พระเจ้าจักกายแมง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าจักกายแมง
พระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงประชุมเสนาบดีเพื่อแย่งชิงเบงกอลจากจักรวรรดิบริติช พ.ศ. 2366
พระมหากษัตริย์พม่า
ครองราชย์5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 – 15 เมษายน พ.ศ. 2380[1]
ราชาภิเษก7 มิถุนายน พ.ศ. 2362
ก่อนหน้าพระเจ้าปดุง
ถัดไปพระเจ้าแสรกแมง
พระราชสมภพ23 กรกฎาคม พ.ศ. 2327
สวรรคต15 ตุลาคม พ.ศ. 2389 (62 ปี)
มเหสีพระนางแมนุ
พระนามเต็ม
สิริ ตริภวนาทิตย์ บวรบัณฑิต มหาธัมมราชาธิราช
(သီရိ တြိဘဝနာဒိတျ ပဝရပဏ္ဍိတ မဟာဓမ္မရာဇာဓိရာဇာ)
ราชวงศ์ราชวงศ์โก้นบอง

พระเจ้าจักกายแมง (พม่า: ဘကြီးတော် บะจี้ดอ หรือ စစ်ကိုင်းမင်း ซะไก้ง์มี่น) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์โก้นบอง มีนโยบายขยายอำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ ทำให้มีปัญหากับอังกฤษ และนำไปสู่การเกิดสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง

การขึ้นครองราชย์[แก้]

พระเจ้าจักกายแมงประสูติเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2327 เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง โดยเป็นพระราชโอรสของตะโดเมงสอพระโอรสองค์โตของพระเจ้าปดุงที่ได้เป็นรัชทายาท เมื่อพระราชบิดาของพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2351 พระเจ้าปดุงจึงแต่งตั้งพระเจ้าจักกายแมงซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งซะไกง์หรือ ซะไก้ง์มี่น ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน

เมื่อพระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2362 พระเจ้าจักกายแมงจึงขึ้นครองราชสมบัติแทนเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 ในขณะที่มีพระชนม์ 35 พรรษา พระองค์มีอัธยาศัยอ่อนโยนและมีความอ่อนแอด้วย ทำให้พระมเหสีคือพระนางแมนุ และพี่ชายของนางคือมี่นต้าจี้ สามารถกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ หลังจากครองราชย์สมบัติได้ไม่นาน เจ้าชายตองอูและเจ้าชายแปรซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าปดุงก่อกบฏ พระเจ้าจักกายแมงทรงเป็นฝ่ายชนะ จับผู้ก่อกบฏและบริวารประหารชีวิต หลังจากนั้น ใน พ.ศ. 2366 พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอมรปุระกลับมาที่เมืองอังวะ

สงครามกับอังกฤษ[แก้]

พระองค์มีนโยบายแผ่อำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ โดยยกทัพเข้าไปในมณีปุระเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 เพราะไม่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในงานพระบรมราชาภิเษก เจ้าผู้ครองแคว้นมณีปุระจึงหนีเข้าไปในแคว้นกระแซและขับไล่เจ้าผู้ครองแคว้นออกไป เจ้าผู้ครองแคว้นกระแซจึงหนีเข้าไปในแคว้นชยันตียา และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ อังกฤษจึงผนวกแคว้นกระแซและชยันตียาใน พ.ศ. 2363

พระเจ้าจักกายแมงทรงให้มหาพันธุละนำกองทัพไปโจมตีอัสสัมใน พ.ศ. 2364 เพราะพระเจ้าจันทรกานต์ สิงห์ หันไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ พม่าจึงยกเข้าไปยึดอัสสัมได้สำเร็จใน พ.ศ. 2365 ต่อมา พม่าเชื่อว่านักล่าช้างที่รับจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ออกจากจิตตะกองเข้ามาในแคว้นยะไข่ของพม่า กองทัพพม่าจึงข้ามแม่น้ำนาฟไปตามล่านักล่าช้าง และเข้าไปยึดเกาะศาหปรีที่ปากแม่น้ำในเดือนกันยายน พ.ศ. 2366 แต่อังกฤษก็ยึดคืนมาได้ พม่าจึงยกทัพเข้าไปตีจิตตะกองและแคว้นกระแซ แต่แพ้อังกฤษจึงต้องถอยมาที่มณีปุระ ในที่สุดอังกฤษจึงประกาศสงครามกับพม่าเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2366

กองทัพของพม่าบุกเข้ายึดจิตตะกองได้ แต่อังกฤษก็เข้ายึดพม่าทางภาคใต้รวมทั้งย่างกุ้งได้ มหาพันธุละถอนทัพจากจิตตะกองมารบกับอังกฤษที่ย่างกุ้ง และถูกปืนเสียชีวิตเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2368 กองทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป อังกฤษเข้ายึดเมืองแปร สิเรียม เมาะตะมะ เย่ ทวาย และมะริด รวมทั้งยะไข่ เจ้าชายสารวดี พระอนุชาของพระเจ้าจักกายแมง กราบทูลขอให้พระเจ้าจักกายแมงเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ แต่พระนางแมนุและมี่นต้าจี้ไม่เห็นด้วย การรบจึงดำเนินต่อไปจนเสียทหารไปอีกราว 20,000 คน พระเจ้าจักกายแมงจึงยอมแพ้ และต้องยกอัสสัม ยะไข่ มณีปุระ และตะนาวศรี ให้อังกฤษ ตอนแรกพม่าไม่ยินยอม อังกฤษจึงยกทัพบุกต่อไปถึงเมืองรานตะโบ พม่าจึงต้องยอมทำสนธิสัญญารานตะโบยกดินแดนให้ตามที่อังกฤษต้องการ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นการปราชัยครั้งสำคัญของราชวงศ์โก้นบอง

ความวุ่นวายปลายรัชกาล[แก้]

พระเจ้าจักกายแมงสะเทือนพระทัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2374 พระองค์เริ่มมีอาการทางประสาท จนอาการกำเริบ ไม่อาจว่าราชการได้ จน พ.ศ. 2380 จนมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านายและขุนนางพม่าเพื่อแย่งชิงอำนาจ พระนางแมนุกับมี่นต้าจี้ต้องการกำจัดเจ้าชายสารวดี และจะยกพระโอรสของพระเจ้าจักกายแมง คือเจ้าชายญองย่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์ เจ้าชายสารวดีจึงเสด็จหนีไปรวบรวมผู้คน กลับมายึดอำนาจ ปลดพระเจ้าจักกายแมงลงจากราชบัลลังก์เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2380 และขึ้นครองราชสมบัติแทน ในพงศาวดารไทยเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าแสรกแมง

หลังจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระเจ้าแสรกแมงประหารชีวิตพระนางแมนุ มี่นต้าจี้ และเจ้าชายญองย่าน ส่วนพระเจ้าจักกายแมงถูกกักบริเวณไว้ ต่อมามีขุนนางพม่าจะพยายามนำพระเจ้าจักกายแมงกลับมาครองราชย์ พระเจ้าพระเจ้าแสรกแมงจึงสั่งให้คุมขังพระเจ้าจักกายแมงไว้อย่างแข็งแรงกว่าเดิม จนพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2389[2] ส่วนพระเจ้าแสรกแมงก็มีพระสติวิปลาสและถูกพระโอรสควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2385 และสวรรคตในปี พ.ศ. 2389 หลังพระเจ้าจักกายแมงไม่กี่เดือน

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "พระเจ้าบาจีดอว์." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A–B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 330–333.
  1. Buyers, Christopher. "The Konbaung Dynasty Genealogy". royalark.net. สืบค้นเมื่อ 2009-09-19. บทที่ 11
  2. Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าจักกายแมง ถัดไป
พระเจ้าปดุง พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(พ.ศ. 2362–2380)
พระเจ้าแสรกแมง