มัสยิดบางอ้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัสยิดบางอ้อ
มัสยิดบางอ้อ ศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิมสายเปอร์เซีย หรือชาวแขกแพในไทย
ศาสนา
ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี
ที่ตั้ง
ที่ตั้งถนนจรัญสนิทวงศ์
ซอยจรัญสนิทวงศ์ 86 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
เสร็จสมบูรณ์พ.ศ. 2462

มัสยิดบางอ้อ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมุสลิมย่านบางอ้อได้ประกอบศาสนกิจร่วมกันบนแพ ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารไม้ชั่วคราวทรงหกเหลี่ยมขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำละหมาดบนที่ตั้งของบริเวณมัสยิดบางอ้อในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการส้รางอาคารถาวรขึ้นเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา โดยมีขนาดใหญ่กว่าอาคารไม้หลังเดิม เรือนไม้ทรงปั้นหยานี้แล้วเสร็จราวปี พ.ศ. 2449 เพื่อเป็นอาคารอเนกประสงค์ ใช้เป็นสถานที่ละหมาดและเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เริ่มก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนขึ้นอีกหลังหนึ่ง อาคารใหม่หลังนี้มีความสวยงามทัดเทียมอาคารอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน เมื่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2462 จึงได้ใช้เป็นอาคารมัสยิดบางอ้อมาจนถึงปัจจุบัน[1] อาคารมัสยิดได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม เป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในปี พ.ศ. 2559[2]

สถาปัตยกรรม[แก้]

มัสยิดบางอ้อ มีสถาปัตยกรรมผสมกันระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ บาโรก โมกุล ปั้นหยา อาหรับ และเปอร์เซีย โดยมีช่างผู้ก่อสร้างเป็นคนจีน อาคารมัสยิดเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้นไว้โดยรอบ โดยโครงสร้างหลักก่อสร้างในรูปแบบศิลปะเรอเนซองส์ ที่เน้นความสมมาตรและความเป็นสัดส่วนของรูปทรงเรขาคณิต ที่หน้าบันหรือจั่วมีความหรูหราแบบศิลปะบาโรก ขณะที่หลังคามัสยิดเป็นทรงปั้นหยา ส่วนโดมสีเขียวบนหลังคาหออะษาน (หอคอยสุเหร่า) ได้รับอิทธิพลจากรูปดอกบัวใหญ่ตามคติฮินดูและรูปหม้อน้ำของชาวอาหรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของศิลปะโมกุล ทางขึ้นของหออะษานทั้งสองข้างเป็นบันไดวน ทำด้วยไม้สักที่มีความแข็งแรงและสวยงาม

อาคารมัสยิดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ โถงด้านหน้าเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดตัวขนานไปกับแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่ 2 คือ อาคารส่วนที่ทำพิธีละหมาด เป็นอาคารเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ไม่ประกบติดกับส่วนโถง แต่เอียงไปตามทิศทางที่ตรงกับทิศตะวันตก ซึ่งมีความหมายว่าผู้ทำละหมาดจะหันหน้าไปในทิศกิบละฮ์ (Qiblah) หรือทิศที่หันไปสู่ที่ตั้งของวิหารอัลกะอ์บะฮ์ ในมัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

วัฒนธรรมชุมชนมัสยิดบางอ้อ[แก้]

กิจกรรมของชุมชนที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมอาหารของชุมชมมัสยิดบางอ้อคือ "โครงการอาหารสานใจ" โดยมีคุณอุไร มุฮำหมัด และคุณซารีนา นุ่มจำนงค์ เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งเกิดจากสมาชิกในชุมชนต้องการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมอาหารเก่าแก่ โดยนำอาหารมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชน เพื่อสร้างกิจกรรมให้ผู้ใหญ่ได้เปิดใจถ่ายทอดสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชนไปสู่เด็กรุ่นใหม่ และรักษาตำรับอาหารย่านบางอ้อให้ยังคงอยู่สืบไป[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. นิทรรศการในอาคารโรงเรียนบางอ้อศึกษา โครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเก่าในกรุงเทพมหานคร โดยสุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  2. รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2559
  3. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มัสยิดบางอ้อ