ลาซาร์ การ์โน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลาซาร์ การ์โน
Lazare Carnot
กรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ
ดำรงตำแหน่ง
14 สิงหาคม 1793 – 6 ตุลาคม 1794
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม
ดำรงตำแหน่ง
2 เมษายน 1800 – 8 ตุลาคม 1800
ผู้นำคณะกงสุลฝรั่งเศส
ก่อนหน้าหลุยส์-อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย
ถัดไปหลุยส์-อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม 1815 – 22 มิถุนายน 1815
กษัตริย์นโปเลียนที่ 1
ก่อนหน้าฟร็องซัว-ซาวีเย-มาร์ก-อ็องตวน เดอ มงแต็สกียู-เฟซ็องซัก
ถัดไปโกลด การ์โน-เฟอแล็ง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 พฤษภาคม ค.ศ. 1753(1753-05-13)
นอแล บูร์กอญ
เสียชีวิต2 สิงหาคม ค.ศ. 1823(1823-08-02) (70 ปี)
มัคเดอบวร์ค ปรัสเซีย

ลาซาร์ นีกอลา มาร์เกอริต การ์โน (ฝรั่งเศส: Lazare Nicolas Marguerite Carnot) เป็นนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักการเมืองชาวฝรั่งเศส เขาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม เขาเป็นผู้วางรากฐานคนสำคัญของกองทัพฝรั่งเศส เขาได้รับฉายาว่า "การ์โนผู้ยิ่งใหญ่" (Le Grand Carnot) และ "ผู้จัดเตรียมชัยชนะ" (L'organisateur de la Victoire)[1]

การ์โนเคยเป็นนายทหารยุทธโยธา เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกที่ประชุมใหญ่แห่งชาติในปี 1792 และในอีกหนึ่งปีถัดมา เขาก็ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ โดยได้รับหน้าที่กำกับดูแลกิจการทหาร ในช่วงนี้การ์โนยังคงมีความคิดนิยมการมีกองทัพขนาดใหญ่โต ซึ่งเป็นหลักนิยมเหมือนประเทศอื่น เขาริเริ่มการเกณฑ์ทหาร กองทัพฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังพลหกแสนนายในปี 1793 ขยายใหญ่เป็นหนึ่งล้านห้าแสนนายในปี 1794 นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้เสนอให้มีการจัดการศึกษาถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนทุกคน และให้กำหนดหน้าที่พลเมืองผู้อายุระหว่าง 20-25 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดรับกับความคิดของบรรดานักปฏิวัติในยุคนั้น

การ์โนในฐานะอดีตนายทหารยุทธโยธา ชื่นชอบกลยุทธ์เชิงป้องกันด้วยป้อมปราการและกำแพงเมือง เขาพัฒนากลยุทธ์แนวรับสำหรับป้อมปราการหลายแบบ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "กำแพงการ์โน" อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝรั่งเศสถูกรุกรานต่อเนื่อง ทำให้ในที่สุด เขาจึงปรับเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์เชิงรุก โดยมีแนวคิดพื้นฐานคือการให้กองทัพขนาดใหญ่โตแบ่งกำลังออกเป็นหลายหน่วยย่อย ซึ่งจะเอื้อให้เดินทางเร็วกว่าข้าศึก แล้วใช้กำลังหลายหน่วยย่อยเข้าตีปีกทัพข้าศึกแทนที่จะเข้าตีตรงหน้า ยุทธวิธีดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมากต่อกองทัพชาติยุโรปอื่นซึ่งยังยึดติดกับยุทธวิธีแบบเดิม เขาเริ่มดำริว่าการมีทหารชำนาญการในจำนวนที่พอเหมาะ คงจะดีกว่าการมีทหารเกณฑ์ด้อยทักษะในจำนวนมหาศาล

ในปี 1795 เมื่อมีการสถาปนาคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส การ์โนได้รับเลือกเป็นดีแร็กตัวร์ชุดแรกซึ่งประกอบด้วยสมาชิกห้าคน ในช่วงแรก เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างปรองดองร่วมกับสมาชิกคนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ขัดแย้งกับนักการเมืองคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มของปอล บารัส แต่แล้วในปี 1797 สภาห้าร้อยถูกนโปเลียน โบนาปาร์ต (ผู้ซึ่งการ์โนเคยส่งเสริม) และปีแยร์ โอเฌอโร ก่อรัฐประหาร การ์โนจึงลี้ภัยไปสาธารณรัฐเจนีวา

ในปี 1800 ภายหลังนโปเลียนขึ้นเป็นกงสุลเอก การ์โนเดินทางกลับฝรั่งเศสและได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการ์โนเป็นผู้ยึดมั่นในระบอบสาธารณรัฐ การ์โนจึงถอนตัวจากงานการเมืองภายหลังการสถาปนาจักรวรรดิ และหันไปให้ความสนใจวิชากลศาสตร์ของไหลกับเรขาคณิตเป็นเวลานับสิบปี แต่ในช่วงดังกล่าวเขาก็ยังเขียนจดหมายให้คำปรึกษาแก่นโปเลียนในการพัฒนาป้อมปราการ

การ์โนกลับเข้าสู่ราชการอีกครั้งในปี 1812 ระหว่างความหายนะในการรุกรานรัสเซีย ต่อมาในปี 1814 เขาบัญชาการป้องกันนครแอนต์เวิร์ปจากกองทัพผสมของข้าศึก ในศึกนี้ การ์โนยอมจำนนต่อข้าศึกเมื่อทราบข่าวว่านโปเลียนยอมสละราชสมบัติ ต่อมาในปี 1815 เมื่อนโปเลียนคืนสู่ราชสมบัติ เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งเมื่อนโปเลียนแพ้สงครามอีกครั้ง การ์โนก็ลี้ภัยไปมัคเดอบวร์ค ประเทศปรัสเซีย

อ้างอิง[แก้]

  1. Chisholm 1911.