พระเจ้าแสรกแมง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าแสรกแมง
ภาพถ่ายพระราชสุสานของพระเจ้าแสรกแมง
พระมหากษัตริย์พม่า
เจ้าชายแห่งสารวดี
ครองราชย์15 เมษายน พ.ศ. 2380 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2389[ต้องการอ้างอิง]
ราชาภิเษก8 กรกฎาคม พ.ศ. 2383
ก่อนหน้าพระเจ้าจักกายแมง
ถัดไปพระเจ้าพุกามแมง
พระราชสมภพ14 มีนาคม พ.ศ. 2330
อมรปุระ
Maung Khin (မောင်ခင်)
สวรรคต17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2389 (59 ปี)
อมรปุระ
ฝังพระศพอมรปุระ
ชายาแม-มยะชเว
มีราชินีรวม 96 พระองค์
พระราชบุตร18 พระราชโอรสและ 18 พระราชธิดารวมไปถึง:
พระนามครองราชย์
สิริปวราทิตฺย โลกาธิปดี วิชยมหาธมฺมราชาธิราช
(သိရီပဝရာဒိတျ လောကာဓိပတိ ဝိဇယမဟာဓမ္မရာဇာဓိရာဇာ)
ราชวงศ์โก้นบอง
พระราชบิดาตะโดเมงสอ
พระราชมารดาMin Kye, เจ้าหญิงแห่ง Taungdwin
ศาสนาพุทธเถรวาท
ระฆังพระเจ้าแสรกแมง สร้างโดยพระเจ้าแสรกแมง แขวนไว้ที่พระเจดีย์ชเวดากอง

พระเจ้าแสรกแมง หรือ พระเจ้าสารวดี (พม่า: သာယာဝတီမင်း ตายาวะดีมี่น) เป็นพระโอรสของตะโดเมงสอซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าปดุง พระองค์เป็นพระอนุชาของพระเจ้าจักกายแมง และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 ในราชวงศ์โก้นบอง ประสูติเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2330 พระองค์มีบทบาทในการคัดค้านพระเจ้าจักกายแมงให้รีบยอมแพ้ต่ออังกฤษหลังจากมหาพันธุละแม่ทัพใหญ่เสียชีวิตในสนามรบ แต่พระเจ้าจักกายแมงไม่เชื่อคำทักท้วง จนฝ่ายพม่าต้องประสบความเสียหายมากขึ้น

พระเจ้าแสรกแมงขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระเจ้าจักกายแมงมีพระสติวิปลาส พระนางแมนุกับมี่นต้าจี้ต้องการกำจัดพระองค์ และจะยกพระโอรสของพระเจ้าจักกายแมงคือเจ้าชายญองย่านขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าแสรกแมงจึงเสด็จหนีไปรวบรวมผู้คน กลับมายึดอำนาจและปลดพระเจ้าจักกายแมงลงจากราชบัลลังก์เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2380 และขึ้นครองราชสมบัติแทน

หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าแสรกแมงทรงประหารชีวิตพระนางแมนุ มี่นต้าจี้ และเจ้าชายญองย่าน และกักบริเวณพระเจ้าจักกายแมงไว้ ต่อมามีขุนนางพม่าพยายามจะนำพระเจ้าจักกายแมงกลับมาครองราชย์ พระเจ้าแสรกแมงจึงสั่งให้คุมขังพระเจ้าจักกายแมงไว้อย่างแข็งแรงกว่าเดิมจนพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2389 ส่วนพระเจ้าแสรกแมงก็มีพระสติวิปลาสและถูกพระโอรสคือเจ้าชายพุกาม (หรือที่ในพงศาวดารไทยเรียกพระเจ้าพุกามแมง) ควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2385 และสวรรคตเมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2389[1] หลังพระเจ้าจักกายแมง พระเชษฐาไม่นานนัก

ในรัชกาลพระเจ้าแสรกแมงมีการทำสนธิสัญญารานตะโบ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง พระองค์ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้แต่ก็ไม่กล้าผิดสัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเฮนรี เบอร์นี ผู้แทนชาวอังกฤษแย่ลง จนเบอร์นีออกจากพม่าไปใน พ.ศ. 2380 ต่อมาใน พ.ศ. 2385 พระองค์ได้นำกำลังทหาร 15,000 คนลงไปยังเมืองย่างกุ้งเพื่อบูชาพระเกศาธาตุและเรียกร้องให้อังกฤษคืนยะไข่และตะนาวศรี เมื่อการเรียกร้องเอกราชไม่เป็นผลจึงเสด็จกลับอมรปุระ[2] และมีพระสติวิปลาสในปีนั้นเอง ในรัชกาลของพระองค์ อังกฤษติดทำสงครามกับอัฟกานิสถานจึงไม่ทำสงครามกับพม่า

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "พระเจ้าจักกายแมง." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A–B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 330–333.
  1. Christopher Buyers. "The Konbaung Dynasty Genealogy". royalark.net. สืบค้นเมื่อ 2009-09-26.
  2. วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "สงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 2." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A–B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 163–166

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าแสรกแมง ถัดไป
พระเจ้าจักกายแมง พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(พ.ศ. 2380–2389)
พระเจ้าพุกามแมง