ห้าแพร่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ห้าแพร่ง
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำกับ
บทภาพยนตร์
  • หลาวชะโอน
  • นิธิศ ณพิชญสุทิน
  • ปวีณ ภูริจิตปัญญา
  • ห้องเตียงรวม/รถมือสอง
  • โสภณ ศักดาพิศิษฏ์
  • ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
  • Backpackers
  • ทรงยศ สุขมากอนันต์
  • โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล
  • คนกอง
  • บรรจง ปิสัญธนะกูล
  • เมษ ธราธร
  • ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
กำกับภาพ
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบ
บริษัทผู้สร้าง
จอกว้าง ฟิล์ม
ผู้จัดจำหน่ายจีทีเอช
วันฉาย9 กันยายน พ.ศ. 2552
ความยาว125 นาที
ประเทศไทย ประเทศไทย
ภาษาภาษาไทย
ทำเงิน109.41 ล้านบาท
(เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)
ก่อนหน้านี้สี่แพร่ง
ต่อจากนี้กว่าจะเป็นรถมือสอง (ตอน รถมือสอง)
ข้อมูลจากสยามโซน

ห้าแพร่ง (อังกฤษ: Phobia 2) เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ โดยมีโครงเรื่องเกี่ยวกับผีและความกลัวเช่นเดียวกับ สี่แพร่ง แต่จะถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้น 5 เรื่อง เข้าฉายเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 และมีการจัดฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ได้ถูกจัดระดับเรตติ้ง น15+ ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีการถ่ายทอดสดบรรยากาศงานผ่านเว็บไซต์ทางการของภาพยนตร์ นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการถ่ายทอดสดบรรยากาศการจัดฉายรอบสื่อมวลชนทางอินเทอร์เน็ต เป็นหนังสยองขวัญที่ทำสถิติรายได้เปิดตัวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย (14.9 ล้านบาท)[1] และทำรายได้รวมจากการเข้าฉายในประเทศไทย 109.41 ล้านบาท (เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)[2] และเป็นภาพยนตร์ซอมบี้ไทยเรื่องที่สอง ซึ่งในฉากดังกล่าวผู้ชายคนหนึ่งมีหน้าตาคล้ายๆกับลีออน สกอต เคนเนดี ในวีดีโอเกมเรื่องเรซิเดนต์อีวิล 4

ที่มาของโครงการ[แก้]

หลังจากที่ สี่แพร่ง ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก ทำให้ทางทีมงานคิดว่าน่าจะทำเป็นแฟรนไชส์ (ภาคต่อ) ที่แข็งแรงได้ และได้ทำการประชุมกันโดยที่ผู้กำกับเดิมใน สี่แพร่ง ก็ยังมีเรื่องอยู่ ที่สนุกและคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ในแง่ความแปลกใหม่ได้ ส่วนจาก 4 แพร่ง เพิ่มเป็น 5 แพร่ง เพราะชื่อว่าปีนี้ (2552) เลข 5 มาแรง

โดยเริ่มจากผู้กำกับ 3 คนคือ บรรจง, ปวีณ, ทรงยศ และภาคภูมิกับวิสูตร ตามมาทีหลัง เริ่มประชุมกันทั้งวันทั้งคืนอยู่หลายวัน เรื่องแนวของหนัง สิ่งที่เป็นสาระที่ไม่เคยมีในหนังผีในโลกนี้มาก่อน นำเรื่องมาเสนอ 20-30 เรื่อง ขึ้นบนกระดาษแล้วนำมาต่อเนื่อง ช่วยกันคิดกัน แชร์แลกเปลี่ยนกัน โดยเรื่องที่เลือกมาเพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นจุดสนใจของสังคม ณ ปัจจุบัน แล้วลองทำในมุมมองใหม่ ให้แตกต่าง [3]

โจทย์ของทุกเรื่องคือ ต้องเป็นหนังผี จบในตัวเอง น่ากลัว ต้องมีความแปลกใหม่[4]

งานสร้าง[แก้]

หลาวชะโอน[แก้]

หลาวชะโอน เป็นชื่อของต้นไม้ตระกูลปาล์มที่มีรูปร่างสูงเรียว โดยในเรื่องนี้ได้ใช้เสาในการ "ตั้งเปรต" ในประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นพิธีทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและภูติผีต่าง ๆ โดยจัดอาหารคาวหวานไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพิธี "การชิงเปรต" ที่เป็นขั้นตอนการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยลูกหลานจะแย่งอาหารมากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นการแสดงความรัก และสิริมงคล เป็นกุศลแก่ลูกหลาน

แนวคิดของตอน หลาวชะโอน มาจากความต้องการทำหนังผีที่หลากหลาย ให้ดูเป็นทางการ์ตูนจัด ๆ มีแนวทางในการเล่าเรื่องเยอะ ๆ มีการสร้างภาพเทคนิคพิเศษเข้ามาเกี่ยวข้อง และทดลองทำหนังผีที่เป็นแนวดราม่า[3]การคัดเลือกนักแสดง สาเหตุที่เลือกน้องเก้าเพราะ เห็นว่ามีแววตาที่ดื้อ แต่มีความอ่อนแออยู่ในแววตา[5] โดยคัดจากนักแสดง 200 กว่าคน[6]

ทำเลถ่ายทำตอนนี้คือ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี[7] และยังถ่ายทำในวัดกลางป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งห่างจากถนนกว่า 3 กิโลเมตร ต้องเดินเลาะห้วยบึงเข้าไปถ่ายทำ[8]

ฉากในเรื่องของการหลอกผี ต้องการให้เหมือนในหนังผีโบราณ ที่จะดูไม่ตัดต่อเยอะ แทบจะไม่มีคัตเลย โดยนักแสดงไม่เห็นตัวผีต้องจินตนาการว่ามีผี แล้วจึงมาใส่ซีจีภายหลัง ตอนหลาวชะโอน ใช้เวลาถ่ายทำราว 7-8 วัน

ห้องเตียงรวม[แก้]

ตอน "ห้องเตียงรวม" มีผู้กำกับคือ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่เป็นผลงานการกำกับการแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ 50 กว่าๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ยงยุทธ ทองกองทุนประสบอุบัติเหตุ ทางคุณจิระ มะลิกุลและผู้กำกับจีทีเอชจึงขอร้องให้มากำกับสักเรื่อง โดยในวันถ่ายทำ คุณจิระมาช่วยถ่ายกล้อง 2 และได้ ย้ง ทรงยศ ถ่ายภาพนิ่ง และเอส คมกฤษ มาช่วยเป็นแอ็กติงโค้ชให้นักแสดง[9]

ตอน "ห้องเตียงรวม" มีอยู่ 141 ช็อต ใช้เวลาถ่ายทำ 2-3 วัน ถ่ายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2[10]

Backpacker[แก้]

แนวคิดของตอนนี้ จากบทสัมภาษณ์ ทรงยศกล่าวว่าชอบดูหนังแนวทริลเลอร์ จึงต้องการเน้นให้มีเนื้อเรื่องมีทิศทางไปทางทริลเลอร์[3] เดิมที ย้ง ทรงยศ ตอนเขียนเรื่องนี้มายังไม่ได้มองว่าใครจะเล่น โดยเริ่มมองดาราในค่ายก่อน และเห็นว่าคนอื่นดูผู้ดี คุณหนู ไฮโซ กันหมด เหลือเพียงคนเดียวที่พอเป็นเด็กท้ายรถได้คือ แน็ก ชาลี ไตรรัตน์ และถือเป็นบทบาทที่แน็กยังไม่เคย เล่น ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้จะใช้การสื่อสารทางอารมณ์มาก กว่าบทสนทนา[11]

สาเหตุการเลือกแบ็กแพ็กเกอร์เป็นคนญี่ปุ่น เดิมทรงยศคิดว่าถ้าเป็นฝรั่งจะเห็นชัดเจนกว่า แต่ต้องการให้ภาพรวมเป็นเอเชียทั้งหมด จึงลงมาที่ประเทศญี่ปุ่นที่เขาเจริญกว่าเรา[12] ตอน Backpacker ใช้เวลาถ่ายทำ 7 วัน[13]

รถมือสอง[แก้]

การคัดเลือกนักแสดง ที่เลือกนิโคล เพราะมีความเป็นแม่จริง ๆ และผู้กำกับโอ๋ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เคยเห็นนิโคลเล่น คืนไร้เงา ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเพราะบทที่เล่นในเรื่องนั้นดูเรียบ ๆ นิ่ง ๆ แต่เมื่อเล่าเรื่องเสร็จให้นิโคลฟัง ก็น้ำตาคลอเนื่องจากคิดถึงลูกตัวเอง และคิดว่าน่าจะเล่นในอินเนอร์ในหนังได้ และลองให้เล่นดูในบทสุดท้ายที่เป็นฉากที่ยากมากที่ต้องร้องไห้ ก็เลือกรับทันที[14]เต๊นท์ที่ถ่ายทำ ถ่ายที่กาญจนาภิเษก และรถพัง ๆ กว่า 50 คันในเรื่องก็ได้มาจากสถานีตำรวจที่ชนคนตาย ที่จอดทิ้งไว้ แต่หมอประจำสถานีตำรวจก็ทำพิธีให้ สำหรับฉากผีติดล้อ มีที่มาจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เด็กโดนรถกระบะทับ[15]

คนกอง[แก้]

จากกระแสตอบรับที่ดีของตอน "คนกลาง" ใน สี่แพร่ง แฟน ๆ อยากให้ทั้ง 4 คนกลับมาร่วมแสดงกันอีก จึงได้คิดเนื้อเรื่องใหม่ขึ้นมา โดยตัวละคร 4 คนไม่เกี่ยวข้องกับตัวละครใน "คนกลาง" (ไม่ใช่ภาคต่อหรือภาคก่อน)[16] แต่นิสัยเหมือนเดิม ส่วนฉากกับชุด มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง แฝด คือเป็นเรื่อง แฝด ภาค 2 ที่มีฉากหลังและชุดของมาช่าในเรื่อง แฝด โดยผู้เขียนจับทางในเรื่องกระแสตอบรับที่ดีได้ในเรื่องการเสียดสีล้อเลียนให้เพิ่มมากขึ้น เหมือนล้อเลียนในแง่การทำหนังผี เหมือนเป็นการอำตัวเอง อำการทำหนัง อำการคิดหนัง

นักแสดง[แก้]

นักแสดงจากเรื่อง ห้าแพร่ง แบ่งตามตอนต่าง ๆ จำนวน 5 ตอน

การตอบรับ[แก้]

การวิจารณ์[แก้]

สำหรับเสียงวิจารณ์ อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์ เปรียบเทียบ 5 แพร่งกับ 4 แพร่งว่า "5 แพร่ง อาจไม่ใช่ศูนย์รวมแห่งความหลอนเหมือน 4 แพร่ง แต่อย่างน้อยที่สุด มันได้รวมเอารสชาติและสีสันอันหลากหลายมาไว้ในเวลาร่วม ๆ 2 ชั่วโมง"[17] ข่าวสด กล่าวเปรียบเทียบอีกว่า "มีคุณภาพระดับเดียวกับ "สี่แพร่ง" แต่มีการจัดเรียงลำดับเรื่องที่เหมาะสมกว่า" และกล่าวว่า "Backpackers ในแง่แนวคิดอาจมองได้ว่าแปลก และแหวกแนวออกไปจากเรื่องอื่น แต่หนังมีความสยองน้อยกว่าเรื่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด"[18] สำหรับ "หลาวชะโอน" อัญชลี ชัยวรพร จากเว็บไซต์ไทยซีเนมา พูดถึงตอนนี้ว่า "ถ้า 5 แพร่งไปฉายเมืองนอก ชาวต่างชาติจะต้องถามถึงผีเปรตใน หลาวชะโอน มากที่สุด ผีที่ฝรั่งไม่เคยเห็น"[19]

ชาคร ไชยปรีชา จากนิตยสารฟิล์มแมกซ์ วิเคราะห์และวิจารณ์แต่ละตอนว่า "3 ตอนอย่าง "หลาวชะโอน" "Backpacker" และ "รถมือสอง" ดูเหมือนจะไปในทิศทางเดียวกัน คือจุดร่วมในการเดินเรื่องด้วยตัวละครผู้มีความผิดติดตัวที่ต้องมาเจอสถานการณ์ ส่วน "ห้องเตียงรวม" ไม่มีประเด็นอะไรชัดเจนในส่วนเนื้อเรื่อง เลี่ยงนำพาคนดูรู้จักกับตัวละครและมุ่งหน้าสู่การสร้างความกลัวกับคนดูล้วน ๆ กับ "รถมือสอง" ที่ยังไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้เอาใจช่วยนุชได้อย่างเต็มที่ จนส่งให้หนังกลายเป็นการวมฉากผีโผล่จำนวนมากจนเฉียด ๆ ข้ามเส้นไปสู่ความเอือมระอา กับ "Backpacker" เลือกที่จะกระจายบทไปสู่ตัวละครมากมายจนไม่สามารถยึดเหนี่ยวตัวใดตัวหนึ่งได้อย่างชัดเจน ส่วนตอนที่กระจายบทให้ทุกตัวละครได้รับการเอาใจใส่ คือ "คนกอง" ซึ่งมีตัวช่วยด้วยการมาในรูปแบบหนังผีตลก ที่คนดูยังสามารถผูกติดกับตัวละครได้โดยง่าย แต่เหนือไปกว่านั้นคือการที่ทำให้ตัวละครทุกตัวกลายเป็นที่รักได้ "[20] วิมลศักดิ์ ปัญชรมาศจากนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ กล่าวถึง "รถมือสอง" และ "ห้องเตียงรวม" ว่า "ดูจืดไปหน่อย"[21]

รายได้และการออกฉาย[แก้]

ห้าแพร่ง ทำรายได้สุทธิจากการเข้าฉายในประเทศไทย (เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่) จำนวน 109.41 ล้านบาท [22]

สำหรับการออกฉายในต่างประเทศ ออกฉายที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 กันยายน จำนวน 5 โรง ก็ได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง 3 โรง และอันดับ 2 อีกสองโรง ในสิงคโปร์ออกฉายวันที่ 24 กันยายน ฉายถึง 23 รอบ ฉายทั้งสิ้น 24 โรง ติดอันดับ 2 บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสของสิงคโปร์ ออกฉายในมาเลเซียเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน จำนวน 42 โรงติดอันดับ 4 ตารางบ็อกซ์ออฟฟิสของมาเลเซีย[23] และยังได้ฉายที่ฮ่องกงและไต้หวัน นอกจากนั้นยังได้รับเชิญจากงานเทศกาลภาพยนตร์ “สตอก โฮล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล” ประเทศสวีเดนด้วย[24]

เพลงประกอบภาพยนตร์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายเปิดตัวสูงสุดของหนังสยองขวัญไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-12. สืบค้นเมื่อ 2009-09-10.
  2. โอ้ลัลล้า รายได้รวมหนังไทย 2552 (+ อัปเดตโปรแกรมฉายปี 53) เก็บถาวร 2010-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deknang.com
  3. 3.0 3.1 3.2 "5 แพร่ง 5 ผู้กำกับ รสชาติ ดีกรี", นิตยสารฟิล์มแมกซ์ ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 หน้า 99-103
  4. 5 แพร่ง @ เรื่องของเรื่อง [1/3] เรื่องของเรื่อง คลิปจากยูทูบ ตอนที่ 1
  5. เบื้องหลัง 5 แพร่ง ตอน หลาวชะโอน คลิปยูทูบ
  6. 5 แพร่ง @ เรื่องของเรื่อง [2/3] คลิปจากยูทูบ
  7. พาไปเที่ยว หลาวชะโอน ใน 5 แพร่ง
  8. สยองเกล้า! เจอผีทุกฉาก dailynews.co.th
  9. นิตยสารสตาร์พิก ฉบับแรก เดือนกันยายน 2552 หน้า 69
  10. นันทขว้าง สิรสุนทร, "ถอดแว่น GTH", หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552 หน้า 1
  11. 'ย้ง' กำกับโหด 'แน็ก' น้ำตาตก dailynews.co.th
  12. นิตยสารสตาร์พิก ฉบับแรก เดือนกันยายน 2552 หน้า 70
  13. 5 แพร่ง @ เรื่องของเรื่อง [3/3] คลิปในยูทูบ
  14. นิตยสารสตาร์พิก ฉบับแรก เดือนกันยายน 2552 หน้า 71
  15. เบื้องหลัง 5 แพร่ง ตอน รถมือสอง คลิปจากยูทูบ
  16. เบื้องหลัง 5 แพร่ง ตอน คนกอง คลิบในยูทูบ
  17. อภินันท์ บุญเรืองพะเนา, (ว่าที่) หนังผีที่เจ๋งที่สุดแห่งปี!! : 5 แพร่ง/อภินันท์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์
  18. 5 แพร่ง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน khaosod.co.th
  19. 5 แพร่ง thaicinema.org
  20. ชาคร ไชยปรีชา, "5 แพร่ง ภัยมืด", นิตยสารฟิล์มแมกซ์ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 หน้า 60-62
  21. วิมลศักดิ์ ปัญชรมาศ, "ห้าแพร่ง" นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 หน้า 146
  22. "อันดับหนังทำเงินไทยปี2552". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-10-20.
  23. หนังไทยในตลาดโลก thaicinema.org
  24. '5 แพร่ง' แรงข้ามประเทศ dailynews.co.th

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]