อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ

พิกัด: 19°30′8″N 98°0′23″E / 19.50222°N 98.00639°E / 19.50222; 98.00639
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ
Pha Suea Waterfall
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ
จุดแสดงที่ตั้ง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ (ประเทศไทย)
ที่ตั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน, ประเทศไทย
เมืองใกล้สุดอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
พิกัด19°30′8″N 98°0′23″E / 19.50222°N 98.00639°E / 19.50222; 98.00639
พื้นที่511 กม.2
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา–น้ำตกผาเสื่อ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางภาคเหนือของไทย มีเนื้อที่ประมาณ 305,000 ไร่ (ประมาณ 511 ตารางกิโลเมตร หรือ 200 ตารางไมล์)

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนแนวเทือกเขาจะทอดยาวตามแนวเหนือใต้ มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยลาน ดอยตองหมวก ดอยกิ่งกอม ดอยแหลม ดอยปางฮูง ดอยหน้าแข้งช้าง ฯลฯ ดอยลานเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,918 เมตร จากระดับน้ำทะเลความสูงของพื้นที่ 300-1,900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ความสูงเฉลี่ยประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล และอยู่ในเขตลุ่มน้ำหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ ลุ่มน้ำปาย แม่น้ำของ น้ำแม่สะงา และน้ำแม่สะงี

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

มีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อน แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทะเล และมหาสมุทรทำให้อากาศชุ่มชื้น และมีฝนตกชุก โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบปี
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นเดือนที่เกิดหมอกมากที่สุดประมาณ 21-26 วัน ส่วนมากเกิดในตอนรุ่งเช้า
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยเฉพาะเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี

ทรัพยากรป่าไม้[แก้]

ชนิดของป่าที่พบจำแนกชนิดป่าได้ 6 ประเภท ดังนี้

1. ป่าผสมผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30% พบบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา และที่ลาดชันตามไหล่เขา ชนิดไม้สำคัญได้แก่ ตะแบก ประดู่ มะค่าโมง แดง ไทร งิ้วป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบไม้ไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก

2. ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest) ส่วนใหญ่จะเป็นผืนป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35% สภาพดินค่อนข้างลึก มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้สำคัญ ได้แก่ ยาง ประดู่ ตีนเป็ด ไม้จำพวกวงศ์ก่อ นอกจากนี้ตามพื้นล่างจะพบ หวาย ขิง ข่าป่า และเฟินมากมาย เป็นต้น

3. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) เป็นป่าผลัดใบพบตามสันเขา และตามบริเวณที่ลาดชัน ที่ระดับความสูงประมาณ 300-900 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นทีประมาณ 15% สภาพดินค่อนข้างตื้น มีก้อนหินโผล่ และกรวด-ลูกรังปน ช่วงฤดูแล้งเกิดไฟไหม้ป่า เป็นประจำทำให้พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่แคระแกรน ชนิดไม้สำคัญได้แก่ เต็ง รัง ตะแบกนา มะค่าแต้ เป็นต้น

4. ป่าสนเขา (Pine Forest) เป็นป่าที่พบในบริเวณพื้นที่ที่มีความสูงประมาณ 200-1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5% ลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีทั้งสนสองใบ และ สนสามใบ และส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง ไม้พื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา เป็นต้น

5. สวนป่า (Forest Planation) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10% ได้แก่

  • สวนป่าหมอกจำแป่-แม่สะงา
  • โครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม)
  • โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
  • โครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง (1) และ (2)
  • สวนป่าห้วยผา พันธุ์ไม้ที่ใช้ในการปลูก ได้แก่ สัก สนสามใบ คูน

6. ป่าเสื่อมโทรม (Distarbed Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5% พื้นที่เหล่านี้ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร แต่ปัจจุบันทางราชการได้ผลักดันออก และปัจจุบันราษฎรได้ปล่อยทิ้งร้างจนสภาพป่าเริ่มฟื้นคืนสภาพ

ทรัพยากรสัตว์ป่า[แก้]

จากการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่า ข้อมูลส่วนใหญ่จากการพบสัตว์ป่าโดยตรง ตลอดจนชีววิทยาบางประการ แยกออกได้ ดังนี้

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

สิ่งที่น่าสนใจได้แก่

  • ถ้ำปลา ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผา ตำบลห้วยผา ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปชมได้ทุกฤดูกาล บริเวณโดยรอบเป็นลำธารและป่าเขา ถ้ำปลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ 2 เมตร ลึก 1.50 เมตร ภายในแอ่งน้ำมีน้ำไหลออกจากถ้ำใต้ภูเขาอยู่ตลอดเวลา และมีปลาขนาดใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ปลาพลวงหิน หรือปลามุง หรือปลาคัง ซึ่งเป็นปลาที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ในวงศ์เดียวกันกับปลาคาร์ป และถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครจับไปรับประทานหรือทำอันตราย เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นปลาเจ้า หากใครนำไปรับประทานแล้วจะต้องมีอันเป็นไป โดยภายในถ้ำมีรูปปั้นฤๅษีอยู่เป็นเทพารักษ์ผู้ปกปักรักษาถ้ำและปลา[3] นอกจากนี้แล้วยังมีปลาชนิดอื่น ๆ เช่น ปลากระแห, ปลาช่อนงูเห่า [4]
  • น้ำตกผาเสื่อ เป็นน้ำตกที่ไหลมาจากน้ำตกแม่สะงาในพม่า เป็นน้ำตกขนาดกลางสูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 15 เมตรในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำไหลเต็มหน้าผากว้างทำให้ดูมีรูปร่างคล้ายเสื่อปูลาด จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกผาเสื่อส่วนในฤดูแล้งจะมีน้ำน้อย แต่ก็มีถือว่าเป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปี แม้จะสามารถมองเห็นหินที่สวยงามเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจแต่ทางอุทยานไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำเพราะน้ำค่อนข้างเชี่ยวและเป็นเหวลึกช่วงที่เหมาะสมจะไปท่องเที่ยวคือเดือนกรกฎาคม–กันยายน น้ำตกผาเสื่อตั้งอยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Sutthipibul, Vasa; Ampholchantana, Chantanaporn; Dulkull Kapelle, Peeranuch; Charoensiri, Vatid; Lukanawarakul, Ratana, บ.ก. (2006). "Tham Pla - Namtok Pha Suea National Park". National Parks in Thailand. (free online from the publisher). National Park, Wildlife and Plant Conservation Department. p. 103. ISBN 974-286-087-4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-06-16. สืบค้นเมื่อ 7 April 2014.
  2. "Tham Pla - Namtok Pha Suea National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-09. สืบค้นเมื่อ 7 April 2014.
  3. "Tham Pla Forest Park". Lonely Planet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 7 April 2014.
  4. ดร. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 115 หน้า. หน้า 42. ISBN 9789744726551

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]