ข้ามไปเนื้อหา

ความน่ารัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก น่ารัก)
การเปลี่ยนสัดส่วนต่าง ๆ ของศีรษะและใบหน้า (โดยเฉพาะขนาดขากรรไกรบนโดยเปรียบเทียบกับขากรรไกรล่าง) ตามอายุ
"มนุษย์ชอบใจสัตว์ที่มีลักษณะคล้าย ๆ เด็ก คือมีตาใหญ่ กะโหลกศีรษะที่ป่องออก คางที่ไม่ยื่นออก (คอลัมน์ซ้าย) ส่วนสัตว์ที่มีตาเล็ก ปากจมูกยาว (คอลัมน์ขวา) ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน" --ค็อนแรด ลอเร็นซ์[1]

ความน่ารัก (อังกฤษ: Cuteness) เป็นคำบ่งความรู้สึกที่ใช้แสดงความน่าพึงใจ/ความน่าดูน่าชมที่มักจะเกี่ยวข้องกับความเยาว์วัยและรูปร่างหน้าตา และยังเป็นคำบัญญัติทางวิทยาศาสตร์และแบบวิเคราะห์ในพฤติกรรมวิทยาอีกด้วย[2]

นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้คำนี้เป็นคนแรก (ชาวออสเตรียชื่อว่าค็อนแรด ลอเร็นซ์) ได้เสนอความคิดในเรื่องแผนภาพทารก (อังกฤษ: baby schema, เยอรมัน: Kindchenschema) ซึ่งเป็นลักษณะทางใบหน้าและร่างกาย ที่ทำให้สัตว์หนึ่ง ๆ ปรากฏว่า "น่ารัก" และกระตุ้นให้ผู้อื่นช่วยดูแลรักษาสัตว์นั้น ๆ[3] คำนี้สามารถใช้ในการชมบุคคลและสิ่งของที่น่าดูน่าชมหรือมีเสน่ห์[4]

อีกอย่างหนึ่ง ความน่ารัก เป็นความสวยงามประเภทหนึ่งที่มีลักษณะละเอียดอ่อนและดึงดูดใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ความน่ารักมักจะเกิดจากส่วนประกอบของสิ่งที่มีลักษณะคล้ายทารกหรือมีขนาดใกล้เคียงกับทารก และมักจะมีส่วนประกอบของความขี้เล่น ความเปราะบาง และการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้รวมอยู่ด้วย เด็กเล็ก ๆ และสัตว์ในวัยเยาว์มักจะมีการกล่าวถึงในลักษณะความน่ารัก ในขณะเดียวกันสัตว์ใหญ่บางประเภทเช่นแพนด้ายักษ์ ก็ยังมีการกล่าวถึงความน่ารัก เนื่องจากลักษณะที่คล้ายคลึงกับทารก และมีสัดส่วนหัวขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย เทียบกับสัตว์ชนิดอื่น

ในประเทศญี่ปุ่น ความน่ารักได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าในสื่อต่าง ๆ เสื้อผ้า อาหาร ของเล่น หรือของใช้ส่วนตัว มักจะมีภาพแสดงความน่ารักออกมา หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐบาล การทหารก็ยังมีภาพแสดงความน่ารักออกมา ในขณะที่ไม่มีใช้กันในประเทศอื่นโดยถือว่าเป็นความไม่เหมาะสม ความน่ารักในปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดของบริษัทขายของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น โดยได้กลายเป็นจุดขายที่สำคัญ ตัวอย่างเช่นในสินค้า เฮลโล คิตตี้ หรือ โปเกมอน หรือแม้แต่ในวัฒนธรรมตะวันตก เช่น หมีพูห์ หรือ มิกกี้เมาส์

ลักษณะของเด็กและความน่ารัก

[แก้]

นักวิชาการมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลได้กล่าวไว้ว่า ส่วนสัดของใบหน้าจะเปลี่ยนไปตามอายุเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะทั้งที่เป็นส่วนที่แข็งและส่วนที่นิ่ม และความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามลำดับในธรรมชาตินั้นทำให้สัตว์มีอายุน้อยมองดูน่ารัก โดยมีจมูกและปากที่เล็กกว่า หน้าผากที่ใหญ่กว่า และตาที่ใหญ่กว่าผู้ที่ถึงวัยผู้ใหญ่แล้ว ในส่วนของอวัยวะที่แข็ง กะโหลกศีรษะส่วนบรรจุสมอง (neurocranium) ได้เติบโตขึ้นมากแล้วในเด็ก แต่ว่ากระดูกที่จมูกและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวอาหารจะเติบโตขึ้นในระดับสูงสุดต่อเมื่อภายหลัง ในส่วนของอวัยวะที่นิ่ม ส่วนที่เป็นกระดูกอ่อนคือหูและจมูกเป็นส่วนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดชั่วชีวิต นอกจากนั้นแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 25 ปี คิ้วจะเริ่มขยับลงจากเหนือเบ้าตามายังใต้เบ้าตา ส่วนคิ้วที่ทอดไปตามด้านข้างจะตกลงตามอายุ ทำให้ตาปรากฏว่าเล็กลง และส่วนแดงของปากจะบางลงเรื่อย ๆ ตามอายุเพราะการสูญเสียเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน[5]: 78–729 

มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า หน้าของเด็กชาวอิตาลีผิวขาวภาคเหนือที่หน้าตาน่าดู จะมี "ลักษณะของเด็กทารก" เช่น "หน้าผากที่กว้างกว่า", กรามที่เล็กกว่า, ขากรรไกรบนที่ใหญ่กว่าและเด่นกว่า, หน้าที่กว้างกว่า แบนกว่า, และมีลักษณะใบหน้าจากหน้าไปหลังที่ใหญ่กว่า เด็กชาวอิตาลีที่ใช้เป็นจุดอ้างอิง[6]

หน้าที่ทางชีวภาพของความน่ารัก

[แก้]

ค็อนแรด ลอเร็นซ์ได้เสนอในปี ค.ศ. 1949 ว่า ลักษณะของเด็กทารกเหล่านี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเพื่อดูแลรักษาในผู้ใหญ่ เป็นการปรับตัวตามขบวนการวิวัฒนาการเพื่อให้มั่นใจว่า พ่อแม่จะดูแลลูก ๆ ของตน มีผลเป็นการสืบต่อสายพันธุ์ของสปีชีส์นั้น ๆ งานวิจัยวิทยาศาสตร์ต่อ ๆ มาเพิ่มหลักฐานให้กับทฤษฎีของลอเร็นซ์ ยกตัวอย่างเช่น มีหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์ผู้ใหญ่มีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อทารกที่ดูน่ารักโดยเหมารวม และงานต่าง ๆ ก็แสดงด้วยว่า การตอบสนองต่อความน่ารัก ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปหมายถึงความน่าดูน่าชมของใบหน้า ดูจะเหมือนกันทั้งในวัฒนธรรมเดียวกันและในวัฒนธรรมต่าง ๆ กัน[7] ในงานวิจัยทำที่มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี่ในเมืองแอตแลนตา นักวิจัยพบโดยใช้ fMRI ว่า ภาพที่ดูน่ารักจะเพิ่มการทำงานในสมองที่คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าใกล้เบ้าตา (Orbitofrontal cortex) ซึ่งมีกิจเกี่ยวกับการประมวลผลทางประชานและการตัดสินใจ[8]

รูปแบบการเจริญเติบโตของเด็ก

[แก้]

นักโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยลอนดอนท่านหนึ่งกล่าวว่า[9] วัยเยาว์ที่นานขึ้นในมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ neoteny (วิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ที่มีรูปร่างลักษณะบางอย่างเหมือนเด็กแม้ในวัยผู้ใหญ่)[10]

ส่วนนักมานุษยวิทยาเชิงกายภาพท่านหนึ่งกล่าวว่า รูปแบบการเติบโตของเด็กดูเหมือนจะมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มระยะเวลาที่ดูน่ารัก คือ สมองของเด็กจะมีขนาดเท่ากับผู้ใหญ่แล้วแม้ว่าจะมีขนาดกายเพียงแค่ 40% มี "การเจริญเติบโตของฟันเพียงแค่ 58%" และมี "การเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์เพียงแค่ 10%" และการเจริญเติบโตเช่นนี้ทำให้เด็กมีลักษณะเหมือนทารก (คือมีกะโหลกศีรษะใหญ่ หน้าเล็ก ตัวเล็ก และระบบสืบพันธุ์ที่ยังไม่สมบูรณ์) นานกว่า "สปีชีส์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ" เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยา "การเลี้ยงดู" และ "ให้ความดูแล" จาก "บุคคลที่มีอายุมากกว่า"[11]

ความแตกต่างระหว่างเพศ

[แก้]

ความรู้สึกว่าน่ารักของทารกนั้น ขึ้นอยู่กับเพศและพฤติกรรมของทางรก[12][13] งานวิจัยปี ค.ศ. 2006 พบว่า ทารกหญิงจะปรากฏว่าน่ารักถ้ามีรูปร่างหน้าตาที่น่าดูน่าชมที่ปกติทารกหญิงมีมากกว่าทารกชาย[12] ในขณะที่งานวิจัยในปี ค.ศ. 1990 พบว่า ความใส่ใจและพฤติกรรมของคนดูแลในการปกป้องรักษาทารกชาย อาจมีเหตุจากความรู้สึกล้วน ๆ ว่า เด็กนั้นมีความสุขและมีความน่าดูน่าชมแค่ไหน[13]

เพศของคนดูสามารถกำหนดความแตกต่างของความรู้สึกว่าน่ารัก งานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 พบว่า หญิงมีความอ่อนไหวต่อความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับความน่ารักมากกว่าชายที่มีอายุใกล้เคียงกัน ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ฮอร์โมนทางเพศของหญิงอาจมีความสำคัญในการกำหนดความน่ารัก[14]

ผลเช่นนี้ก็พบด้วยในงานวิจัยปี ค.ศ. 1981 ที่นักวิจัยให้นักศึกษาปริญญาตรี 25 คน (ชาย 7 และหญิง 18) ให้คะแนนความน่ารักของทารกตามลักษณะต่าง ๆ เช่นอายุ พฤติกรรม และรูปร่างหน้าตาเช่นรูปร่างของศีรษะ และใบหน้า[15]

ความชอบใจของเด็กเล็ก ๆ

[แก้]

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2014 พบว่า เด็กเล็ก ๆ แสดงความชอบใจในใบหน้าที่คล้ายกับของทารกมากกว่า คือ มีใบหน้ากลม มีหน้าผากที่ใหญ่กว่า มีตาใหญ่กว่า มีจมูกและปากที่เล็กกว่า ในงานวิจัยในเด็ก 3-6 ขวบ นักวิจัยพบว่า เด็ก ๆ ชอบใจภาพแสดงดวงตาของสุนัข แมว และมนุษย์ที่คล้ายของทารก เปรียบเทียบกับสัตว์กลุ่มเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายทารกน้อยกว่า[16]

ฮอร์โมนกับความรู้สึกว่าน่ารักต่าง ๆ กัน

[แก้]

มีข้อเสนอว่า ระดับฮอร์โมนอาจทำให้คนดูมีความรู้สึกว่าน่ารักต่าง ๆ กัน ค็อนแรด ลอเร็นซ์เสนอว่า "พฤติกรรมการดูแลรักษาและความรู้สึก" ต่อทารกเป็นกลไกทางธรรมชาตที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และจะเกิดการกระตุ้นโดยลักษณะความน่ารักต่าง ๆ เช่น "แก้มยุ้ย" และตาที่ใหญ่ งานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 เพิ่มขอบเขตในการทดสอบทฤษฎีนี้โดยเปลี่ยนแปลงรูปทารกที่ให้ดู เพื่อทดสอบสมรรถภาพต่าง ๆ กันของกลุ่มบุคคลในการตรวจจับความน่ารักที่ต่าง ๆ กัน แล้วได้พบว่า หญิงก่อนวัยหมดระดูสามารถตรวจจับความน่ารักได้ดีกว่าหญิงวัยเดียวกันแต่หมดระดูแล้ว นอกจากหลักฐานนี้แล้ว ยังปรากฏด้วยว่า หญิงผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่เพิ่มระดับฮอร์โมนทางเพศ สามารถตรวจจับความน่ารักได้ดีกว่าหญิงวัยเดียวกันที่ไม่ได้ใช้ยา[14]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2009 นักวิจัยได้รวบรวมหญิงอายุน้อย 24 คน ชายอายุน้อย 24 คน และหญิงอายุมากกว่า 24 คนเพื่อการทดลองนี้ นักวิจัยได้ทำงานทดลอง 3 อย่างที่แสดงเด็กทารกผิวขาวเชื้อสายชาวยุโรป แล้วให้ผู้ร่วมการทดลองลงคะแนนเพื่อความน่ารักจาก 1 ถึง 7 งานทดลองแรกพบความแตกต่างกันของความสามารถในการกำหนดความน่ารักระหว่างกลุ่ม โดยออกแบบเพื่อกันอิทธิพลที่เกิดจากการมีประสบการณ์ร่วมกันหรือความกดดันทางสังคมออกไปแล้ว ส่วนงานทดลองที่สองพบว่า หญิงก่อนวัยหมดระดูสามารถกำหนดความน่ารักได้ดีกว่าหญิงวัยเดียวกันที่หมดระดูแล้ว ซึ่งบอกเป็นนัยว่ามีอิทธิพลที่เกิดจากชีวภาพ ซึ่งใช้เป็นประเด็นการศึกษาในงานทดลองที่สาม คือนักวิจัยได้เปรียบเทียบความไวต่อความน่ารักระหว่างหญิงก่อนวัยหมดระดูที่ใช้และไม่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด งานทดลองนี้พบว่า กระบวนการเกี่ยวกับความรู้สึกว่าน่ารัก เปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนทางเพศ (โดยเฉพาะคือโพรเจสเทอโรนและเอสโทรเจน) และดังนั้นฮอร์โมนทางเพศจึงมีผลต่อความไวต่อความน่ารัก[14]

การดูแลรักษามีสหสัมพันธ์กับความน่ารัก

[แก้]

ส่วนงานวิจัยในปี ค.ศ. 1990 บอกเป็นนัยว่า "ความเชื่อของผู้ใหญ่เกี่ยวกับบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่คาดหวังของเด็กทารก มีอิทธิพลต่อปฏิสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็ก" ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่า "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความน่ารักในขั้นพื้นฐานอาจเกิดการปิดบังได้ในทารกบางคน"[13] (คือผลที่เกิดจากความน่ารักของเด็กอาจเปลี่ยนไปได้ตามความคิดของผู้ใหญ่) งานวิจัยในปี ค.ศ. 2006 พบว่า ความรู้สึกของผู้ใหญ่ว่าเด็กน่ารักสามารถกระตุ้นระดับการดูแลรักษาเด็กและความรู้สึกชอบใจในเด็กที่ต่าง ๆ กัน แต่ก็สรุปความอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า "ความรู้สึกว่าควรดูแลรักษาเด็กในผู้ใหญ่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญกว่าในการกำหนดความน่ารักของเด็กผู้ชาย"[12]

ตารางนี้แสดงการแต่งสัดส่วนใบหน้าภาพทารกโดยใช้ระบบดิจิทัล โดยปรับขึ้น (↑) หรือ ปรับลง (↓) เมื่อเทียบกับภาพที่ไม่ได้แต่ง มีผลให้ทารกรับการระบุว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก การปรับแต่งจำกัดอยู่ในระดับ ±2 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อไม่ทำให้ผิดปกติจากใบหน้าจริง ๆ
ตารางแสดงการปรับระดับความน่ารักของทารก[17]
น่ารัก ไม่น่ารัก
ความกว้างของใบหน้า
ความยาวของหน้าผาก/ใบหน้า
ความกว้างของตา/ใบหน้า
ความยาวของจมูก/ศีรษะ
ความกว้างของจมูก/ใบหน้า
ความกว้างของปาก/ใบหน้า

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ. 2009 แสดงหลักฐานว่า ควาน่ารักของทารกกระตุ้นการดูแลรักษาของผู้ใหญ่ แม้ผู้ไม่ใช่ญาติ[17] คือ นักวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนความน่ารักของภาพทารกแล้วสังเกตว่าผู้ร่วมการทดลองมีแรงจูงใจที่จะดูแลรักษาทารกแค่ไหน ผลงานวิจัยบอกเป็นนัยว่า คะแนนที่ให้กับความน่ารักของทารกสอดคล้องกับระดับแรงจูงใจในการดูแลทารก[17] นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยยังใช้ fMRI เพื่อที่จะแสดงว่า เด็กที่มีใบหน้าที่มีลักษณะน่ารักมากกว่า จะทำให้เกิดการทำงานในเขตสมอง nucleus accumbens ที่เป็นส่วนของ basal ganglia และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความสุขใจมีการหัวเราะเป็นต้น และแรงจูงใจ ในระดับที่สูงกว่า[3] ดังนั้น งานวิจัยจึงช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกทางประสาทที่แผนภาพทารก (ที่น่ารัก) กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการดูแลรักษา นอกจากนั้นแล้ว ทารกที่น่ารักมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้รับเลี้ยงเป็นลูก และจะได้รับการระบุว่า "น่าชอบใจ ดูเป็นมิตร มีสุขภาพดี และเก่ง" สูงกว่าทารกที่น่ารักน้อยกว่า ซึ่งชี้ว่า ปฏิกิริยาต่อความน่ารักของทารกเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการในมนุษย์ เพราะเป็นฐานของการให้เกิดการดูแลและของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ผู้เป็นคนดูแล[17]

งานวิจัยของค็อนแรด ลอเร็นซ์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 เสนอว่า รูปร่างศีรษะของทารกอาจทำให้ผู้ใหญ่เกิดการดูแลรักษาทารก และความรู้สึกว่าน่ารัก และหลังจากนั้นก็มีงานต่าง ๆ ที่แสดงความสำคัญของรูปร่างศีรษะของเด็ก แต่ว่า งานวิจัยในปี ค.ศ. 1981 งานหนึ่งพบว่า งานวิจัยเกี่ยวกับรูปร่างศีรษะของเด็กเหล่านั้น มักจะมีความผิดพลาดในวิธีการหรือใช้สิ่งเร้าที่ไม่ดี แต่ในที่สุดก็สรุปว่า รูปร่างศีรษะของทารกทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงบวกจากผู้ใหญ่จริง ๆ และเด็กที่มีรูปร่างศีรษะเหมือนทารกจะได้รับพิจารณาว่าน่ารักกว่า ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีให้คะแนนกับรูปเส้นของใบหน้าทารก คือมีการใช้ภาพเดียวกันในการให้ดูแต่ละครั้ง แต่ว่า รูปร่างของศีรษะแต่ละครั้งจะเปลี่ยนไปโดยฟังก์ชันการแปลงแบบ "cardioidal transformation" ซึ่งเปลี่ยนรูปร่างศีรษะให้ไปเป็นไปตามลำดับอายุ แต่ว่า รูปร่างของลักษณะใบหน้าอื่น ๆ จะเหมือนเดิม งานวิจัยสรุปว่า ศีรษะที่ใหญ่ทำให้รู้สึกว่าน่ารัก แล้วจึงทำให้เกิดปฏิกิริยาเพื่อดูแลรักษาในเชิงบวกของผู้ใหญ่ นักวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ความรู้สึกว่าน่ารักยังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างหน้าตาและพฤติกรรมอื่น ๆ ของเด็ก รวมทั้งอายุ[15]

อิทธิพลต่อสื่อ

[แก้]

นักวิชาการทางมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลได้กล่าวว่า ใบหน้าของลิง สุนัข นก และแม้แต่หน้ารถยนต์ สามารถทำให้ดูน่ารักขึ้นโดยการแปลงแบบ "cardioidal transformation" คือ การแปลงสภาพให้ใบหน้าดูเป็นผู้ใหญ่น้อยกว่าและน่ารักกว่า จะทำให้ลักษณะต่าง ๆ ด้านบนของหน้าขยายออกทางด้านข้างและทางด้านบน ในขณะที่ทำให้ลักษณะของใบหน้าด้านล่างลดเข้าทั้งทางด้านข้างและทางด้านล่าง[5]

นักบรรพมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งกล่าวว่า ตามประวัติแล้วมีการวาดมิกกี้ เมาส์ให้เหมือนกับเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีศีรษะที่ใหญ่ขึ้น ตาที่ใหญ่ขึ้น กะโหลกศีรษะที่ป่องออก หน้าผากที่ลาดเอียงน้อยลงและกลมขึ้น มีขาที่สั้น หนา และอ้วนขึ้น มีแขนหนาขึ้น และจมูกที่หนาขึ้นซึ่งทำให้เหมือนกับยื่นออกมาน้อยลง แล้วเสนอว่า การเปลี่ยนรูปร่างของมิกกี้ เมาส์มีจุดหมายเพื่อเพิ่มความนิยมโดยทำให้น่ารักขึ้นและดูเป็นภัยน้อยลง และได้กล่าวอีกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงให้รูปร่างเหมือนกับเด็กเช่นนี้ เลียนแบบวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ที่มีรูปร่างลักษณะบางอย่างเหมือนเด็กแม้ในวัยผู้ใหญ่ (Neoteny)[1]

ความรู้สึกว่าน่ารักมีความแตกต่างกันในระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่า ความรู้สึกว่าน่ารักอาจจะมีความสัมพันธ์กับความปรารถนาเพื่อจะเป็นที่ยอมรับของสังคม[18]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Gould, S.J. (1980). "A Biological Homage to Mickey Mouse" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-08. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
    • เดิมใน Gould, S.J. (1980). The Panda's Thumb: More Reflections in Natural History. US: W.W. Norton & Company. ISBN 0-393-01380-4.
  2. Lorenz, Konrad (1971). Studies in Animal and Human Behavior. Cambridge, MA: Harvard Univ Press.
  3. 3.0 3.1 Glocker, ML; Langleben, DD; Ruparel, K; Loughead, JW; Valdez, JN; Griffin, MD; Sachser, N; Gur, RC (2009-06-02). "Baby schema modulates the brain reward system in nulliparous women". Proc Natl Acad Sci U S A. 106 (22): 9115–9119. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
  4. "cute, adj". OED Online. March 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 16, 2013. สืบค้นเมื่อ 2012-04-29.
  5. 5.0 5.1 Jones, D.; และคณะ (December 1995). "Sexual Selection, Physical Attractiveness, and Facial Neoteny: Cross-cultural Evidence and Implications [and Comments and Reply]". Current Anthropology. 36 (5): 723–748. doi:10.1086/204427. S2CID 52840802. สืบค้นเมื่อ 22 January 2017.
  6. Preedy, V.R. (2012). Handbook of anthropometry: Physical measures of human form in health and disease. New York: Springer Science. ISBN 978-1-4419-1787-4.
  7. Van Duuren, Mike; Kendell-Scott, Linda; Stark, Natalie. "Early Aesthetic Choices: Infant Preferences for Attractive Premature Infant Faces". King Alfred's College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  8. Schneider, Avie (2013-01-10). "Agreed, Baby Pandas Are Cute. But Why?". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ 2013-01-13.
  9. doi:10.1080/00438243.1970.9979467
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  10. Collins, D.; และคณะ (1973). Background to archaeology: Britain in its European setting. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 9780521098083.
  11. Bogin, B (1997). "Evolutionary Hypotheses for Human Childhood". Yearbook of Physical Anthropology. 40: 63–89.
  12. 12.0 12.1 12.2 Koyama, Reiko; Takahashi, Yuwen; Mori, Kazuo (2006). "Assessing the cuteness of children: Significant factors and gender differences". Social Behavior and Personality. 34 (9): 1087–1100. doi:10.2224/sbp.2006.34.9.1087.
  13. 13.0 13.1 13.2 Karraker, Katherine; Stern, Marilyn (1990). "Infant physical attractiveness and facial expression: Effects on adult perceptions". Basic and Applied Social Psychology. 11 (4): 371–385. doi:10.1207/s15324834basp1104_2.
  14. 14.0 14.1 14.2 Sprengelmeyer, R; Perrett, D.; Fagan, E.; Cornwell, R.; Lobmaier, J.; Sprengelmeyer, A.; Aasheim, H.; Black, I.; Cameron, L.; Crow, S.; Milne, N.; Rhodes, E.; Young, A. (2009). "The Cutest Little Baby Face: A Hormonal Link to Sensitivity to Cuteness in Infant Faces". Psychological Science. 20 (9): 149–154. CiteSeerX 10.1.1.468.7485. doi:10.1111/j.1467-9280.2009.02272.x. PMID 19175530. S2CID 1040565.
  15. 15.0 15.1 Alley, Thomas (1981). "Head shape and the perception of cuteness" (PDF). Developmental Psychology. 17 (5): 650–654. doi:10.1037/0012-1649.17.5.650. สืบค้นเมื่อ 2015-02-04.
  16. Borgi, M.; และคณะ (2014). "Baby schema in human and animal faces induces cuteness perception and gaze allocation in children". In Frontiers in Psychology. 5 (411).
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 Glocker, Melanie; Daniel D. Langleben; Kosha Ruparel; James W. Loughead; Ruben C. Gur; Norbert Sachser (2008). "Baby Schema in Infant Faces Induces Cuteness Perception and Motivation for Caretaking in Adults". Ethology. 115 (3): 257–263. doi:10.1111/j.1439-0310.2008.01603.x. PMC 3260535. PMID 22267884.
  18. Kleck, Robert E.; Stephen A. Richardson; Ronald, Linda (1974). "Physical appearance cues and interpersonal attraction in children". Child Development. 45 (2): 305–310. doi:10.2307/1127949. JSTOR 1127949.