วัดบวรมงคลราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบวรมงคลราชวรวิหาร
พระเจดีย์หงษา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบวรมงคลราชวรวิหาร, วัดบวรมงคล, วัดลิงขบ
ที่ตั้งเลขที่ 492 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวง
นิกายธรรมยุติกนิกาย
เจ้าอาวาสพระราชวราจารย์ (วิวัฒน์ จิณฺณธมฺโม ป.ธ.๕)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบวรมงคลราชวรวิหาร หรือ วัดลิงขบ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่เดิมเป็นรามัญนิกาย ตั้งอยู่ที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดบวรมงคลราชวรวิหารตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน เดิมชื่อ วัดลิงขบ เนื่องจากบริเวณรอบวัดเป็นป่า มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก[1] สร้างโดยชาวรามัญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวรามัญ มีพระสงฆ์รามัญอยู่มาก และมีพระผู้ใหญ่เป็นประธานสงฆ์อยู่ด้วย จึงบูรณะให้เป็นวัดส่วนกลางสำหรับพระสงฆ์รามัญนิกาย ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดบวรมงคล ต่อมาสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2352

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างตำหนักขึ้นหลังหนึ่ง เรียกกันว่า กุฏิพระจอม สำหรับประทับแรมชั่วคราวสำหรับพระองค์ในยามที่มาประทับเป็นเวลานาน ๆ เพื่อทรงเสวนาและศึกษาธรรมกับพระสุเมธมุนีซึ่งเป็นพระเถรานุเถระชาวรามัญที่น่าเลื่อมใส เป็นผู้ทรงภูมิรู้และภูมิธรรม ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญนิกายดังกล่าวนี้ จึงทำให้พระองค์โปรดสถาปนาให้มีพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายในกาลต่อมา

ปี พ.ศ. 2410 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้มีการสร้างพระเจดีย์หงษาขึ้น เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เป็นศิลปกรรมแบบมอญ ล่วงเลยถึงสมัยรัชกาลที่ 6 วัดบวรมงคลได้รับพระราชทานให้โอนสังกัดเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2498 ก่อตั้งโรงเรียนวัดบวรมงคล หรือโรงเรียนวัดลิงขบ ในเขตธรณีสงฆ์ของวัดบวรมงคล ด้านทิศตะวันตก ผู้ก่อตั้งโรงเรียน คือ ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิวงศ์ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล[2]

ปี พ.ศ. 2560 ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ระเบียงคด จากนั้นปี พ.ศ. 2561 บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถ กว้าง 12.30 เมตร ยาว 35.20 เมตร หลังคาซ้อนชั้นแบบลดมุข 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าต่างระหว่างเสาเป็นซุ้มทรงบันแถลงนาคสามเศียร 2 ชั้น หน้าบันจำหลักเป็นรูปตาลปัตรพัดยศ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีมุขบนชานชาลา มีเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองรับชายคามุข ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.40 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 7.45 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาวัด วัดมีวิหารคด จากผนังแนวกำแพงด้านในของพระอุโบสถตลอดทั้งสี่ด้าน มีพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 95ซม. สูง 1.39 เมตร จำนวน 108 องค์ ประดิษฐานอยู่บริเวณวิหารคด อุโบสถมีพระเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 ด้าน

พระเจดีย์มีลักษณะศิลปะมอญ เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ มีนามว่า พระเจดีย์หงษา ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เจดีย์ประธานมีลักษณะย่อมุมไม้ยี่สิบ องค์เจดีย์ไม่มีเรือนธาตุ แต่ทำเป็นฐานลดระดับขึ้นไปรับองค์ระฆัง ปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว ตั้งซ้อนเป็นลำดับขึ้นไป

อาคารเสนาสนะอื่น เช่น หอระฆังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น รูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตก อาคารอนุสรณ์สถาน รัชกาลที่ 4 ชาวบ้านเรียก กุฏิพระจอม ได้สร้างขึ้นใหม่เพราะของเดิมทรุดโทรม สร้างเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบวรมงคล". ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานเขตบางพลัด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-16. สืบค้นเมื่อ 2020-09-11.
  2. "วัดลิงขบมีอยู่จริง". มติชนรายสัปดาห์. 31 ตุลาคม 2559.
  3. "วัดบวรมงคล จุดเริ่มต้นแรงดลใจ สู่ธรรมยุติกนิกาย". ผู้จัดการออนไลน์. 4 เมษายน 2559.