อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

พิกัด: 14°44′39″N 99°2′10″E / 14.74417°N 99.03611°E / 14.74417; 99.03611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
พิกัด14°44′39″N 99°2′10″E / 14.74417°N 99.03611°E / 14.74417; 99.03611
พื้นที่1,532 ตารางกิโลเมตร (958,000 ไร่)
จัดตั้ง24 ธันวาคม พ.ศ. 2524
ผู้เยี่ยมชม145,254 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่กว้างขวางถึง 1,532 ตารางกิโลเมตร หรือ 957,500 ไร่[1] มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำตกที่มีชื่อเสียง เช่น น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อำเภอศรีสวัสดิ์, น้ำตกผาตาด อำเภอทองผาภูมิ เป็นต้น[2][3]

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ส่วนหนึ่งเกิดจากสร้างเขื่อนศรีนครินทร์กั้นขวางแม่น้ำแม่กลอง (แควใหญ่) โดยมีแม่น้ำ ลำห้วย ลำธารที่สำคัญหลายสายไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เช่น ห้วยแม่ขมิ้น ห้วยขาแข้ง ห้วยแม่วง ห้วยเกรียงไกร และห้วยแม่พลู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลำห้วยลำธารอีกหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยบริเวณเขตอำเภอไทรโยค เช่น ห้วยลิ่นถิ่น เป็นต้น สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนและหินตะกอนเป็นส่วนใหญ่ ระดับความสูง สูงสุดประมาณ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 400 เมตร พื้นที่น้ำในทะเลสาบเหนือเขื่อนศรีนครินทร์มีระดับความสูงสุดประมาณ 180 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

สภาพพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เป็นพื้นที่เงาฝน ทำให้มีฝนตกน้อย อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว โดยมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44-45 องศาเซล-เซียสในเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคมประมาณ 8-9 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูฝนเริ่มตกจากกลางเดือนเมษายน และสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,600 มิลลิเมตร

ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า[แก้]

สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ แบ่งเป็น 3 ประเภท

1 ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ของพื้นที่ในบริเวณค่อนข้างราบถึงเนินเขา ในบางพื้นที่จะพบไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มหนาแน่นมาก มีไม้ยืนต้นอื่นขึ้นแทรกอยู่บ้างเพียงประปราย พบมากในบริเวณตอนกลางติดกับชายฝั่งอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แดง มะค่าโมง ประดู่ รกฟ้า มะกอกป่า กระโดน ตะแบก ไผ่บง ไผ่รวก และไผ่ซาง

มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในสังคมป่าชนิดนี้ได้แก่ ลิงกัง พญากระรอกดำ เม่นใหญ่แผงคอสั้น หมาจิ้งจอก หมาใน กระทิง ช้างป่า เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกกะเต็นแดง นกโพระดกธรรมดา นกแอ่นฟ้าหงอน นกกระรางสร้อยคอใหญ่ นกจับแมลงคอสีฟ้า เต่าเหลือง ตะกวด จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูเหลือม งูหมอก งูปี่แก้วลายหัวใจ และกบหนอง เป็นต้น ส่วนบริเวณยอดเขาหินปูนที่เป็นสังคมป่าชนิดนี้จะพบ เลียงผาอาศัยอยู่

2. ป่าเต็งรัง ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง แดง ตะคร้อ ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวก เป้งดอย ปรงป่า และไผ่เพ็ก

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณสังคมพืชป่าเต็งรัง ได้แก่ กระรอกปลายหางดำ กระจงเล็ก กวางป่า นกกระรางหัวขวาน นกตีทอง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกแซงแซวหางปลา ตุ๊กแกบ้าน จิ้งจกหางหนาม จิ้งเหลนหลากหลาย งูกะปะ เป็นต้น

3. ป่าดิบแล้งพบขึ้นประปรายอยู่ทั่วเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ มักจะพบในบริเวณที่อยู่ทางด้านรับลมที่พัดพาฝนมาปะทะภูเขา หรืออยู่ริมสองฝั่งของลำธาร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนหิน มะเกิ้ม ยมหิน กระเบากลัก ยมหอม สมพง งิ้วป่า พลอง ขะเจ๊าะ กระโดน และเปล้า เป็นต้น

สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ลิงลม ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว พญากระรอกบินหูแดง หมาไม้ อีเห็นข้างลาย เสือโคร่ง ไก่ฟ้าหลังเทา นกเขาเขียว นกตะขาบดง นกแก๊ก นกกก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ เต่าหก เหี้ย งูลายสาบคอแดง งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว งูหลาม และเขียดตะปาด เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ[แก้]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 39{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  2. "Khuean Srinagarindra National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2013. สืบค้นเมื่อ 20 May 2013.
  3. "Sri Nakarin National Park". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 20 May 2013.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]