อุทยานแห่งชาติตาดโตน

พิกัด: 15°59′16″N 102°2′29″E / 15.98778°N 102.04139°E / 15.98778; 102.04139
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติตาดโตน
น้ำตกตาดโตน
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดชัยภูมิ ประเทศไทย
เมืองใกล้สุดเทศบาลเมืองชัยภูมิ
พิกัด15°59′16″N 102°2′29″E / 15.98778°N 102.04139°E / 15.98778; 102.04139
พื้นที่135,737.5 ไร่ (217.18 ตร.กม.) [1]
จัดตั้ง31 ธันวาคม พ.ศ. 2523
ผู้เยี่ยมชม388,665 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติตาดโตน เป็นอุทยานแห่งชาติในจังหวัดชัยภูมิ โดยได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในวันที่ 31 ธันวาคม 2523 ซึ่งทำให้เป็นอุทยานลำดับที่ 23 ของประเทศไทย[2]

ภูมิประเทศ[แก้]

อุทยานแห่งชาติตาดโตนตั้งอยู่ทางเหนือของเทศบาลเมืองชัยภูมิ 23 กิโลเมตร (14 ไมล์) มีพื้นที่ 217 ตารางกิโลเมตร (84 ตารางไมล์)[3][2]

อุทยานนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเทือกเขาภูแลนคา โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงโดยมีเทือกเขาล้อมรอบที่ราบเอาไว้ ตอนกลางเป็นหุบเขากว้างใหญ่ พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีเขาภูเขียว ภูกลาง และภูแลนคา ซึ่งจะมีระดับสูงสุด 905 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะมียอดภูแลนคาซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติตาดโตน โดยมีความสูงประมาณ 945 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาสูงเหล่านี้เป็นต้นน้ำลำธารของห้วยต่างที่สำคัญหลายสาย และต้นกำเนิดของน้ำตกตาดโตน ได้แก่ ห้วยลำปะทาวหรือห้วยตาดโตน ห้วยน้ำซับ ห้วยคร้อ ห้วยตาดโตนน้อย ห้วยสีนวน และห้วยแก่นท้าว ซึ่งจะไหลรวมกันเป็นห้วยปะทาวและไหลผ่านตัวอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีห้วยที่สำคัญคือ ห้วยชีลอง ห้วยช่อระกา ห้วยเสียว ห้วยแคน และห้วยเสียวน้อย สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ในบริเวณริมลำห้วยหุบเขาและยอดเขามีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และป่าเต็งรังเป็นดินกรวด มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ

ภูมิอากาศ[แก้]

สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตาดโตนแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มต้นตั่งแต่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิสูงถึง 42.6 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน จึงเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประชาชนนิยมไปเล่นน้ำตกเพื่อพักผ่อนและเล่นน้ำเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์
  • ฤดูฝน เริ่มต้นตั่งแต่ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,154 มิลลิเมตร น้ำตกตาดโตนจะมีน้ำไหลเต็มที่และสวยงามมาก
  • ฤดูหนาว เริ่มต้นตั่งแต่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 7 องศาเซลเซียส

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอุทยานนี้คือน้ำตกตาดโตน ซึ่งมีความสูง 6 เมตร (20 ฟุต) แต่ในช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมสามารถขยายกว้างถึง 50 เมตร (160 ฟุต)[3] น้ำตกอื่น ๆ ในอุทยานนี้ได้แก่ ตาดฟ้า, Pha Lang และ Pha Song Chan[4]

พืชพรรณและสัตว์ป่า[แก้]

อุทยานแห่งชาติตาดโตน ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงระหว่าง 200 - 945 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง ดังนั้น สภาพสังคมพืชจึงแตกต่างไปตามระดับความสูง พอจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ

ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน พบป่าชนิดนี้ขึ้นกระจัดกระจาย มีเนื้อที่ประมาณ 94.93 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ร้อยละ 43.71 ของพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ ความสูงของเรือนยอด ชั้นบนประมาณ 15 - 20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ ยางพลวง รัง แดง ตะแบกเลือด มะกอกเกลื้อน ก่อแพะ และมะค่าแต้ ส่วนเรือนยอดในชั้นรอง มีไม้ขนาดเล็กมีความสูงประมาณ 5 - 10 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ ชิงชัน ตาลเหลือง ยอเถื่อน กระท่อมหมู มะม่วงป่า ติ้วแดง และขว้าว ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ลูกไม้ของไม้ชั้นบนเป็นส่วนใหญ่ และหญ้าเพ็กขึ้นอยู่ทั่วไป พันธุ์ไม้ชนิดอื่น เช่น กระดูกอึ่ง ลูกใต้ใบ เฟิร์น หมักม่อ นางนวล กาวเครือ และหนอนตายหยาก เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตนพบป่าชนิดนี้ขึ้นกระจัดกระจายตามลำห้วย มีพื้นที่ประมาณ 35.01 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 16.12 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีลักษณะทางด้านตัวเรือนยอด แบ่งเป็น ชั้นเรือนยอดชั้นบนสูง 25 - 30 เมตร ไม้สำคัญ ได้แก่ พะองค์ กระบก จิกดง หาด ตีนเป็ดเขา ค้างคาว และติ้วแดง เรือนยอดไม้ชั้นรองมีความสูงประมาณ 20 - 25 เมตร พันธุ์ไม้สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ พะยอม มะกล่ำต้น หรือ มะกล่ำตาช้าง หว้า กระเบากลัก กีบตอง มะส้าน และก่อเดือย เรือนยอดไม้ชั้นสามมีความสูงประมาณ 15-20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางแดง มะแฟน เสม็ดเขา พลองกินลูก ลำดวน และกะอวม ส่วนเรือนยอดในชั้นของไม้ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10 - 15 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น แดง มะหาด มะพอก เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ พุดป่า และ พีพวน เป็นต้น

สัตว์ที่ปรากฏมีดังนี้

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า เก้ง อีเห็นหางลาย พังพอนธรรมดา อ้นเล็ก กระต่ายป่า กระรอกบินเล็กแก้มแดง กระจ้อน เป็นต้น

สัตว์ปีก ได้แก่ นกจับแมลงหัวเทา นกจับแมลงคอแดง นกจับแมลงอกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกนางแอ่นบ้าน นกโพระดกธรรมดา นกกะปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกเปล้าธรรมดา เหยี่ยวขาว ไก่ป่า นกกระทาทุ่ง นกกางเขน หรือ นกกางเขนบ้าน นกเค้าโมง หรือนกเค้าแมว เป็นต้น

สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะกวด งูเห่า งูทับสมิงคลา งูเหลือม งูกะปะ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลน จิ้งเหลนภูเขาลายจุด จิ้งจกบ้านหางหนาม เป็นต้น

แมลง ได้แก่ ผีเสื้อหางตุ้มอดัมสัน ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู ผีเสื้อหนอนมะนาว ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อม้าลาย ผีเสื้อธรรมดา ผีเสื้อจรกา ผีเสื้อหนอนยี่โถ แมลงทับ ด้วงต่าง ๆ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. อุทยานแห่งชาติ จากธรรมชาติ สู่เขตอนุรักษ์, สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 2545, 49
  2. 2.0 2.1 "Tat Ton National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2013. สืบค้นเมื่อ 25 May 2013.
  3. 3.0 3.1 Williams, China; Beales, Mark; Bewer, Tim (February 2012). Lonely Planet Thailand (14th ed.). Lonely Planet Publications. pp. 445. ISBN 978-1-74179-714-5.
  4. "National Parks in Thailand: Tat Ton National Park" (PDF). Department of National Parks (Thailand). 2015. pp. 162–163. สืบค้นเมื่อ 24 June 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]