เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เจ้าจอมสว่าง | |
---|---|
เกิด | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2399 |
เสียชีวิต | 14 มิถุนายน พ.ศ. 2485 (87 ปี) |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
บิดามารดา | เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง ณ นคร) หม่อมราชวงศ์ดาวเรือง นรินทรางกูร |
เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5 ต.จ. เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2399 ปีมะโรง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นธิดา เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง ณ นคร) มารดา คือ หม่อมราชวงศ์หญิงดาวเรือง นรินทรางกูร ( ธิดา หม่อมเจ้าจันทร์ พระโอรสใน สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทร์รณเรศ ราชสกุลวังหลัง ) มีพี่น้อง เท่าที่สามารถสืบได้ คือ
- เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)
- พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
- พระยาบริรักษ์ภูเบศร์( เอี่ยม ณ นคร )
- เจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ 4
- คุณกลาง ณ นคร
- เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5
- หลวงอนุสรณ์สิทธิกรรม (บัว ณ นคร)
- นายเกษ ณ นคร
- คุณนุ้ยขลิบ ณ นคร
- คุณนุ้ยทิม ณ นคร
ได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2414 รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์ กอปรด้วยกตัญญูกตเวทีตลอดมา จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) เป็นเกียรติยศ ตั้งแต่แรกสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 จากนั้นท่านยังคงรับราชการเรื่อยมา จวบจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ที่บ้านหลังวัดมหาธาตุ
ท่านเจ้าจอมสว่าง เป็นผู้มีนิสัยสุภาพ เยือกเย็น สุขุม มีความเมตตาอารีแก่บุคคลทั่วไป เป็นผู้มีศรัทธาปสาทะ ในพระพุทธศาสนามาก ได้บำเพ็ญการกุศลด้วยการบริจาคทานและรักษาศีลเป็นเนืองนิจ โดยบริจาคเงินทำการปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานซึ่งบรรพบุรุษสร้างไว้แต่โบราณกาล ให้ถาวรมั่นคงดีขึ้น และได้สร้างขึ้นใหม่อีกก็หลายอย่าง โดยเฉพาะวัดเขาน้อย ที่ตำบลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บริจาคเงินสร้างเป็นส่วนมาก จนเกือบจะนับได้ว่าสร้างวัดเขาน้อยทั้งวัด ถาวรวัตถุ ตามปูชนียสถานต่าง ๆ ซึ่งเจ้าจอมสว่าง ได้ออกเงินกระทำการปฏิสังขรณ์ และสร้างใหม่ มีรายการ ดังนี้
ด้านปฏิสังขรณ์
- พ.ศ. 2473 ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดประดู่ สิ้นเงิน 1,000 บาท
- พ.ศ. 2474 ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและซุ้มสีมา วัดท่าโพธิ์เงิน สิ้นเงิน 9,680 บาท และทำหน้าวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ้นเงิน 4,960 บาท
ด้านการสร้างใหม่
- หล่อพระพุทธรูป 2 องค์ สิ้นเงิน 1,125 บาท โดยองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่โรงเรียนชมปากคลอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
- สร้างกุฎีตึก 2 ชั้น ณ วัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ โดยรวมค่าสร้างและค่าฉลอง สิ้นเงิน 11,272 บาท
- ได้สร้างพระเจดีย์ หล่อพระประธาน สร้างพระอุโบสถ โรงธรรมสภา กุฎีไม้ 2 ชั้น กัปปิยกุดี กำแพงแก้ว ศาลาบนเขา หอไว้รูป เขื่อนหน้าอุโบสถ และซุ้มสีมา ทั้งหมดนี้ไว้ ณ วัดเขาน้อย รวมเงินค่าก่อสร้างประมาณ 30,000 บาทเศษ กับฝากเงินให้เป็นมูลนิธิสำหรับบำรุงวัดเขาน้อยอีกเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท
รวมเงินที่จ่ายในการปฏิสังขรณ์และสร้างใหม่นี้ เป็นจำนวนถึง 64,037 บาท
เมื่อได้กระทำการปฏิสังขรณ์ หรือสร้างถาวรวัตถุสิ่งใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าจอมสว่าง ก็จะออกไปจัดการฉลองประกอบการกุสล ด้วยตนเองอีกเกือบทุกคราว ซึ่งในการนี้ต้องใช้จ่ายเงินและเป็นภาระอยู่มิใช่น้อย แต่ถึงกระนั้นท่านเจ้าจอมสว่าง ก็มิได้ท้อถอยในการที่จะบำเพ็ญกุศลนั้น ๆ เลย
นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับอุปการะพระสงฆ์เป็นประจำอยู่หลายรูป และได้เคยส่งเงินบำรุงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คราวหนึ่งเป็นเงิน 800 บาท และบริจาคเงินสร้างโรงเรียนสตรีเบญจมราชูทิศ ด้วย นับว่าท่านเจ้าจอมสว่างเปนผู้มีใจบุญใจกุศลโดยแท้ผู้หนึ่ง.
เมื่อประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ท่านเจ้าจอมสว่างได้ป่วยลง แพทย์ตรวจว่าเป็นโรคหัวใจพิการ ได้ทำการรักษาอย่างดีที่สุด แต่อาการมีแต่ทรงกับทรุดตลอดมา ครั้นวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2485 อาการกำเริบมากขึ้น สุดความสามารถของแพทย์จะทำการรักษาได้ ท่านเจ้าจอมสว่างจึงได้ถึงอนิจกรรมด้วยอาการอันสงบ สิริอายุได้ด้ 87 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)[1]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๓๗๗, ๒๖ พฤศจิกายน ๑๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๙ หน้า ๑๑๕๔, ๒๗ ธันวาคม ๑๒๗