ด เพื่อนเก่าของตั้ม รวมทั้ง ชัยรัตน์ เทียบเทียม ซึ่งร้องเพลงประกอบในสามภาคแรก ก็เป็นนักแสดงรับเชิญด้วย
เรื่องย่อ
[แก้]สามสิบปีผ่านไป ตั้ม โอ๋ ในวัยห้าสิบปี มีลูกสาวกำลังเรียนมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ และลูกชายกำลังเรียนมัธยม 6
ตั้ม, โอ๋, อ้อ และ หนามเตย ขับรถจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เพื่อไปเยี่ยมใบตองโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า เพื่อไปจัดงานวันเกิดเซอร์ไพรซ์ให้ เกิดเรื่องวุ่นๆ เมื่อตั้มพบว่าลูกสาวสุดที่รักเช่าหอพัก ใช้ชีวิตอยู่กับ วิชาญ เพื่อนหนุ่มต่างคณะ และโอ๋พบว่าลูกชายมีพฤติกรรมชอบเพศเดียวกัน ทั้งคู่พยายามปิดบังไม่ให้อีกฝ่ายรู้ เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะทำใจไม่ได้
ตั้ม แอบไปหา นิด กิ๊กเก่าที่ไปเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่ แต่บอกโอ๋ว่า แวะไปหาแอ๊ด เพื่อนเก่าที่สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อความแตก โอ๋ก็อาละวาดบ้านแตก เหมือนในหนังภาคก่อน ๆ
เกร็ดจากภาพยนตร์
[แก้]- ฉากแอนิเมชั่นเปิดเรื่อง เล่นดนตรีและร้องสดโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ทำเลียนแบบแอนิเมชั่นเปิดเรื่อง ที่ใช้เป็นครั้งแรกใน ชื่นชุลมุน
- ฉากบ้านตั้ม-โอ๋ ถ่ายทำที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จำลองเป็นบ้านไม้สองชั้นในซอยธรรมเกิดทรัพย์ ฝั่งธนบุรี บ้านตั้ม-โอ๋ ในภาคก่อน
- ใบตอง ขับรถเวสป้าติดป้ายทะเบียน วอว-4 ย่อมาจาก วัยอลวน 4
- ฉากวิชาญ ไม่ใส่เสื้อผ้าเดินในห้อง ขณะที่ใบตองกำลังพับเสื้อผ้า คล้ายกับในภาพยนตร์ Austin Power
- ภาพยนตร์ถ่ายทำไปพร้อม ๆ กับเรื่อง เพื่อนสนิท ใช้ฉากบางฉากร่วมกัน และมีตัวละครร่วมกัน คือ ฟุเหยิน (ธนาบดินทร์ ยงสืบชาติ) นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หนามเตยไม่ได้เป็นเกย์ เพียงแต่มีนิสัยรักสวยรักงามเป็นพิเศษ และมีกะเทยมาชอบ (ในภาพยนตร์ หนามเตยบอกแม่ว่า ชอบกับครูพละรุ่นพี่ และเฉลยความจริงทีหลังว่า ครูพละเป็นผู้หญิง ในเครดิตท้ายเรื่อง)
- ในวัยอลวน อ้อ (จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นสาวที่เรียบร้อยมาก จนตั้มเคยจีบ ก่อนที่จะมาชอบกับโอ๋ ในภาคนี้กลับเปลี่ยนบุคลิกอย่างสิ้นเชิงเป็นหญิงห้าว เป็นทอม และชอบเพศเดียวกัน
- ในรักอุตลุด แอ๊ด (จีรศักดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - เป็นน้องชายของจิระวดี) ชอบคุณนิด (พจนีย์ อินทรมานนท์) แต่คุณนิดชอบตั้ม
เพลงประกอบ
[แก้]เพลงประกอบของภาคนี้ถูกนำมาขับร้องใหม่โดยศิลปินเลือดใหม่ของแกรมมี่ ดังนี้
- เธอที่รัก ขับร้องโดย Paradox
- น่ารัก ขับร้องโดย ดา Endorphine
- รักหนอรัก ขับร้องโดย บัวชมพู ฟอร์ด
รางวัล
[แก้]ปี | รายการ | รางวัล/สาขา | ผู้ได้รับการเสนอชื่อ | ผล |
---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2549 | รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 14 | ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | ลลนา สุลาวัลย์ | ชนะ |
พ.ศ. 2549 | รางวัลสตาร์เอนเตอเทนเมนท์ ครั้งที่ 4 | ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | ไพโรจน์ สังวริบุตร | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | ลลนา สุลาวัลย์ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
พ.ศ. 2549 | รางวัลเฉลิมไทย ครั้งที่ 3 | รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | GTH | เสนอชื่อเข้าชิง |
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | ไพโรจน์ สังวริบุตร | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ชลลดา เตียวสุวรรณ , ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ | เสนอชื่อเข้าชิง |
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ[ลิงก์เสีย]
- http://www.popcornmag.com/bbs/index.php?showtopic=1226[ลิงก์เสีย]
- http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/waiollawon4/wai4.html
- เสียงบรรยาย โดยผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ และฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ และคำบรรยายจากดีวีดี วัยอลวน 4