พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
พระเจ้าหงสาวดี
ครองราชย์24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2073 – 30 เมษายน พ.ศ. 2093
ก่อนหน้าพระเจ้าเมงจีโย
ถัดไปพระเจ้าบุเรงนอง
พระราชสมภพ16 เมษายน ค.ศ. 1516(1516-04-16)
วันพุธ
ตองอู
สวรรคต30 เมษายน ค.ศ. 1550(1550-04-30) (34 ปี)
วันพุธ
ใกล้ Pantanaw
ฝังพระศพใกล้ Pantanaw
มเหสีพระนางธัมมเทวี
พระนางขิ่นเมียะ
พระนางเขมโน
พระราชบุตรพระเจ้ามินเลยา
พระนางหงสาวดีมิพยา
ราชวงศ์ราชวงศ์ตองอู
พระราชบิดาพระเจ้าเมงจีโย
พระราชมารดาพระนางราชเทวี
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (อังกฤษ: Tabinshwehti, พม่า: တပင်ရွှေထီး, [dəbɪ̀ɴ ʃwè tʰí]; สำเนียงพม่าออกว่า "ดะบิ่งเฉฺว่ที่") เป็นพระมหากษัตริย์พม่ารัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์ตองอู เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระเจ้าเมงจีโย ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ตองอู

พระนาม[แก้]

เอกสารทางประวัติศาสตร์ภาษาไทย ออกพระนามพระองค์ต่างกันดังนี้[1]

นอกจากนี้ยังมีพระสมัญญาอื่น ๆ อีก เช่น พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ[1]

พระราชประวัติ[แก้]

ทรงพระเยาว์[แก้]

ตามมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ระบุว่า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2059 ที่เมืองตองอู ก่อนพระราชสมภพมีลางบอกเหตุ ปรากฏฝนตกลงมาที่ใดก็เกิดลุกเป็นไฟ โหรหลวงทำนายว่าเป็นลางมงคล พระโอรสที่จะประสูติเป็นผู้มีบุญญาธิการ ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาทั้งที่มีพระชนมายุไม่ถึง 20 พรรษา มีพระนามว่า "ตะเบ็งเฉวฺ่ที" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "ตะเบ็งชะเวตี้" พระนามมีความหมายแปลได้ว่า สุวรรณเอกฉัตร - ร่มทอง) และภายหลังขึ้นครองราชย์ พระนามได้เปลี่ยนเป็น "เมงตะยาเฉวฺ่ที" มีความหมายว่า "พระมหาธรรมราชาฉัตรทอง" (คำว่าเมงตะยานี้เป็นที่มาของชื่อมังตราในนิยายผู้ชนะสิบทิศ) มีมเหสี 2 พระองค์ นามว่า ขิ่นเมียะ และขิ่นโพงเซวฺ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2079-2093

การสงคราม[แก้]

ทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ เพราะตลอดรัชกาลพระองค์ทำสงครามเป็นส่วนใหญ่ ก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อเจริญพระชนมพรรษาขึ้นได้ทรงกระทำพิธีเจาะพระกรรณ (เจาะหู) อันเป็นราชประเพณีของพม่าเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ของไทย โดยเลือกที่จะทำพิธีที่เจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) กลางเมืองหงสาวดีของมอญ โดยมีทหารคุ้มกันแค่ 500 นาย โดยไม่ทรงหวาดหวั่นทหารมอญนับหมื่นที่ล้อมอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเมื่อทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทำการสงครามแผ่ขยายอาณาจักรตองอูไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น หงสาวดี เมาะตะมะ แล้วเสด็จกลับมากรุงหงสาวดี ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดีในปี พ.ศ. 2088[5] และสถาปนามินจีเสว่เป็นพระเจ้าเมงเยสีหตูครองเมืองตองอูแทนในฐานะเจ้าเมืองออก[6] ต่อมาทรงพิชิตเมืองแปรได้ก็สำเร็จโทษพระเจ้ามังฆ้องและพระมเหสีรวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมด แล้วสถาปนานิต่าเป็นพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 ครองเมืองแปรแทน แม้หลังจากนั้นจะทรงตีกรุงอังวะและกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ แต่ยังทรงได้เมืองยะไข่[7] พะสิม เป็นต้น ทำให้สามารถขยายอาณาจักรครอบคุลมปากแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาละวินได้ นับเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่เอาชนะหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชาวมอญคู่ปรับสำคัญของชาวพม่าในอดีตได้

การสวรรคต[แก้]

หลังจากสิ้นสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัยได้เพียง 3 เดือน ตามพงศาวดารเล่าว่า พระองค์เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเสียสติ และสวรรคตในวันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2093 ขณะพระชนมายุ 34 พรรษา เพราะถูกทหารรับใช้คนสนิทชาวมอญชื่อสมิงสอตุตลอบปลงพระชนม์ด้วยการตัดพระศอระหว่างเสด็จไปคล้องช้าง ทำให้ปลอดทหารผู้ภักดีคอยถวายอารักขา

ด้วยชีวประวัติอันพิสดารและน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทยชื่อยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ[8]

ปัจจุบัน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ได้รับการนับถือเป็นนัตหลวง ลำดับที่ 17 ในบรรดานัตหลวง 37 องค์ ตามความเชื่อเรื่องผีนัตของพม่าอีกด้วย[9]

บุคลิกในสุริโยไท[แก้]

ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง สุริโยไท ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 ที่ว่าด้วยเรื่องการทำสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นตัวละครสำคัญของฝ่ายตองอู โดยเป็นผู้นำทัพ ซึ่งบุคลิกของพระองค์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแต่งหน้าจนขาววอก สวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันสวยงาม บาดตา และไว้ผมทรงมอญ (ทรงกะลาครอบ) ทั้งนี้เพราะผู้สร้าง คือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ตีความเองตามลัทธิราชานิยมของตนเองที่มักมองกษัตริย์ฝ่ายตรงข้ามว่าพระองค์เป็นผู้มีจิตใจวิปริต หรือเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เพราะอ้างอิงมาจากบันทึกของนักเดินทางและนักเขียนชาวโปรตุเกสที่ชื่อ เฟอร์เนา เมนเดซ ปินโต ที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ใช้เป็นข้อมูลหลักในการเขียนบทภาพยนตร์ที่ระบุถึง ความโหดร้ายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในการจัดการกับเชลยเมืองแปรด้วยความรุนแรงและวิปริตขณะที่ตีเมืองแปรได้ และการที่แต่งหน้าขาวก็นำมาจากบุคลิกของนักเขียนแนวชาตินิยมชาวญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ชื่อ มิชิมะ ยุกิโอะ นอกจากข้อมูลที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ให้ไว้ ณ ที่นี้ ไม่เคยพบหลักฐานอื่นว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นบุคคลวิปริตอีกเลย[1] [8]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 "เทปสนทนาเรื่อง กำเนิดอยุธยาและวาระสุดท้ายสุริโยทัย, "คุยกันจันทร์ถึงศุกร์ กับ วีระ ธีรภัทร" โดย วีระ ธีรภัทร และ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทางตรินิตี้เรดิโอ F.M. 97.00 Mhz". ชมรมพุทธคุณ.
  2. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 407
  3. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 118
  4. ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 38
  5. Htin Aung 1967: 111
  6. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 120
  7. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 122-134
  8. 8.0 8.1 บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ (สำนักพิมพ์มติชน, มกราคม พ.ศ. 2550) ISBN 974-323-512-4
  9. DeCaroli, Robert (2004). M1 Haunting the Buddha: Indian Popular Religions and the Formation of Buddhism. Oxford University Press, US. ISBN 978-0-19-516838-9. สืบค้นเมื่อ 2008-09-13. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
บรรณานุกรม


ก่อนหน้า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ถัดไป
พระเจ้าเมงจีโย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอู
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 2)

(พ.ศ. 2073 - 2093)
พระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าเมงจีโย พระเจ้าตองอู
(พ.ศ. 2073 - 2088)
พระเจ้าเมงเยสีหตู
พระเจ้าพะธิโรราชา พระเจ้าหงสาวดี
(พ.ศ. 2088 - 2093)
สมิงสอตุต