กวน มึน โฮ
กวน มึน โฮ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | บรรจง ปิสัญธนะกูล |
บทภาพยนตร์ | นนตรา คุ้มวงษ์ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี บรรจง ปิสัญธนะกูล [1] |
สร้างจาก | สองเงาในเกาหลี โดย ทรงกลด บางยี่ขัน |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | นิรมล รอสส์ |
ตัดต่อ | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | จีทีเอช |
วันฉาย | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 |
ความยาว | 117 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 131.04 ล้านบาท (เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)[2] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
กวน มึน โฮ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี ผลิตโดยจอกว้างฟิล์ม และจัดจำหน่ายโดยจีทีเอช ออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ของบรรจง ปิสัญธนะกูล ได้รับการจัดอันดับ "น 18+ (ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป) [3] นำแสดงโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และหนึ่งธิดา โสภณ ภาพยนตร์เป็นผลงานกำกับในแนวหนังรักเรื่องแรกของบรรจง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ สองเงาในเกาหลี ของ ทรงกลด บางยี่ขัน[4]
กวน มึน โฮ นำเสนอเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาวชาวไทยที่ไปเที่ยวประเทศเกาหลี แล้วพบกันโดยบังเอิญ ทั้งสองตกลงที่จะไม่บอกชื่อแก่กัน และออกเที่ยวเกาหลีด้วยกัน ใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศเกาหลีในหลากหลายฉากที่เกี่ยวข้องกับละครซีรีส์เกาหลีที่ฉายในประเทศไทย
ด้านกิจกรรม ทางค่ายหนังได้จัด กิจกรรม "กวน จน ดัง หวัง 100 ล้าน" โดยมีนักแสดง ผู้กำกับ และวงดนตรี ทเวนตีไฟฟ์อาวส์ ไปร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ "ยินดีที่ไม่รู้จัก"
เรื่องย่อ
[แก้]ชายหนุ่ม (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ผู้ชายที่จะไปประเทศเกาหลี ด้วยรองเท้าแตะคีบ และเสื้อยืดย้วยๆบวกกางเกงขาสั้น เขาเป็นคนเดียวในกรุ๊ปทัวร์ที่ไม่มีครอบครัวหรือคนรักมาด้วย บางทีที่นั่งว่างเปล่าข้างๆ อาจเป็นสาเหตุให้เขาเมามายขนาดนี้ในวันเดินทาง หลังล้อเครื่องแตะพื้นผิวท่าอากาศยานกรุงโซลโปรแกรมเที่ยวตามรหัส 6-7-8 คือ ตื่นนอน 6 โมงเช้า - กินข้าว 7 โมงเช้า – ล้อหมุน 8 โมงเช้า
คืนนั้นชายหนุ่มเลยต้องพึ่งเหล้าโซจู ซึ่งเขามาเมาสลบอยู่หน้าเกสท์เฮาส์แห่งหนึ่งในชุดคลุมอาบน้ำโรงแรม เช้าวันรุ่งขึ้น ชายหนุ่มลุกพรวดขึ้นมาหมิ่นเหม่เวลาล้อหมุน หญิงสาว (หนึ่งธิดา โสภณ) ที่ยืนอยู่ตรงนั้นร้องโวยวาย เพราะต้องการทวงเสื้อหนาวที่เธอเสียสละให้เขาใช้คลุมกายคืน ชายหนุ่มผู้หลงทางจึงบังคับแกมตีมึนให้หญิงสาวพาไปส่งที่โรงแรม แต่เพราะหลงทางเสียเวลา หลงเสพสุราเสียอนาคต ชายหนุ่มตกรถพลาดทัวร์สุดเนิร์ด จนต้องตามหญิงสาวที่ตั้งใจมาทัวร์เดี่ยวตะลุยโลเกชั่นซีรีส์สสุดฮิตของเกาหลีแทน
ชายหนุ่มอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมหญิงสาวถึงมาเที่ยวคนเดียว เธอตอบง่ายๆว่า เที่ยวคนเดียวไม่ต้องเกรงใจใคร อยากไปไหนก็ไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครด้วย อาจเพราะความคะนอง หรือ ความเหงาทำงานเต็มที่ก็สุดจะเดา อยู่ๆ ชายหนุ่มก็ยื่นข้อเสนอว่า "งั้นเรามาเที่ยวด้วยกันมั้ย ถ้าเธอไม่ชอบเที่ยวกับคนรู้จัก เราก็ไม่ต้องรู้จักกัน ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ข้อมูลส่วนตัว" เขายิ้มร่าพลางสรุป "เราจะเป็นแค่คนแปลกหน้าสองคนที่ไปเที่ยวด้วยกัน"
นักแสดง
[แก้]- ฉันทวิชช์ ธนะเสวี รับบท ชายหนุ่ม ใช้นามแฝงว่า ด่าง
- หนึ่งธิดา โสภณ รับบท หญิงสาว ใช้นามแฝงว่า เม
- วรัทยา นิลคูหา รับบท ก้อย
- รสสุคนธ์ กองเกตุ รับบท ไกด์ทัวร์
งานสร้างภาพยนตร์
[แก้]บทภาพยนตร์
[แก้]บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่โด่งดังมาจากการกำกับหนังสยองขวัญ อย่างเช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, สี่แพร่ง (ตอน คนกลาง), ห้าแพร่ง (ตอน คนกอง) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นหนังรักเรื่องแรกของบรรจง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ สองเงาในเกาหลี ของ ทรงกลด บางยี่ขัน โดยบทภาพยนตร์เขียนโดยสามคน รวมทั้งตัวผู้กำกับและฉันทวิชช์ โดยบทที่ไม่ใช่เป็นความรักโรแมนติกเท่านั้น ยังใส่ความกวนที่เป็นสไตล์ของเขาเข้าไป โดยตัวละครพวกเขาเป็นคนคิดขึ้นมาใหม่
การคัดเลือกนักแสดง
[แก้]สำหรับตัวเอก ผู้ชาย ผู้กำกับเห็นแววในตัว เต๋อ ฉันทวิชช์ เห็นในความกวน จึงเลือกเขามารับบทนี้ อีกทั้งฉันทวิชช์ร่วมเขียนบทเองด้วย ส่วนตัวละครหญิง ผู้กำกับมีความตั้งใจว่าจะไม่ใช้นักแสดงที่เคยเป็นนางเอกมาก่อน ได้คัดเลือกนักแสดงหญิงจำนวน 1,500 คนจากทั่วประเทศ ในโครงการ"ลักส์ปั้นดาว" จนได้ตัวนักแสดงหญิงตัวเอก เป็น หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ
การถ่ายทำ
[แก้]ภาพยนตร์ ถ่ายทำที่ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เวลาถ่ายทำนานสองเดือนเต็ม[5] ในช่วงเวลารอยต่อฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขบทกว่า 20 ร่างและถ่ายทำไว้แบบหลากหลายอารมณ์ และยังมีบางฉากที่ต้องถ่ายในประเทศไทย โดยสมมติว่าเป็นที่เกาหลี
สถานที่ถ่ายทำในเกาหลีใต้ ผู้กำกับเลือกสถานที่ใน 2 ลักษณะคือ สถานที่ที่ชาวไทยมักไปท่องเที่ยวกัน เช่น ตามรอยซีรีส์เกาหลี โรงถ่ายละครแดจังกึม และ Winter Love Song ร้านกาแฟคอฟฟีพรินซ์ หอคอยนัมซาน เกาะนามิ สวนน้ำบลูแคนยอน ฟีนิกซ์พาร์กรีสอร์ต เซเวนลักคาซิโน สวนสนุกลอตเตเวิลด์ โซลทาวเวอร์ พิพิธภัณฑ์เท็ดดีแบร์ พระราชวังถ็อกซูกุง คลองชองเกชอน เมียงดง ทงแดมุน นัมแดมุน การแสดงไฮจัมป์โชว์[6] ส่วนอีกด้านหนึ่งคือในสถานที่ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคย เช่นในฉากบ้านคนเกาหลีในชนบท ดูรอยเท้าไดโนเสาร์ ทะเลเกาหลี รวมถึงในฉากงานแต่งงานแบบดั้งเดิมของเกาหลี[7]
เทคนิคงานสร้าง
[แก้]ถ่ายทำด้วยกล้อง Sony EX3 XDCAM EX HD, Canon DSLR HD บันทึกเสียง sync sound on location
เพลงประกอบ
[แก้]เพลง "ยินดีที่ไม่รู้จัก" ขับร้องโดย 25hours (ทเวนตีไฟฟ์อาวส์) กำกับมิวสิกวิดีโอโดย นิธิวัฒน์ ธราธร และได้นักแสดงจากภาพยนตร์มาแสดง คือฉันทวิชช์ ธนะเสวี และหนึ่งธิดา โสภณ[8] และได้ นางเอก หนึ่งธิดา โสภณ มาร้องเพลง "รักไม่ต้องการเวลา" ซึ่งเป็นการนำเพลง "รักไม่ต้องการเวลา" ของ วงเคลียร์มาทำใหม่
การออกฉายและรายได้
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายทั่วไปในโรงภาพยนตร์เมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เปิดตัวในวันแรกทำรายได้กว่า 7.2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในปี พ.ศ. 2553[9] ทำรายได้ใน 4 วันแรกที่ 40 ล้านบาท เปิดตัวใน 4 วันแรกน้อยกว่าภาพยนตร์ในปีที่แล้วของจีทีเอชอย่าง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ และ 5 แพร่ง ที่ทำได้ 57 และ 51 ล้านบาทใน 4 วันแรกตามลำดับ และรายได้ 7 วัน 70 ล้านบาท[10] ในสัปดาห์ที่ 3 จากการฉายเพียง 16 วันทำรายได้เกินร้อยล้าน ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ใช้เวลา 19 วัน และ 5 แพร่ง ใช้เวลา 18 วัน และสามารถทำรายได้ได้เป็นอันดับ 3 ของค่ายจีทีเอช[11] ภาพยนตร์ทำรายได้รวม 131.04 ล้านบาท เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี พ.ศ. 2553[12]
ภาพยนตร์ออกฉายที่อินโดนีเซีย ติดอันดับ 3 บ็อกซ์ออฟฟิสของอินโดนีเซีย เป็นรองหนังฮอลลีวูด เรื่อง Grown Ups และหนังอินเดียเรื่อง We are Family[13] สามารถขึ้นอันดับ 1 อันดับหนังทำเงินที่อินโดนีเซียได้
รางวัล
[แก้]- Osaka Asian Film Festival 2011[14]
- ABC Award
- Most Promising Talent Award (บรรจง ปิสัญธนะกูล)
- รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553[15]
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 8[16]
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- Gmember Award 2010[17]
- เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 8[ต้องการอ้างอิง]
- ภาพยนตร์ยอดนิยม
- ท็อปอวอร์ด 2010[18]
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บรรจง ปิสัญธนะกูล)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระเอกมาดกวน "เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี" เล่นเองเขียนเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
- ↑ "10 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดประจำปี 2553". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-06. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
- ↑ เมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ เก็บถาวร 2010-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กวน มึน โฮ ข้อมูลภาพยนตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 21 สิงหาคม 2553
- ↑ "โต้ง-บรรจง ได้แรงบันดาล สองเงาในเกาหลี ทำหนังโฮแมนติก กวนมิดี้ กวน มึน โฮ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-31. สืบค้นเมื่อ 2010-08-21.
- ↑ กวน มึน โฮ thaicinema.org
- ↑ ทัวร์เกาหลี แพ็คเกจทัวร์เกาหลี
- ↑ รายการเอ็มทีวีออนแอร์ไลฟ์ ช่องเอ็มทีวีไทยแลนด์ ทรูวิชันส์ 85 วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19.00-20.00
- ↑ ""เต๋อ-หนูนา" ลุยถ่ายเอ็มวี "ยินดีที่ไม่รู้จัก" วง 25 hours ทึ่ง!! ฉากลอยตัว ไอเดียล้ำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-08-23.
- ↑ โพสต์ทูเดย์ เก็บถาวร 2010-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กวน มึน โฮ เปิดตัววันแรกโกยรายได้คับคั่ง ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เรียกข้อมูลวันที่ 21 สิงหาคม 2553
- ↑ "กวน มึน โฮ" 4 วัน 4000 ล้าน, "สิ่งเล็กเล็กฯ" 11 วัน 4000.5 ล้าน[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""กวนมึนโฮ"แซง"5แพร่ง-ชัตเตอร์" ขึ้นอันดับ3หนังทำเงินGTH". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
- ↑ รายได้หนังปีเสือ ไม่ดุไม่แรงแต่โดน[ลิงก์เสีย] เดลินิวส์
- ↑ ภาพยนตร์ออกฉายที่อินโดนีเซีย ติดอันดับ 3 บ็อกซ์ออฟฟิสของอินโดนีเซีย
- ↑ "กวนมึนโฮ" คว้า2รางวัล เทศกาลหนังที่โอซากา
- ↑ รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553
- ↑ Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 8[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Gmember Award 2010". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-27. สืบค้นเมื่อ 2011-02-19.
- ↑ "ท็อปอวอร์ด 2010". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-03. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์หลักของภาพยนตร์ กวน มึน โฮ เก็บถาวร 2010-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กวน มึน โฮ จากเว็บไซต์เอ็มไทยดอตคอม เก็บถาวร 2010-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กวน มึน โฮ (2010) ที่สยามโซน