อำเภอบางบัวทอง
อำเภอบางบัวทอง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Bang Bua Thong |
คำขวัญ: เมืองน่าอยู่ ประตูสู่จตุรทิศ | |
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอบางบัวทอง | |
พิกัด: 13°58′06.72″N 100°24′19.72″E / 13.9685333°N 100.4054778°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 116.439 ตร.กม. (44.957 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 294,818 คน |
• ความหนาแน่น | 2,531.95 คน/ตร.กม. (6,557.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1204 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | เลขที่ 99 หมู่ที่ 6 ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
บางบัวทอง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี ในอดีตมีพื้นที่กว้างใหญ่มากโดยคลุมพื้นที่อำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ และบางส่วนของอำเภอปากเกร็ด (ปัจจุบันแยกออกไปแล้ว) เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ปัจจุบันเมื่อความเจริญจากกรุงเทพมหานครแผ่ขยายออกมาจนถึงบางบัวทอง ทำให้มีหมู่บ้านจัดสรร บริษัทห้างร้าน สำนักงานจำนวนมาก รวมถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทยอยย้ายเข้ามาอยู่ในท้องที่นี้ แต่ก็ยังคงเห็นท้องนาบางส่วนอยู่ นอกจากนี้ อำเภอบางบัวทองยังเป็นอำเภอที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัดนนทบุรีด้วย (และมีความหนาแน่นมากเป็นอันดับ 3)
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอบางบัวทองตั้งอยู่บนพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาของจังหวัดนนทบุรี ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 15.96 กิโลเมตร[2] มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลาดหลุมแก้ว (จังหวัดปทุมธานี) และอำเภอปากเกร็ด มีคลองลากค้อน คลองลำโพ และแนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างอำเภอบางบัวทองกับอำเภอปากเกร็ดเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอปากเกร็ด มีคลองชลประทานพระอุดม-บางบัวทอง (คลองแอน) แนวกำแพงหมู่บ้านลภาวัน 10 แนวกำแพงหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์พาร์ค 3 แนวกำแพงหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์การ์เด้นบางบัวทอง คลองขุนมหาดไทย (ท่าลาย) และคลองบางบัวทองเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองนนทบุรีและอำเภอบางใหญ่ มีคลองบางรักใหญ่ คลองอ้อม คลองบางเดื่อ (วัดบางเดื่อ) แนวด้านหลังหมู่บ้านเกล้ารัตนา แนวเขตหมู่บ้านร่มรื่นวิลล์ แนวเขตหมู่บ้านเกล้ารัตนา แนวรั้วหมู่บ้านกฤษดานคร 10 ลำรางบางน้อย ซอยอธิเบศร์ 1 ลำรางบางน้อย แนวด้านหลังโรงเรียนอนุบาลรัตนาธิเบศร์ แนวเส้นขนานคลองบางแพรก และคลองบางแพรกเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทรน้อย มีคลองตาชม คลองพระพิมล คลองลากค้อน คลองตาคล้าย และคลองลัดยายเป้าเป็นเส้นแบ่งเขต
ที่มาของชื่ออำเภอ
[แก้]อำเภอบางบัวทองตั้งชื่อตามคลองบางบัวทองซึ่งเป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตรงข้ามเกาะเกร็ด มีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร มีคำอธิบายที่มาของชื่อคลองอยู่สองแบบ ได้แก่
- สันนิษฐานกันว่า เดิมพื้นที่บริเวณคลองสายนี้มีต้นบัวหลวงขึ้นอยู่จำนวนมาก ต่อมามีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งคลอง บุกเบิกที่ดินเป็นไร่นาและเก็บฝักบัวดอกบัวในคลองไปขายได้เงินทองมาก จึงเรียกคลองนี้ว่า "คลองบางบัวทอง"[3]
- มีนิทานเล่าว่า ในอดีตมีพระราชาหรือเจ้านายในวังเสด็จประพาสทางน้ำมาถึงบริเวณนี้และทรงใช้กระบวยทองตักน้ำในคลองเพื่อจะสรงพระพักตร์ แต่กระบวยทองหลุดจากพระหัตถ์จมหายไปในลำคลอง แม้จะใช้แหอวนลากหาแต่ก็หาไม่พบ ทำให้ผู้คนแถบนั้นเรียกคลองสายนี้ว่า "คลองกระบวยทอง" และเพี้ยนเสียงเป็น "คลองบางบัวทอง" ในเวลาต่อมา[4][5]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ท้องที่อำเภอบางบัวทองในครั้งแรกเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอ (หรือแขวง) ที่มีชื่อว่า "อำเภอบ้านแหลมใหญ่และเกาะศาลากุน" ต่อมาอำเภอนี้ถูกยุบเลิกแล้วแบ่งพื้นที่ด้านตะวันตกออกมาจัดตั้งเป็น อำเภอบางบัวทอง โดยตั้งที่ว่าการอำเภออยู่บริเวณริมคลองบางบัวทอง ตรงข้ามปากคลองพระราชาภิมณฑ์ (ปัจจุบันเรียกว่าคลองพระพิมล) นายอำเภอคนแรกคือ หลวงพิธีผดุงชน
ต่อมาใน พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลโสนลอย และในปีเดียวกัน ทางราชการได้แยกตำบลบางแม่นาง ตำบลเสาธงหิน และตำบลบ้านใหม่ออกไปรวมกับพื้นที่บางส่วนของอำเภอบางใหญ่ (ปัจจุบันคืออำเภอบางกรวย) ตั้งเป็น "กิ่งอำเภอบางแม่นาง" และในเวลาต่อมาได้ตั้งเป็นอำเภอบางแม่นาง (ปัจจุบันคืออำเภอบางใหญ่) และใน พ.ศ. 2463 กระทรวงนครบาลได้เปลี่ยนชื่อตำบลบางบัวทองเป็นตำบลอ้อมเกร็ด เปลี่ยนชื่อตำบลพระพิมลเป็นตำบลบางบัวทอง และให้โอนตำบลอ้อมเกร็ดและบางพลับไปขึ้นอยู่กับอำเภอปากเกร็ด[6] และใน พ.ศ. 2483 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 1–6, 11–13, 18 ของตำบลไทรใหญ่ รวมกับหมู่ที่ 6–8 ตำบลละหาร จัดตั้งเป็นตำบลราษฎร์นิยม[7]
จนกระทั่ง พ.ศ. 2486 ขณะนั้นประเทศไทยเกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทางราชการจึงยุบจังหวัดนนทบุรีลงโดยโอนอำเภอบางบัวทองไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี[8] แต่ภายหลังก็โอนกลับมาอยู่ในการปกครองของจังหวัดนนทบุรีที่ได้รับการยกฐานะขึ้นมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2489[9]
ใน พ.ศ. 2490 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตตำบลเดิมและตั้งตำบลใหม่ โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนจากตำบลลำโพตั้งเป็นตำบลละหาร และแบ่งพื้นที่บางส่วนจากตำบลหนองเพรางายตั้งเป็นตำบลบางคูรัด[10] ภายในปีเดียวกันนั้นทางราชการก็ได้รวมตำบลไทรน้อย ตำบลไทรใหญ่ ตำบลหนองเพรางาย และตำบลราษฎร์นิยมจัดตั้งเป็น "กิ่งอำเภอไทรน้อย"[11] (ภายหลังยกฐานะเป็นอำเภอไทรน้อย)[12]
ต่อมาใน พ.ศ. 2523 กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของตำบลบางบัวทองจัดตั้งเป็นตำบลพิมลราช[13] และใน พ.ศ. 2529 แบ่งพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของตำบลบางรักใหญ่จัดตั้งเป็นตำบลบางรักพัฒนา[14] ท้องที่อำเภอบางบัวทองจึงประกอบด้วย 8 ตำบลจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอบางบัวทองแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 8 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 81 หมู่บ้าน (หรือ 73 หมู่บ้าน หากไม่นับรวมในเขตเทศบาลเมืองบางบัวทองซึ่งไม่มีตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว) ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[15] |
สี | แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | โสนลอย | Sano Loi | 6
|
9,045
|
||
2. | บางบัวทอง | Bang Bua Thong | 14
|
63,154
|
||
3. | บางรักใหญ่ | Bang Rak Yai | 11
|
9,667
|
||
4. | บางคูรัด | Bang Khu Rat | 10
|
40,504
|
||
5. | ละหาร | Lahan | 9
|
25,695
|
||
6. | ลำโพ | Lam Pho | 8
|
14,106
|
||
7. | พิมลราช | Phimon Rat | 8
|
54,906
|
||
8. | บางรักพัฒนา | Bang Rak Phatthana | 15
|
73,867
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอบางบัวทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองบางบัวทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโสนลอยทั้งตำบล ตำบลบางบัวทอง (เฉพาะหมู่ที่ 2 และบางส่วนของหมู่ที่ 1, 3) ตำบลบางรักใหญ่ (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1, 2, 6, 7) ตำบลพิมลราช (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1–3) และตำบลบางรักพัฒนา (เฉพาะหมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 3, 5, 6)
- เทศบาลเมืองพิมลราช ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพิมลราช (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางบัวทอง)
- เทศบาลเมืองบางคูรัด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางคูรัดทั้งตำบล
- เทศบาลเมืองบางรักพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางรักพัฒนา (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางบัวทอง)
- เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางบัวทอง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางบัวทอง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางรักใหญ่ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางบัวทอง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลละหาร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลละหารทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลำโพทั้งตำบล
การคมนาคม
[แก้]ถนนสายสำคัญของอำเภอ ได้แก่
- ถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9)
- ถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302)
- ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340)
- ถนนบางบัวทอง-บางคูวัด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345)
- ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3215)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901 (คู่ขนานกาญจนาภิเษกด้านนอก)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3902 (คู่ขนานกาญจนาภิเษกด้านใน)
- ถนนชัยพฤกษ์ (ทางหลวงชนบท นบ.3030)
- ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย (ทางหลวงชนบท นบ.1013)
- ถนนบางไผ่-หนองเพรางาย (ถนนวัดลาดปลาดุก; ทางหลวงชนบท นบ.1002)
ขนส่งทางราง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 58.
- ↑ กรมทางหลวง. "สอบถามระยะทางระหว่างจังหวัดหรืออำเภอ. เก็บถาวร 2014-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน"
- ↑ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 51.
- ↑ ไทยตำบลดอตคอม. "ข้อมูลตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaitambon.com/tambon/120402 เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 5 มิถุนายน 2563.
- ↑ สำนักงานเกษตรอำเภอปากเกร็ด. "ตำบลอ้อมเกร็ด." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://pakkret.nonthaburi.doae.go.th/Data%201/tumbolaomkret.html เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 5 มิถุนายน 2563.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง เปลี่ยนนามตำบลบางบัวทองเป็นตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลพระพิมลเป็นตำบลบางบัวทอง และโอนท้องที่ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐไปรวมในท้องที่อำเภอปากเกร็ด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 37 (0 ก): 434. 13 มีนาคม 2463.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 (0 ง): 1871. 1 ตุลาคม 2483.
- ↑ "พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๘๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (77 ก): 2447–2449. 10 ธันวาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. 10 มิถุนายน 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกฐานะตำบลขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (60 ง): 3188–3193. 9 ธันวาคม 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคำชะอี อำเภอย่านตาขาว อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอหนองบัว อำเภอวัฒนานคร อำเภอแสวงหา อำเภอท่าชนะ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอโนนสัง อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอคีรีมาศ อำเภอชนแดน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอไทรน้อย และอำเภอบ้านแพง พ.ศ. ๒๔๙๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (46 ก): 657–661. 5 มิถุนายน 2499. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (145 ง พิเศษ): 20–23. 18 กันยายน 2523.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 103 (166 ง พิเศษ): 101–107. 26 กันยายน 2529.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]13°58′07″N 100°24′20″E / 13.968535°N 100.405479°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอบางบัวทอง
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย