คลองบางพลัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองบางพลัดช่วงตัดกับถนนจรัญสนิทวงศ์

คลองบางพลัด เป็นคลองสายหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณท้ายซอยบางกรวย-ไทรน้อย 15 ตรงแนวแบ่งเขตระหว่างหมู่ที่ 6 บ้านวัดจันทร์ กับหมู่ที่ 7 บ้านวัดสำโรง ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลอดผ่านทางรถไฟสายใต้เข้าท้องที่เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแขวงบางพลัดกับแขวงบางอ้อก่อนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวาข้างวัดอาวุธวิกสิตาราม คลองมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

ชื่อบางพลัดปรากฎใน นิราศภูเขาทอง ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ความว่า

ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

บริเวณปากคลองบางพลัดเป็นที่ตั้งของวัดอาวุธวิกสิตารามหรือที่แต่เดิมเรียกว่าวัดปากคลองบางพลัด เป็นวัดที่พระและชาวบ้านจำนวนหนึ่งอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 เข้ามาตั้งรกรากและได้สร้างวัดนี้ขึ้นมา[1]

บริเวณย่านบางพลัดแต่เดิมเป็นสวนผลไม้ บริเวณปากคลองมีตลาดชาวสวน สินค้าส่วนใหญ่คือทุเรียนและมังคุดซึ่งปลูกกันเป็นหลักในย่านนี้ เมื่อถึงหน้าผลไม้สองชนิดนี้ราวปลายเดือนเมษายนถึงสิ้นพฤษภาคม เรือสวนจะจอดกันออกไปถึงกลางแม่น้ำ ต่างจากเวลาปกติที่กระจุกตัวอยู่แค่ปากคลองเพราะสินค้ามีเพียงกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และหมากพลูเท่านั้น ตลาดนี้เลิกไปหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2485 เพราะสวนล่มเกือบหมด[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดอาวุธวิกสิตาราม". บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-19. สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.
  2. ธานัท ภุมรัช. "แนวทางการจัดการแหล่งเรียนรู้ย่านบ้านศิลปินและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ชุมชนคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร" (PDF). กรมศิลปากร.