วัดท่าพระ (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าพระ
อุโบสถหลังเดิมของวัดท่าพระ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อเกษร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าพระ
ที่ตั้งเลขที่ 20/1 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อเกษร
เจ้าอาวาสพระครูวิบูลกิจจานุยุต (นิคม อธิปญฺโญ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าพระ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 23 ไร่ 1 งาน 44.6 ตารางวา

สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมบริเวณวัดล้อมรอบด้วยคลองมอญ คลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกกันว่า วัดเกาะ ในเวลาต่อมาได้พบหลวงพ่อเกษรลอยน้ำมาที่คลองหน้าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดท่าพระ" แทน

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถสร้างใหม่นี้ สร้างขึ้น พ.ศ. 2540 ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด 3 ชั้น หน้าบันมีพระปรมาภิไธย สก และปั้นเป็นรูปครุฑ กว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ด้านซ้ายและขวาเป็นพระมหาโมคคัลลานะและพระสารีบุตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน หลังพระประธานเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเขียน เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ ช่างเขียนใช้กรรมวิธีสมัยใหม่ที่เขียนลงบนผ้าก่อนที่จะผนึกติดผนังซึ่งเป็นที่นิยม บานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถแกะสลักเรื่องทศชาติชาดก รวม 14 บาน[1]

วิหารหลวงพ่อเกษรเป็นอาคารจตุรมุข ทางวัดสร้างครอบวิหาร กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ภายในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปปูนปั้นศิลา แบบศิลปะอยุธยาตอนต้น[2] เชื่อว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและหลวงพ่อโสธร เพราะลอยน้ำมาขึ้นที่วัดเหมือนกัน บานประตูไม้สักแกะสลักรูปทวารบาลทั้ง 2 บาน คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทำตามเดิมเหมือนอยุธยาตอนต้น เป็นรูปทวารบาลเต็มบาน ยืนบนแท่น มียักษ์แบกองค์เทวดาสวมเทริด ทรงสูง


ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

รายนามเจ้าอาวาสวัดท่าพระ (ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้) นับตั้งแต่ก่อสร้างวัด มีรายละเอียดดังนี้

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
พระครูมงคลกิจจานุกูล
พระครูวิบูลกิจจานุยุต 6 เมษายน 2563 ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดท่าพระ". สำนักงานเขตบางกอกใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-08.
  2. "วัดท่าพระ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 139.