อำเภอเฝ้าไร่
อำเภอเฝ้าไร่ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Fao Rai |
คำขวัญ: ห้วยงูน้ำใส ผ้าไหมสวยสี คนดีมีน้ำใจ | |
แผนที่จังหวัดหนองคาย เน้นอำเภอเฝ้าไร่ | |
พิกัด: 18°1′6″N 103°18′12″E / 18.01833°N 103.30333°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | หนองคาย |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 255.9 ตร.กม. (98.8 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 50,858 คน |
• ความหนาแน่น | 198.74 คน/ตร.กม. (514.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 43230 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 4315 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเฝ้าไร่ หมู่ที่ 11 ถนนเฝ้าไร่-โพนพิสัย ตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย 43230 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
เฝ้าไร่ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอเฝ้าไร่ตั้งอยู่ทางทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอรัตนวาปี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านม่วง (จังหวัดสกลนคร) และ อำเภอโซ่พิสัย (จังหวัดบึงกาฬ)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบ้านดุง (จังหวัดอุดรธานี)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพนพิสัย
ประวัติ
[แก้]ท้องที่อำเภอเฝ้าไร่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอโพนพิสัย ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเฝ้าไร่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน[1] และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเฝ้าไร่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน[2]
บ้านเฝ้าไร่ เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของตำบลเซิม อำเภอโพนพิสัยแยกการปกครองมาเป็น ตำบลเฝ้าไร่ เมื่อปี 2518ก่อนนี้ไม่เคยมีหมู่บ้านบริเวณชุมชนนี้เลย ชุมชนใหญ่ที่เก่าแก่กว่า ก็คือ ชุมชนบ้านนาฮำ โดยแรกเริ่มของการมีหมูบ้านก็เป็นชาวบ้านจากบ้านนาฮำ เข้ามาหักร้างถางพงอาศัยบริเวณอำเภอเฝ้าไร่ในปัจจุบัน ตามคำบอกเล่า และการสืบค้นหลักฐานข้อมูลนั้นบ้านเฝ้าไร่เริ่มมีราษฎร์เข้ามาอาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ. 2506 (เป็นหมู่บ้านเล็กห่างไกล ของบ้านนาฮำ หรือบ้านฝาก) อยู่ในท้องที่ ต.เซิม อ.โพนพิสัย ซึ่งขณะนั้น อ.โพนพิสัย แยกการปกครองเป็น 10 ตำบลคือ 1. ตำบลจุมพล 2. ตำบลวัดหลวง 3. ตำบลชุมช้าง 4. ตำบลกุดบง 5. ตำบลรัตนวาปี (ปัจจุบันเป็นอำเภอรัตนวาปี) 6. ตำบลโพนแพง 7. ตำบลโซ่ (ปัจจุบันเป็นอำเภอโซ่พิสัย) 8. ตำบลทุ่งหลวง 9.ตำบลเซิม(ปัจจุบันมีบ้านเฝ้าไร่แยกมาเป็นตำบลและอำเภอเฝ้าไร่) 10.ตำบลปากคาด (ปัจจุบันเป็นอำเภอปากคาด)
ประวัติของชุมชนเฝ้าไร่เริ่มต้นโดย พ่อใหญ่สอน วงศ์ชาลี เป็นผู้นำลูกหลานตั้งรกรากที่นี่ พร้อมด้วยพ่อใหญ่สมศรี โคตรประทุม และพ่อใหญ่สิมมา นามโคตร ซึ่งเป็นผู้นำชาวบ้าน
บ้านนาฮำ (ปัจจุบันคือ บ้านนาฮำเก่า หมู่ 1) ซึ่งเดิมชาวบ้านส่วนหนึ่งย้ายถิ่นฐานมาจาก จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดอื่นๆ วันที่ผู้นำได้มานอนได้ฝันว่า บริเวณป่าแถวนี้ จะเป็นชุมชนเมือง (ป่าสงวนแห่งชาติ ดงสีชมพู ปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว) จึงได้พากันแพ้วถางป่า ทำนา และไร่ ได้มาสร้างเถียงนา (กระท่อม) อยู่ชั่วคราว ในฤดูเกษตรกรรม พอหมดฤดูเก็บเกี่ยว ก็กลับเข้าหมู่บ้าน (บ้านนาฮำ) ขณะนั้นยังไม่มีใครเข้าไปจับจองถิ่นฐาน ยังเป็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์อยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "โคก" (หรือป่าที่ดอน ป่าที่สูง) ช่วงฤดูกาล ทำไร่ทำนานั้น ป่าหรือโคกดังกล่าวมีสัตว์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ชุกชุม คือ "มดง่าม" เป็นมดที่อาศัยตามป่าใหญ่ลักษณะเด่นคือ มีสีดำ มีหัวโต ปาก และขากรรไกร มีขนาดใหญ่ และแข็งแรงเป็นมดที่มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัว ทำให้ชาวบ้าน เรียกบริเวณนี้ว่า "โคกมดง่าม" จึงเป็นชื่อหมู่บ้านในขณะนั้น
ต่อมาได้ค่อยๆ อพยพลูกหลาน ชาวบ้าน พาจับจองหาถิ่นที่ดินทำกินเป็นหมู่บ้านเล็ก กลางป่า ชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียง จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านน้อย" แปลว่าหมู่บ้านเล็กๆ นั่นเอง ขณะนั้น จึงมีการเรียกชื่อหมู่บ้านว่าบ้านน้อย หรือบางคนเรียกบ้านโคกมดง่าม ในปี พ.ศ. 2515ได้จัดหมู่บ้านเป็นเอกเทศ แรกเริ่มได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้มาสอบสวนการเข้าบุกรุก พื้นที่ป่า (ป่าดงสีชมพู) ซึ่งพ่อใหญ่สอน วงศ์ชาลี และพ่อใหญ่ที่เป็นผู้นำหมู่บ้านท่านอื่น ได้ กล่าวกับ เจ้าหน้าที่ เป็นแนวเดียวกันว่า มาหาถิ่นที่อยู่ ได้พาลูกหลานมา เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา เฝ้าไฮ่ เฝ้าสวน ภายหลังนั้น เจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ต่อชาวบ้านเป็นเหตุกาณ์ที่มาของ ชื่อหมู่บ้าน ขณะเดียวกันได้มี หน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้สำรวจเส้นทาง จากโพนพิสัย ไปบ้านโซ่ (ก่อนชาวบ้านเรียกบ้านคำแวง) ได้มาใช้หมู่บ้านนี้เป็นจุดพักอาศัย เจ้าหน้าที่ ได้รู้จักจากชาวบ้านว่า บ้านโคกมดง่ามเป็นชื่อของหมู่บ้านที่นี่ เจ้าหน้าทีได้ยินดังนั้นกล่าวว่าชื่อหมู่บ้านฟังดูไม่เพราะ จึงได้เรียก กันใหม่ ตามที่ชาวบ้านชอบพูด กับเจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาในพื้นที่ว่า มาอยู่ เฝ้าไฮ่เฝ้าสวน จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอสุดเก๋ในปัจจุบันว่า "เฝ้าไร่"
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอเฝ้าไร่แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 5 ตำบล 73 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | เฝ้าไร่ | (Fao Rai) | 17 หมู่บ้าน | ||
2. | นาดี | (Na Di) | 7 หมู่บ้าน | ||
3. | หนองหลวง | (Nong Luang) | 20 หมู่บ้าน | ||
4. | วังหลวง | (Wang Luang) | 15 หมู่บ้าน | ||
5. | อุดมพร | (Udom Phon) | 14 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอเฝ้าไร่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเฝ้าไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเฝ้าไร่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาดี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาดีทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองหลวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังหลวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอุดมพร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอุดมพรทั้งตำบล
การศึกษา
[แก้]อำเภอเฝ้าไร่มีโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา 3 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนนาดีพิทยาคม ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลนาดี
- โรงเรียนวังหลวงพิทยาสรรพ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลวังหลวง
- โรงเรียนเฝ้าไร่พิทยาคม ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเฝ้าไร่
ศาสนา
[แก้]อำเภอเฝ้าไร่มีวัดในพระพุทธศาสนา ดังนี้
- วัดเฝ้าไร่วนารามตั้งอยู่ถนนเฝ้าไร่-โพนพิสัย ในเขตเทศบาลตำบลเฝ้าไร่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายตั้งเป็นกิ่งอำเภอเฝ้าไร่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 9 ง): 50. 22 มีนาคม 2538.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย...และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (46 ก): 14–21. 24 สิงหาคม 2550. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.