อำเภอกุฉินารายณ์
อำเภอกุฉินารายณ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Kuchinarai |
คำขวัญ: มิ่งมงคลหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธสิมมาบุษราคัมล้ำค่า ตระการตาผ้าทอมือ เลื่องลือวัฒนธรรมผู้ไท ก้าวไกลพลังงานทดแทน ดินแดนสัตว์โลกล้านปี | |
แผนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เน้นอำเภอกุฉินารายณ์ | |
พิกัด: 16°32′18″N 104°3′18″E / 16.53833°N 104.05500°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | กาฬสินธุ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 739.247 ตร.กม. (285.425 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 100,894 คน |
• ความหนาแน่น | 136.48 คน/ตร.กม. (353.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 46110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 4605 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอกุฉินารายณ์ หมู่ที่ 2 ถนนสมเด็จ-มุกดาหาร ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
กุฉินารายณ์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์
ประวัติและความเป็นมา
[แก้]อำเภอกุฉินารายณ์ มีชื่อเดิมคือ "กุดสิมนารายณ์" ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บ้านกุดสิมหรือบ้านคุ้มเก่า ตำบลคุ้มเก่า (ในเขตอำเภอเขาวงปัจจุบัน) ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองชั้นตรี มีชื่อว่า "กุดสิมนารายณ์" โดยมีพระธิเบศร์วงศา (ท้าวกอ หรือ ราชวงษ์กอ, ต้นตระกูล โทธิเบศร์วงศา) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรก เหตุที่ได้ชื่อว่า "กุดสิมนารายณ์" ก็เนื่องจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหรือที่ตั้งเมือง มีหนองน้ำแยกจากห้วยเรียกว่า "กุด" และมีศาลาสำหรับประกอบศาสนากิจอยู่กลางน้ำ เรียกว่า "สิม" ต่อมาชาวบ้านได้พบเทวรูปพระนารายณ์ทำด้วยไม้อยู่ในหนองน้ำแห่งนั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า "กุดสิมนารายณ์" และต่อมาได้แผลงไปตามสำเนียงการพูดเป็น "กุฉินา-รายณ์"
แต่เดิมมีเขตการปกครอง 4 ตำบล คือ ตำบลคุ้มเก่า ตำบลสงเปลือย ตำบลแจนแลน และตำบลชุมพร ส่วนตำบลนาคู ตำบลภูแล่นช้าง ตำบลคำบง ตำบลไค้นุ่น อยู่ในเขตการปกครองของเมืองภูแล่นช้าง ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าเมืองภูแล่นช้างกับเมืองกุดสิมนารายณ์ มีอาณาเขตคับแคบและตั้งอยู่ใกล้กัน จึงได้ยุบเมืองภูแล่นช้างให้ไปตั้งเป็นเมืองใหม่ที่อำเภอยางตลาดในปัจจุบัน แล้วให้รวมอาณาเขตเมืองภูแล่นช้างเข้ากับเมืองกุดสิมนารายณ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445
ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2454 ทางราชการได้แต่งตั้งหลวงประเวศน์อุทรขันธ์ (ลี มัธยมนันท์) มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอ และได้พิจารณาเห็นว่าสภาพท้องที่ทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสมทุรกันดาร ทางคมนาคมไม่สะดวก ในฤดูแล้งขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้มีไข้ป่าชุกชุม ราษฎรทำมาหากินไม่สะดวกจึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่บ้านบัวขาว เมื่อปี พ.ศ. 2456 อันเป็นที่ตั้งของอำเภอในปัจจุบัน และเป็นการสิ้นสุดระบบเจ้าเมืองภูไท โดยพระธิเบศร์วงศา หรือท้าวกินรี เป็นเจ้าเมืองคนที่สามเป็นเจ้าภูไทคนสุดท้ายที่ได้ปกครองหัวเมือง ในปี พ.ศ. 2474 จังหวัดกาฬสินธุ์ถูกยุบลงเป็นอำเภอ โดยให้จังหวัดกาฬสินธุ์เดิมทั้งหมดไปขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งอำเภอกุฉินารายณ์ด้วย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2483 หลวงบริหารชนบท (ส่วนบริหารชนบท) ซึ่งเป็นข้าหลวงจังหวัดมหาสารคามได้ขอแบ่งปันเขตจังหวัดใหม่ ระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดมหาสารคาม โดยถึอเอากึ่งกลางลำน้ำพอง และสันเขาภูพานเป็นเขตแดน จึงได้ตัดโอนหมู่บ้านห้วยแดง บ้านโคกโก่ง และบ้านขุมขี้ยาง จากอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมุกดาหาร) มาขึ้นกับ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ยกฐานะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จึงโอนมาขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์ตามเดิม และได้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของตำบลต่างๆ อีกครั้งคือ แบ่งตำบลบัวขาว ออกเป็น 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบัวขาว ตำบลจุมจัง ตำบลกุดหว้า ตำบลเหล่าไฮงาม และตำบลหนองห้าง แบ่งตำบลแจนแลน ออกเป็น 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลแจนแลน และตำบลสามขา แบ่งตำบลภูแล่นช้าง ออกเป็น 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลภูแล่นช้าง ตำบลคำบง และตำบลไค้นุ่น และแบ่งตำบลคุ้มเก่า ออกเป็น 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลคุ้มเก่า ตำบลนาคู ตำบลหนองผือ และตำบลสงเปลือย รวม 14 ตำบล จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2512 ทางราชการได้ยกฐานะตำบลคุ้มเก่าขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเขาวงโดยมี ตำบลคุ้มเก่า ตำบลสงเปลือย ตำบลหนองผือ ตำบลภูแล่นช้าง และตำบลนาคู อยู่ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอเขาวง คงเหลือตำบลที่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอกุฉินารายณ์ รวม 9 ตำบล ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ทางราชการตั้งตำบลเหล่าใหญ่ขึ้นอีก 1 ตำบล โดยแยกจากตำบลแจนแลน ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้รับอนุมัติให้ตั้งตำบลนาขามขึ้นอีก 1 ตำบล โดยแยกจากตำบลสามขา ในปี พ.ศ. 2521 ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งตำบลขึ้นอีก 2 ตำบล คือ ตำบลนาโก แยกออกจากตำบลบัวขาว และตำบลไค้นุ่น แยกจากตำบลนิคมห้วยผึ้ง
ในปี พ.ศ. 2524 ทางราชการได้ยกฐานะตำบลนิคมห้วยผึ้ง ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอห้วยผึ้ง มีตำบลนิคมห้วยผึ้ง ตำบลไค้นุ่น และตำบลคำบง ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอห้วยผึ้ง คงเหลือตำบลที่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอกุฉินารายณ์ 10 ตำบล 84 หมู่บ้าน ในขณะนั้น
ปัจจุบัน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเขตการปกครองทั้งสิ้น 12 ตำบล 142 หมู่บ้าน เทศบาล 4 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 10 แห่ง นายอำเภอคนปัจจุบัน ชื่อนายรณชิต พุทธลาดำรงตำแหน่ง เป็นลำดับที่ 46 ของผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอกุฉินารายณ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอนาคูและอำเภอเขาวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอคำชะอีและอำเภอหนองสูง (จังหวัดมุกดาหาร)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมยวดี อำเภอโพนทอง และอำเภอโพธิ์ชัย (จังหวัดร้อยเอ็ด)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอดอนจาน อำเภอห้วยผึ้ง และอำเภอนามน
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอกุฉินารายณ์แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 12 ตำบล 145 หมู่บ้าน
1. | บัวขาว | (Bua Khao) | 16 หมู่บ้าน | 7. | สามขา | (Sam Kha) | 18 หมู่บ้าน | ||||||||||
2. | แจนแลน | (Chaen Laen) | 9 หมู่บ้าน | 8. | นาขาม | (Na Kham) | 17 หมู่บ้าน | ||||||||||
3. | เหล่าใหญ่ | (Lao Yai) | 12 หมู่บ้าน | 9. | หนองห้าง | (Nong Hang) | 9 หมู่บ้าน | ||||||||||
4. | จุมจัง | (Chum Chang) | 15 หมู่บ้าน | 10. | นาโก | (Na Ko) | 9 หมู่บ้าน | ||||||||||
5. | เหล่าไฮงาม | (Lao Hai Ngam) | 12 หมู่บ้าน | 11. | สมสะอาด | (Som Sa-at) | 7 หมู่บ้าน | ||||||||||
6. | กุดหว้า | (Kut Wa) | 13 หมู่บ้าน | 12. | กุดค้าว | (Kut Khao) | 8 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอกุฉินารายณ์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองกุฉินารายณ์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบัวขาว
- เทศบาลตำบลกุดหว้า ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลกุดหว้า
- เทศบาลตำบลจุมจัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจุมจังทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลนาขาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาขามทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบัวขาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบัวขาว (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองกุฉินารายณ์)
- องค์การบริหารส่วนตำบลแจนแลน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแจนแลนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าไฮงาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดหว้า (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลกุดหว้า)
- องค์การบริหารส่วนตำบลสามขา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสามขาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองห้างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาโก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาโกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสมสะอาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสมสะอาดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลกุดค้าว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดค้าวทั้งตำบล